โรคใหม่ที่ควรรู้! มากับยุง 'ไข้เลือดออก-เชื้อไวรัสซิกา'
ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่...เมื่อประเทศไทยพบผู้ป่วย 'ซิกา' แล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด พบหญิงตั้งครรภ์ 6 ราย ห่วงมีผลแทรกซ้อนทำให้แท้ง สธ.เร่งกำชับทุกจังหวัดคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค คุมเข้มทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรค
Keypoint:
- ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว 110 ราย 'หญิงตั้งครรภ์'กลุ่มเสี่ยงเกิดติดเชื้อจะมีผลต่อ 'สมอง' ของทารกเกิดความผิดปกติหรือเกิดภาวะบกพร่อง
- 'เชื้อไวรัสซิกา' มียุงลายเป็นพาหนะ เป็นพี่น้องตระกูลใกล้กับไข้เลือดออก มีอาการไข้ ผื่นแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง
- การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่เดินทางไปในพื้นที่การระบาดกับยุง และหากมีอาการงดใช้ยาแก้ปวด ยาแอสไพริน ยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอย
จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม - 19 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด แนวโน้มผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และสูงสุดในเดือนมิถุนายน จำนวน 30 ราย
ส่วนเดือนกรกฎาคมนี้ พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี 2 ราย พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และตราด จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้ง หรือทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้
จากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาตั้งแต่ปี 2559-2565 จำนวน 241 ราย พบมีการแท้ง 4 ราย เด็กที่คลอดมีภาวะศีรษะเล็กและมีผลบวกต่อไวรัสซิกา 3 ราย และได้ติดตามพัฒนาการเด็กจนครบ 2 ปี จำนวน 77 ราย พบมีพัฒนาการผิดปกติ 4 ราย
สำหรับการเฝ้าระวังทารกแรกคลอด 2,187 ราย พบความผิดปกติแต่กำเนิดที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา 15 ราย สามารถติดตามพัฒนาการจนครบ 2 ปี ได้ 4 ราย พบความผิดปกติด้านพัฒนาการถึง 3 ราย ขณะที่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Guillain Barre' syndrome :GBS) 145 ราย พบสัมพันธ์กับไวรัสซิกา 5 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย
ไวรัสซิกา คืออะไร? เหมือนหรือต่างโรคไข้เลือดออก
'ไวรัสซิกา' เป็นไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ซิกาไวรัสสามารถติดต่อได้จากยุงกัด ผู้ป่วยจากไวรัสซิกาจะมีไข้ อาจจะมีผื่น ปวดตามข้อ และตาแดง โดยปกติแล้วอาการโดยรวมจะไม่รุนแรงมากและหายได้เองภายในไม่กี่วัน ผู้ป่วยอาการหนักพบได้น้อย และอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
ต้นเหตุที่ทำให้เกิดไวรัสซิกา คือ เจ้ายุงลายเป็นพาหะสำคัญของไวรัสซิกา ซึ่งเป็นพาหะนำโรคชนิดเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่และไข้เลือดออกชิคุนกุนย่า ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่งและสะอาด เช่น แหล่งน้ำในครัวเรือน
"มีรายงานพบว่าหญิงที่ใกล้จะคลอดบุตรสามารถถ่ายทอดเชื้อสู่บุตรได้ และมีรายงานว่าเชื้อไวรัสสามารถผ่านทางน้ำนมได้ อย่างไรก็ตามกลไกในการถ่ายทอดเชื้อผ่านการตั้งครรภ์และน้ำนมนั้นยังไม่ชัดเจน และพบได้น้อยมาก"
พญ.ชัญญาพัทธ์ ภูริภคธร กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล กล่าวว่า โรคไข้ซิกา(Zika fever) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2490 จากลิงที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าซิกา ประเทศยูกันดา และต่อมามีการพบเชื้อในคนเมื่อปี พ.ศ.2495 ในประเทศยูกันดา หลังจากนั้น มีการระบาดของโรคซิกา ในประเทศแถบ แอฟริกา อเมริกา เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก
สำหรับประเทศไทย มีการตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จากนั้นมีการพบผู้ป่วยทุกปีประมาณ 2-5 ราย เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย เชื้อไวรัสซิกาเป็นเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะซึ่งเป็นยุงชนิดเดียวกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และไข้เหลือง สามารถติดต่อได้โดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด และโรคนี้ยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์
ตรวจสอบอาการติดเชื้อไวรัสซิกา
ทั่วไปพบว่าราว 1 ใน 5 ของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสซิกานั้นจะป่วยและแสดงอาการ ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 3-12 วัน
ส่วนใหญ่มักมีอาการไข้ ผื่นแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยจะคล้ายกับไข้หวัดและจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์แล้วหายไป
โดยจะมีอาการที่ไม่รุนแรง และจะมีอาการเหล่านี้อยู่ประมาณ 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก ส่วนน้อยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้พบอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างน้อย ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะส่งผลให้ทารกที่คลอดมามีศีรษะเล็กกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ไวรัสซิก้าเป็นพี่น้องตระกูลใกล้กับไข้เลือดออก ฉะนั้น อาการที่แสดงออกมาก็จะมีอาการคล้าย ๆ กัน เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นขึ้น และอีกลักษณะที่พบได้บ่อยกว่าคือ ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา เนื่องจากเราทราบแล้วว่าโรคนี้มีพาหะนำโดยยุงลาย ซึ่งสามารถนำไวรัสไข้เลือดออกได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นด้วยว่าไวรัสชนิดนี้อาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
ไข้ซิกาจะต่างจากโรคตาแดง
ไข้ซิกาจะต่างจากโรคตาแดง ตรงที่ถ้าเป็นตาแดงจะไม่มีไข้ ไม่มีขี้ตามาก ผื่นไม่ขึ้นตามตัวไม่ปวดข้อ โดยโรคตาแดงจะแสดงอาการทางตาเป็นหลักเท่านั้น แต่ถ้าเป็นไข้ซิกาจะมีหลายๆอาการทั้งเป็นไข้ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง รวมถึงมีอาการตาแดง และปวดตามข้อร่วมด้วย
แม้โรคนี้จะมีอาการไม่รุนแรง แที่ทำให้ทั่วโลกสนใจ น่าจะเป็นเพราะมีการระบาดในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น และพบว่ามีภาวะทำให้ศีรษะเด็กเล็ก หากแม่ได้รับเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ ถ้ามีอาการเข้าข่ายโรคนี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ ที่มีการระบาดโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจติดเชื้อแล้วทำให้ทารกคลอดมามีศีรษะเล็กกว่าปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
การตรวจวินิจฉัยและรักษาติดเชื้อไวรัสซิกา
แพทย์อาจซักประวัติว่าผู้ป่วยเดินทางไปยังประเทศที่เสี่ยงมาหรือไม่ อาการของโรคโดยรวมนั้นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก ดังนั้นในประเทศไทยแพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคจากไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกด้วย
รักษาไวรัสซิกา : ส่วนใหญ่เป็นการดูแลตามอาการเป็นหลัก เนื่องจากโรคซิกายังเป็นโรคที่ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล
"การงดใช้ยาแก้ปวด ยาแอสไพริน และลดไข้กลุ่ม NSAIDs หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอย เนื่องจากรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดและเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย และหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์"
ความบกพร่องของทารก..ที่เกิดจากแม่ติดเชื้อไวรัสซิก้า
นพ.ดร.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าไวรัสชนิดนี้ เป็นเชื้อไวรัสในตระกูล flavivirus ที่มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยเป็นยุงชนิดเดียวกันกับ 'ไวรัสไข้เลือดออก' ซึ่งหากถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดติดเชื้อไวรัสซิก้า ไวรัสนี้จะมีผลทำให้ 'สมอง' ของทารกเกิดความผิดปกติหรือเกิดภาวะบกพร่อง เช่น Microcephaly หรือภาวะศีรษะเล็ก เป็นภาวะที่ศีรษะของทารกมีขนาดเส้นรอบศีรษะเล็กกว่าทารกวัยเดียวกัน พร้อมทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านสมอง ทำให้ทารกอาจเติบโตไปเป็นเด็กที่มีความพิการได้
เมื่อตั้งครรภ์..ต้องป้องกันตัวเองจากไวรัสซิก้าอย่างไร?
การป้องกันที่นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ การไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงจากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว เช่น ไม่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อไวรัสโดยยุง ใช้ถุงยางอนามัยหรืองดการมีเพศสัมพันธ์หากสามีของคุณเพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้
เพื่อปกป้องลูกน้อยในครรภ์…ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ควรเดินทางมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้ติดเชื้อไวรัสซิกา
การป้องกันไวรัสซิกา ทำได้โดยป้องกันยุงกัดเป็นหลัก หลักการป้องกันและควบคุมโรคในไทยสามารถใช้หลักการเดียวกับการป้องกันไข้เลือดออก โดยธรรมชาติของยุงลายจะชอบกัดในเวลากลางวัน การสวมเสื้อผ้ามิดชิด อยู่ในมุ้งหรือใช้มุ้งลวด ช่วยลดความเสี่ยงของการโดนยุงกัดได้ สิ่งสำคัญคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งมักเป็นภาชนะที่มีน้ำขังในครัวเรือน เช่น ถ้วยชามที่มีน้ำขัง เศษขยะ เป็นต้น
- ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด
- ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด
- นอนในมุ้ง และปิดหน้าต่าง ปิดประตู
- สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- หากมีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ให้พบแพทย์โดยด่วน
- หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด (ส่วนใหญ่คือประเทศแถบอเมริกาใต้)
เนื่องจากมีความกังวลถึงความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อไวรัสซิกากับความผิดปกติของการตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หรือมีแนวโน้มจะตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด เนื่องจากไวรัสซิกาติดต่อจากยุงลายกัด ดังนั้นตัวไวรัสจะไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยตรงจากการสัมผัสหรือไอจาม
อย่างไรก็ตามในประเทศไทยบางครั้งอาการเจ็บป่วยไวรัสซิกาแยกจากไข้หวัดใหญ่ได้ยาก จึงควรมีมาตรการป้องกัน เมื่อเข้าใกล้ผู้ที่มีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น การล้างมือ การไอจามต้องปิดปากทุกครั้ง ฯลฯ
อ้างอิง: โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ,กรมควบคุมโรค ,รามา แชนแนล