'พริก'สุดแซ่บ ประโยชน์สุดจี๊ด กินมากอันตราย กินพอดีช่วยบำรุงสมอง
เมื่อนึกถึงความแซ่บ คงต้องนึกถึง ‘พริก’ สมุนไพรรสเผ็ดร้อนที่หลายๆ คนติดใจ ซึ่งพริกในโลกนี้มีหลากหลายชนิด ต้นกำเนินมาจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จากหลักฐานทางโบราณคดีเชื่อว่าชาวอินเดียนในเม็กซิโกรู้จักกินพริกเป็นอาหารมากว่า 9,000 ปีแล้ว
Keypoint:
- 'พริก' สมุนไพรที่ไม่ได้มีดีเพียงความเผ็ดร้อน หรือความแซ่บเท่านั้น แต่มีสรรพคุณมากมายที่ใช้ในการป้องกัน หรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ
- คุณประโยชน์ของพริกมีมากมาย ตั้งแต่การลดน้ำหนัก ไปจนถึงการลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เสริมภูมิต้านทานและยังช่วยบำรุงสมองได้อีกด้วย
- สมุนไพรทุกชนิดล้วนมีข้อดีและข้อเสีย ควรรับประทานอย่างเหมาะสม และอาหารรสจัดรสเผ็ดมากๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีโทษต่อร่างกาย
'พริก' มีรสเผ็ด ความเผ็ดร้อนของพริกอยู่ที่เยื่อหุ้มเมล็ดและสารที่ทำให้เผ็ด คือ แคปไซซิน (capsaicin) ซึ่งมีคุณสมบัติทางยา ในพริกยังมีวิตามินเอ วิตามินซี และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์อีกหลายชนิด กินพริกช่วยแก้หวัด ช่วยย่อย ขับลม ทำให้เจริญอาหาร ปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาใช้เป็นยาทาภายนอกแก้ปวด
'พริก' ถูกค้นพบครั้งแรก โดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากนั้นก็มีการนำพริกมาปลูกและเผยแพร่ไปทั่วยุโรป และลามไปทั่วโลก ทำให้พริกมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปมากมาย เช่น พริก ภาษาอังกฤษ คือ Chili หรือ Chili peppers ซึ่งก็มาจากคำว่าพริกในภาษาสเปน หรือ chile โดยพริกจัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum ซึ่งพริกมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum spp.
ส่วนประเทศไทยของเราก็รู้จักและคุ้นเคยกับการปลูกพริกมานานแล้ว และสายพันธุ์ของพริกในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่น้อย รวมทั้งหมดประมาณ 831 สายพันธุ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามชนิดของพริก ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ และพริกขี้หนูเม็ดเล็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
7 เรื่องกินดี บำรุงสมอง เพื่อสุขภาพที่ดีของ "คุณแม่"
"อาหารบำรุงสมอง" ต้าน “อัลไซเมอร์” กินกันไว้ก่อนแก้
ประโยชน์สุดจี๊ดของ 'พริก' ที่ดีต่อร่างกาย
ชื่อเสียงที่โดดเด่นที่สุดของพริก ต้องยกให้เรื่องความเผ็ด เพราะว่าพริกคือเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อนชนิดหนึ่ง เนื่องจากในพริกมี 'สารแคปไซซิน' (Capsicin) ที่เป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อน
โดยสารชนิดนี้จะกระจายอยู่ในทุกส่วนของพริก แต่ส่วนที่พบมากที่สุดหรือเผ็ดมากที่สุดก็คือ รกหรือไส้ของพริกนั่นเอง ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่สามารถทนความร้อนได้ดีแม้ว่าจะผ่านกระบวนการทำให้สุกหรือตากแดดร้อนๆ จนแห้งแล้วก็ตาม แต่พริกก็ยังคงความเผ็ดร้อนไว้ได้ดังเดิม
สำหรับคุณประโยชน์ของพริกมีดังต่อไปนี้
1. ช่วยลดน้ำหนัก
การรับประทานพริกช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากแคปไซซินในพริกมีสาร thermogenic ซึ่งเป็นสารก่อความร้อนในร่างกาย ส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญได้ดี จึงมีส่วนช่วยให้น้ำหนักของเราลดเร็วขึ้น อีกทั้งพริกยังมีกรดแอสคอร์บิก ที่ช่วยเร่งให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานได้
โดยมีการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานพริก 10 กรัม ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และนานถึง 30 นาทีเลยทีเดียว แต่จะให้รับประทานพริกสดๆ เป็น 10 กรัมเลยก็คงไม่ไหว ฉะนั้น ใครที่อยากใช้พริกช่วยลดน้ำหนัก จะลองหันมารับประทานพริกในรูปแบบสารสกัดดูก็ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าวิตามินซีที่สูงมากในพริกสามารถขยายเส้นเลือดในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ดีและทำให้ระบบขับถ่ายของเราดีขึ้นอีกด้วย
บำรุงสายตา เสริมภูมิต้านทาน อารมณ์ดี ช่วยเจริญอาหาร
2. ทำให้อารมณ์ดี
สารแคปไซซินในพริกสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด อีกทั้งยังลดการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เครียด ช่วยให้เราอารมณ์ดี สดชื่น ทำให้ความดันโลหิตลดลง รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุขมากขึ้นได้
3. ช่วยให้เจริญอาหาร
นอกจากสารเอ็นดอร์ฟินจะช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกว่าอาหารอร่อยขึ้นได้อีกต่างหาก อีกทั้งพริกจะไปทำให้ต่อมน้ำลายทำงานมากขึ้น จนไปกระตุ้นปลายประสาทให้สมองส่วนกลางรับรู้การอยากอาหาร ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าคนส่วนมากจะชอบรับประทานอาหารรสเผ็ด หรือรู้สึกว่าอาหารที่มีรสเผ็ด ยิ่งเผ็ดก็ยิ่งรับประทานอร่อย
4. บรรเทาอาการปวด
อย่างที่บอกไปแล้วว่าสารแคปไซซินในพริกสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่บรรเทาอาการเจ็บปวดแบบธรรมชาติ จึงช่วยให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลงได้ โดยสมัยก่อนมีการนำพริกขี้หนูมาทำลูกประคบ หรือทำเป็นน้ำมันนวดแก้ปวดเมื่อยตามข้อ ขณะที่ในปัจจุบันก็มีการนำสารแคปไซซินมาเป็นส่วนประกอบของขี้ผึ้งและเจล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดบวมบริเวณผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น เข่าอักเสบ แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งเริมและงูสวัดด้วย
5. บำรุงสายตา
พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งสีของพริกที่ไม่ว่าจะเป็นสีแดง เหลือง เขียว ก็มีเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณบำรุงและป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้ ยิ่งเมื่อรวมพลังกับวิตามินเอและวิตามินซีที่อยู่ในพริกด้วยแล้ว ก็จัดว่าพริกเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาที่ดีชนิดหนึ่ง
ทว่าการจะรับวิตามินเอและวิตามินซีจากพริกนั้น ควรต้องรับประทานพริกสดๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ดังนั้น ควรเลือกรับประทานพริกที่มีความเผ็ดน้อยอย่างพริกหยวก พริกหวาน หรือใครรับประทานเผ็ดเก่งมากจะรับประทานเปลือกพริกในส้มตำ อันนี้ก็แล้วแต่สะดวก
6. ช่วยให้จมูกโล่ง หายใจสะดวกขึ้น
จะสังเกตได้ว่าเวลาเรารับประทานพริกเข้าไปสักพักจะมีอาการน้ำมูก น้ำตาไหล นั่นก็เป็นเพราะรสเผ็ดๆ รวมทั้งสารก่อความร้อนในพริกจะไปช่วยลดปริมาณน้ำมูก และสิ่งกีดขวางในทางเดินระบบหายใจ ทำให้จมูกโล่ง ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
แถมยังบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะที่เหนียวข้น ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งหอบหืด ภูมิแพ้ ไซนัส และหลอดลมอักเสบ เราขอแนะนำให้รับประทานพริกเป็นประจำเลย แต่ก็ระวังอย่ารับประทานเผ็ดมากเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารตามมาได้
7. เสริมสร้างภูมิต้านทาน
พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าวิตามินเอและวิตามินซีเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้ แถมในพริกยังมีเบต้าแคโรทีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราให้แข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย
8. ลดน้ำตาลในเลือด
มีการศึกษาพบว่า แคปไซซินในพริกช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสได้ โดยมีการทดลองให้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วเจาะเลือดเก็บข้อมูลก่อนดื่มและหลังดื่มที่เวลา 15 นาที 30 นาที และ 60 นาที ในขณะที่วันต่อมาให้ดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่เพิ่มการรับประทานพริกเข้าไปด้วย ซึ่งพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดวันที่รับประทานพริกร่วมด้วย มีระดับต่ำกว่าวันที่ไม่รับประทานประมาณ 20% ซึ่งก็สรุปได้ว่าพริกน่าจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้นั่นเอง
9. ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น
รู้ไหมว่า การรับประทานพริกเป็นประจำช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น เพราะสารแคปไซซินสามารถยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี อีกทั้งในพริกยังมีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี ที่ช่วยเพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือดให้รับกับแรงดันต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น ลดอาการหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบได้
ลดความเสี่ยงมะเร็ง โรคหัวใจ ป้องกันโลหิตจาง
10. ควบคุมคอเลสเตอรอล
มีงานวิจัยทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงรับประทานพริกขี้หนู 5 กรัม ร่วมกับรับประทานอาหารปกติเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่รับประทานพริก ซึ่งจากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานพริกมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) คงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่รับประทานพริกเลย มีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น จึงสรุปได้ว่าการรับประทานพริกช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้คงที่และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า สารแคปไซซินมีสรรพคุณช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ในขณะที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นได้ ทำให้เรามีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลงอีกด้วย
11. ป้องกันโรคโลหิตจาง
โรคโลหิตจางมีสาเหตุหลักมาจากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงรวมทั้งฮีโมโกลบินให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งในพริกก็มีธาตุเหล็กประกอบอยู่พอสมควร รวมถึงยังมีทองแดงที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีกรดโฟลิกที่ช่วยเสริมให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง ดังนั้น พริกจึงถือเป็นอีกหนึ่งอาหารที่ช่วยป้องกันโลหิตจางได้
12. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
วิตามินซีในพริกมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร แถมยังช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเราก็บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า พริกมีวิตามินซีสูงมาก ดังนั้น การรับประทานพริกจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้
ยิ่งไปกว่านั้นในพริกยังมีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปากได้
13. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
เพียงแค่รับประทานพริกก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงได้แล้ว เพราะพริกจะไปช่วยลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยละลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อน จนอุดตันหลอดเลือด ไม่เพียงเท่านั้น เพราะอย่างที่เราบอกไปแล้วว่าการรับประทานพริกยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล โดยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ทำให้มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลง จึงส่งผลดีต่อหัวใจและสุขภาพ ดังนั้น หากเรารับประทานพริกเป็นประจำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้พอสมควร
กินพริกช่วยบำรุงสมอง ป้องกันปอด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เรื่อง 'เพียงแค่กินพริกก็ช่วยสมองได้' ระบุว่า เรื่องของพริกน่าจะต้องย้อนกลับไปถึง ตำนานของบุหรี่ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ประหลาด ที่สังเกตว่าคนสูบบุหรี่แม้จะตายยับจากมะเร็ง ป่วยหลอดลม ถุงลมและโรคอื่นมหาศาล ทรมานตลอด
แต่กลับมีโรคทางสมองเสื่อมน้อยกว่าและดูจะค่อยๆรุนแรงอย่างช้าๆ แต่เผอิญตายก่อนที่จะติดตามได้ชัดเจนเพราะโทษและพิษภัยของบุหรี่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาในการตั้งสมมุติฐานว่าในบุหรี่อาจมีสารบางอย่างที่ช่วยปกป้องสมอง ยกตัวอย่างเช่น นิโคติน และมีศึกษาติดตามระยะยาวของคนที่กินพริก
รายงานในวารสารประสาทวิทยา (Annals of neurology) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 พบว่า การกินพริก (ไม่ใช่พริกไทย) ทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน พริกอยู่ในตระกูล Solanaceae (capsicum และ solanum) เช่นเดียวกับยาสูบ มีหลักฐานมากมายมหาศาลไม่ต่ำกว่า 60 รายงาน ที่พบว่าคนสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นพาร์กินสันน้อยลง แต่ไม่มีใครอยากตายจากมะเร็ง โรคปอดจากการสูบบุหรี่
รายงานนี้จับประเด็นตรงที่พริกมีปริมาณนิโคติน สูง ดังนั้น อาจจะให้ผลเหมือนกับการสูบบุหรี่ จากการประเมินผู้ป่วยพาร์กินสัน 490 ราย เทียบกันคนปกติ 644 ราย เกี่ยวกับการรับประทาน อาหารและชนิดของเครื่องปรุง พบว่าคนที่บริโภคพืชที่อยู่ในตระกูล Solanaceae สัมพันธ์กับการไม่เกิดโรคพาร์กินสัน
แต่ชนิดของอาหารที่สำคัญที่สุดคือพริก และลดความเสี่ยงได้ถึง 30% แม้แต่มะเขือเทศจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ประโยชน์ที่ได้ดูจะน้อยกว่าพริก ทั้งนี้อาจจะเป็นจากการที่มะเขือเทศมีปริมาณนิโคตินน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่านิโคตินอย่างเดียวหรือมีสารอื่นๆในพริกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพาร์กินสัน
รายงานจากการประชุมล่าสุดของสมาคมอัลไซเมอร์ และเป็นการประชุมนานาชาติในปี 2565 นี้เอง ทำการศึกษาคนที่เป็นอัลไซเมอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เสียชีวิต 654 ราย และทำการชัณสูตรสมอง ทั้งนี้ พบพยาธิสภาพของโรคนี้อย่างรุนแรงตามมาตรฐานของ National Institute on Aging-Reagan criteria pathology ซึ่งรวมลักษณะผิดปกติของการมี neuritic plaques และมีพยาธิสภาพในขั้น V/VI ตาม Braak &Braak staging
ผู้ป่วยเหล่านี้ทั้งหมดได้ไปพบแพทย์ในระยะสองปีก่อนเสียชีวิตและได้ประเมินการทำงานของสมองด้วยการทดสอบ MMSE ทั้งนี้ ด้วยคะแนนที่ 24 หรือมากกว่า หมายความว่า การทำงานพุทธิปัญญายังพอใช้ได้ ช่วยตัวเองได้ และจำนวนทั้งหมดนี้มี 59 รายหรือ 9% ที่การทำงานของสมองยังดูดีอยู่หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีความทนทานและยืดหยุ่นแม้ว่าในสมองตอนตายแล้วในเวลาถัดมาจะเสียหายมากมายมหาศาลไปแล้วก็ตาม โดยในจำนวนที่เหลืออีก 595 รายหรือ 91% สภาพการทำงานอยู่ในระดับแย่
ทั้งๆที่ กลุ่มที่ยังมีสมองดี จะมีอายุมากกว่าก็ตามในการพบหมอครั้งสุดท้ายคืออายุ 81.4 ปี เทียบกับ 77.7 ปี (P=0.005) รวมทั้งอาจมีจำนวนปีของการศึกษามากกว่าบ้างคือ 16.5 ปีเทียบกับ 15.1 ปี (P=0.01) และแถมยังมีสภาวะหดหู่ซึมเศร้าน้อยกว่า ย้อนหลังไปนานกว่าสองปี นับจากพบหมอครั้งสุดท้าย คือ 17.5% เทียบกับ 29.5% (P=0.05) แต่กลับมีโรคประจำตัวมากกว่าที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด คือ 55.2% เทียบกับ 38.2% (P=0.01)
ในกลุ่มที่การทำงานของสมองยังดี กลับพบว่าสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต 66.7% เทียบกับ 45.7% ของกลุ่มสมองแย่ (P=0.002) และกลุ่มที่สมองยังดีอยู่นี้ ยังตกอยู่ในกลุ่มที่สูบบุหรี่มาไม่นานภายใน 30 วันก่อนที่จะทำการตรวจครั้งสุดท้าย คือ 13.2% เทียบกับ 4.6% (P=0.03) เมื่อจัดการปรับกระบวนการทางสถิติเป็น multivariate analysis แทนbivariate ดังข้างต้น ยังคงยืนยันว่ากลุ่มที่สมองยังดี แก่กว่า มีปีการศึกษานานกว่า และผอมกว่าโดยมีมวลดัชนีกาย หรือ BMI น้อยกว่า และเป็นคนที่สูบบุหรี่มาตลอดชีวิตและยังใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกร็ดเลือดมากกว่า
การใช้ยาต้านเกร็ดเลือดแอสไพรินหรือยาละลายลิ่มเลือด จะสัมพันธ์ค่าสถิติในการปกป้องสมองในอัลไซเมอร์ OR=1.87 ในขณะที่สูบบุหรี่มาตลอดชีวิตจะมี OR=2.78 ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่และอัลไซเมอร์ ดูคล้องจองกับอีกหนึ่งรายงานในโรคพาร์กินสันเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่าบุหรี่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 40%
ทั้งนี้คณะผู้วิจัยรวมทั้ง หมอทั่วโลกและตัวหมอเอง ยืนยัน นั่งยันว่า บุหรี่ไม่ใช่ทางออก ทางเลือกแม้การสูบบุหรี่ดูเหมือนจะทำให้สมองที่พังแล้วยังดูทนทานและคล้ายกับสมองยังดีได้ แต่ผลกระทบกลับมากมาย และคนสูบบุหรี่ที่ยังรอดชีวิตอยู่ดังในรายงานนี้น่าจะไม่ได้มีมากนัก ในประชากรทั่วไป
สำหรับข้อสรุปการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกร็ดเลือด อาจตีความจากคณะผู้วิจัยว่า มีผลช่วยให้สมองทนทานขึ้น แต่ข้อสรุปนี้เป็นการตีความจากการติดตามทางระบาดวิทยาเท่านั้นยังไม่สามารถหาความเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเหตุและผลกันได้ชัดเจน จะมีก็แต่เรื่องของบุหรี่ซึ่งเมื่อใช้พริกที่มีปริมาณนิโคตินอยู่บ้างที่ไม่เป็นอันตรายกลับได้ผลเช่นกันในโรคพาร์กินสัน
ทั้งนี้เนื่องจากกลไกของการเกิดสมองเสื่อมทั้งสองโรค คล้ายกันด้วยการก่อตัวของโปรตีนพิษบิดเกลียว ดังนั้นการกินพริกหยวกพริกตุ้ม แดง เขียว เหลือง มะเขือเทศ รวมไปจนกระทั่งถึงพริกขี้หนูควรจะเป็นกระบวนการที่ต้องส่งเสริมที่สำคัญโดยทั้งสามารถป้องกันและชะลอโรคที่เกิดขึ้นแล้วได้ และ หยุดบุหรี่เด็ดขาดเอาบุหรี่ขุดหลุมฝัง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเอาไปสูบต่อ หยุดเดี๋ยวนี้เพื่อตนเองครอบครัวสังคมและระบบสาธารณสุขไทย
เช็กข้อเสียของอาหารรสจัดที่ควรรู้
ผศ.พิเศษ พญ.ฐนิสา พัชรตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าอาหารรสจัด รสเผ็ดร้อนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียนั้น พบว่าความปวด แสบร้อนบริเวณช่องปากและทางเดินอาหารผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารรสเผ็ดเป็นประจำอาจเกิดอาการแสบร้อนในปากแสบร้อนหน้าอก ปวดแสบท้อง และถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น
ผู้ป่วยโรคกรดใหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ดเพราะอาหารเผ็ดทำให้อาการแย่ลง และหากต้องการรับประทานอาหารเผ็ดเมื่ออาการของโรคดีขึ้นแล้ว ควรเริ่มรับประทานจากทีละน้อยก่อนแล้วปรับเพิ่มความเผ็ดขึ้น จะทำให้สามารถรับประทานอาหารรสเผ็ดได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการกำเริบ
รับประทานเผ็ดอย่างไรให้อร่อยและไม่มีผลเสีย
1.เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่รับประทานอาหารเร็วเกินไป เนื่องจากขณะรับประทานอาหารรสเผ็ดจะบริโภคได้มากและอิ่มช้าลง อาจส่งผลเสียต่อการควบคุมน้ำหนัก
2.ผู้ที่เมื่ออาหารหรือมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร อาจปรุงรสชาติให้เผ็ดขึ้นเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความอยากอาหาร
3. หากไม่ได้รับประทานรสเผ็ดเป็นประจำ ควรเริ่มบริโภคอาหารจากความเผ็ดระดับน้อยไปหามาก
อ้างอิง:อภัยภูเบศร์ ,รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย