ชวนรู้จักโรค SLE โรคแพ้ภูมิตนเอง เมื่อป่วยแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

ชวนรู้จักโรค SLE  โรคแพ้ภูมิตนเอง เมื่อป่วยแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

รพ.ราชวิถี เผย โรค SLE เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย และอวัยวะที่เกิดการอักเสบจะได้รับความเสียหาย โดยผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีการอักเสบในแต่ละอวัยวะแตกต่างและมีอาการแตกต่างกัน แนะผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์

โรค SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus เป็นโรคภูมิคุ้มกันทําลายตนเองหรือ โรคแพ้ภูมิตนเอง นับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย และมีอัตราการเสียชีวิตตํ่า โดยพบเพียงร้อยละ 0.1 (0.014 - 0.122) หรือคิดเป็นจํานวนผู้ป่วยในประเทศไทยราว 50,000 - 700,000 คน ส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงช่วงอายุราว 20 - 40 ปี

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าปัจจุบันโรคดังกล่าวยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แสงแดด การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย การได้วัคซีน การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด 

ด้านนพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า อาการที่พบได้บ่อยของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ตํ่า ปวดข้อ ปวดเมื่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นํ้าหนักลด ผมร่วง มีผื่นที่หน้า ที่แก้ม คล้ายปีกผีเสื้อ ผื่นตามตัว แขน ขา ผื่นแพ้แสง แผลในปาก บวม ซีด มีจ้ำเลือดหรือจุดแดงคล้ายยุงกัดตามแขนขา

โดยมักมีอาการมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการดังกล่าวของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาอวัยวะที่มีการอักเสบ การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางภูมิคุ้มกัน (ANA , anti-dsDNA , anti Sm) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากสมาคมแพทย์โรคข้อของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

โรคแพ้ภูมิตัวเอง "SLE" ป้องกันได้หรือไม่ รักษาอย่างไร

แนะผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์

'วายร้ายไวรัส' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

 

เมื่อป่วย SLE ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

นพ.สูงชัย อังธารารักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้างานโรคข้อและภูมิแพ้ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรค SLE จะต้องทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยการใช้ยา ประกอบด้วย ยาต้านมาลาเรีย ร่วมกับยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิอื่นๆ ซึ่งขนาดและวิธีการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค

รวมทั้ง ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ได้แก่ การดูแลความสะอาด รับประทานอาหารที่สะอาด ระวังการติดเชื้อโรค รับประทานยาให้ตรง และห้ามหยุดยาเอง หลีกเลี่ยงยาสมุนไพรหรือยาชุด อาหารเสริมนอกระบบ หลีกเลี่ยงแสงแดด ลดหรือหลีกเลี่ยงความเครียด การคุมกําเนิด หากจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล 

ชวนรู้จักโรค SLE  โรคแพ้ภูมิตนเอง เมื่อป่วยแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

สำหรับผู้ป่วยโรค SLE ที่มีอาการปวดท้อง อาจเกิดจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล ลําไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ เหมือนบุคคลทั่วไป แต่โรค SLE เองอาจมีการอักเสบของอวัยวะในช่องท้องหรือในระบบทางเดินอาหารจากโรค SLE เองได้ ทั้งนี้ การอักเสบของอวัยวะในช่องท้องหรือในระบบทางเดินอาหารจากโรค SLE เป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างน้อย แต่มีความรีบด่วน

 

วิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรค SLE

ในการวินิจฉัยและการรักษา ประกอบด้วย เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หลอดเลือดแดงในระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน อาจจะมีอาการถ่ายเหลว อาการปวดท้องมักเป็นค่อนข้างรุนแรงและมักจะมีอาการเป็นวันหรือหลายวัน การตรวจท้องจะพบท้องอืด กดเจ็บทั่วท้อง ลำไส้ทำงานลดลง

การวินิจฉัยจะอาศัยการตรวจเลือดประเมินการอักเสบ ประเมินค่าตับ ค่าการทำงานของไต ประเมินแร่ธาตุในเลือด และตรวจหาค่าเอนไซน์ amylase หรือ lipase เพื่อประเมินภาวะตับอ่อนอักสบ การส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ทางช่องท้องจะช่วยในการวินิจฉัย ตับอ่อนอักเสบซึ่งจะพบตับอ่อนบวมโต และหลอดเลือดลำไส้อักเสบซึ่งจะพบลักษณะจำเพาะคือพบลำไส้บวมหนา มีลักษณะคล้ายโดนัท

การรักษา ประกอบด้วย การให้สารน้ำทางหลอดเลือด และการให้ยาสเตียรอด์ขนาดสูง สำหรับภาวะหลอดเลือดลำไส้อักเสบ ถ้าให้การรักษาล่าช้าอาจทำให้ลำไส้เน่าตายและเสียชีวิตได้ นอกจากภาวะหลอดเลือดแดงอักเสบแล้ว พบว่าลำไส้เน่าตาย อาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันจากลิ่มเลือด เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยกว่า ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอักเสบในระบบอื่น

การวินิจฉัยโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการฉีดสีจะพบจุดอุดตัน การรักษาจะใช้ยาละลายลิ่มเลือด อาการอื่นๆ ที่พบได้น้อยมากคือมีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบและมีการปริแตกที่ผนังหลอดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องค่อนข้างรุนแรง และถ้ามีผนังหลอดเลือดแดงแตกมักเสียชีวิตค่อนข้างรวดเร็ว การวินิจฉัยค่อนข้างยากและการรักษาต้องอาศัยการผ่าตัดซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนร่วมกับการให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง