ปวดท้องข้างซ้าย สัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?

ปวดท้องข้างซ้าย สัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?

ปวดท้องข้างซ้าย หนึ่งในอาการที่หลายๆ คนเคยประสบและเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยบางครั้งสาเหตุอาจมาจากการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป แต่บางครั้งสาเหตุอาจมาจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกายที่รุนแรงกว่านั้น

Keypoint:

  • ปวดท้อง อย่ามองข้าม!! หากคุณมีอาการปวดท้องจุดเดิมบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า..มีความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง
  • ตำแหน่งการปวดท้องแต่ละจุด จะแสดงถึงความเสี่ยงของโรคที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการปวดท้องข้างซ้าย สัญญาณเตือนได้หลายๆ โรค
  • เมื่อมีอาการผิดปกติของร่างกาย ควรจะรีบไปพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะนั่งอาจเป็นโรครุนแรงได้

ภายในช่องท้อง เต็มไปด้วยอวัยวะหลายส่วน เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น ก็มักจะแสดงอาการปวด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ชวนมาเช็คสัญญาณเบื้องต้น ปวดท้องด้านซ้าย เสี่ยงเป็นอะไรบ้าง? 

นพ.จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่าอาการปวดท้อง จำแนกแยกย่อยได้หลายรูปแบบ บางครั้งอาการปวดจะมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ปวดแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะ ปวดท้องข้างซ้าย หนึ่งในอาการที่มีการค้นหาบนอินเทอร์เน็ตอันดับต้น ๆ แสดงให้เห็นว่าเป็นอาการพบได้บ่อย บางสาเหตุก็อาจมาจากการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป บางสาเหตุก็อาจมาจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกายที่รุนแรงกว่านั้น จึงไม่ควรชะล่าใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'กินผักรักสุขภาพ' เสี่ยง 'ลำไส้แปรปรวน' โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

เตือนวัยทำงาน เสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร

'เตียงดูด VS ขี้เกียจ' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

 

ทำความรู้จักท้องข้างซ้าย มีอะไรอยู่?

หากต้องการเข้าใจ อาการปวดท้องข้างซ้าย ก่อนอื่นคงต้องทราบก่อนว่าบริเวณ ท้องข้างซ้ายมีอวัยวะอะไรอยู่บ้าง เพื่อที่เราจะได้พอบอกคร่าว ๆ ว่าอาการปวดที่เกิดขึ้น อาจมาจากความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว โดยอวัยวะที่อยู่บริเวณฝั่งซ้ายของช่องท้อง แบ่งเป็น

  • ท้องข้างซ้ายส่วนบน มี กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ม้าม ไต(ข้างซ้าย)
  • ท้องข้างซ้ายส่วนล่าง มี รังไข่(ข้างซ้าย) ท่อไต มดลูก ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่

จะเห็นได้ว่า มีอวัยวะภายในที่อยู่ข้างซ้ายค่อนข้างเยอะ เมื่อเรามีอาการปวด จึงมีความเป็นไปได้หลายอย่าง ที่ทำให้เกิดอาการปวดในจุดนั้น ๆ การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ปวดท้องข้างซ้าย สัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?

 

สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องข้างซ้าย มีอะไรบ้าง?

โดยปกติ อาการปวดท้อง จะมาจากสาเหตุทั่วไปหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ ภาวะผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร การอักเสบติดเชื้อ และภาวะที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง สำหรับอาการปวดท้องข้างซ้ายนั้น อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติต่อไปนี้

  • ระบบย่อยอาหาร

เมื่ออาการปวดท้องสอดคล้องกับการกินอาหาร อาจสันนิษฐานได้ว่า มีสาเหตุมาจากอาหารไม่ย่อย กรดเกินในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหารหรืออาหารเป็นพิษ

  • อักเสบติดเชื้อ

การระคายเคืองหรือติดเชื้อที่อวัยวะภายใน ก็นำไปสู่อาการปวดท้องได้เช่นกัน อาทิ โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral gastroenteritis) หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) และโรคผนังลำไส้ใหญ่โป่งพองเป็นกะเปาะอักเสบ (diverticulitis)

  • ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

เป็นอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น ปวดประจำเดือน หรืออาการปวดช่วงที่มีการตกไข่ (Ovulation pain)

อาการทั่วไปข้างต้น เป็นอาการที่มักพบได้บ่อย ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง สามารถบรรเทาอาการหรือรักษาให้หายได้ในระยะเวลาไม่นาน

ปวดท้องข้างซ้าย สัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?

เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์

อาการปวดท้องข้างซ้าย อาจมีสาเหตุที่รุนแรงกว่าอาการทั่วไป และจำเป็นต้องรับการรักษาอย่างจริงจัง ดังนี้

  • โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

ปวดท้องลามไปถึงหลัง และอาการแย่ลงเมื่อนอนราบ ไอ ออกกำลังกาย หรือกินเยอะเกินไป

  • โรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)

ปวดท้องร่วมกับอาการอ่อนเพลีย กินได้น้อย น้ำหนักลด ปัสสาวะสีเข้ม ถ่ายอุจจาระสีซีด

  • ม้ามโต (Splenomegaly)

เจ็บ ปวด และอึดอัดท้องด้านซ้าย รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ

  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)

ปวด เสียด จุก รู้สึกไม่สบายบริเวณช่องท้องส่วนบน ปวดท้องก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร

  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer)

คล้ายอาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค

  • กรวยไตอักเสบ (Kidney infection)

ปวดท้องและบริเวณสีข้าง ปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ

  • นิ่วในไต (Kidney stone)

ปวดท้องหรือปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง อาจลามไปบริเวณขาหนีบ รู้สึกปวดบีบเป็นระยะ

  • โรคผนังลำไส้ใหญ่โป่งพองเป็นกะเปาะอักเสบ (diverticulitis)

ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณด้านซ้ายล่างของช่องท้อง

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ปวดท้องน้อยบริเวณอุ้งเชิงกราน

  •  ซีสต์รังไข่ (Ovarian cysts) แตก

ปวดท้อง ปวดหลังส่วนล่าง ปวดประจำเดือนมาก เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

  • การท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

ส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณท่อนำไข่ หรือรังไข่

  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease)

ปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน ตกขาวผิดปกติ อาจมีไข้ร่วมด้วย

  • มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)

ปวดท้อง รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลำเจอก้อน

ปวดท้องด้านซ้ายส่วนบน เสี่ยงเกิดดังต่อไปนี้ 

  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • โรคกรดไหลย้อน
  • โรคลำไส้แปรปรวน
  • โรคตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรัง
  • โรคม้ามโต

ปวดท้องด้านซ้ายส่วนล่าง

  • โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
  • โรคไส้เลื่อน
  • โรคงูสวัด
  • อาหารไม่ย่อย
  • แต่หากปวดบริเวณนี้ในผู้หญิง อาจเสี่ยงเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำในรังไข่ ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ฯลฯ

สำหรับใครที่มักมีอาการปวดท้องข้ายซ้ายเป็นประจำ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดท้อง และรักษาอย่างถูกวิธีตามอาการ

ปวดท้องข้างซ้าย สัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?

อาการปวดท้องแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ทันที

  1. ปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ทุเลา
  2. ปวดจนกินอาหารไม่ได้
  3. ปวดท้องและอาเจียนอย่างมาก มากกว่า 3-4 ครั้ง
  4. ปวดท้องมากขึ้น เมื่อขยับตัว
  5. ปวดท้องที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
  6. ปวดท้องรุนแรง จนนอนหลับไม่ได้
  7. ปวดท้องร่วมกับเลือดออกจากช่องคลอด
  8. ปวดท้องและมีไข้ร่วมด้วย
  9. ปวดท้องร่วมกับหอบเหนื่อย
  10. ปวดท้องร่วมกับมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ
  11. ปวดท้องทะลุร้าวไปที่หลัง

ดูแลอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการ 'ปวดท้องข้างซ้าย' โดยที่ยังไม่แน่ใจว่ามาจากสาเหตุอะไร สามารถดูแลในเบื้องต้นก่อนที่จะเดินทางไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อย่าง อาหารจำพวกทอดที่ต้องใช้น้ำมัน เนื้อสัตว์ที่ติดมัน อาหารที่มีรสจัด
  • การรับประทานอาหารที่จะต้องแบ่งทานพอประมาณในแต่ละครั้ง อย่าทานให้อิ่มจนเกินไป
  • เคี้ยวให้ละเอียดก่อนที่จะกลืน อย่าเร่งรีบ ทานช้าๆ
  • ต้องไม่รับประทานอาหารก่อนที่เข้านอนประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มจำพวกที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม อาทิ กาแฟ ชา โอเลี้ยง ช็อกโกแลต โกโก้ และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ
  • สำคัญ ควรรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอาการในทันที

อ้างอิง: โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,  โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์