ย้อนรอย 'ฝีดาษลิง' ก่อนมีผู้เสียชีวิต เริ่มระบาดตอนไหน ใครกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

ย้อนรอย 'ฝีดาษลิง' ก่อนมีผู้เสียชีวิต เริ่มระบาดตอนไหน ใครกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

'ฝีดาษลิง' เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนที่ปีนี้ (14 ส.ค.66) จะพบผู้ติดเชื้อ HIV ป่วยด้วยฝีดาษลิงเสียชีวิตรายแรกในไทย เคยมีข้อมูลด้วยว่า "กลุ่มเสี่ยง" คือผู้ที่เกิดหลังปี 2523 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หาคำตอบที่นี่!

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีรายงานข่าวว่าพบผู้เสียชีวิตจาก "ฝีดาษลิง" รายแรกในไทย โดยเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เมื่อติดเชื้อฝีดาษลิงจึงป่วยด้วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด ประกอบกับในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. 2566 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย

กรุงเทพธุรกิจ ชวนย้อนรอยโรคฝีดาษลิง คืออะไร เริ่มกลับมาระบาดตั้งแต่เมื่อไร และใครถือเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ที่จะติดเชื้อโรคชนิดนี้บ้าง? เราสรุปมาให้ครบตั้งแต่ต้นจนจบ ที่นี่!

1. "โรคฝีดาษลิง" โรคร้ายในอดีตเมื่อ 65 ปีก่อน เกิดจากอะไร ?

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม "ออร์โทพ็อกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus)" ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก เป็นโรคติดไม่ร้ายแรง และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 หรือประมาณ 65 ปีก่อน

ทั้งนี้เชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง เป็นญาติกับ "โรคฝีดาษในคน" แต่แพร่ระบาดได้ยากกว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมักจะมีอาการป่วยนาน 2-4 สัปดาห์ และมีระยะฟักตัวประมาณ 5-21 วัน โดยมีอาการป่วย ได้แก่ เป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หนาวสั่น เหนื่อย และต่อมน้ำเหลืองบวม 

เมื่อเริ่มเป็นไข้ จะมีตุ่มคันที่ดูน่ากลัวเกิดขึ้นใน 1-3 วัน โดยมักเริ่มที่ใบหน้า และกระจายไปตามร่างกาย บางคนอาจขึ้นไม่เยอะ แต่บางคนอาจมีหลายพันตุ่ม ซึ่งจะนูนใหญ่ขึ้น มีหนองข้างในเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน "สุก" และแตกเป็นแผล 

ย้อนรอย \'ฝีดาษลิง\' ก่อนมีผู้เสียชีวิต เริ่มระบาดตอนไหน ใครกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

2. ฝีดาษวานร ไม่ได้แพร่เชื้อจาก "ลิง" แต่แพร่เชื้อจาก "หนู"

ฝีดาษลิงที่พบระบาดครั้งแรกเมื่อ 65 ปีก่อนนั้น มีข้อมูลว่า ลักษณะการระบาดของโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคฝีดาษคน ซึ่งเกิดในห้องแล็บวิจัยที่เลี้ยงลิงไว้ 

แม้ไม่ได้มีหลักฐานว่าลิงเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนั้น แต่คนก็เอาไปตั้งชื่อโรคว่า "ฝีดาษลิง" ไปแล้ว กระทั่งปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก คาดว่าสัตว์ตามธรรมชาติที่เป็นพาหะของโรคนี้ จริงๆ แล้วน่าจะเป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู และกระรอกในป่าของแอฟริกา

3. โรคฝีดาษลิง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันระบาดในพื้นที่ประเทศใดบ้าง ?

การระบาดของ "โรคฝีดาษลิง" ในคนนั้น ช่วงยุคอดีตมักพบการติดต่อในพื้นที่ป่าเขตร้อนของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยมีรายงานครั้งแรกปี พ.ศ. 2513 จาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และต่อมาพบในประเทศอื่นๆ อีก 11 ประเทศ

ต่อมาพบการระบาดนอกทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2546 ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 - 2562 ประเทศสหราชอาณาจักรตรวจพบโรคในนักท่องเที่ยว 2 คน ซึ่งเป็นชาวอิสราเอลและชาวสิงคโปร์ ที่เคยเดินทางไปประเทศไนจีเรีย ล่าสุด.. ในช่วงปี พ.ศ. 2565 - 2566 ก็พบการระบาดอีกครั้ง และในระลอกนี้ก็พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย 

4. WHO ชี้ชัด ฝีดาษลิงรุนแรงน้อยกว่าไข้ทรพิษ

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อมูลว่า โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่รุนแรงน้อยกว่าไข้ทรพิษ โดยผู้ป่วยไข้ทรพิษประมาณ 30% เสียชีวิต ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีในลิงในช่วงเวลาไม่นานนี้อยู่ที่เพียง 3 - 6 %

โรคฝีดาษลิงไม่แพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ง่ายๆ แต่สามารถติดเชื้อจากสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ก่อน (จากการที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วน และจากการกินเนื้อของมัน) ส่วนการติดจากคนสู่คน จะติดเชื้อผ่านการสัมผัสกันโดยตรง หรือจับเสื้อผ้า/ที่นอน ที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแผลบนผิวหนัง ดวงตา จมูก ปาก หรือละอองฝอยผ่านทางเดินหายใจ หรือเนื้อเยื่อเมือก เช่น น้ำลาย สารคัดหลั่ง และในระยะแรกของการติดเชื้อ ยาฆ่าเชื้อทั่วไปในบ้านสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงได้

ย้อนรอย \'ฝีดาษลิง\' ก่อนมีผู้เสียชีวิต เริ่มระบาดตอนไหน ใครกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

5. กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน พ.ค. 2565 มีข้อมูลจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยในอดีต (ยุก่อนปี 2523) ประเทศไทยมีการกวาดล้างไข้ทรพิษ โดยมีการฉีดวัคซีนหรือปลูกฝี ซึ่งช่วยป้องกันได้ทั้ง 2 โรค แต่ในผู้ที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

6. ฝีดาษลิงรักษาหายไหม?

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อฝีดาษลิงหากเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงดี ก็มักจะไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรง และคนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวและหายจากโรคได้ในไม่กี่สัปดาห์ และการที่โรคไม่ได้ระบาดแพร่กระจายโดยง่าย ก็ทำให้ความเสี่ยงต่อสาธารณะลดต่ำลงไปมากด้วย ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันนั้น เนื่องจากโรคฝีดาษได้ถูกกำจัดหมดไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ทำให้ในปัจจุบันนี้ ไม่มีวัคซีนโรคฝีดาษเหลืออยู่อีกต่อไป

แต่มีรายงานข่าวจาก Euronews (ณ มิ.ย.65) ระบุว่า บริษัท Bavarian Nordic ในต่างประเทศ ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันฝีดาษรุ่นใหม่สำเร็จแล้ว โดยจะนำมาใช้สำหรับป้องกันทั้งโรคฝีดาษในคน และโรคฝีดาษลิง โดยได้รับการรับรองแล้วจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา โดยจะใช้ชื่อการค้าว่า Imvanex, Jynneos และ Imvamune ตามลำดับ ส่วนยาต้านไวรัสกำลังอยู่ระหว่างพัฒนา

7. WHO ไม่ให้ใช้คำว่าฝีดาษลิง แต่ตั้งชื่อใหม่ว่า Mpox

องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อโรคฝีดาษลิงใหม่ว่า "Mpox" เพื่อไม่ต้องการให้เข้าใจผิด และไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อให้เป็นตราบาป เช่น ถ้าเรียก ฝีดาษลิง ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ลิงไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดของโรคติดเชื้อชนิดนี้

ย้อนรอย \'ฝีดาษลิง\' ก่อนมีผู้เสียชีวิต เริ่มระบาดตอนไหน ใครกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

8. ไทยพบผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" มากที่สุดในอาเซียน

ต่อมามีข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ณ 2 ส.ค.66 ) ระบุว่า การระบาดทั่วโลกของ "ฝีดาษ Mpox" (ฝีดาษลิง) ล่าสุดพบผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น รวม 90,000 ราย พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยมีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยอดในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีเทศกาลสำคัญ แต่เนื่องจากเป็นโรคไม่รุนแรง จึงเห็นได้ว่าอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย 

9.  โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย สถานการณ์ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 66 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43)

10. ป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่เสี่ยงติดเชื้อ "ฝีดาษลิง"

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (14 ส.ค.66) ระบุว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรระบาดเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงของคนไทยที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยฝีดาษวานรรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงและสื่อสารวิธีการป้องกันแพร่เชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำ ติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

---------------------------------------------

อ้างอิง : Euronews, กรมควบคุมโรค, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก, อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์