'ไขมันพอกตับ'โรคใกล้ตัวของคนวัยทำงาน
‘ไขมันพอกตับ’ นับว่าเป็นโรคฮิตที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องจากไขมันพอกตับมีความสัมพันธ์กับหลากหลายที่เรียกว่า อาการเมตาบอลิค หรือภาวะกลุ่มโรคเดียวกับ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
Keypoint:
ว่ากันว่า ‘ไขมันพอกตับ’เกิดขึ้นได้ทั้งในกลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีความผิดปกติในระบบเผาผลาญ จนทำให้ไขมันไปสะสมอยู่ที่ตับเกินกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ แบบนี้ถือว่าเข้าสู่การเป็นโรคไขมันพอกตับแล้ว
ตับนับเป็นอวัยวะสำคัญและถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอวัยวะภายใน ตับของคนเราจะอยู่ใต้ชายโครงขวา มีหน้าที่หลักๆ คือการสร้างน้ำดีเพื่อการช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน และทำลายสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย พร้อมกับช่วยกรองของเสียให้เป็นของดีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อใดก็ตามที่ตับเกิดโรคหรือมีปัญหา เช่น มีไขมันพอกตับ ติดเชื้อไว้รัสตับอักเสบ ตับแข็ง ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะแย่ไปด้วยทั้งระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เข้าใจ "ปลูกถ่ายตับ" เหมาะกับกลุ่มใด มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
เช็กอาการ "ตับอักเสบในเด็ก"เกี่ยวกับฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่?
แพทย์ชี้ 'มะเร็งตับ' ตรวจพบแต่เนิ่นๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา
รู้จักภาวะไขมันพอกตับ
โรคที่เกิดขึ้นกับตับที่พบบ่อยจนเราคุ้นหู ก็คือโรคตับอักเสบ” ซึ่งสาเหตุหลักๆ จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และโรคตับแข็ง เกิดจากการมี 'ไขมันพอกตับ' จนทำให้เกิดเนื้อเยื่อแข็งมาสะสมแทนที่เซลล์ตับที่เสียไป หรือเกิดจากภาวะพิษสุราเรื้อรัง เชื้อไวรัส และการได้รับสารพิษต่างๆ สะสมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคตับมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจนจึงไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเกิดโรคแล้ว คนไข้ที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพตับเป็นประจำจึงมักเข้ามาพบแพทย์เมื่อมีอาการลุกลามหรือเป็นหนักมากแล้ว
รู้จักภาวะไขมันพอกตับภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Triglyceride ในเซลล์ตับ กล่าวคือมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายมากเกินความต้องการจนตับนำไปสร้างเป็นไขมัน (Lipogenesis)
ในคนปกติระดับน้ำตาลจะถูกควบคุมโดยอินซูลิน (Insulin) ซึ่งผลิตมาจากตับอ่อน (Pancreas) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น โดยอินซูลินจะออกฤทธิ์ที่ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมันเพื่อให้ใช้น้ำตาล
ในภาวะที่ดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ (Genetic Predisposition) หรือจากพฤติกรรม (Imbalance Lifestyle) การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมากเกินไป (High Carbohydrate and High Fat Diet) จะทำให้เซลล์ต่าง ๆ ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เมื่อภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ตับมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในยุคนี้ไม่มีน้ำตาลไหนจะอันตรายไปกว่า High Fructose Corn Syrup ที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนำมาใช้ปรุงแต่งผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปทั้งหลายอันเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับ สัมพันธ์ทำให้เกิดโรคอื่นๆ
นพ. อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลโดยปกติไขมันในร่างกายจะเป็นแหล่งพลังงาน เมื่อไหร่ที่เกิดการอดอาหาร ร่างกายก็จะดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยแหล่งที่เก็บไขมันในร่างกาย จะมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ หน้าท้องหรือที่พุง และอีกแหล่งซึ่งเป็นแหล่งที่ใหญ่ก็คือที่ตับ
ไขมันที่ตับนี่นับว่าเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุด หากเกิดการสะสมของไขมันที่ตับมากๆ ก็จะเกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งไขมันนั้นก็เกิดมาจากการที่เราทานอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกฮอล์นั้นเอง ซึ่งถ้าเกิดภาวะไขมันพอกตับก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ
หากมีภาวะของไขมันพอกตับ คือการสะสมของไขมันเข้าไปในเซลล์ตับต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อตับได้และส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายตามมา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ อาจเป็นโรคที่เป็นอยู่เดิม เช่น
- โรคเบาหวาน
- ตับอักเสบจากไวรัสชนิดต่างๆ
- โรคอ้วน
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดัน โลหิตสูง
- หลอดเลือดหัวใจตีบ
หากมีการอักเสบของตับเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้เกิดการทำลายของเซลล์ตับและการมีแทนที่ด้วยพังผืด จนในที่สุดจะทำให้เกิดตับแข็ง ไขมันพอกตับ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งตับได้
เช็กอาการ เข้าข่ายไขมันพอกตับหรือไม่?
สำหรับอาการของโรคไขมันพอกตับนั้น เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะ ส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ ของโรค นั้นไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา
โดยอาการไขมันพอกตับที่พบบ่อย มีดังนี้
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มึนงง
- ผิวและตาเหลือง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ขาบวม หรือมีน้ำในช่องท้อง
- ไม่สบายท้องหรือปวดบริเวณท้องด้านขวาบน
- ผิวหนังคัน ช้ำ หรือเลือดออก
เนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับตับนั้น เป็นโรคที่มีการดำเนินโรคค่อนข้างช้าไม่ใช่ว่าใช้เวลาแค่ 1 หรือ 2 ปีจะเกิดปัญหา แต่ต้องใช้เวลานานกว่าโรคไขมันพอกตับจะดำเนินไปอีกขั้น โดยส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งในบางรายพอเริ่มตรวจพบไขมันพอกตับก็อาจกลายเป็นภาวะตับแข็งแล้วก็เป็นได้
รู้ได้อย่างไรว่ากำลังมีไขมันพอกตับ
เจาะเลือดดูการทำงานของตับ (Liver Function Test) ว่ามีค่าการอักเสบ (Inflammation) สูงกว่าปกติหรือไม่ ในคนที่มีภาวะไขมันพอกตับอาจพบระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติร่วมด้วย
- การตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณช่องท้องจะพบว่าตับอาจมีขนาดโตขึ้นและมีลักษณะขาวขึ้นเมื่อเทียบกับไตและม้าม
- การตรวจวัดไขมันพอกตับจากการ Scan ด้วยเครื่อง (Dexa Scan Whole Body)
- Fibroscan เป็นการตรวจความยืดหยุ่นพร้อมกับประเมินไขมันสะสมภายในเนื้อตับเพื่อสำรวจความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการมีไขมันไปพอก
ใครบ้างที่ควรตรวจไฟโบรสแกน?
- ผู้ป่วยโรคตับที่มีผลเลือดค่าการทำงานตับ AST/ALT มากกว่า 1 เพราะมีโอกาสเป็นโรคตับแข็ง
- มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
- ดื่มเหล้าเป็นเวลานาน
- ทานยา หรือสมุนไพร ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปรกติ ถึง 4 เท่า
- อ้วนลงพุง หรือน้ำหนักเกิน
- กลุ่มภาวะไขมันพอกตับที่อายุมากกว่า 45 ปี
ข้อดีของการตรวจตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน (Fibro Scan)
- ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว
- ไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ
'ไขมันพอกตับ' นำไปสู่โรคตับแข็งได้
เมื่อไขมันไปพอกตับมากๆ เข้าก็ทำให้ตับอักเสบหรือเซลล์ตับตาย จนนำไปสู่การเกิดพังผืดที่ตับ และกลายเป็นคนไข้โรคตับแข็งในที่สุด เมื่อคนไข้มีภาวะตับแข็งแล้วแพทย์จะรักษาด้วยการควบคุมอาการและช่วยไขมันในตับลดน้อยลงเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จะไม่หายขาด
ก่อนจะเป็น 'ตับแข็ง' หรือ 'มะเร็งตับ'
- ระยะแรก เริ่มจากการเกิดไขมันสะสมในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีอาการ หรือการอักเสบเกิดขึ้นภายในตับ
- ระยะที่สอง เมื่อมีไขมันสะสมอย่างต่อเนื่องที่ตับ ตับจะเริ่มเข้าสู่ภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาหรือรักษาไม่หายก็มีก็มีโอกาสจะกลายเป็น 'ตับอักเสบเรื้อรัง'
- ระยะที่สาม เมื่อโรคลุกลามหรือเป็นเรื้อรังจะเกิดภาวะการอักเสบรุนแรงขึ้น หรือเกิดพังผืดสะสมไปเรื่อยๆ เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกทำลาย
- ระยะที่สี่ เมื่อเซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้นๆ ตับจะทำงานไม่ได้เพราะเกิดภาวะตับแข็ง และอาจลุกลามจนเป็น 'มะเร็งตับ' ในที่สุด
ไม่อยากเป็นไขมันพอกตับต้องเปลี่ยนพฤติกรรม
ผู้ที่มีความเสี่ยงประเภทน้ำหนักตัวเกิน ชอบปาร์ตี้ ดื่มกินหนักๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ถ้าไม่อยากเป็นโรคไขมันพอกตับ จนนำไปสู่โรคตับแข็ง ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ สิ่งที่แพทย์แนะนำนั้นก็ทำได้ไม่ยาก เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ หรือไม่อยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
- เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ จิบน้ำบ่อยๆ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดการกินของหวาน ของมัน
- ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 160 นาที
- ระวังเรื่องน้ำหนักตัวอย่าให้เกินมาตรฐาน
- ขับถ่ายเป็นประจำ ระวังอย่าให้ท้องผูก
- หากมียาที่ต้องกินประจำควรปรึกษาแพทย์
- รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ให้อยู่ในภาวะที่ปกติที่สุด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง (High Fat) เช่น นม เนย ไอศกรีม เค้ก ชีส กะทิ อาหารทะเล ไข่แดง และเนื่องจาก Triglyceride เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไปด้วยเช่นกัน
- เพิ่มผักผลไม้สด ถั่ว และธัญพืชที่มีเมล็ด เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน (Sunflower Seed) เมล็ด ฟักทอง (Pumpkin Seed) งา (Sesame Seed) นอกจากนี้การรับประทานผักบางชนิดยังสามารถช่วยเร่งกระบวนการกำจัดพิษออกจากตับ (Detoxification) ได้ เช่น ผักตระกูลบรอกโคลี กะหล่ำ กระเทียม และหัวหอม
- แนะนำให้รับประทานเนื้อที่ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา
- เน้นทานไขมันที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น น้ำมันมะกอก (Olive Oil) อะโวคาโด (Avocado) น้ำมันปลาโอเมก้า3 (Omega 3 Fish Oil)
- สมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิดทำหน้าที่ช่วยขับสารพิษออกจากตับได้ เช่น Milk Thistle, Alpha Lipoic Acid (ALA), N-Acetyl-l-Cysteine (NAC)/NAC เป็นสารตั้งต้นของ Glutathione ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยขับพิษออกจากตับ นอกจากนี้ Vitamin B และแมกนีเซียม (Magnesium) ยังมีคุณสมบัติในการช่วยเยียวยาและกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหายอีกด้วย
อ้างอิง:รพ.สมิติเวช ,รพ.กรุงเทพ ,รพ.เปาโล