'ควันบุหรี่' อันตรายมากกว่าเส้นเสียงอักเสบ แม้เราไม่ใช่ผู้สูบ

'ควันบุหรี่' อันตรายมากกว่าเส้นเสียงอักเสบ แม้เราไม่ใช่ผู้สูบ

นักร้องดังต้องงดงาน เพราะได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบจนเส้นเสียงอักเสบ แต่อันตรายที่ต้องเผชิญของ ‘ผู้ไม่สูบบุหรี่’ แต่ต้องรับควันบุหรี่มือสอง ควันบุหรี่มือสาม จากคนสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า มีมากกว่าเส้นเสียง  

Keypoints :

  •        นักร้อง นักแสดงดังหลายคน ต่างออกมาสะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพที่ตนเองได้รับ จากการที่ต้องสูดเอาควันบุหรี่เข้าไปทั้งที่ตัวเองไม่ได้สูบ เป็นการรับควันบุหรี่มือ 2
  •        ผลกระทบและอันตรายต่อสุขภาพของคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่มือ 2  มือ 3 และควันบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีมากกว่าเส้นเสียงอักเสบ บางโรคสุดอันตราย
  •    สถานที่ห้ามบุหรี่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนมากและครอบคลุมหลากหลายลักษณะ แต่กลับพบยังมีการฝ่าฝืนอยู่อีกไม่น้อย อย่างเช่น สถานบันเทิง  บริษัทเอกชน 

นักร้องเหยื่อควันบุหรี่ที่ตัวเองไม่ได้สูบ
        แม้ตัวเราเองจะไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการรับควันบุหรี่มือ 2 หรือ ควันบุหรี่มือ 3
      อย่างเช่น นักร้องดังหลายคนที่ออกมาสะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพที่ตนเองได้รับ 

 1.นนท์ ธนนท์ ซึ่งต้นสังหกัด เลิฟ อิส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ได้ออกประกาศเลื่อนงานของนนท์ ธนนท์ ระบุข้อความว่า ประกาศแจ้งเลื่อนงานแสดงของศิลปิน NONT TANONT เนื่องด้วยศิลปิน NONT TANONT (นนท์ ธนนท์) มีปัญหาด้านสุขภาพเส้นเสียง จากกลุ่มคนที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในพื้นที่แสดง ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด จากคำแนะนำของแพทย์ให้พักการใช้เสียงเป็นระยะเวลา 3-5 วัน ทางศิลปินและทีมงานค่าย เลิฟ อิส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ต้องขออภัยต่อผู้จัดงานดังกล่าวและทีมงานผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างสูง มา ณ ที่นี้

2.ซาร่าห์ ศญพร หรือ Sarah Salola  โพสต์ข้อความผ่านเพจ Sarah. salola ว่า  ร่าอยากขอความร่วมมือทุกคนไม่สูบสุหรี่ในบริเวณคอนเสิร์ต และตามร้านต่างๆนะคะ ทุกครั้งที่มีการสูบบุหรี่เกิดขึ้นบริเวณงาน จะทำให้ร่าเกิดอาการเส้นเสียงอักเสบหนักมาก จนทำให้บางครั้งไม่สามารถร้องเพลงได้เลย และร่าเองก็อยากทำให้เต็มที่ในทุกโชว์  เพราะการเล่นคอนเสิร์ตคือการทำงานที่ร่าตั้งใจมากๆ
ขอความร่วมมือจากผู้ร่วมคอนเสิร์ตร่า งดสูบบุหรี่ระหว่างโชว์ และสูบเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ทางร้านจัดไว้ให้นะคะ (โชว์ไม่เกิน1ชม.)
3.โบกี้ไลอ้อน ระบุว่า สิ่งเดียวที่ฆ่าโบได้ นอกจากดนตรี ก็คือบุหรี่นี่แหล่ะค่  ทุกครั้งที่ไปเล่นคอนเสิร์ตตามร้านต่างๆ แล้วมีการสูบบุหรี่เกิดขึ้นแถวนั้น ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงทุกครั้ง บางครั้งไอจนไม่สามารถร้องต่อได้เลย  โบป่วยเรื้อรังมาเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อการร้องเพลงมาก จนสุดท้ายพบว่าปอดอักเสบในปี 2020(โบไม่สูบบุหรี่)

4.แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม ระบุว่า ตอนยังไม่ปลดล็อกก็มีแอบสูบบุหรี่กันในร้ายอยู่ในบางร้าน ซึ่งเป็นปัญหาต่อการร้องเพลงของผมมา ผมแพ้ควันยาสูบทุกชนิดครับ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมไม่ค่อยรับงาน 

5.เป๊กกี้ ศรีธัญญา  ระบุสรุปความได้ว่า สงสารตัวเอง ดิฉันป่วยเพราะดมควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า ดิฉันไม่ได้สูล แต่นั่งดมอยุ่ 7-8 ชั่วโมงมาถี่มาก ไม่ได้อยากดม จำใจเพราะอยู่หน้าเซ็ท(บนฉาก) จึงไม่รู้จะหนีไปไหน  ก็เลยทนเอา สุดท้ายป่วย ตั้งแต่กลับจากทำงานวันนั้น 5 วันแล้ว ไอไม่หยุด แสบคอ เสียงแหบ ไอจนเจ็บหน้าอก มีผลกระทบกับงานมาก

อันตรายควันบุหรี่มือสอง,สาม

       ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ  ​รพ.บำรุงราษฎร์ เผยแพร่เรื่อง ควันบุหรี่มือสอง อันตรายกว่าที่คิดไว้ว่า แต่ละปี มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือ 2 มากถึงราว 1 ล้านคนโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิตได้แก่

  • โรคมะเร็ง      โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด นอกจากนี้เบนซีนในควันบุหรี่มือสองยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • โรคหัวใจ         ควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบหลอดเลือดและระบบการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  • โรคปอด          สารเคมีและแก๊สในควันบุหรี่มือสองก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังและทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพ เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด และโรคหลอดลมโป่งพอง
              สำหรับปัญหาสุขภาพที่เด็กๆ ต้องเผชิญ เช่น
  • น้ำหนักแรกเกิดน้อย  การสัมผัสกับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ทารกในครรภ์จะคลอดออกมาด้วยน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) คือภาวะที่ทารกเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่ต้องอยู่ใกล้ๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเด็กที่ไม่ได้สัมผัสควันบุหรี่
  • โรคหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยในเด็กที่ต้องสูดดมควันบุหรี่อยู่เสมอ
  • การติดเชื้อ เด็กทารกที่เกิดจากพ่อแม่ที่สูบบุหรี่มักเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบมากกว่าเด็กทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก
    \'ควันบุหรี่\' อันตรายมากกว่าเส้นเสียงอักเสบ แม้เราไม่ใช่ผู้สูบ

         ส่วนควันบุหรี่มือ 3 ซึ่งเป็นควันบุหรี่ที่ติดมากับเสื้อผ้าหรือของใช้ต่าง ๆ แม้จะมีความเข้มข้นน้อยแต่หากได้รับบ่อย ๆ เป็นเวลานานก็มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ 
      คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า  ควันบุหรี่มือ 3 มีสารก่อมะเร็ง เสี่ยงเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะด็ก มีความเสี่ยงได้รับเข้าร่างกายจากการสูดดมหรือการถูกสัมผัสจากผู้สูบบุหรี่ เป็นต้น

  • แม้ว่าสูบบุหรี่มาเป็นเวลานานหลายสิบชั่วโมงแล้ว แต่ทาร์หรือน้ำมันดินที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่จะยังคงเป็นเขม่าติดตัวคุณ หากมาสัมผัสกับเด็ก เด็กก็จะได้รับสิ่งเหล่านี้เข้าไป มีผลต่อทางเดินหายใจ
  • คุณแม่ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับเอาควันสูดดมเข้าไปในร่างกาย สารพิษหล่านั้นสามารถส่งไปถึงลูกน้อยเวลาให้นม

เด็กและทารกสามารถรับฝุ่นควันหรือสารตกค้างบุหรี่มือที่ 3 ได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า

สารเคมี50-100ชนิดในควันบุหรี่ไฟฟ้า
     และไม่เพียงแต่ควันบุหรี่จากบุหรี่มวนเท่านั้น ควันบุหรี่ไฟฟ้าก็สุดอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน เพราะในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอย่างน้อย 50-100 ชนิด ที่ไม่ดีต่อปอด ทำลายปอดและก่อให้เกิดโรค

       ตัวอย่างสารเคมีในไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ นิโคติน โพรพอลีไกลคอล สารก่อมะเร็ง อะโครลีน ไดอะเซทิล โลหะหนัก เช่น  นิกเกิล ตะกั่ว ดีบุก  สารอนุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถแทรกซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้

นิโคติน เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ อีกทั้งยังทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น

โพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน หากสูดดมอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองปอดได้ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหอบหืด

สารประกอบอื่น ๆสารแต่งกลิ่นและรส โทลูอึน เบนซีน นิกเกิล โคบอลต์ โครเมียม ตะกั่ว

\'ควันบุหรี่\' อันตรายมากกว่าเส้นเสียงอักเสบ แม้เราไม่ใช่ผู้สูบ

     ข้อมูลจากรายงานวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า ละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีที่อันตรายหลายชนิด ได้แก่ นิโคติน โพรพิลีน ไกลคอล สารแต่งกลิ่น สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก เช่น อะลูมิเนียม ตะกั่ว ปรอท สังกะสี คาร์บอนิล (Carbonyls) อิพอกไซด์ (Epoxides) โพลิไซคลิกอะโรมาติกไฮดรอกซีคาร์บอน (Policyclic aromatichydroxycarbons : PAHs) รวมถึงยาฆ่าแมลงและสารเคมีอื่นๆ

ผู้สูบรวมถึงคนรอบข้างที่ได้สัมผัสหรือสูดดมละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง ดวงตา และผิวหนัง เป็นต้น

งานวิจัยใหม่จากสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Thorax ชี้ชัดว่า การได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือ 2มีโอกาสการเกิดหลอดลมอักเสบ ไอมีเสมหะ หายใจมีเสียงหวีด และอาการหายใจลำบาก

ควันบุหรี่ไฟฟ้ามือ 2 จะยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นในคนที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน ซึ่งในกลุ่มนี้หากได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือ2ในบ้านจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดหลอดลมอักเสบสูงขึ้นถึง 3 เท่า

\'ควันบุหรี่\' อันตรายมากกว่าเส้นเสียงอักเสบ แม้เราไม่ใช่ผู้สูบ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า มีหลักฐานยืนยันว่าเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามือ2มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของคนที่สูดดมจริง และตัวอย่างอาการที่พบ ได้แก่ หลอดลมอักเสบ และหายใจลำบากขึ้น จึงอยากฝากไปถึงคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าว่านอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองแล้ว ยังมีอันตรายต่อคนใกล้ชิดอีกด้วย ทั้งนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่ควรสูบในบ้าน

สถานที่ห้ามสูบบุหรี่
      ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ.2561 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561  
     ตัวอย่างสถานที่ เช่น  สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพ ,สถานกวดวิชา สถานที่สอนกีฬา ดนตรี ขับร้อง การแสดง ศิลปะป้องกันตัว ศิลปะ ภาษา และสถานที่ที่ประกอบกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน , สนามเด็กเล่น และสถานประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพ  เป็นต้น
     อ่านสถานที่ทั้งหมดได้ที่ https://mahidol.ac.th/temp/2022/04/smoke2.pdf

อ้างอิง : 
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ  ​รพ.บำรุงราษฎร์

อินสตาแกรม bowkylionเฟซบุ๊ก bowkylionเฟซบุ๊ก จิรศักดิ์ ปานพุ่มอินสตาแกรม pexky_sretunyaเฟซบุ๊ก เป๊กกี้ ศรีธัญญา ,เฟซบุ๊กซาร่าห์