‘แอสปาร์แตม’ ก่อมะเร็ง? อีกด้านของ ‘น้ำตาลเทียม’ ที่ฟัง WHO พูดไม่หมด

‘แอสปาร์แตม’ ก่อมะเร็ง? อีกด้านของ ‘น้ำตาลเทียม’ ที่ฟัง WHO พูดไม่หมด

อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด! หลัง “WHO” เตรียมบรรจุ “แอสปาร์แตม” เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง สื่อนอกเจาะเพิ่ม พบความเสี่ยงเทียบเท่า “ว่านหางจระเข้-คลื่นโทรศัพท์มือถือ” ต้องบริโภคสูงสุด 36 กระป๋อง จึงเป็นโทษต่อร่างกาย

Key Points:

  • “แอสปาร์แตม” ซึ่งเป็น “น้ำตาลเทียม” ชนิดหนึ่ง กำลังจะถูกจัดให้เป็น “สารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง” โดยเป็นการประกาศจาก “IARC” หน่วยงานในสังกัดของ “WHO”
  • “IARC” จัดแบ่งประเภทอาหารและพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งทั้งหมด 4 ประเภท โดย “แอสปาร์แตม” ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “2B” คือ สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ ประเภทเดียวกับว่านหางจระเข้ ผักดอง คลื่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการบริโภคเนื้อแดง
  • หน่วยงานอื่นๆ ออกมาให้ความเห็นและข้อโต้แย้งว่า คำประกาศที่ผ่านมาของ “IARC” มีช่องโหว่หลายจุด ทั้งกรณีของ “ไกลโฟเสต” ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงวิธีการจัดประเภทของ IARC ที่มีความน่าเชื่อถือ-แม่นยำน้อย การออกมาประกาศในครั้งนี้อาจสร้างผลกระทบกับผู้ผลิต และทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น

 

หลังมีการนำเสนอข่าวว่า “WHO” (World Health Organization) เตรียมประกาศให้ “แอสปาร์แตม” (Aspartame) ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือ “น้ำตาลเทียม” เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยสินค้าที่ถูกจับตามองและน่าจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด คือ “น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล” ที่มีการใช้สารแทนความหวานอย่าง “แอสปาร์แตม” เป็นส่วนประกอบสำคัญ

ที่ผ่านมา “น้ำตาลเทียม” หรือ “สารแทนความหวาน” ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายถึงคุณโทษบ่อยครั้ง รวมถึงมีงานวิจัยบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า น้ำตาลเทียมเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดหัวใจวายและอัมพฤกษ์ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อสังเกตอื่นๆ เพิ่มเติมอีกว่า ผลวิจัยดังกล่าวขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคของปัจเจกบุคคล ไม่สามารถนำมาตีขลุมได้

สำหรับ “แอสปาร์แตม” หนึ่งในชนิดน้ำตาลเทียมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด กำลังเกิดข้อถกเถียงในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน หลังจากมีการรายงานข่าวว่า “WHO” เตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็ง ได้นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า ประกาศของ “WHO” จะสร้างผลสะเทือนแก่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากน้อยแค่ไหน รวมถึงระดับความรุนแรงของแอสปาร์แตมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งนั้นมีรายละเอียดระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

‘แอสปาร์แตม’ ก่อมะเร็ง? อีกด้านของ ‘น้ำตาลเทียม’ ที่ฟัง WHO พูดไม่หมด

  • “แอสปาร์แตม” คืออะไร สารให้ความหวานมีกี่ประเภท

“แอสปาร์แตม” (Aspartame) เป็นชนิดหนึ่งของสารทดแทนความหวานหรือน้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners) นิยมใช้เติมรสชาติอาหาร ขนม และเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ โดยน้ำตาลเทียมมีคุณสมบัติให้รสชาติความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลจากธรรมชาติ ที่สำคัญยังให้พลังงานต่ำหรือไม่มีพลังงาน น้ำตาลเทียมจึงได้รับความนิยมในประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่โดยปกติต้องใช้ส่วนผสมของน้ำตาลธรรมชาติในปริมาณมาก

ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อเทรนด์รักสุขภาพมาแรง ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้จึงต้องปรับตัวด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังคงรสชาติความหวานไว้ แต่เปลี่ยนส่วนผสมจากน้ำตาลธรรมชาติเป็นน้ำตาลเทียมแทน

ในตลาด “Food & Beverage” มีสารให้ความหวานที่ได้รับความนิยมหลักๆ 5 ประเภท ได้แก่

  • แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า มีรสขมเฝื่อน ใช้ในเครื่องดื่มเย็นเท่านั้น ไม่ทำให้เกิดฟันผุหรือกระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม
  • แอซีซัลเฟม-โพแทสเซียม (acesulfame-K) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า ไม่มีผลต่อระดับอินซูลินหรือน้ำตาลในเลือด ไม่ทำให้เกิดฟันผุเช่นกัน นิยมใช้เป็นส่วนประกอบของลูกอม ขนมหวาน ขนมปัง น้ำเชื่อม และซอสต่างๆ ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยชี้ว่า “แอซีซัลเฟม-เค” ก่อให้เกิดโรคต่างๆ หรือไม่
  • ซูคราโลส (Sucralose) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 600 เท่า มีรสชาติหวานติดลิ้น แม้ซูคราโลสจะเป็นสารเคมีแต่ก็ไม่ทิ้งสารสะสมไว้ในร่างกาย โดย “WHO” เคยออกมาให้การรับรองแล้วว่า ซูคราโลสเป็นสารแทนความหวานที่มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับน้ำตาลจากธรรมชาติ
  • แซ็กคารีน (Saccharin) หรือที่รู้จักในชื่อ “ขัณฑสกร” ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลเทียม 300 เท่า มีราคาถูกกว่าน้ำตาลทราย ร้านค้าบางแห่งนิยมนำมาเติมแต่งรสชาติอาหารให้มีความหวานเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้แช่อิ่ม ตระกูลผลไม้แช่บ๊วย ของหมัก-ของดองตามรถเข็นขายของ เป็นต้น โดยแซ็กคารีนหรือ “ขัณฑสกร” เคยได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ และถูกห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์บางประเภทแล้ว
  • สตีเวีย (Stevia) หรือสารสกัดจากหญ้าหวาน มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 300 เท่า ให้ความหวานแบบ “หวานติดลิ้น” มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ ทนความร้อนสูง และปัจจุบันยังไม่พบรายงานถึงผลกระทบต่อสุขภาพ 

สำหรับ “แอสปาร์แตม” เป็นสารทดแทนความหวานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะให้รสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทราย โดยปัจจุบันถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำอัดลมน้ำตาล 0% หลากหลายยี่ห้อ 

  • อาจเป็นสารก่อมะเร็ง VS สารก่อมะเร็ง

แผนการเตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นหนึ่งในสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเป็นการอ้างอิงจากผลการประเมินทบทวนงานวิจัย 1,300 ฉบับ ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer) หรือ “IARC” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การอนามัยโลก 

ปัจจุบัน IARC จำแนกประเภทอาหารและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง 4 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มที่ 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to Humans) เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป, แร่ใยหิน, แคดเมียม, ยาสูบ
2. กลุ่มที่ 2 2A สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ (Probably Carcinogenic to Humans) เช่น อาชีพช่างทำผม, คนทำงานกลางคืน
3. กลุ่มที่ 3 2B สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (Possibly Carcinogenic to Humans) เช่น ว่านหางจระเข้, ผักดอง, คลื่นโทรศัพท์มือถือ
4. กลุ่มที่ 4 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (Not classifiable as to its carcinogenicity to humans) หมายความว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการจำแนก

‘แอสปาร์แตม’ ก่อมะเร็ง? อีกด้านของ ‘น้ำตาลเทียม’ ที่ฟัง WHO พูดไม่หมด

หากอ้างอิงตามรายงานข่าวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจะพบว่า “WHO” เตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่ม 2B คือ “Possibly Carcinogenic to Humans” หรือกลุ่มที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา IARC ถูกตั้งคำถามจากสังคมอยู่บ่อยครั้งถึงความน่าเชื่อถือที่มักสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคมาโดยตลอด ทั้งการจัดแบ่งประเภทของสารก่อมะเร็งที่คลุมเครือรวมถึงหลักฐานบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในอดีต IARC เคยมีกรณีคล้ายกันนี้ สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบริโภคที่นำไปสู่การฟ้องร้องและกดดันให้ผู้ผลิตคิดค้นสูตรอาหารใหม่ และเปลี่ยนไปใช้สารประกอบอื่นๆ แทน

ในกรณีของแอสปาร์แตม “JECFA” (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives) คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งเป็นองค์กรใต้ร่ม “WHO” ก็กำลังทบทวนการประกาศใช้แอสปาร์แตมในปีนี้เช่นกัน โดยจะเปิดเผยผลการตัดสินใจวันที่ 14 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

  • ความน่าเชื่อถือของ “องค์กรโลก” สั่นคลอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ย้อนกลับไปในปี 2558 คณะกรรมการฯ ของ IARC ระบุว่า “ไกลโฟเสต” ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 2A คือ อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ แม้ว่าหลายปีต่อมาหน่วยงานอื่นๆ อย่าง “European Food Safety Authority” (EFSA) จะออกมาโต้แย้งเรื่องนี้แล้วก็ตาม แต่คำประกาศจาก IARC ได้สร้างผลกระทบให้กับแบรนด์ที่มีส่วนประกอบของไกลโฟเสตมาแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น กรณีแพ้คดีของบริษัท “ไบเออร์” กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์สัญชาติเยอรมัน ที่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับฝ่ายโจทก์ชาวอเมริกันหลายหมื่นรายที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช “ราวด์อัป” ของไบเออร์ซึ่งมีไกลโฟเสตเป็นส่วนประกอบ มีส่วนทำให้พวกเขาป่วยเป็นมะเร็ง

ขณะเดียวกัน รายงานที่จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง WHO และองค์การสหประชาชาติ (UN) กลับระบุว่า สารไกลโฟเสตไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผ่านการบริโภคอาหาร การตัดสินใจและคำประกาศของ IARC จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการสร้างความตื่นตระหนกให้กับฝั่งผู้บริโภคโดยที่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า คำประกาศดังกล่าวจะมีผลเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือไม่

ทั้งนี้ การจำแนกประเภทสารก่อมะเร็ง 4 ระดับของ IARC ยังมีช่องโหว่ที่สำคัญ คือ การจัดประเภทนั้นอ้างอิงกับ “ความหนาแน่นของหลักฐาน” หมายความว่า ยิ่งมีผลวิจัยหรือรายงานที่ชี้ชัดได้มากเท่าไร ลำดับของวัตถุดิบ ส่วนประกอบ หรือพฤติกรรมเหล่านั้นก็จะยิ่งได้รับการจัดอันดับที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แทนที่จะเป็นการพิจารณาจากความอันตรายของสาร

‘แอสปาร์แตม’ ก่อมะเร็ง? อีกด้านของ ‘น้ำตาลเทียม’ ที่ฟัง WHO พูดไม่หมด

ยกตัวอย่างเช่น การทำงานแบบโต้รุ่ง-ข้ามคืน และเนื้อแดง ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “2A” เพราะมีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคเนื้อแดงและทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้มากกว่าหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า คลื่นโทรศัพท์มือถือและแอสปาร์แตมเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง โดยปัจจุบัน “แอสปาร์แตม” มีหลักฐานเพียงจำกัดจึงถูกจัดแบ่งในหมวดหมู่ “2B” แทน

เคท โลทแมน (Kate Loatman) ผู้อำนวยการบริหารสภาสมาคมเครื่องดื่มระหว่างประเทศ (The International Council of Beverages Associations) ให้ความเห็นว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขควรระมัดระวังประเด็นนี้อย่างยิ่ง เพราะอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดของผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น มากไปกว่านั้น หากพวกเขามองว่า สารทดแทนความหวานอันตรายแล้วหันกลับไปบริโภคน้ำตาลมากขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เคยมีการศึกษาในฝรั่งเศสโดยมีกลุ่มตัวอย่าง 100,000 คน ผลปรากฏว่า ในบรรดา 100,000 คนนี้ ผู้ที่บริโภคสารทดแทนความหวานในปริมาณมากซึ่งรวมถึง “แอสปาร์แตม” ด้วยนั้น มีความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งทาง “EFSA” แย้งว่า การศึกษาเพียงครั้งเดียวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สารทดแทนความหวานเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับระเบียบวิธีศึกษาด้วย

ฟากฝั่งแบรนด์ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ “PepsiCo” เคยนำแอสปาร์แตมออกจากส่วนประกอบในปี 2558 และนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2563 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) วิเคราะห์ว่า ฝั่งผู้ผลิตเองก็พยายามปรับตัว สร้างสมดุลระหว่างรสชาติที่ผู้บริโภคต้องการและปัญหาสุขภาพไปพร้อมๆ กัน

ด้านเลขาธิการสมาคมสารให้ความหวานระหว่างประเทศ (International Sweeteners Association) ระบุว่า แอสปาร์แตมเป็นสารทดแทนความหวานที่ได้รับการวิจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีหน่วยงานด้านความปลอดภัยด้านอาหารกว่า 90 แห่งทั่วโลกที่ประกาศร่วมกันว่า แอสปาร์แตมปลอดภัย ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินความปลอดภัยของแอสปาร์แตมอย่างครอบคลุมที่สุดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเลขาธิการสมาคมยังให้ความเห็นอย่างดุเดือดด้วยว่า “IARC ไม่ใช่หน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหาร”


หลังจากนี้ “WHO” และ “IARC” จะมีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อโต้แย้งดังกล่าวตามมาหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป เพราะก่อนหน้านี้คำประกาศของ WHO ก็สร้างความหวาดวิตกในอุตสาหกรรมอาหารมาแล้วจากกรณีการแนะนำแนวทางควบคุมน้ำหนักว่า ให้เลี่ยงการใช้สารทดแทนความหวาน โดยฝั่งของนักโภชนาการหรือผู้ผลิตเองกลับมองว่า น้ำตาลเทียมยังคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการลดปริมาณน้ำตาลในอาหารของตนได้ดีอยู่

อย่างไรก็ตาม สารทดแทนความหวานหลายแบบก็เป็นการปรุงแต่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น “สารเคมี” อย่างหนึ่ง ควรบริโภคแต่พอดี ระมัดระวังการนำสารแปลกปลอมเข้าร่างกายอยู่เสมอ ไม่นิ่งนอนใจจนเกินไป เพราะแม้จะรับประทานในปริมาณไม่มากแต่หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานานก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsBBC ThaiBBC Thai 2The GuardianHaa MorIARC 1IARC 2PPTVReuters