เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

‘งานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย’ หากมีใครมาพูดประโยคนี้ใส่มนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน คงเถียงสุดใจขาดดิ้นว่า ‘การทำงานหนัก สามารถทำให้ตายได้’

Keypoint:

  • ทำงานหนักจนตาย เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงในภาวะปัจจุบันที่ทุกคนต้องดิ้นรนทำมาหากิน เพราะทุกอย่างในชีวิตต่างขับเคลื่อนด้วยเงิน ยิ่งต้องการเงินมากเท่าไหร่ก็เหมือนจะต้องทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้น 
  • เช็กสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ากำลังมีปัญหา Work-Life Balance ทำงานหนักจนร่างกายประท้วงขอพักผ่อน และไม่ต้องเสี่ยงโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิต
  • วิธีการป้องกันโรคซึมเศร้า หัวใจ เบาหวาน ปลอกประสาทอักเสบ ภาวะคาราชิ และโรคอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดจากการทำงาน คือ การพักผ่อน ไม่เครียด สำรวจร่างกาย จิตใจของตนเองสม่ำเสมอ และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

การทำงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ‘work from home, work from anywhere เข้าออฟฟิศ หรือ การทำงานแบบ Hybrid เข้าออฟฟิศด้วยและทำงานที่ไหนก็ได้นั้น’ ยิ่งทำให้ทำงานหนักมากกว่าขึ้นเดิม ยิ่งการทำงานแบบ work from home, work from anywhere ที่หลายคนบอกว่าสบาย ทำงานที่บ้าน หรือ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นเหมือนต้องทำงาน 24 ชั่วโมง

ปัจจุบัน สังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม การต่อสู้เพื่อดิ้นรนให้อยู่รอดยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขั้น "เงิน" กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ทำให้ทุกชีวิตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย และแน่นอนว่ายิ่งต้องการเงินมากเท่าไรก็ยิ่งทำงานเยอะมากขึ้นเท่านั้น จนบางคนอาจเผลอทำงานหนักมากเกินไป พักผ่อนน้อย และละเลยในการดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเอง 

จากการศึกษาล่าสุดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ พบว่า คนที่ทำงานเกิน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตก 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

สัญญาณอันตรายเตือนมีปัญหา Work-Life Balance

'กรุงเทพธุรกิจ' ได้รวบรวม 'สัญญาณอันตรายที่เตือนว่าคุณกำลังมี ปัญหา Work-Life Balance และทำงานหนักมากเกินไป' มีดังนี้ 

1. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้นาน ๆ เหมือนแต่ก่อน 

2. อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรืออยู่ดี ๆ ก็หงุดหงิดใส่เพื่อนร่วมงานที่ทำอะไรผิดหูผิดตา ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยเป็น จนทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีตามไปด้วย

3. ปลีกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร ทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัว แต่กลับกลายเป็นอยากอยู่ตัวคนเดียว ไม่อยากคุยกับใคร เบื่อที่จะคุยกับคนอื่น เมื่อมีคนเข้ามาคุยก็จะรู้สึกหงุดหงิดและไม่อยากพูดคุยด้วย

4. รู้สึกผิดกับงานที่ทำไม่สำเร็จมากขึ้น งานที่เคยเสร็จทันกำหนดเวลาก็เริ่มไม่ทันเวลามากขึ้น ผลงานที่เคยดีก็ไม่ดีเหมือนเดิม แม้ใส่ความพยายามเท่าเดิมแต่กลับแย่ลง ไม่ถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จนรู้สึกแย่ลงไปเรื่อย ๆ และโทษตัวเองมากขึ้น

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

5. ป่วยบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวไมเกรน ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดตัว ปวดตา คลื่นไส้อาเจียน มึน ออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ 

6. คุณเลิกสนใจหรือไม่ใส่ใจตัวเอง ไม่ให้ความสำคัญกับตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง 

7. คุณนอนไม่เป็นเวลา หลายคนอาจจะนอนไม่หลับ หรือจำนวนงานที่มากเกินไป ทำให้เวลาที่ควรค่าแก่การพักผ่อนก็ต้องมานั่งทำงาน และหันไปพึ่งยานอนหลับ ยาแก้เครียด หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อรู้สึกว่าทุกอย่างมันท่วมท้น

8. คุณทานไม่เป็นเวลา หรือ ทานน้อยกว่าปกติ  มีความเบื่ออาหาร ไม่มีความสนุก หรือความสุขในการทานอาหาร

9. คุณออกกำลังกายไม่เพียงพอ ความเหนื่อยจากการทำงานและความเครียดอาจจะทำให้ใครหลายๆ คนละเลยในการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ

10. คุณไม่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ หรือแม้แต่พลาดนัดสำคัญๆ บ่อยๆ

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

 

โรคที่ตามมาจากการทำงานหนัก

'การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป' ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน ความอันตรายของการค่อยๆ คืบคลานนี้จึงทำให้หลายคนมองข้ามปัญหาสุขภาพไปได้ แต่อาการต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ไม่ว่าจะภาวะสมองล้า ความดันโลหิตสูง อาการเหนื่อยล้า และปวดหัว แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนสัญญาณเตือนว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องหันกลับมาใส่ใจสุขภาพได้แล้ว 

ทั้งนี้ งานที่หนักเกินไปล้วนมีส่วนในการฆ่าคนตายมาแล้วมากมาย จนถูกบัญญัติเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า 'โรคคาโรชิ' (Karoshi Syndrome) หรือ โรคทำงานหนักเกินไป จนนำไปสู่ความตาย เพราะทำงานหนักจนร่างกายเหนื่อยล้าเกินรับไหว

แม้ว่าหลายคนอาจยังไปไม่ถึงขั้นนี้ก็จริง แต่ก็อาจมีสัญญาณบางอย่างถูกแสดงออกมาให้เห็นอยู่เนือง ๆ จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน และอาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเหนื่อยกับงานมากเกินไปก็ได้

อดัม บอร์แลนด์ (Adam Borland) นักจิตวิทยาได้เปรียบเทียบไว้ว่าการกระทำแบบนี้ เหมือนกับการที่เราพยายามขับรถต่อไปทั้งๆ ที่น้ำมันใกล้จะหมดถังแล้ว ซึ่งถ้ามองกันในระยะยาวแล้ว ไม่มีอะไรที่คุ้มค่าที่จะแลก

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

 

คนวัยทำงานต้องระวัง เพราะหากทำงานหนักเกินไป โรคเหล่านี้อาจมาเยือนได้

  • ออฟฟิศซินโดรม

เกิดจากพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง และกล้ามเนื้ออักเสบได้

  • ไมเกรน

อาการปวดหัวข้างเดียว ปวดตุ้บ ๆ บางครั้งปวดมากจนไม่เป็นอันทำอะไร แถมมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ความตื่นเต้น ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีที่มีมาจากการโหม ทำงานหนัก ทั้งสิ้น

  • ภาวะอ้วน

นั่งทำงานนาน ๆ ติดต่อกันวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหารได้น้อยลง และอาจทำให้มีโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ

  • สายตามีปัญหา

นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้สายตามีปัญหา เช่น ตาแห้ง ปวดหัว คอ และไหล่ และอาจทำให้เห็นภาพเบลอ หากทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร

  • กรดไหลย้อน

เนื่องจากทำงานหนัก ทำให้ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอย่างเร่งรีบ รวมไปถึงการชอบทานเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของมัน ของทอด หรือน้ำอัดลม ล้วนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้

  • เครียดลงกระเพาะ

เมื่อเกิดความเครียด สมองจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนทำให้เกิดการระคายเคือง และส่งผลให้คุณเป็นโรคกระเพาะอาหารในที่สุด

  • โรคปลอกประสาทอักเสบ

จากข้อมูลทางสถิติ โรคปลอกประสาทอักเสบเป็นโรคใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 20 – 40 ปี หากเป็นมากจะสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกายจนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

  • โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง จากการที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความกดดันอยู่บ่อยครั้ง โรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายอีกด้วย จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

  • โรคเบาหวาน

หลายคนชอบทานของหวานเมื่อรู้สึกเครียดหรือเหนื่อย เพราะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นขึ้น แต่การทานของหวานบ่อยเกินไป จนระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงจนเกินพอดีแล้ว หัวใจของคุณก็จะทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ที่มาควบคุมน้ำตาล ความน่ากลัวของโรคนี้ อยู่ที่อาการของโรคจะลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เบาหวานขึ้นตา และเมื่อร่างกายเกิดบาดแผล ก็ทำให้หยุดเลือดได้จาก และแผลหายช้า

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

  • โรคหัวใจ 

การทำงานอย่างหนักอาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ใครหลายคนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นอาหารที่มีไขมันสูง หรือการรับประทานอาหารตามความชอบที่มีรสชาติจัดจ้าน ประกอบกับการพักผ่อนน้อย อาจส่งผลให้เป็นโรคหัวใจเกิดขึ้นในวัยทำงานได้

  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ 

สาเหตุเกิดจากการกลั้นปัสสาวะบ่อยครั้ง การดื่มน้ำน้อย หรือการเลือกดื่มน้ำชนิดอื่นๆ แทนการรับประทานน้ำเปล่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

 

ระวังโรคซึมเศร้าถามหาจากการทำงานหนัก

นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล  แพทย์ฝ่ายจิตเวชผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าการทำงานนับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความเครียด กาทำงานอาจทำให้รู้สึกกดดันโดยเฉพาะในช่วง Work from home เนื่องจากมักทำงานไม่เป็นเวลา ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

  • รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้องจัดการกับงานในสถานการณ์ที่ตึงเครียด คิดเรื่องงานตลอดแม้ไม่อยู่ที่ทำงาน
  • เบื่องาน ไม่มีความพอใจในงานที่ทำ
  • รู้สึกเศร้าหรือไม่มีเวลาเหลือให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ (ติดต่อกันเป็นเวลานาน)
  • รู้สึกไม่สนใจในงานเท่าที่เคย
  • รู้สึกสิ้นหวัง
  • ขาดสมาธิกับงาน ความใส่ใจกับงานลดน้อยลง
  • งานเกิดข้อผิดพลาดมากขึ้น
  • ปวดศีรษะ มีการขาดหรือมาสาย อยากเลิกงาน หรือกลับบ้านก่อนเวลาเป็นประจำ
  • ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ลดลงรู้สึกหงุดหงิดง่าย ความอดทนต่ำลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
  • ต้องพึ่งยานอนหลับ หรือดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้นอนหลับได้

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

วิธีป้องกันภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน

  • กำหนดเวลาการทำงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบกับเวลาส่วนตัว
  • ออกกำลังกาย หากิจกรรมอื่นทำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • คุยกับเพื่อนร่วมงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
  • ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ พบเจอผู้คนใหม่ ๆ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ปรับความคิดของตนและเรื่องงานว่าบางอย่างเป็นปัญหาโครงสร้างที่ในความเป็นจริงอาจจะแก้ไขได้ยาก และหากรู้สึกว่ากระทบชีวิตมากเกินไป แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์

 

พฤติกรรม-อาการ บ่งบอกมีความเสี่ยงเกิด ภาวะคาโรชิ

ทำงานหนัก โรคภัยก็มากตาม การทำงานหนักจนเกินไปสามารถทำให้เราป่วยได้ เพราะเมื่อใดที่คุณทำงานหนักมากเกินไป ร่างกายของเราก็จะอ่อนแอลง ทำให้เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

โดยเฉพาะในที่ทำงานซึ่งเป็นแหล่งที่สะสมของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ไว้มากแห่งหนึ่ง โดยอาการของ โรคตึกเป็นพิษ ได้แก่ อ่อนล้า ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา และมีความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น และหากละเลยไว้นานก็จะยิ่งทำให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

 

ภาวะคาโรชิ (Karoshi Syndrome) หรือ ภาวะทำงานหนักจนตาย

เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม กระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแคททีโคลามีน (Catecholamine) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมาในเลือด การที่ฮอร์โมนเหล่านี้มีระดับสูงในเลือดตลอดเวลา จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งหนาตัวและตีบตัน เกิดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง (overworked related cardiovascular and cerebrovascular disease) จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

พฤติกรรมบ่งบอกความเสี่ยงเกิดภาวะคาโรชิ

  • ทำงานเกินเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน เริ่มงานเร็ว กลับบ้านช้า
  • เครียดจากการทำงาน คิดหมกมุ่นเรื่องงาน ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น
  • ทำงานที่มีความกดดันสูง
  • ไม่มีโอกาสลางานหรือไม่สามารถลางาน
  • ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย
  • ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน
  • นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก คิดเรื่องงานจนเก็บไปฝัน
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ความเครียดรุมเร้า การทำงานหนักเกินไป อาจนำพาอารมณ์เครียดมาให้เราได้ ซึ่งความเครียดเหล่านั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว อ่อนล้า คลื่นไส้ และอารมณ์เกรี้ยวกราด นอกจากนี้ความเครียดยังทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลงอีกด้วย 

เบาได้เบา! ทำงานหนักเกินไปเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?..ถึงขั้นเสียชีวิต

การป้องกันโรคภาวะคาโรชิ

  • ไม่ทำงานหนักเกินพอดี ระหว่างทำงานควรพักสมองเป็นระยะ
  • ไม่ควรนำงานกลับมาทำที่บ้าน หากไม่จำเป็น
  • แบ่งเวลาพักผ่อนทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้
  • ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน หากนอนไม่หลับควรปรึกษาแพทย์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
  • หากมีความจำเป็น อาจพิจารณาเปลี่ยนไปทำงานที่เหมาะสมและไม่หนักเกินตัว

 

'การพักผ่อน' ให้เต็มที่ 'ไม่เครียด' จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่าและได้ศักยภาพมากกว่าเดิม  ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ทุกคนได้ นอกจากนั้น การจับสังเกตร่างกายของเราได้ดีขึ้น คือ การสำรวจร่างกาย และจิตใจอยู่เสมอ หรือ ลองฝึกเล่นโยคะ เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้ได้สำรวจตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ว่ากำลังมีอาการเจ็บปวดร่างกายส่วนไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า? เพื่อที่จะเราจะได้ดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม

เมื่อรู้ถึงโทษของการทำงานหนักกันแล้ว หวังว่าคนวัยทำงานทุกคนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจของตนเองมากขึ้น ทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ไม่ใช่ทำงานเพื่อนำเงินมารักษาตัว  

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ,โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลสินแพทย์ ,โรงพยาบาลกรุงเทพ