'ห้องแล็บ'ตัวช่วยหลักโรงงานผลิตยาไทย แข่งขันสู่ยานอก
อุตสาหกรรมยาไทยในปี 2565 ที่ผ่านมามูลค่ารวมตลาดในประเทศอยู่ที่ประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท ยาที่ผลิตได้ 90% ใช้บริโภคในประเทศ ซึ่งประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมยา คือ ต้องพัฒนาให้สามารถแข่งขันและส่งออกได้มากขึ้น
Keypoint:
- ธุรกิจยา โรงงานยาในประเทศไทยกำลังขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และมองหาการแพทย์ทางเลือก อย่าง ยาสมุนไพรและอาหารเสริม
- ผู้ประกอบการSME ไทยเก่งด้านการตลาด ยังขาดองค์ความรู้ ขณะที่นักวิจัย มีงานวิจัยเพียบแต่ขายไม่เก่ง ต้องเชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักวิจัยเข้าด้วยกัน
- JSP ทุ่มทุน 25 ล้านบาท เปิดห้องแล็บใหม่ เพิ่มกำลังการผลิต 2 เท่ารองรับตลาดยาในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ
แม้ปัจจุบันยามีโรงงานยาอยู่หลายแห่ง แต่มีโรงงานอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐาน GMP-Pic/S และประเทศไทยยังคงนำเข้าวัตถุดิบตัวยาจากต่างประเทศสูงถึง 90% ดังนั้นการมีห้องปฏิบัติการที่ดีและเปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้งานจะเป็นการส่งเสริมให้ไทยสามารถคิดค้นสูตรยาและเข้าตำรับยาได้เอง เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบตัวยาจากต่างประเทศ
เพิ่มกำลังผลิต ขยายตลาดยาไทย
ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP เล่าว่าปี 2566 นี้ บริษัทได้ตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้น 30% และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งห้องแล็บใหม่นี้ JSP ใช้งบประมาณในการลงทุนรวมทั้งสิ้น 25 ล้านบาท เพื่อทำให้กระบวนการทำงานด้านวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ JSP ทำได้รวดเร็วขึ้น 2 เท่า เพิ่มความสามารถในการรับงานวิจัยได้มากขึ้นเป็นปีละ 6 โครงการ จาก 3-4 โครงการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ตู้ยา' ใกล้บ้านอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ธุรกิจใหม่รับเทรนด์สุขภาพ
Jsp pharma รุกธุรกิจอาหารเสริม ตั้งเป้าเป็นอันดับ 1
“เจเอสพี”จัดพอร์ตธุรกิจดาวรุ่ง รุกตลาดกัญชา-สมุนไพรสัตว์
สถาบันโรคผิวหนัง รุกตลาด 'โพรไบโอติกส์' หยิบงานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง
3 หลักหัวใจบ่งชี้คุณภาพผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ ห้องแล็บดังกล่าวได้การรับรองมาตรฐาน GMP PIC/S ที่ได้รับมาตรฐาน และถูกพัฒนาให้มีเครื่องมือวิเคราะห์คุณภาพด้วยความทันสมัย มีความแม่นยำมากขึ้นในการวิเคราะห์และประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในทุกรุ่นเพราะการผลิตผลิตภัณฑ์
ดร.สิทธิชัย เล่าต่อว่าหัวใจสำคัญในการบ่งชี้ถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ต้องครอบคลุมประสิทธิภาพ 3 ด้าน คือคุณภาพ (Quality) ความปลอดภัย (Safety) และประสิทธิผล (Efficacy) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพก่อนส่งออกไปถึงผู้บริโภค รวมถึงต้องมีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย
ห้องแล็บของ JSP ไม่ได้รองรับงานวิจัยภายในบริษัทอย่างเดียว แต่เปิดกว้างให้บุคคลภายนอกที่มีงานวิจัยด้านการพัฒนายาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งคนและสัตว์ รวมถึงเครื่องสำอางเข้ามาใช้บริการ
“ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน และอาหารเสริมเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและมีโรงงานสารสกัดที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจจะเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแบบมั่นคงและยั่งยืน” ดร.สิทธิชัย กล่าว
ปัจจัยที่ทำให้ยาสมุนไพร อาหารเสริมเติบโต
ดร.สิทธิชัย เล่าต่อไปว่า อาหารเสริมมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 คนไทยเกิดพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพ และมองว่าดูแลสุขภาพ ป้องกันตนเองดีกว่าป่วยแล้วต้องมารักษา นอกจากนั้น ผู้สูงอายุมีความเข้าใจการดูแลสุขภาพ มีเงินและไม่อยากป่วยเริ่มดูแลรักษาสุขภาพโดยมองหาอาหารเสริมเข้ามาช่วย
“ส่วนวัยรุ่น วัยทำงานทั้งผู้หญิง และผู้ชายให้ความสำคัญในการดูแลตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ความงาม อาหารเสริมได้รับความนิยม ขณะที่อาหารเสริมตลาดต่างประเทศให้การยอมรับการใช้สารสกัดสมุนไพรไทย ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีสมุนไพรจำนวนมาก ทางJSP ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสกัดสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันรำขาว งาดำ ซึ่งเมืองไทยไม่แพ้ใครในโลก”ดร.สิทธิชัย กล่าว
ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สนับสนุนทั้งงานวิจัย และงบประมาณแก่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร อาหารเสริม เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค งานวิจัยที่ได้รับงบประมาณต้องเป็นงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้ ถือเป็นโอกาสของภาคเอกชน และผู้ประกอบการในการก้าวสู่ธุรกิจนี้ โดยภาครัฐจะลงทุนร่วม 75-90%
ทางรอด SME ผลิตภัณฑ์ยา-อาหารเสริม
ดร.สิทธิชัย เล่าอีกว่าภาคเอกชนไทยยังขาดความเข้าใจ ซึ่งผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการเป็นนักการตลาดที่เก่งและเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่ในต่างประเทศจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรม
อย่าง โรงงาน JSP ผู้บริหารเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิจัยพัฒนา ค้นหาสินค้าใหม่ ร่วมมือภาครัฐ ขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และขาย แต่ขายไม่เก่งจึงต้องเริ่มด้วยการจัดการประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (Operation Performance Management, OPM) แต่ถ้าเป็นนักการตลาดจะเริ่มด้วย ขาย ทำการตลาด สร้างการรับรู้เพื่อเข้าสู่ผู้บริโภค จึงอาจทำให้เข้าใจเรื่องของงานวิจัย
“ถ้าอยากให้ SME ไทยเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือสร้างผลิตภัณฑ์โดยนำงานวิจัยไปต่อยอด ต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาครัฐและภาคเอกชน ทำงานร่วมกัน ตอนนี้ภาคเอกชนมีนักขายแต่ขาดความรู้ ขณะที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีงานวิจัยจำนวนมากแต่ขายของไม่เป็น ฉะนั้น ต้องทำให้ทั้ง 2 ภาคส่วนนี้มาทำงานร่วมกัน” ดร.สิทธิชัย กล่าว
รอความชัดเจนเดินหน้าธุรกิจกัญชา-กัญชง
ธุรกิจกัญชา-กัญชงเกิดขึ้นได้จากนโยบายของภาครัฐ และจะไปต่อได้ก็มาจากนโยบายของภาครัฐเช่นเดียวกัน ดร.สิทธิชัย เล่าด้วยว่าห้องแล็บที่เปิดใหม่นี้ มีเครื่องที่สามารถวิเคราะห์กัญชา กัญชง สารสกัดCBD (Cannabidiol) และTHC (Tetrahydrocannabinol) เพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง และมีเครื่องที่จะมาช่วยวิเคราะห์กลิ่น เพื่อประกันคุณภาพของวัตถุดิบที่เข้ามา ตรวจวัตถุดิบ ตรวจการผลิต
ปัจจุบันกัญชาออกจากสารเสพติดและสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกฎหมาย ทำให้ในช่วง 2 ปีแรก ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจกัญชาอย่างมาก มองว่าเป็นทองคำสีเขียว ได้มีการปลูกกัญชาจำนวนมากจนตอนนี้มีแต่สต็อกกัญชาเต็มไปหมด เพราะพอเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง กลับถูกเบรกและไม่ทราบถึงความชัดเจนของกฎหมาย
ดร.สิทธิชัย เล่าทิ้งท้ายว่ากลุ่มผู้ประกอบการ กำลังรอความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกัญชาไทยคึกคักมากจากต่างประเทศ อาทิ เกาหลี ไต้หวัน ยุโรป อเมริกา อิสราเอล ออสเตรเลีย ต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับกัญชาของไทย ดังนั้น หากประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องกฎหมายกัญชามากขึ้นก็จะทำให้เกิดโอกาสกับผู้ประกอบการมากขึ้น และจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย