หน้าฝน ระวัง 'ไข้เลือดออก' ปี 66 ป่วยสะสมแล้วกว่า 31,042 ราย
ในช่วงที่ประเทศไทยฝนตกชุกหลายพื้นที่ ทำให้แหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยในปี 2566 สะสมกว่า 31,042 ราย โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงสุดของปี ย้ำเตือนประชาชนควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย
Key Point :
- สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ในประเทศไทยล่าสุด ปี 2566 จากกรมควบคุมโรคพบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 3 หมื่นราย และเสียชีวิตกว่า 29 ราย
- อีกทั้ง ยังพบว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหน้าฝน ในเดือน ก.ค. เป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงที่สุดของปี
- หากผู้ป่วยมีภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ประเทศไทยมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ทำให้แหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เผยว่า เฉพาะเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงสุดของปี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โดย กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม - 28 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงถึง 27,377 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 ราย
ตั้งแต่เดือนมิถุนายนพบผู้ป่วยไข้เลือกออกสัปดาห์ละ 1,500 - 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ตามลำดับ
ล่าสุด ข้อมูล สถานการณ์ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 5 ก.ค. 2566 พบว่า
- ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม จำนวน 31,042 ราย
- ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 3,665 ราย ( สัปดาห์ที่ 26 )
- ผู้เสียชีวิต จำนวน 29 ราย ( เพิ่มขึ้น 6 ราย )
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.เผย 'ไข้เลือดออก' ป่วยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เคยป่วยแล้ว เป็นซ้ำได้อีก
- รู้ทัน 6 โรคฮิตหน้าฝน ที่เด็กเล็กต้องเฝ้าระวัง ป้องกันรักษาทันท่วงที
- มีไข้ อาจไม่ได้เป็น 'โควิด' แต่ให้สงสัย 'ไข้เลือดออก' รีบรักษาก่อนสาย
โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร
โรคไข้เลือดออกเกิดจาก เชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ระบาดใหญ่ครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2497 และในประเทศไทยระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 ที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ที่มีการคมนาคมสะดวก สถานการณ์ของโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยตลอด ต่างจากอัตราป่วยตายลดลงอย่างมาก สะท้อนพัฒนาการด้านการรักษาพยาบาลดีขึ้น แต่ประชาชนยังขาดความร่วมมือต่อการป้องกันควบคุมโรค
การติดต่อของโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก ติดต่อถึงกันได้โดยมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยในระยะไข้สูง และฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน จากนั้นเมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนปกติ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคน และผ่านระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน - นานที่สุด 15 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ สำหรับเชื้อเดงกีนี้จะอยู่ในตัวยุงนั้นตลอดชีวิตของยุง คือ ประมาณ 45 วัน
อาการไข้เลือดออก
หลังจากได้รับเชื้อไข้เลือดออกจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ ดังนี้
1.ไข้สูงเฉียบพลัน (38.5 – 40 องศาเซลเซียส) ประมาณ 2-7 วัน หน้าแดง ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียน ส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำมูกไม่ไอ
2. อาการเลือดออก เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ มีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาจมีอาเจียนและอุจจาระสีดำ
3. ปวดท้อง ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย
4. ภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการรั่วของเลือด ออกไปยังช่องปอดและช่องท้อง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิต แคบ ส่วนใหญ่ จะรู้สติ พูดรู้เรื่อง กระหายน้ำ
อาจมีอาการปวดท้องกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ถ้ารักษาไม่ทัน จะมีอาการ ปากเขียว ผิวสีม่วง ๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและวัดความดันไม่ได้ ความรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12 - 24 ชั่วโมง ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
การรักษาโรคไข้เลือดออก
ไม่มีการรักษาที่เฉพาะและไม่มีวัคซีนป้องกัน ให้การรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการ โดยให้ยาลดไข้ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ให้น้ำให้เพียงพอ และพักผ่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ เมื่อผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูง 4-5 วัน (พบร้อยละ 70) ซึ่งวันที่เป็นระยะวิกฤติ/ช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลง หรือไข้ต่ำกว่าเดิม
จึงพึงระลึกเสมอว่าวันที่ 3 ของโรค เป็นวันที่เร็วที่สุดที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีโอกาสช็อกได้ และระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการช็อก จะมีสติดีสามารถพูดจาโต้ตอบได้ จะดูเหมือนผู้ป่วยที่มีแต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น ให้รีบนำผู้ป่วยส่งต่อโรงพยาบาลระดับสูงทันที
ป้องกันการเสียชีวิต จากไข้เลือดออก
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลยุทธ์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นการรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรคเพื่อเปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้ง ผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก
ซึ่งล่าสุดผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีภาครัฐ ร่วมควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด
นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนแล้ว การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น
เตือนโรคไข้เลือดออกห้ามซื้อยากินเอง
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น
- ไอบูโพรเฟน
- ไดโครฟิแนค
- แอสไพริน
- รวมถึงยาชุดแก้ปวด
ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต พร้อมทั้งป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน
ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
- เก็บบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย
- เก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย
ทั้งหมดนี้ สามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ
- โรคไข้เลือดออก
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ้างอิง : กรมควบคุมโรค , กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันโรคที่ 5 จ.ราชบุรี