น่าห่วง!!สถานการณ์เด็กไทย 'เตี้ยแคระแกร็น' รุนแรง แม่วัยใสเพิ่ม

น่าห่วง!!สถานการณ์เด็กไทย 'เตี้ยแคระแกร็น' รุนแรง แม่วัยใสเพิ่ม

สนช. เผยผลสำรวจ MICS พบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น น้ำหนักเกิน และผอมแห้งรุนแรงมากขึ้น ขณะที่แม่วัยใส พบ 18 คน ต่อ 1,000 คน  และผู้หญิงอายุ 20-24ปี ที่สมรสก่อนอายุ 18 ปี มีทั้งหมด 17%

Keypoint:

  • วิกฤตสถานการณ์เด็กไทย ชีวิตความเป็นอยู่อาจแย่ลง คนจนยังคงเจนเรื้อรังตามเดิม แม้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต
  • ภาวะเตี้ยแคระแกร็นรุนแรง แม่วัยใสยังพบต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวัยรุ่นสมรสก่อน18 ปี มีสัดส่วน17% ส่วนความรุนแรงในเด็กพุ่งเกิน 50% 
  • เด็กไทยยังเข้าเรียนน้อย แถมทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานและทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐานลดลง โดยเฉพาะเด็กประถมศึกษา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สนช.) โดยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสตรีในประเทศไทย หรือที่เรียกว่า MICS (Multiple Indicator Cluster Surveys programme) เพื่อจะช่วยให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีได้ดีขึ้น รวมถึงติดตามความคืบหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs)ได้

โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565 (MICS2022) ทีมสนช.ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ครอบครัวที่มีผู้หญิงและผู้ชายอายุ 15-49 ปี และมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 34,540 ครัวเรือนทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ห่างไกล เพื่อเก็บข้อมูลตัวชี้วัดกว่า 150 ตัว ในด้านต่างๆ ได้แก่ สุขภาพ โภชนาการ การพัฒนา การศึกษา ภาษาพูด ความรุนแรงเด็กและสตรี และเพิ่มขนาดตัวอย่างใน 12 จังหวัด เพื่อนำเสนอผลการสำรวจระดับจังหวัด

เด็กไทยมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นรุนแรง

'ดร.จิรวัส พูลทรัพย์' ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลสถิติ สนช. กล่าวว่าผลการสำรวจปี 2565 มีทั้งประเด็นความก้าวหน้าและประเด็นต้องเฝ้าระวัง โดยภาพรวมของอัตราเจริญพันธุ์ เฉลี่ยเหลือ 1% คือ ผู้หญิง 1 คน จะมีบุตรเพียงคนเดียว ต่ำกว่าอัตราทดแทนต้องมี 2 คน และต่ำกว่าMICS ปี 2562 อีกทั้ง เมื่อพิจารณาตามความมั่งคั่ง พบว่า กลุ่มครัวเรือนร่ำรวยมีลูกน้อยกว่ากลุ่มครัวเรือนยากจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อันตรายของเด็กเตี้ย

 

ขณะที่อัตราการคลอดในวัยรุ่น พบ 18 คน ต่อ 1,000 คน 

แม้ตัวเลขในปี 2565 ดีขึ้นกว่าปี 2562 แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะช่วงการสำรวจเป็นไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนการสมรสก่อนวัยอันควร ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลของประเทศไทย โดยในปี 2565 ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปีจำนวน 1ใน 6 คน 17 % สมรสก่อนอายุ 18 ปี และเกือบ 6% สมรสก่อนอายุ 15ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2562 เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กนับล้านคนในประเทศไทยเติบโตขึ้นโดยไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ

ความรู้เกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอสไอวี ผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอสไอวีเป็นอย่างดี โดยผู้หญิงจะมีความรู้ 52.0% ขณะที่ผู้ชายมีความรู้ 52.9%

น่าห่วง!!สถานการณ์เด็กไทย \'เตี้ยแคระแกร็น\' รุนแรง แม่วัยใสเพิ่ม

รายงานด้านสุขภาพของเด็กและภาวะโภชนาการ พบว่า เด็กไทยอายุ 12-23 ปี 82.6% ได้รับวัคซีนครบถ้วน ,เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน 28.6% กินนมแม่อย่างเดียว ส่วนการกินนมแม่เป็นหลัก 45.3% ด้านภาวะเตี้ยแคระแกร็น พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ย 12.5% ภาวะผอมแห้ง 7.2% ภาวะน้ำหนักเกิน ประมาณ 10.9% และภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกิน 6.7%

ภาวะโภชนาการจำแนกตามการศึกษาของแม่ พบว่า เด็กที่แม่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษา จะมีภาวะโภชนาการที่ดีกว่า เด็กที่แม่มีการศึกษาปฐมวัย/อนุบาล/ไม่มีการศึกษา ยกเว้นเรื่องของภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเด็กที่แม่มีการศึกษาสูงจะมีภาวะน้ำหนักเกินมากกว่าเด็กที่แม่มีการศึกษาต่ำกว่า

 

แม่เรียนสูง-ฐานะปัจจัยหนุนพัฒนาการเด็ก

'ภัสธารีย์ ปานมี' นักวิชาการสถิติชำนาญการ สนช. กล่าวว่า สำหรับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย พบว่า เด็กอายุ 2-4 ปี ประมาณ 3 ใน 5 หรือ 63.9% ทำกิจกรรมร่วมกับแม่อย่างน้อย 4 กิจกรรมในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ MICS ปี 2562 พบว่า เด็กทำกิจกรรมกับพ่อ แม่ และสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่ในครอบครัวลดลง โดยเฉพาะกิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้กับพ่อ

ขณะที่การเข้าถึงของเล่นและสื่อการเรียนรู้ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า เด็กสามารถเข้าถึงหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม 35.9% , ของเล่นอย่างน้อย 2 ชนิด 84.6% ,ของเล่นจากร้านค้า 92.4% ,ของเล่นจากสิ่งของในครัวเรือน 76.3% และของเล่นที่ทำขึ้นเองภายในบ้าน 62.4%

ส่วนการมีหนังสือสำหรับเด็ก พบว่าเด็กในกรุงเทพฯ มีหนังสือมากที่สุด 49.0% ขณะที่เด็กภาคใต้มีหนังสือน้อยที่สุด 28.0% นอกจากนั้น เด็กที่แม่เรียนสูงกว่ามัธยมศึกษาจะมีหนังสือ ( 53.6%)มากกว่าเด็กที่แม่เรียนปฐมวัย/อนุบาล/ไม่มีการศึกษา (12.5%) และเด็กอายุ 2-4ปี จะมีหนังสือ 45.5% ส่วนเด็กอายุ 0-1 ปี จะมีหนังสือ 17.7% และเด็กที่ครัวเรือนร่ำรวยจะมีหนังสือ 59.3% ส่วนเด็กที่ครัวเรือนยากจน มีหนังสือ 18.7%

การเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 61.9% จะเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสูงกว่าผลสำรวจ MICS ปี2562 และเมื่อจำแนกตามภาษาพูด พบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวพูดไทยจะเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าครอบครัวที่ไม่พูดภาษาไทย และครัวเรือนร่ำรวยมากกับครัวเรือยยากจนมาก % การเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่แตกต่างกัน สามารถเข้าถึงเด็กได้ง่ายเช่นเดียวกัน

เด็กไทยไม่ได้เข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการเข้าถึงการเรียนในระดับปฐมวัย พบว่า เด็กอายุ 3-4 ปี 74.8 % กำลังเรียนระดับปฐมวัย ซึ่งลดลงกว่าผลสำรวจ MICS ปี 2562 ลดลงมาถึง 1ใน10 และเมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบว่า เด็กนอกเขตเทศบาล จะได้เรียนระดับปฐมวัยมากกว่าเด็กในเขตเทศบาล และเด็กที่แม่มีการศึกษาสูงจะได้เรียนระดับปฐมวัยมากกว่าเด็กที่แม่มีการศึกษาไม่สูง ดัชนีพัฒนาการเด็กปฐมวัย พบว่า เด็กอายุ 24-59 เดือน เกือบ 8 ใน 10 (77.8%) มีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำในแต่ละด้าน โดยเด็ก          ผู้หญิง มีพัฒนาการมากกว่าเด็กผู้ชาย และเด็กที่ครัวเรือนร่ำรวยมากมีพัฒนาการมากกว่าเด็กครัวเรือนยากจนมาก

ด้าน อัตราการเข้าเรียนสุทธิ เด็กระดับประถมศึกษา (อายุ 6-11 ปี) พบว่า กำลังเรียนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา 93.5% ส่วนเด็ก 2.4% กำลังเรียนระดับอนุบาล และ4.1% ไม่ได้เรียน ,เด็กระดับมัธยมศึกษา (อายุ 12-14 ปี) พบว่า 84.9% กำลังเรียนระดับม.ต้น หรือสูงกว่า 9.9% เรียนระดับประถมฯ และ5.3% ไม่ได้เรียน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 15-17ปี) พบว่า 74% กำลังเรียนระดับม.ปลาย หรือสูงกว่า 10.6% กำลังเรียนระดับม.ต้น และ 15.4% ไม่ได้เรียน

ด้านทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานและทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน พบว่า เด็กอายุ 7-14 ปี จะมีทักษะการอ่าน และทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐานลดลง โดยเฉพาะเด็กอายุ 7-8 ปี (วัยป.2/ป.3) มีทักษะการอ่าน และการคำนวณขั้นพื้นฐานลดลง ซึ่งเด็กผู้ชายมีทักษะเหล่านี้น้อยกว่าเด็กผู้หญิง เช่นเดียวกับเด็กที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีทักษะต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในเขตเทศบาล และเด็กที่ครอบครัวร่ำรวยจะมีทักษะการอ่านมากกว่าเด็กครอบครัวยากจน

พบการใช้ความรุนแรงในเด็กเกิน 50%

นอกจากนั้น ผลสำรวจพบว่า เด็กอายุไม่เกิน 17 ปี 25% หรือประมาณ 3 ล้านคนไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ โดยส่วนใหญ่ 71%อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา ยายความเหลื่อมล้ำ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ รวมทั้ง พบว่า เด็กอายุ 1-14 ปี จะได้รับการอบรมโดยใช้วิธีที่หลากหลาย โดย 53.8% จะใช้ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีเพียง 2 ใน 5 ที่ครอบครัวไม่ได้ใช้ความรุนแรง หรือใช้การลงโทษร่างกาย และใช้ความรุนแรงทางจิตใจ

ส่วนทัศนคติต่อความรุนแรงในครอบครัว พบว่าผู้หญิงอายุ 15-49 ปี มีความเห็นว่าสามีสมควรทำร้ายร่างกายภรรยา 3.5% ขณะที่ผู้ชายอายุ 15-49 ปี มีความเห็นว่าสามีสมควรทำร้ายร่างกายภรรยา 5.7% เมื่อจำแนกตามภาคพบว่าผู้หญิงที่เห็นว่าสามีควรทำร้ายร่างกายต่ำสุดอยู่ที่ กรุงเทพฯ และสูงสุดอยู่ที่ภาคใต้

แก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าตรงบริบทพื้นที่

ข้อมูลด้านโภชนาการของเด็ รวมถึงภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอม หรืออ้วน แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่เมื่อลองพิจารณาแต่ละระดับแล้วต่อให้เป็นเด็กอยู่ในครอบครัวร่ำรวย หรือยากจน จะเห็นความรุนแรงมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้ และการที่เด็กไทยมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นนั้น ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่โภชนาการของแม่ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ ต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับแม่และครอบครัว

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI ) กล่าวว่าผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเด็กยากจนและเด็กร่ำรวยว่ามีช่องว่างมากขึ้น แม้ภาพรวมในหลายเรื่องดีขึ้นแต่อยากให้พิจารณาข้อมูลในระดับลึกมากขึ้น เพราะจะทำให้เห็นว่าสถานการณ์ของเด็กเปราะบางรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับเด็กอ้วน เด็กอ้วน และคนจนยังคงเป็นคนจนเรื้อรังตามเดิมในประเทศ ฉะนั้น ชีวิตของเด็กไทยหลังจากนี้ อาจจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลงแม้เศรษฐกิจดีขึ้น

“อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก การดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงไม่ได้มุ่งเฉพาะสูงวัย แต่ต้องพัฒนาตั้งแต่เด็กเล็กให้มีคุณภาพ ครอบครัวแหว่งกลางขยายวงกว้างมากขึ้น การที่เด็กกินนมแม่มากขึ้น แต่กินไม่ถึง 1-2 ปี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นแต่ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องหรือไม่ ของเล่นมีมากขึ้นแต่อาจจะไม่ใช่การอ่านหนังสือ ขณะที่ความรุนแรงเด็กเกิน 50% ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าจะแก้ปัญหาได้ต้องเป็นการดำเนินการแบบพุ่งเป้าให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ทั้งระดับตำบล และชุมชน”ดร.สมชัย กล่าว