‘จอตาเสื่อม’ โรคฮิตวัยทำงาน - ผู้สูงวัย เช็กสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง!
'ดวงตา’ เป็นอวัยวะที่สำคัญมากๆ ยิ่งในปัจจุบันการใช้ชีวิต การทำงานของผู้คน ทำให้ต้องใช้ดวงตาในการทำงานอย่างหนัก และดวงตาก็เหมือนกับอวัยวะอื่นๆ ที่สามารถเสื่อมไปตามสภาพร่างกายและอายุ ได้เช่นเดียวกัน
Keypoint:
- ด้วยพฤติกรรม การทำงานต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือตลอดเวลา อาจทำให้หลายๆคนสุขภาพดวงตาเสื่อมก่อนวัยอันควร
- ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะผู้สูงวัยที่เท่านั้นที่กำลังประสบปัญหาจอประสาทตาเสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับสุขภาพดวงตา แต่คนวัยทำงาน หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กต่างมีปัญหาสุขภาพดวงตาทั้งนั้น
- วิธีการป้องกัน ดูแลสุขภาพดวงตา ปรับแสงหน้าจอ เว้นระยะห่าง ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ สวมแว่นกันแดด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม
‘การใช้ดวงตาหนักๆ และไม่ได้ดูแลสุขภาพดวงตาให้ดี' อาจจะทำให้สุขภาพดวงตาเสื่อมอย่างรวดเร็วก่อนวัยทำงาน โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ วัยที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความเสื่อมต่างๆ ของร่างกายและดวงตา รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ก่อให้เกิดโรคนั้นๆ อุบัติเหตุ กรรมพันธุ์ หรืออื่นๆ
ทั้งนี้ การใช้งานที่มากขึ้น อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการมองเห็นของดวงตา ที่อาจมีการมองเห็นไม่ชัดเจน โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ วัยที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความเสื่อมต่างๆ ของร่างกายและดวงตา รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ก่อให้เกิดโรคนั้นๆ อุบัติเหตุ กรรมพันธุ์ หรืออื่นๆ โดยการเฝ้าระวัง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หรือป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีส่วนช่วยดูแลป้องกันสุขภาพดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการเฝ้าระวัง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หรือป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีส่วนช่วยดูแลป้องกันสุขภาพดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สัญญาณเตือนอาการผิดปกติต่อดวงตา
ถ้าไม่อยากเสียสายตาต้องหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่ผิดปกติต่อดวงตา เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ได้ดังนี้
1.ตาแห้ง
สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาจเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน การใช้ยาบางชนิด หรือการไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งในผู้หญิงสูงวัยสามารถเกิดอาการตาแห้งได้จากภาวะการขาดฮอร์โมนเพศ จากการหมดประจำเดือน ส่งผลให้การผลิตน้ำตาน้อยลง
โดยอาจส่งผลให้มีอาการเหล่านี้ ไม่สบายตา แสบร้อนดวงตา คันตา เคืองตา มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ เป็นต้น สามารถแก้ไขเบื้องต้น โดยการป้องกันภาวะตาแห้งจากสภาพแวดล้อม ด้วยการสวมใส่แว่นตากันลม หรือหยอดน้ำตาเทียม กรณีรู้สึกตาแห้ง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบจักษุแพทย์
2.โรคต้อกระจก
เกิดจากเลนส์แก้วตามีการขุ่นตัว มักพบมากในผู้สูงอายุ โดยส่วนมากมักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป หากปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อการมองเห็นไปเรื่อยๆ โดยผู้ที่เป็นต้อกระจกส่วนมากมักจะมีอาการสายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มองไม่ชัด มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เป็นต้น
หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพราะปัจจุบันมีวิวัฒนาการก้าวหน้า ในการรักษาโรคต้อกระจกด้วยการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยเทคนิค 'เฟโค' (Phacoemulsification) ที่ช่วยคืนการมองเห็นชัดเจน แผลเล็ก ไม่ต้องเย็บแผล ปลอดภัย
จอประสาทตาเสื่อม ส่งผลเสียอย่างไร?
โรคจอประสาทตาเสื่อม คือ (Macular Degeneration) โรคที่เกิดจากจอประสาทตาในลูกตาเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถรับภาพได้ดีเท่าเดิม โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้จะทำให้การมองเห็นแย่ลงเรื่อยๆ มองภาพบิดเบี้ยว มองเห็นสีได้น้อยลง การมองเห็นช่วงกลางภาพหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปในที่สุด
จอประสาทตาเสื่อมมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมาจากความเสื่อมของอวัยวะตามอายุ บางครั้งจึงเรียกโรคจอประสาทตาเสื่อมที่มักเกิดในผู้สูงวัยว่า Age – Related Macular Degeneration หรือที่เรียกว่า AMD นั่นเอง
ผู้ป่วยโรคนี้มักรู้ตัวช้า เนื่องจากในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการของโรคจะค่อยๆเกิด บางครั้งก็เกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้าง เมื่อผู้ป่วยใช้ดวงตาสองข้างในการมองจึงไม่ทราบว่าภาพการมองเห็นของตนกำลังผิดเพี้ยนไป
โดยพบว่าผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง โดยโรคจอประสาทตาเสื่อม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
- แบบแห้ง (Dry AMD)
เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เกิดจาการเสื่อมและบางตัวลงของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา (Macular) อาการเริ่มต้นคือการมองเห็นภาพเบลอๆ ทำให้เห็นหน้าคนไม่ชัด หรือต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรม หรือบางรายอาจมีอาการเริ่มจากตามัวเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ
- แบบเปียก (Wet AMD)
พบประมาณ 10 – 15% ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่จะสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตาบอด โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากมีหลอดเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา ทำให้เลือดและของเหลวที่อยู่ภายในไหลซึมออกมา เป็นผลให้จุดศูนย์กลางการรับภาพบวม ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และเมื่อเซลล์ประสาทตาตาย ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นในที่สุด อาการเริ่มต้น จะเริ่มเห็นเส้นตรงกลายเป็นเส้นโค้งบิดเบี้ยว เห็นภาพสีซีดจางกว่าปกติ และอาจเห็นจุดมืดดำที่ตรงกลางภาพ
8 วิธีดูแลรักษาสุขภาพดวงตา ไม่ให้เสื่อมก่อนวัย
1. ปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนให้พอดี ไม่มืดหรือสว่างเกินไป
2. ควรปรับแสงหน้าจอต่างๆให้มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพราะดวงตาจะต้องทำงานหนักเนื่องจากต้องเพ่งตาตลอดเวลา ทำให้ ปวดตา เคืองตา ปวดหัว และอาจส่งผลกับสุขภาพของดวงตาในระยะยาว
3. ควรอยู่ห่างจากหน้าจอดิจิตอลต่างๆในระยะที่เหมาะสม
4. หน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะปล่อยแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ซึ่งแสงสีฟ้าเป็นแสงที่มีพลังงานสูงใกล้เคียงกับแสง UV ที่เป็นอันตรายต่อดวงตา
5. วิธีการป้องกันแสงสีฟ้า คือ ควรเว้นระยะห่างระหว่างดวงตาและหน้าจอต่างๆให้มีระยะห่างที่เหมาะสมตามขนาดของหน้าจอและคำแนะนำการใช้งาน ไม่ควรให้ดวงตาอยู่ใกล้หน้าจอจนเกินไป
6. ใส่แว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานขณะออกแดด
7. แว่นกันแดดในท้องตลาด มีทั้งเลนส์ที่กันแสง UV ได้จริง และเลนส์ที่เคลือบสีเข้มเฉยๆ แต่กันแสง UV ไม่ได้
8. หมอแนะนำให้ทุกท่านเลือกแบบที่สามารถกันแสง UV ได้ตามมาตรฐาน เพราะหากเราใส่แว่นกันแดดที่เคลือบสีเข้มเฉยๆ จะทำให้ดวงตาได้รับผลกระทบจากแสง UV มากกว่าตอนที่ไม่ใส่แว่นกันแดด ซึ่งจะมีผลร้ายต่อสุขภาพของดวงตาในอนาคต
ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ควรใส่เกินวันละ 8-12 ชม
สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ไม่ควรใส่เกินวันละ 8-12 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรใส่นอน เพราะอาจทำให้กระจกตาเป็นรอย เป็นแผล ตาแห้ง และอาจถึงขั้นทำให้ดวงตาอักเสบได้
- พักสายตา ทุกๆ 20 นาที
คนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเล่นมือถือนานๆ ควรพักสายตาทุกๆ 20 นาที โดยการมองไกลเกิน 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อดวงตาผ่อนคลาย ทำให้ไม่ปวดตา ไม่ปวดหัว เวลาจ้องหน้าจอนานๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์
ควรพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ประกอบกับทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่นผักใบเขียว แครอท ไข่ เพื่อบำรุงดวงตา
- ควรใช้ยาหยอดตาที่ไม่ผสมสารกันเสีย
ยาหยอดตา สามารถบรรเทาอาการตาแห้ง ที่เกิดจากน้ำตาไปหล่อเลี้ยงดวงตาไม่เพียงพอได้ เมื่อเราหยอดตาจะทำให้ดวงตากลับมามีความชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองตาซึ่งหมอขอแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาเป็นประจำ และควรใช้แบบกระเปาะ เพราะไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย
- ตรวจสุขภาพดวงตาประจำปี
หมอขอแนะนำให้ทุกท่านควรตรวจสุขภาพดวงตาประจำปี เพราะสุขภาพของดวงตาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งเรามีอายุมากขึ้นดวงตาก็เสื่อมสภาพลงตามอายุ ซึ่งการตรวจสุขภาพดวงตาจะทำให้เรารู้ว่า ดวงตาของเราเป็นอย่างไร มีอะไรผิดปกติหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไรก่อนที่จะสายเกินแก้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพดวงตา
1.รับประทานผักผลไม้สม่ำเสมอ
การรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และครบสารอาหาร 5 หมู่นั้น นอกจากจะให้สารอาหารครบถ้วนช่วยบำรุงร่างกายแล้ว ยังได้รับเกลือแร่และวิตามิน ช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตาและสายตาอาทิเช่น ซิงค์ วิตามินเอ วิตามินซี ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตาและสายตา
2. รับประทานปลาที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 (Omega 3)
จากการศึกษาพบว่า Omega 3 สามารถบรรเทาอาการตาแห้งได้ เนื่องจาก Omega 3 จะทำให้ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ที่เรียกว่า Meibomian Gland ทำงานได้ดีขึ้น โดยทำหน้าที่ผลิตไขมันมาเพื่อเคลือบชั้นของน้ำตาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาระเหยเร็วจนเกินไป ช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้
3.ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว ต่อวัน
การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายและดวงตา ไม่ขาดน้ำ และช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำตาได้เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันตาแห้ง
4.สวมใส่แว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง
แสงแดดเป็นอันตรายต่อสายตา เมื่อปล่อยให้ดวงตาสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเป็นประจำ ซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก ควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง และควรเลือกสวมใส่แว่นตากันแดดที่มีคุณสมบัติป้องกันรังสี UVA ได้อย่างน้อย 95% และ รังสี UVB ได้อย่างน้อย 99% ตามมาตรฐานขององค์กรอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันภัยร้ายจากแสงแดดต่อสุขภาพดวงตา
5. การใช้น้ำตาเทียมให้เหมาะสม
เพื่อช่วยหล่อลื่นดวงตาให้ผิวดวงตาชุ่มชื้น จากอาการตาแห้ง ช่วยบรรเทาอาการแสบตา ระคายเคือง กระจกตาถลอก หรือลดการอักเสบของแผลที่กระจกตาจากอาการตาแห้งได้
6. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังช่วยส่งผลดีให้กับสุขภาพร่างกาย และจิตใจ รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับดวงตา และยังเป็นหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อการมองเห็น เพราะฉะนั้น การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาได้
อ้างอิง: โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์