‘หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน’ ทำไมคนร่างกายแข็งแรงก็ยังเสี่ยงเกิดภาวะนี้ ?
“ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น แต่ใน “วัยทำงาน” ที่ร่างกายแข็งแรงก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน หากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำร้ายสุขภาพหัวใจ
Key Points:
- โรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทั่วโลก เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน
- บางคนยังเชื่อว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด! แท้จริงแล้วภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน
- วิธีป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวในเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังเป็นประจำ และงดสูบบุหรี่
หากกล่าวถึงโรคร้ายเกี่ยวกับ “หัวใจ” ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก (ไม่นับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด) ในปัจจุบันพบว่ามีหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ รวมถึงภาวะอาการบางอย่างที่ไม่ใช่โรค แต่เป็นผลต่อเนื่องจากการเป็นโรคหัวใจ นั่นคือ “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่สุดและอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างฉับพลันทันที
บางคนอาจมีความเชื่อว่าภาวะอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับ “ผู้สูงอายุ” หรือ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นคน “วัยทำงาน” ทั่วไป หรือ “นักกีฬา” ที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก สาเหตุการเกิดภาวะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานาน
ล่าสุดวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา “พรพรหม จุลกทัพพะ” ผู้ประกาศข่าวกีฬาและผู้บรรยายกีฬาชื่อดัง ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 51 ปีเท่านั้น ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัวและผู้คนในวงการข่าวกีฬา ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต เบื้องต้นนั้นคาดว่ามาจาก “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นภัยเงียบของคนวัยทำงาน
กรุงเทพธุรกิจ ชวนทบทวนความเข้าใจ “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” และปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “โรคหัวใจ” กันอีกครั้งว่า เราจะสามารถป้องกันได้อย่างไร และลักษณะอาการแบบไหนที่เรียกว่าเข้าข่ายมีความเสี่ยง
- “โรคหัวใจ” และ “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” อันตรายถึงชีวิต
“โรคหัวใจ” หรือ Heart Disease เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้หลายกลุ่ม ดังนี้ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น ถือเป็นโรคร้ายที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะ “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ซึ่งในอดีตเคยพบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบได้ใน “วัยทำงาน” และ “วัยรุ่น” มากขึ้น ข้อมูลจาก รพ.วิมุต ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 6 คนเลยทีเดียว
ขณะที่ รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยให้สัมภาษณ์ผ่าน Rama Channel ไว้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนอายุน้อย หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-35 ปี ป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้นกว่าเดิมนั้น เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่ร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬา หรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้แรงหนักๆ ในการทำงานอยู่เสมอ ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้
ที่สำคัญผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ยิ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้มากกว่าคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากหัวใจทำงานผิดปกติ
สำหรับ “ภาวะหัวใจล้มเหลว” นั้น ไม่ใช่ภาวะหัวใจหยุดเต้นแบบกะทันหัน แต่เกิดจาก “ความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ” อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โครงสร้างหัวใจ เยื่อหุ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เป็นต้น ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการ แม้ในขณะพัก รวมถึงไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติอีกด้วย
ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามระยะเวลาที่มีอาการได้ ดังนี้
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นใหม่ในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างรวดเร็ว หรือเป็นผู้ที่มีอาการอยู่แล้ว แต่อยู่ในระดับคงที่หลังจากนั้นแต่กลับมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic Heart Failure) พบได้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันมาก่อนหรือไม่ก็ได้ แต่ระหว่างที่วินิจฉัยจะพบว่าการทำงานของหัวใจผิดปกติอยู่เป็นเวลานาน
- อาการแบบไหนเสี่ยงหัวใจล้มเหลว?
ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นเป็น “กลุ่มอาการ” ไม่ใช่โรค ดังนั้นจำเป็นจะต้องวินิจฉัยอาการและตรวจสอบดูว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวด้วยหรือไม่ เพื่อพิจารณาไปพร้อมกัน ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัด ได้แก่
- หอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก เมื่อนอนราบ
- เจ็บ แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ขาบวม กดบุ๋มทั้งสองข้าง
- เส้นเลือดดำที่คอมีความโป่งพอง
- คลำพบตับโต กดเจ็บ
- มีเสียงกรอบแกรบจากชายปอดทั้งสองข้าง
- วิธีรักษา ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภาวะหัวใจล้มเหลว
หัวใจสำคัญของการรรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวก็คือ การทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอาการแทรกซ้อน หยุดยั้งการลุกลามของโรค เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยแพทย์มีแนวทางในการรักษาดังนี้
1. รักษาด้วยยา เพื่อเพิ่มความสามารถการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดภาระการทำงานของหัวใจลง ป้องกันและชะลอความเสื่อมของหัวใจ ซึ่งเป็นการรักษาที่เน้นไปที่ลดอัตราการตาย
2. ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า เพื่อช่วยในการบีบตัว ลดภาระการทำงานของหัวใจ
3. รักษาโดยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งวิธีการนี้ คนสุขภาพแข็งแรงทั่วไปก็สามารถนำไปปรับใช้เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ด้วยเช่นกัน
โดยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น เริ่มต้นจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดและอาหารที่มีโซเดียมสูง (ไม่ควรรับประทานเกลือเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือร่างกายไม่แข็งแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม และที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
โดยสรุปแล้วแม้ว่า “โรคหัวใจ” และ “ภาวะหัวใจล้มเหลว” อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และส่งผลกระทบรุนแรงจนเสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน แต่หากเราเริ่มต้นดูแลตัวเองได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงน้อยลงเท่านั้น และแน่นอนว่าการปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นนั้น ย่อมดีกว่าการปล่อยตัวเองอ่อนแอจนป่วยแล้วค่อยไปรักษา ดีไม่ดีอาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรืออาจเกิดเหตุไม่คาดฝันที่แม้อยากจะย้อนเวลาคืนมาแค่ไหน ก็ทำไม่ได้แล้ว
----------------------------------------
อ้างอิง : รพ.ศิริราช, รพ.วิมุต, รพ.บำรุงราษฏร์, BBC และ Rama Channel