เช็ก 'หลอดเลือด& แคลเซียม'บอกความเสี่ยง 'อัมพฤกษ์-อัมพาต'
'ไทย' เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และวัยนี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสมอง และโรคหัวใจมากกว่าวัยอื่นๆ 'อัมพฤกษ์ อัมพาต' จึงเป็นโรคที่น่ากลัวมาก ยิ่งหากเป็นแล้วทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียง
Keypoint:
- โรคภัยไข้เจ็บมักเป็นสิ่งที่เข้ามาสู่ชีวิต โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวเสมอ ยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ วัยที่มีหลายๆ โรครุมเร้า โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจที่ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
- วิงเวียนศีรษะ เดินเซ คิดคำพูดไม่ออก แขนขาอ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติ เหนื่อยง่าย ไม่สามารถออกกำลังได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรตรวจหลอดเลือดแดง เช็กแคลเซียมหรือหินปูนในหัวใจ
- เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีจะทำให้วางแผนดูแล รักษาได้ทัน ป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคที่ทำให้ผู้สูงอายุขาดอิสรภาพ
กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลคนไทยเสียชีวิตจากโรคอัมพาตปีละกว่า 13,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 37 คน ทั้งนี้โรคอัมพาตเกิดจากการที่สมองขาดเลือดเพราะมีการตีบ ตัน หรือแตกของโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ การสังเกตการเกิดโรคเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์เพื่อรักษาได้เร็วมากขึ้นเท่าไร จะทำให้โอกาสเสียชีวิตหรือพิการลดลงมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้น 'โรคหลอดเลือดหัวใจ'ยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย อาการที่พอสังเกตอาการได้ คือ อาการเจ็บหน้าอก และเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลัง หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ กลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมักมีอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน เนื่องจากมีสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด และมีการสะสมของแคลเซียมหรือหินปูนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง และตีบตัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ติดเบรกชีวิต ก่อนเสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาต
ขณะที่ภาวะหลอดเลือดแข็ง เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ มีไขมันไปสะสมระหว่างหลอดเลือดเป็นไขมัน จนในที่สุดทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดเกิดขึ้น และเมื่อมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เสียความยืดหยุ่น ปัญหาที่ตามมาคือ ความดันโลหิตจะยิ่งสูงขึ้น หลอดเลือดเสื่อมมากขึ้น มีไขมันไปสะสมในผนังหลอดเลือดเกิดการตีบ หรือแตก ได้ง่ายขึ้น
เมื่อคนเราอายุมากขึ้นหลอดเลือดแดงจะเสื่อมตามวัย เสียความยืดหยุ่น มีหินปูนเกาะ รวมถึงมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดแดงเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง จึงเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป มักเกิดร่วมกับเรื่องของอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุมากกว่า45ปี ขึ้นไป
พญ.รับพร ทักษิณวราจาร อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า เล่าว่า ปัจจุบันคนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับที่1จากกสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด (ข้อมูลจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ปี2562) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แพทย์จึงมีแนวทางตรวจที่หลากหลาย เพื่อวินิจฉัยโรค โดยจะพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย อาทิ การตรวจเลือด,การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง,การตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าสมอง,การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid duplex ultrasonography)เป็นต้น
เช็กอาการ ก่อนตรวจหลอดเลือดตีบตัน
การตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid duplex ultrasonography) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อดูหลอดเลือดแดงใหญ่carotid (หลอดเลือดแดงด้านหน้าคอ2ข้าง ซ้าย-ขวา ที่ส่งเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงสมอง) เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)ของหลอดเลือดเลี้ยงสมอง
โดยรังสีแพทย์สามารถดูผนังหลอดเลือด วัดความหนาของผนังหลอดเลือดจากไขมันสะสม ตรวจหาคราบหินปูน (calcified plaque)ที่อยู่ตามบริเวณหลอดเลือดที่คอ เพื่อดูภาวะตีบแคบของหลอดเลือดcarotidและวัดความเร็วของการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด ว่ามีเลือดเลี้ยงสมองลดลงหรือไม่เพราะการที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง มีไขมันสะสม เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต
การตรวจ carotid duplex ultrasonographyถือเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่เจ็บปวดและค่าใช้จ่ายไม่สูง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่าง ๆ ต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือสงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้
- วิงเวียนศีรษะ
- เดินเซ
- คิดคำพูดไม่ออก
- แขนขาอ่อนแรง
- การมองเห็นผิดปกติ
- ปวดศีรษะ
2.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (transient ischemic attackหรือTIA)
3.ผู้ป่วยที่มีภาวะมองเห็นผิดปกติชั่วคราว (transient visual loss)
4.ผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจด้วยหูฟังได้ยินเสียงฟู่ผิดปกติที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid bruit)
5.ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
6.ผู้ป่วยที่ต้องติดตามหลังการผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอ
7.ประเมินความเสี่ยงก่อนผ่าตัดโรคหัวใจบางชนิด เช่นผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
ทั้งนี้ภาวะหลอดเลือดแดงที่คอตีบแข็ง (carotid artery stenosis)หากตรวจพบช้าอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้
ตรวจให้ครบแคลเซียมหรือหินปูนที่หัวใจบ่งบอกโรค
นพ. ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์ สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า แคลเซียม หรือหินปูนที่หัวใจนี้ อาจเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ที่ลิ้นหัวใจ หรือที่เยื่อหุ้มหัวใจ ที่ควรระวังคือหินปูนที่เกาะที่ผนังหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง และจะเกิดขึ้นก่อนเกิดอาการของโรคหัวใจนานหลายปี
จากการศึกษาพบว่าปริมาณแคลเซียมนี้สามารถทำนายโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือการสูบบุหรี่ ภาวะแคลเซี่ยมเกาะที่หลอดเลือดนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน
ใครคือผู้ที่ควรตรวจแคลเซี่ยมในหลอดเลือดหัวใจ
สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่าผู้ที่สมควรได้รับการตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ คือ
- ผู้ป่วยทั่วไปที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางของการเกิดโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตวาย
จากคำแนะนำของสมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาเบาหวานในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีอายุมาก และผู้ป่วยโรคไตวายที่ไม่สามารถตรวจหัวใจด้วยการเดินสายพานตามวิธีมาตรฐานได้นั้น การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือด ถือว่าเป็นมาตรฐานการตรวจหัวใจที่ดี
เนื่องจากผลการตรวจแคลเซียมจะช่วยให้เราทำนายโอกาสเกิดและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และยังช่วยเป็นข้อมูลประกอบการเลือกมาตรการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม คะแนนแคลเซี่ยมที่หัวใจสูงหมายความว่ามีความเสี่ยงมาก ซึ่งต้องพิจารณาให้ยาทันที
ค้นหาคนที่มีความเสี่ยง ป้องกันโรคได้
เพราะการป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้ง่ายๆ และทำได้ทุกคน ไม่ว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อย เช่น การงดบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารไขมัน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด งดสูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้าเป็นความดันเลือดสูงและเบาหวานก็จะได้ปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองมากขึ้น โดยควบคุมความดันโลหิตให้ไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท และไขมัน LDL ต่ำกว่า 130 mg%
การตรวจวัดปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ใช้เวลาตรวจรวดเร็ว ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ความเร็วสูง 128 slice และไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ ภาพที่ได้จากการตรวจวิธีนี้จะมีความคมชัดเนื่องจากเครื่องมีความเร็วในการจับภาพสูงมาก สามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต้นได้ดี และจะบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจได้ แม้ในปริมาณที่น้อย จึงเป็นการตรวจที่หาภาวะความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มต้นในคนปกติได้เป็นอย่างดี
เครื่องเอ็กซ์เรย์นี้ จะวัดปริมาณหินปูนเป็นตัวเลข เด็กแรกเกิด ที่มีหลอดเลือดปกติ ค่าจะเป็นศูนย์ เมื่ออายุมากขึ้นก็อาจจะพบหินปูนได้บ้าง แต่ ไม่ควรเกิน 200 – 400 ถ้าเกิน 400 จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากๆ
ข้อยกเว้นที่ไม่สามารถตรวจ CT Calcium Score ได้
- มีประวัติได้รับการใส่ขดลวดที่เส้นเลือดหัวใจ หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจมาก่อน
- มีข้อจำกัดในนอนราบ ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้
- น้ำหนักเกิน 180 กิโลกรัม
- อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
ป้องกัน ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง
พญ.รับพร ทิ้งท้ายว่า โรคหลอดเลือดสมองได้สามารถป้องกันได้ หากมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถปฏิบัติตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไตวาย เป็นต้น ต้องรับประทานยา อย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด
2.หมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ของร่างการ ตลอดจนตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
3.เลิกบุหรี่ ตลอดจนลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัดมันจัด เค็มจัด
5.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
6.ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุอื่นๆ และแนวทางการรักษาเพิ่มเติมได้ทาง www.praram9.com/carotid-duplex-ultrasonography/ ตลอดจนสามารถเข้ารับบริการและขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพเฉพาะด้าน ได้ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า โทร.1270
อ้างอิง:โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลพระรามเก้า