รู้เท่าทัน 'โรคมะเร็งในวัยรุ่น' ตรวจพบเร็ว รักษาหาย ไม่อันตรายถึงชีวิต
'โรคมะเร็ง' เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในลำดับต้น ๆ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้ง เป็นโรคร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงเด็กวัยรุ่นด้วย
Keypoint:
- โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นวัยแห่งการเจริญเติบโตที่ในปัจจุบันพบว่าป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้น
- 5 อันดับแรกที่พบผู้ป่วยโรคมะเร็งมากสุดในวัยรุ่น ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูกและกล้ามเนื้อ และเนื้องอกในเซลล์สืบพันธุ์
- การป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งนั้น อาจจะยังไม่ได้มีวิธีที่ชัดเจน แต่การดูแลพฤติกรรม การใช้ชีวิต และการตรวจร่างกายสม่ำเสมอ สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่างๆ หรือเมื่อรู้จะได้รักษาอย่างทันท่วงที
'โรคมะเร็ง' มักเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เด็กเป็นมะเร็งหลายชนิดมากกว่าผู้ใหญ่
โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี 5 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูกและกล้ามเนื้อ และเนื้องอกในเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumor) ซึ่งหากไม่รีบทำการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก และปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนถึงระยะสุดท้าย จะทำให้ยากต่อการรักษา มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง
ฉะนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นไม่ควรละเลย เพราะบางครั้งโรคภัยไข้เจ็บมักไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
ยิ่งโรคมะเร็งที่มีสถิติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแทบทุกปีด้วยแล้ว หนำซ้ำยังสามารถเกิดได้ในเด็กวัยรุ่นไม่เฉพาะแค่คนอายุมากเท่านั้น ก็ยิ่งควรใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไร้โรคภัยร้ายแรงมาเยือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็คอาการ "มะเร็งสมอง" แค่ไหนที่ต้องระวัง
วิธีสังเกตตนเอง“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบบ่อยในคนไทย
5 มะเร็งอันดับต้นๆ ที่พบในกลุ่มวัยรุ่น
รศ.นพ.ปิติ เตชะวิจิตร์ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าวัยรุ่น ถือเป็นวัยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ จึงไม่ใช่เด็กและยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกาย จิตใจ ความคิดและอารมณ์
โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นรวมถึงโรคมะเร็ง มีความแตกต่างกันจากที่เกิดในเด็กและผู้ใหญ่ทั้งชนิดของโรค การพยากรณ์โรค และปัจจัยทางชีวภาพของโรค
มะเร็งที่พบในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี 5 อันดับแรกได้แก่
1.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งได้หลายชนิดตามลักษณะของเซลล์มะเร็ง เช่น Hodgkin, follicular, marginal zone, small cell, diffuse large B-cell, mantle cell, T-cell, NK-T cell, Burkitt เป็นต้น
ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ละชนิดและแต่ละระยะโรคก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน ส่งผลให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน
อาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดเนื้อร้าย ดังนี้
-เหนื่อยล้า อ่อนแรง
-น้ำหนักตัวลดลง
-มีไข้ เหงื่อออก
-บวมที่ต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่ตอบสนองดีต่อการรักษา แม้ว่าจะเป็นระยะที่สี่ก็สามารถหายขาดได้มากเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
2.มะเร็งเม็ดเลือดขาว
เป็นโรคที่เซลล์ต้นกำเนิดการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกมีความผิดปกติส่งผลให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่ไม่สามารถเติบโตได้เพิ่มมากขึ้นในไขกระดูกจนทำให้การสร้างเม็ดเลือดอื่นนั้นเสียไป
อาการของโรค มีดังนี้
-ภาวะเลือดออกผิดปกติ
-เหงื่อออกตอนกลางคืน
-ปวดกระดูกติดเชื้อรุนแรง
-มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
-ตับและม้ามโต
เช็กอาการผู้ป่วยมะเร็งในเด็กที่ต้องเฝ้าระวัง
3.มะเร็งสมอง
พบบ่อยเป็นอันดับ 3 แบ่งออกเป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดเนื้องอก โดยมีอาการของผู้ป่วยมะเร็งสมองจะมีดังนี้
- ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
-มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือภาพเบลอ
-ชัก
-มีปัญหาในการเดินหรือการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ
ในปัจจุบันมะเร็งเด็กหลายชนิดมีผลการรักษาที่ดีมาก ทั้งนี้เพราะมีพัฒนาการของการรักษาที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด และรังสีรักษา ส่งผลให้มีอัตราการรอดชีวิตสูง เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
สำหรับการรักษามะเร็งชนิดเป็นก้อน (solid tumor) การผ่าตัดมักเป็นการรักษาหลักในระยะโดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสี
4.มะเร็งกระดูกและกล้ามเนื้อ
เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย เกิดจากเซลล์ของกระดูกมีการเจริญผิดปกติ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
มี 2 ชนิด คือ ชนิดปฐมภูมิหรือมะเร็งของตัวกระดูกเองและชนิดทุติยภูมิ หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่นซึ่งที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งต่อมไทรอยด์ และที่พบค่อนข้างบ่อยในประเทศไทย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี
อาการแสดงของโรคมะเร็งกระดูกในระยะแรก มีดังนี้
-จะเริ่มด้วยอาการปวด โดยเฉพาะการปวดเวลาพักหรือเวลากลางคืน
-กระดูกหักหรือกระดูกร้าวง่ายกว่าปกติ
-มีก้อนโตขึ้นตามแขนและขา
-กระดูกผิดรูป
ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที
5.เนื้องอกในเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumor)
เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยในผู้ชายจะเป็นมะเร็งที่เริ่มต้นในอัณฑะเรียกว่า มะเร็งอัณฑะ
โดยมีอาการของมะเร็งอัณฑะ มีดังนี้
-คลำพบก้อนเนื้อในอัณฑะ อาจมีหรือไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย
-ลูกอัณฑะบวมหรือใหญ่ขึ้น
-ปวดหน่วงบริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือท้องน้อย
-อัณฑะบวมคล้ายมีน้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
-รู้สึกปวดขัด หรือรู้สึกไม่สบายภายในอัณฑะ
-รู้สึกเหมือนมีน้ำสะสมภายในถุงอัณฑะ
-ความต้องการทางเพศลดลง
-หน้าอกโตขึ้นหรือรู้สึกเจ็บปวดบริเวณหน้าอก เนื่องจากมะเร็งอัณฑะบางชนิดส่งผลต่อฮอร์โมนที่มีส่วนกระตุ้นพัฒนาการของหน้าอก
ขณะที่ในผู้หญิง อาจเป็นมะเร็งนรีเวช โดยจะมีอาการดังต่อไปนี้
-ปวดท้องน้อย
-ปวดประจำเดือน
-เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
-ตกขาวผิดปกติ
-ก้อนในอุ้งเชิงกราน
-ปัญหาทางเพศสัมพันธ์
-ปัญหาเรื่องภายในสตรีในทุกๆประเด็น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง มักมีการพยากรณ์โรคที่แย่กว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก แม้ว่าป่วยเป็นโรคเดียวกันจากปัจจัยทางชีวภาพของโรค วินิจฉัยยากกว่า วัยรุ่นมักมาพบแพทย์ล่าช้า เนื่องจากผู้ป่วยหรือแพทย์ที่ดูแลมักไม่นึกถึงโรคมะเร็งในกลุ่มอายุวัยรุ่น
ขณะที่ สภาพจิตใจของวัยรุ่นที่อาจยอมรับการรักษายาก และความสม่ำเสมอของการกินยาและการรักษาอื่นๆ ต่ำกว่าเด็กที่มีผู้ปกครองดูแลหรือผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเองได้ ทีมสหวิชาชีพไม่เข้าใจความต้องการรวมถึงสภาพพื้นฐานของผู้ป่วยวัยรุ่น
ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่นจึงจำเป็นจะต้องใช้ความเข้าใจและการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพหลายฝ่าย รวมไปถึงตัวผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพ มีผลข้างเคียงทางกายและใจน้อยที่สุด
วิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก
การฉายรังสีจึงจัดเป็นการรักษาที่มีบทบาทสำคัญในมะเร็งของเด็กหลายๆชนิดร่วมกับการผ่าตัดและยาเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของสมอง มะเร็งบริเวณศีรษะและคอ มะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิด Ewing sarcoma, Rhabdomyosarcoma มะเร็งบริเวณไต/ต่อมหมวกไต ชนิด neuroblastoma, Wilm’s tumor รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางกรณี
นอกจากนี้ การฉายรังสียังเป็นการรักษาหลักทดแทนการผ่าตัดในกรณีที่การผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรง รวมถึงอาจฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วยในระยะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
เมื่อผู้ป่วยเด็กจำเป็นที่ต้องได้รับการฉายรังสี เราจะพยายามให้ปริมาณรังสีเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีน้อยสที่สุด สำหรับมะเร็งของสมองมักฉายรังสีประมาณ 20-33 ครั้ง และใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
ทีมแพทย์จะเลือกเทคนิคการฉายรังสีที่ทำให้ปริมาณรังสีครอบคลุมบริเวณก้อนมะเร็ง และหลีกเลี่ยงให้เนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีน้อยที่สุด
สำหรับการฉายรังสีชนิดโฟตอน (เอกซเรย์) มีทั้งวิธีการฉายรังสี 3 มิติ (3D-conformal radiotherapy), การฉายรังสีด้วยเทคนิคปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy, IMRT) และการฉายรังสีปรับความเข้มแบบหมุน (Volumetric Arc Therapy, VMAT)
ในปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องฉายรังสีที่ใช้อนุภาคโปรตอนเข้ามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก ซึ่งด้วยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของรังสีโปรตอนจะอวัยวะปกตินอกเหนือก้อนมะเร็งได้รับรังสีน้อย ส่งผลให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม การเลือกจำนวนครั้งและเทคนิคการฉาย ควรได้รับการประเมินจากทีมแพทย์และพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายๆไป
ก่อนเริ่มการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulator) และ/หรือ เครื่องเอ็มอาร์ (MRI simulator) ซึ่งจะต้องมีการทำวัสดุยึดตรึงผู้ป่วย (Immobilization) เพื่อให้ผู้ป่วยและตำแหน่งที่ต้องการฉายรังสีมีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด และมีตำแหน่งที่ตรงกันในทุกๆวันของการฉายแสง
ในผู้ป่วยเด็กเล็กบางรายอาจมีความกังวลหรือไม่สามารถอยู่นิ่งๆได้นาน จึงมีความจำเป็นต้องมีการให้ยานอนหลับหรือดมยาสลบในช่วงระหว่างการจำลองการฉายรังสีและระหว่างการฉายรังสี ซึ่งการจำลองการฉายรังสีส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-60 นาที
ส่วนการฉายรังสีในแต่ละวันจะใช้เวลาประมาณ 10-60 นาที การดมยาจึงเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆในแต่ละวัน โดยผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการดมยาสลบจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากทีมแพทย์วิสัญญีและกุมารแพทย์ร่วมด้วย
"ผู้ป่วยเด็กไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็กเท่านั้น การให้การดูแลรักษาจะต้องให้ความสำคัญในบางเรื่องเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่นการทำหน้ากากเพื่อยึดตรึงขณะฉายรังสี เป็นรูปการ์ตูนตามที่เด็กชอบ และมีการออกแบบบัตรประจำตัวในระหว่างการฉายรังสีมีให้ดูสดใสน่ารัก และเด็กสามารถเลือกสติกเกอร์ติดในบัตรทุกครั้งของการฉายรังสี การเตรียมขนมหรือของเล่นเพื่อเป็นรางวัลในการมาฉายรังสีแต่ละครั้ง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กไม่กลัวและให้ความร่วมมือในการมาฉายรังสีตามกำหนดเวลา"
อีกทั้งเมื่อเด็กรู้สึกคุ้นเคย และไว้ใจ ทำให้สามารถลดการดมยาระหว่างการฉายรังสีในผู้ป่วยเด็กบางรายได้อีกด้วย การพูดคุย ให้กำลังใจ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็ก เข้าใจขั้นตอนการรักษา รู้สึกเป็นกันเองและมีความเชื่อมั่นในทีมผู้รักษาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การรักษาต่อเนื่องและครบตามที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด