กิน 'หมูกระทะ' ไม่แยกตะเกียบ! พบผู้ป่วยติดเชื้อ 'ไข้หูดับ' ในไทยเพียบ

กิน 'หมูกระทะ' ไม่แยกตะเกียบ! พบผู้ป่วยติดเชื้อ 'ไข้หูดับ' ในไทยเพียบ

แพทย์อินเทิร์นกุมขมับ! เจอเคสติดเชื้อ "ไข้หูดับ" เพียบ! เหตุกิน "หมูกระทะ" ไม่แยกตะเกียบคีบหมูดิบ! แม้จะมีการรณรงค์ให้ระวังการกินหมูสุกๆ ดิบๆ อยู่เสมอ แต่ก็ยังพบผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมาหาหมอด้วยอาการดังกล่าว

Key Points:

  • ยังพบการแพร่ระบาด "โรคไข้หูดับ" ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อ Streptococcus suis มาจากการกิน "หมูกระทะ" ไม่แยกตะเกียบคีบหมูดิบ หรือใช้คีบหมูดิบหมูสุกปะปนกัน
  • กลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หูดับที่หากสัมผัสเชื้อแล้วจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และกลุ่มบุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • หากร้านหมูกระทะร้านไหนไม่มีอุปกรณ์คีบหมูดิบมาให้ ผู้บริโภคควรแยกตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบกับตะเกียบที่ใช้คีบหมูสุก หรือขออุปกรณ์เพิ่มจากทางร้าน

เมื่อไม่กี่วันก่อน แพทย์อินเทิร์นเจ้าของบัญชี @fufernfu บนสื่อโซเชียล X (ทวิตเตอร์) ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์​ว่า “ไม่กล้ากินหมูกระทะอีกแล้ว เพราะวอร์ดผู้ป่วยที่ตนเองดูแลอยู่ พบเคสผู้ป่วยติดเชื้อ Streptococcus suis (เชื้อก่อโรคไข้หูดับ) ในสมองเยอะมาก โดยประวัติผู้ป่วย คือ กินหมูกระทะไม่เปลี่ยนตะเกียบ วันนี้ก็เจออีกแล้ว รณรงค์ให้ทุกร้านมีตะเกียบคีบหมูดิบแยกต่างหาก” 

จากนั้นก็เกิดการพูดคุยปรึกษากันเกี่ยวกับอาการของ “โรคไข้หูดับ” บนโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง

 

  • อาการเข้าข่าย “โรคหูดับ” ไม่ใช่แค่หูไม่ได้ยิน แต่มีอาการอื่นๆ ด้วย 

นอกจากนี้ผู้โพสต์ต้นเรื่องได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการผู้ป่วยติดเชื้อ “โรคหูดับ” ไว้ด้วยว่า เมื่อติดเชื้อแล้วไม่ใช่ว่าจะมีอาการ “หูดับ” อย่างเดียว แต่ยังมีอาการอื่นๆ ที่ต้องระวังด้วย เช่น มีไข้สูง ปวดหัวมาก คอแข็งขยับไม่ได้ 

บางรายมาด้วยพฤติกรรมโวยวาย เอะอะ ทำร้ายคนอื่น ตำรวจพามาส่งโรงพยาบาลเพราะคิดว่าติดสารเสพติดบางชนิด แต่พอเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจ ปรากฏว่า “ติดเชื้อในสมอง” จากเชื้อ Streptococcus suis เช่นกัน 

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Streptococcus suis แล้วจะแสดงอาการป่วยหลังจากได้รับเชื้อเข้าร่างกายไปประมาณ 1-2 วัน ไปจนถึงประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรงมีโอกาสหายเป็นปกติ แต่หากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วยก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะหากมีอาการหูดับต้องรักษากันต่อไปยาวๆ 

 

  • เปิดวิธีใช้ตะเกียบกิน "หมูกระทะ" ป้องกันการติดเชื้อในสมอง

ขณะเดียวกันก็มีหลายคนตั้งคำถามว่า แล้วถ้าบางร้านหมูกระทะไม่มีที่คีบหมูดิบมาให้ ควรแยกตะเกียบใช้งานอย่างไร ระหว่างการคีบหมูดิบกับการคีบหมูสุก ซึ่งก็มีการให้คำแนะนำการแยกคีบเนื้อหมูเบื้องต้น จากหลากหลายความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าว โดยสรุปข้อมูลได้ดังนี้

1. ใช้ตะเกียบไม้แยกกัน 2 คู่ โดยตะเกียบคู่แรกเอาไว้คีบหมูดิบไปปิ้งบนกระทะให้สุกทั้งสองด้านก่อน แล้วค่อยใช้ตะเกียบคู่ที่สองคีบหมูสุกมากิน (วางตะเกียบทั้งสองคู่ให้แยกจากกันชัดเจน)

2. ใช้ตะเกียบคู่เดียวแต่สลับด้านกันใช้งาน คือ ด้านหัวตะเกียบใช้คีบหมูดิบ ด้านปลายตะเกียบใช้คีบหมูสุก แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่สับสนว่าข้างไหนใช้คีบหมูดิบหรือหมูสุก

3. ขออุปกรณ์คีบหมูดิบจากทางร้านเพิ่มเติม นำมาแยกคีบหมูดิบเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค

4. อย่าใช้ตะเกียบคู่เดียวกันและด้านเดียวกัน ในการคีบทั้งหมูดิบหมูสุกปะปนไปมา แม้ว่าจะจุ่มตะเกียบลงในน้ำซุปร้อนบนกระทะ ก็การันตีไม่ได้ว่าวิธีนี้จะฆ่าเชื้อโรคจากหมูดิบได้

 

  • เชื้อแบคทีเรียก่อโรค "ไข้หูดับ" ตัวการภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบและอาจหูดับถาวร

ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก ผศ.นพ.ศรัญ ประกายรุ้งทอง โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้ให้ข้อมูลผ่านบทความวิชาการไว้ในทิศทางเดียวกัน ระบุว่า “โรคไข้หูดับ” คือ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่อาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง และมีประวัติสัมผัสหรือบริโภคเนื้อหมูแบบสุกๆ ดิบๆ มาก่อน ในช่วงไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการรุนแรงอาจเกิด "ภาวะหูดับถาวร" ได้

สำหรับ เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis นั้น เป็นเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในทางเดินหายใจหมู และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย เชื้อนี้สามารถติดต่อมายังคนได้จากการบริโภคเนื้อหมูดิบ หรือเลือดหมูที่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ และจากการสัมผัสชิ้นส่วนของเนื้อหมูดิบ เลือดหมู ผ่านทางผิวหนังที่มีรอยถลอก บาดแผล หรือเยื่อบุตาก็ได้ 

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หูดับที่หากสัมผัสเชื้อแล้วจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มาก ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และกลุ่มบุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้น การดูแลป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้แก่ งดบริโภคเนื้อหมูหรือเลือดหมูแบบสุกๆ ดิบๆ และหากจะต้องปรุงอาหารที่ต้องหยิบจับเนื้อหมูดิบหรือเลือดหมูดิบ ก็ต้องสวมถุงมือทุกครั้ง

ด้าน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูไว้ว่า ควรหาซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดและห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจเช็กมาตรฐานความปลอดภัยแล้วเท่านั้น ส่วนวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูที่สดใหม่และไม่ใช่หมูป่วยติดเชื้อ ได้แก่ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เนื้อยุบ เมื่อนำมาปรุงต้องผ่านความร้อนอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยปรุงในความร้อนนานอย่างน้อย 10 นาทีหรือจนเนื้อหมูสุกขาวไม่มีสีแดง 

 

  • เปิดวิธีรักษาผู้ป่วย "ไข้หูดับ" ทั้งอาการในระยะแรก และกรณีที่มีอาการรุนแรง

เมื่อผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพาะเชื้อจากเลือด และน้ำเยื่อหุ้มไขสันหลัง เพื่อเป็นการตรวจยืนยันหาเชื้อ Streptococcus Suis (การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต้องส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง) 

หากผลตรวจยืนยันว่าพบเชื้อจริง แพทย์จะเริ่มการรักษาทั้งแบบเฉพาะเจาะจง คือ การให้ยาฆ่าเชื้อผ่านทางเส้นเลือดดำ การรักษาตามอาการ ลดอาการปวด ลดอาการไข้ ลดอาการเวียนศีรษะ ด้วยการให้ยาและอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมกันด้วย คือ การให้สารน้ำ สารอาหาร เกลือแร่ต่างๆ แก่ผู้ป่วยอย่างพอเพียง

ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง คือ มีอาการหูดับ หรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทางหู มักจะเกิดขึ้นหลังจากการเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถได้ยินอีก จัดเป็นภาวะรีบด่วนที่ผู้ป่วยควรต้องได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเพื่อฟื้นฟูการได้ยิน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะกลับมาสื่อสารในแบบสังคมปกติได้อีกครั้ง

สาเหตุที่ "ภาวะหูดับจากโรคไข้หูดับ" จัดเป็นอาการป่วยที่ต้องได้รับการวินิจฉัยได้โดยเร็วนั้น ก็เนื่องมาจากสมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นจากเสียง จะเสียความสามารถในการรับฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งนานวันเข้า โอกาสฟื้นฟูก็จะยิ่งลดลงนั่นเอง

----------------------------------------

อ้างอิง : Fufernfu, รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันวิจัยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์