ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

จากกรณีหญิงสาว อายุ 30 ปี เข้าโรงพยาบาลเมื่อ 12 เม.ย.2566 ด้วยอาการท้องเสียกว่า 20 ครั้ง จนต้องส่งเข้าห้องฉุกเฉิน พบว่ามีอาการไตวาย ต้องฟอกไต และได้รับการผ่าตัดด่วน ต่อมาเมื่ออกจากโรงพยาบาล พบว่าปลายนิ้วมือนิ้วเท้ามีสีดำคล้ำ และหมอแจ้งว่าต้องตัดนิ้วมือทิ้งทั้งหมด

Keypoint:

  • ใครๆ ก็เคยมีประสบการณ์อาการ 'ท้องเสีย' หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ แต่หากขับถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมงควรรีบพบแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจจะรุนแรงอันตรายต่อชีวิตได้
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดท้องเสียมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย การรับประทานอาหารรสจัด แต่สามารถป้องกันได้ หากปฎิบัติตนตามหลักสุขอนามัยที่ดี ทำความสะอาดด้วยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่ และไม่ทานอาหาร หรือน้ำที่ไม่สะอาด
  • ทำความรู้จักภาวะที่อวัยวะร่างกายเปลี่ยนสีนั้น เกิดเป็นโรค Symmetrical peripheral gangrene (SPG) หรือ Gangrene ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายตายจนทำให้เกิดการเน่า เพราะการขาดเลือด 

ท้องร่วง หรือ ท้องเสีย (Diarrhea)  เป็นอาการที่พบได้บ่อย และเป็นได้แทบทุกคน ซึ่งแม้ไม่ใช่โรคร้าย แต่สามารถก่อให้เกิดความไม่สบายกาย หรือไม่สบายตัวได้ โดยท้องร่วง หรือท้องเสีย จะปรากฎในรูปแบบอาการอุจจาระเหลว ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือขับถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. 

โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้น และอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรือด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน

อาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส หรือพยาธิ ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดสารน้ำจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามีอาการท้องเสียที่มีมูกเลือดปน ตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'วันดื่มนมโลก' ดื่มได้ทุกวัย อย่าหยุดเพราะ 'ท้องอืด' มีวิธีแก้

“กฎ 5 วินาที” ไม่มีจริง ห้ามกิน! อาหารตกพื้น เสี่ยงเชื้อโรคร้าย

อัปเดต นักเรียนอาหารเป็นพิษกว่า 150 คนถูกหามส่ง รพ.คาดสาเหตุจากเชื้อไวรัส

 

ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย

นพ.สันติ กุลพัชรพงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ อธิบายถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียว่า ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง ส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตที่ปะปนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร และลำไส้ (Viral gastroenteritis)
  • การติดเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ไวรัสที่มักพบเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิตในระบบทางเดินอาหาร ผ่านทางอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด หรืออาหารเป็นพิษ
  • การรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารอาหาร
  • โรคซีลิแอค (Celiac disease) หรืออาการแพ้กลูเตน (Gluten) ในอาหารจำพวกแป้งบางชนิด เช่น แป้งสาลี
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

  • อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส น้ำตาลฟรุกโตส หรือแพ้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
  • ยารักษาโรคบางชนิด เช่นยาปฎิชีวนะ ยาต้านมะเร็ง และยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ความผิดปกติในการดูดซึมอาหาร (Malabsorption of food)
  • โรคมะเร็งตับอ่อน หรือตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ตับอ่อนทำหน้าที่ในการผลิตน้ำย่อย หากมีภาวะอักเสบจะทำให้ระบบการย่อยและการดูดซึมไขมันทำได้ไม่ดี ทำให้มีอาการถ่ายเหลวในที่สุด
  • เนื้องอกที่กระตุ้นให้ฮอร์โมนในลำไส้เพิ่มการหลั่งสารคัดหลั่ง ทำให้ถ่ายเหลว
  • รังสีรักษา (Radiotherapy)

 

เช็กอาการเบื้องต้น ท้องเสียระดับไหนควรไปพบแพทย์

ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วงมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง ทั้งนี้อาการท้องเสียในระดับที่รุนแรงอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคที่มีความซับซ้อนบางชนิดที่ต้องได้รับวินิจฉัย และทำการรักษาโดยแพทย์ อาการของโรคท้องเสียมีดังนี้

  • ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ ปวดศรีษะ
  • หน้าแดง และผิวแห้ง
  • อุจจาระมีเลือดปน
  • อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย

อาการท้องเสียในผู้ใหญ่ ที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีอาการท้องเสียต่อเนื่อง ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยอาการไม่ทุเลาลง
  • มีภาวะร่างกายขาดสารน้ำ (dehydrated) เช่น ปากแห้ง ไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีอาการเวียนศึรษะขณะลุกเปลี่ยนท่า
  • มีอาการปวดท้อง บริเวณช่องท้องด้านล่าง หรือทวารหนักอย่างรุนแรง
  • ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออุจจาระมีเลือดปน
  • มีไข้สูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส

อาการท้องเสียในทารกและเด็ก ที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • อาการท้องเสียในเด็ก และทารกสามารถจะนำไปสู่ภาวะขาดสารน้ำอย่างรวดเร็ว ขึ้นภายใน 24 ชม. หากอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น ควรรีบนำส่งแพทย์

อาการท้องเสีย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามระยะเวลาของการเกิดอาการ ได้แก่

  • ท้องเสียแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) เป็นอาการท้องเสียทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการประมาณ 1-3 วัน จากนั้นโดยส่วนมากอาการจะทุเลาลงและค่อย ๆ หายไปเอง โดยไม่ต้องใช้ยารักษาโรค
  • ท้องเสียแบบต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • ท้องเสียแบบเรื้อรัง (Chronic diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ หรือเป็นๆหายๆ ต่อเนื่องเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนาน

ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสีย มีกี่แบบ

อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสีย มีลักษณะโดยทั่วไป 2 แบบ

  1. อุจจาระเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเหลวมีเลือดปน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง มีไข้ รู้สึกอยากขับถ่ายเป็นระยะแต่ถ่ายออกไม่มาก ร่วมกับอาจมีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก
  2. อุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีสีเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อุจจาระจะมีสีขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว อุจจาระมีกลิ่นคาว หรืออาจมีมัน คล้ายไขมัน ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็ง ปวดบิด ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน โดยปริมาณของอุจจาระในการถ่ายแต่ละครั้งอาจมีปริมาณมากจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากและมีภาวะขาดสารน้ำได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียอาจทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะขาดสารน้ำเป็นอันตรายอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากผู้ที่ท้องเสีย มีสัญญาณของภาวะขาดสารน้ำอย่างรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์ โดยเร็วที่สุด

อาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ในผู้ใหญ่

  • อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
  • ปากแห้งหรือผิวหนังแห้ง
  • เหนื่อยล้า อ่อนแรง
  • กระหายน้ำอย่างมาก
  • ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่มีเลย
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม

อาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ในเด็ก หรือทารก

  • ปากและลิ้นแห้ง
  • ทารกไม่ปัสสาวะรดผ้าอ้อมเลย ตั้งแต่ 3 ชั่วโมง ขึ้นไป
  • มีอาการง่วงซึม ไม่ตอบสนอง หรือหงุดหงิดง่าย
  • ตา และแก้มตอบ หน้าท้องยุบลงผิดปกติ

ท้องเสียควรรับประทานยาอะไร

  • ยาคาร์บอน หรือยาผงถ่าน (Activated Charcoal) มีฤทธิ์ช่วยดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร โดยสามารถทาน 2 เม็ดทันทีที่มีอาการท้องเสีย ช่วยลดอาการแน่นท้อง ทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง สามารถกินซ้ำได้ทุก 3-4 ชม. หากถ่ายบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำ แต่ไม่ควรทานเกิน 16 เม็ด ต่อวัน
  • ผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส (ORS-Oral rehydration salt) ชดเชยการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ โดยผสม 1 ซองกับน้ำสะอาดในปริมาณที่ระบุข้างซอง ดื่มจนหมด หรือค่อย ๆ จิบแทนน้ำเปล่า เพื่อชดเชยอาการสูญเสียสารน้ำจากการขับถ่าย หรืออาเจียน
  • กลุ่มยาหยุดถ่าย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือ อิโมเดียม (Imodium) เป็นยากลุ่มต้านอาการท้องเสียที่ช่วยลดความถี่ หรือปริมาณอุจจาระในผู้ป่วยท้องเสีย สามารถใช้ยานี้ในกรณีที่ใช้ยาคาร์บอน และผงเกลือแร่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยให้กินยานี้ 2 เม็ดในครั้งแรก และกินซ้ำครั้งละ 1 เม็ด ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว แต่ไม่ควรทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน รวมทั้งห้ามใช้ยานี้ในกรณีที่ถ่ายเป็นมูกเลือด และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะก่อนพบแพทย์ โดยหากใช้ยาทั้ง 3 ชนิดนี้แล้ว อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์ทันที

ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

การรักษาอาการท้องเสียที่ควรรู้

อาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน หรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แต่หากอาการท้องเสียมีระยะเวลาต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน มีไข้สูง และมีเลือดปนในอุจจาระ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการท้องเสียอย่างละเอียด โดยแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ และทำการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ตามสาเหตุของโรคท้องเสีย ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะหรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • การใช้ยารักษาเฉพาะอาการ อาการท้องเสียอาจแสดงออกซึ่งสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome: IBS) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease: IBD) เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) โรคลำไส้อักเสบชนิดไมโครสโคปิก (Microscopic colitis) หรือภาวะแบคทีเรียที่เติบโตมากผิดปกติในลำไส้ เมื่อแพทย์สามารถระบุสาเหตุของอาการท้องเสียได้แล้ว แพทย์จึงจะสามารถทำการรักษาโรคได้อย่างตรงจุด
  • โปรไบโอติก (Probiotics) แพทย์อาจใช้โปรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลชีพชนิดดีช่วยในการรักษา โดยจุลชีพเหล่านี้จะต่อสู้กับแบคทีเรียที่ไม่ดีอันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการให้โปรไบโอติก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

ป้องกันตนเองอย่างไร? ไม่ให้ท้องเสีย

ท้องเสีย สามารถป้องกันได้ โดยวิธีการดังนี้

  • ปฎิบัติตนตามหลักสุขอนามัยที่ดี ทำความสะอาดด้วยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ ทำความสะอาดมือและ อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารก่อนและหลังการรับประทานอาหาร เป็นวิธีสำคัญในการป้องกันโรคท้องร่วง และช่วยการป้องกันโรคท้องเสียได้
  • รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็กทารก 1 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่รับประทานอาหารที่เสีย หรือบูด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ และจัดเก็บในภาชนะปิด
  • หลีกเลี่ยงอาหาร และน้ำที่ไม่สะอาด

เมื่อมีอาการท้องเสีย ไม่ว่า ท้องเสียแบบเฉียบพลัน หรือท้องเสียแบบเรื้อรัง ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน ที่สะอาด ปรุงสุก และย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปเต้าหู้ เนื้อปลา ชดเชยภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะร่างกายสูญเสีย วิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารมันจัด เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง

ท้องเสีย อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์

อาการท้องเสียเป็นอาการที่เราทุกคนสามารถพบเจอได้ในช่วงชีวิต อาการท้องเสียอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากร่างกายขาดน้ำ และการสูญเสียเกลือแร่ จนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือ ต้องดื่มน้ำเกลือแร่ให้มาก ๆ เพื่อชดเชยของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือเป็นประจำ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวันเพื่อป้องกันโรคท้องเสีย

หากมีอาการท้องเสีย หรือมีอาการแทรกซ้อนจากท้องเสีย หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลที่มีความพร้อมของบุคคลาการทางการแพทย์ผู้ชำนาญการ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

เหตุใด? ท้องเสียแล้วอาจเสี่ยงถึงต้องตัดนิ้วมือนิ้วเท้า

ด้าน ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า  ได้ออกมายกเคสตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยระบุว่ามีคนร้องเรียนมาว่า ได้พาคุณแม่ไปหาหมอ

“ทางโรงพยาบาลเอาน้ำหัวเข่าไปตรวจ จากนั้นก็เริ่มความดันต่ำ หมอบอกไตวายต้องฟอกไต แล้วก็บอกเป็นโรคเบาหวานบอกเป็นสารพัดโรค สุดท้ายไม่เป็นโรค แถมต้องมาเสียนิ้วมือ นิ้วขา ขาอีกหนึ่งข้างต้องมาตัด เพราะเกิดจากการดำ เป็น 10 ปี จากคนปกติครบ 32 ขาที่ตัด เพราะดำถึงข้อเท้า ส่วนอีกข้างที่ไม่ตัด ดำนิ้วเท้าทุกนิ้ว ปล่อยให้นิ้วเท้าหลุดไปเอง ก็เลยอยากทราบว่าเกิดจากอะไร”

สำหรับเคสนี้ต้องฟังทางข้อมูลจากหมอ น่าจะขอประวัติการรักษาย้อนหลังกับทางโรงพยาบาลได้ จะได้รู้ว่าเกิดจากอะไร เพราะจากที่บอกมาเห็นว่ามีคำว่า 'เบาหวาน' ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นประสาทเสื่อมได้ และเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้แผลหายยาก ถ้ามีการติดเชื้อก็อาจต้องลงเอยด้วยการตัดเท้า

  • ระยะแรก อาจไม่มีอาการอะไร แต่พอหลอดเลือดมีการตีบตันมากขึ้นจะเริ่มมีปัญหาการปวดที่ขา เดินได้แค่แป๊บเดียวก็ต้องหยุดพัก
  • ระยะต่อมา จะเริ่มตีบตันเป็นมากขึ้น ปวดจนเดินได้น้อยลง อาจจะมีแผลซึ่งแผลรักษาไม่หายด้วยการรักษาปกติ จนไปถึงนิ้วเท้าดำ ตาย เสียขาได้ มีบางคนไม่มีอาการปวดขาอะไรเลย แต่แผลไม่หาย นิ้วเท้าดำตาย ซึ่งถือว่าโรคมันได้ดำเนินไปเยอะมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก Symmetrical peripheral gangrene (SPG) หรือ Gangrene ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายตายจนทำให้เกิดการเน่า โดยอาจมีอาการบวมหรือเกิดเป็นตุ่มพองขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณนั้น ภาวะนี้เกิดจากเนื้อเยื่อขาดเลือด หรือได้รับเลือดจากระบบไหลเวียนเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย

โดยภาวะดังกล่าว มักทำให้เกิดอาการบวม มีตุ่มน้ำพองขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ มีกลิ่นเหม็นโชยออกมา รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณนั้น ในบางกรณีก็อาจมีอาการปวดอย่างฉับพลันรุนแรง และอาจมีอาการชาเกิดขึ้นตามมาด้วย อวัยวะส่วนที่มักได้รับผลกระทบ คือ อวัยวะที่อยู่บริเวณไกลจากหัวใจ เช่น แขน ขา นิ้วมือ และนิ้วเท้า เป็นต้น 

ท้องเสียแบบไหน...ถึงต้องพบแพทย์ เสี่ยงถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจริงหรือ?

สาเหตุที่สำคัญของ Gangrene คือ การขาดเลือด เนื่องจากเลือดมีหน้าที่สำคัญในการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันด้วย หากเลือดไม่สามารถเดินทางไปยังบริเวณใดของร่างกายได้ เซลล์ในบริเวณนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอลล์
  • การใช้ยาหรือสารเสพติดที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น
  • ความดันเลือดต่ำ
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
  • โรคหลอดเลือดหดตัวเรเนาด์
  • การเกิดลิ่มเลือด
  • ไส้ติ่งอักเสบ
  • ไส้เลื่อน
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • การติดเชื้อ HIV
  • โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า

ประเภทของ Gangrene มีสาเหตุที่แตกต่างกันไป

  • Dry Gangrene เกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีหรือถูกปิดกั้น พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง โดยมักเกิดบริเวณมือและเท้า
  • Wet Gangrene เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งมักเป็นผลจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น มีแผลจากการถูกไฟไหม้ หรือเกิดการบาดเจ็บตามร่างกาย เป็นต้น
  • Gas Gangrene เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium Perfringens) ซึ่งทำให้เกิดสารพิษที่ปล่อยแก๊สออกมาได้ แม้จะไม่ค่อยพบ Gangrene ประเภทนี้มากนัก แต่ก็มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
  • Internal Gangrene เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะภายในถูกปิดกั้น โดยมักพบในอวัยวะ เช่น ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • Fournier's Gangrene เกิดจากการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ุ โดยมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น

อ้างอิง: รพ.เมดพาร์ค , pobpad