'ผมร่วง'แบบไหน? ผิดปกติ สัญญาณเตือนส่อเกิดโรค
'ผมร่วง' เป็นปัญหากวนใจของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะ 'ผู้หญิง' ที่บางวันผมร่วงจนน่าตกใจ เพราะไม่ใช่ร่วงเพียงเส้นสองเส้น แต่ร่วงเป็นกระจุก ยิ่งไว้ผมยาว เดินไปตรงจุดไหนของห้อง ก็อาจจะพบเจอเส้นผมได้
Keypoint:
- 'ผมร่วง' อีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความกังวลและบั่นทอนความมั่นใจของหลายคน ยิ่งร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดทั้งที่ดูแลผมอย่างดีมาก
- หลากหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิด 'ผมร่วง' อาทิ กรรมพันธุ์ ความเครียด ลดน้ำหนัก ฮอร์โมนเปลี่ยน ผลข้างเคียงจากยา ไข้ขึ้นสูง ขาดสารอาหาร
- วิธีการป้องกันผมร่วง สามารถทำได้หลากหลายวิธี แต่ควรจะไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะหากผมร่วงเยอะมากจนผิดปกติ อาจเป็นโรคได้
'เส้นผมสุขภาพดี' บ่งบอกถึงการดูแลตัวเองที่ดี แถมยังช่วยเพิ่มความมั่นใจและเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นได้ แต่ปัญหาผมร่วง "ผมร่วง"โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ต่อให้เปลี่ยนแชมพู หรือเข้าร้านทำผม ทั้งดูแลอย่างดี แต่ผมก็ยังคงร่วงอยู่
'กรุงเทพธุรกิจ' ชวนมาหาคำตอบว่าทำไม 'ผมร่วง' แล้ว 'ผมร่วง' แบบไหน? ที่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่ากำลังเป็นโรค
ในแต่ละวันคนเราจะมีผมร่วงประมาณ 50-100 เส้น แต่เพราะเรามีเส้นผมบนศีรษะมากถึง 100,000 เส้น การสูญเสียเพียงเล็กน้อยนั้นจึงไม่อาจสังเกตได้ นอกจากนี้ก็จะมีผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ผมที่เสียไปตามวงจรชีวิตของผม
เส้นผมจะมีความหนาแน่นที่สุดและเส้นใหญ่ที่สุดถึงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้น เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมจะเริ่มลดลง เนื่องจากวงจรชีวิตของเส้นผมเริ่มสั้นลง ทําให้ผมร่วงถี่ขึ้นและบางลง จนในที่สุดวงจรของเส้นผมหยุดและไม่สร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่อีกต่อไป ส่งผลให้ความหนาแน่นของเส้นผมน้อยลงเรื่อยๆ จนทําให้เห็นลักษณะผมบางหรือศีรษะล้านได้ชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ผมร่วง' กับ 'วัยทำงาน' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้
แพทย์ผิวหนัง เผย 7 สาเหตุ "ภาวะผมร่วง" ชี้ปกติ "ผมร่วง" ไม่เกินวันละ 30-50 เส้น
ผมร่วง เกิดจากสาเหตุอะไร
รศ.ดร.พญ. จิตรลดา มีพันแสน แพทย์สาขาตจวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า ภาวะผมร่วงสามารถเกิดขึ้นได้ทีละน้อยหรือเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจเป็นแบบถาวรหรือชั่วคราว แม้ผมร่วงจะพบมากในผู้สูงอายุ แต่อาการผมร่วงมากเกินไปก็อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีอายุน้อยด้วยเช่นกัน
ผมร่วง (Hair Loss) หมายถึง การสูญเสียเส้นผมบนศีรษะหรือกับทุกส่วนในร่างกาย ลักษณะความรุนแรงอาจแตกต่างกัน การสังเกตเห็นผมจำนวนมากในท่อระบายน้ำหลังจากสระผมหรือจับเป็นก้อนผมในแปรง บนหมอน หรือสังเกตผมบางหรือศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ แสดงว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการผมร่วงและแนะนำแผนการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุที่ทำให้ผมร่วง
- พันธุกรรม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของผมร่วง คือ มีประวัติครอบครัว ที่มีศีรษะล้าน มีการศึกษาเชื่อว่าสาเหตุทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียด และมลภาวะ สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดภาวะผมบางได้
- ภาวะเจ็บป่วย การผ่าตัด ความเครียดหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะผมร่วงชั่วคราว ซึ่งผมจะเริ่มงอกใหม่โดยไม่ต้องรักษา
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว ได้แก่ การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การเลิกใช้ยาคุมกำเนิด วัยหมดประจำเดือน
- โรคบางชนิดที่อาจทำให้ผมร่วง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อที่หนังศีรษะ และโรคที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น ไลเคนพลานัสและโรคลูปัสบางชนิด อาจทำให้ผมร่วงถาวรได้เนื่องจากแผลเป็น
- ผลกระทบจากยาที่ใช้รักษา เช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า
- การลดน้ำหนักอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
- มีไข้สูง
- ขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่นๆ อาจทำให้ผมบางได้
'ผมร่วง'แบบไหน? ผิดปกติ
โดยปกติผมของคนเรามีประมาณ 80,000-1,200,000 เส้นงอกยาวขึ้นประมาณวันละ 0.35 มิลลิเมตรและมีอายุนาน 2-6 ปี ซึ่งปกติจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30-50 เส้น
พญ.ดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า สาเหตุของการเกิดผมร่วงมีได้หลายสาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
ผมร่วงแบบมีแผลเป็น (Scarring alopecia)
สาเหตุเกิดจากมีการทำลายของรากผมอย่างถาวร ทำให้ไม่สามารถสร้างเส้นผมเส้นใหม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสที่มีการอักเสบมากที่หนังศีรษะ และเป็นซ้ำที่เดิม หรือแผลน้ำร้อนลวก ผมถูกดึงเรื้อรัง ผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่หนังศีรษะ มีการแกะเกาหนังศีรษะจนเกิดบาดแผลลึก รวมถึงโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น DLE (Discoid Lupus Erythematosus), Lichen planus, Scleroderma
ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-scarring alopecia)
สาเหตุเกิดจากมีการทำลายรากผมอย่างไม่ถาวร หากได้รับการรักษาเส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ในปริมาณปกติ หรือใกล้เคียงเดิม ซึ่งผมร่วงชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าผมร่วงแบบมีแผลเป็น โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata)
โดยผมที่ร่วงมักมีขอบเขตชัดเจน ปัจจุยันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น การมีประวัติครอบครัว ประวัติภูมิแพ้ เครียด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วง มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด โรคโลหิตจางบางชนิด โรคผิวหนังบางชนิด เช่น การติดเชื้อ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัสที่บริเวณหนังศีรษะ มีผลทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ แต่เมื่อได้รับการรักษาแล้ว เส้นผมจะค่อย ๆ ขึ้นมาใหม่
- ผมร่วงจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia)
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ลักษณะที่พบมากในเพศชายคือ ผมบางบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ ถ้าเป็นมากจะเหลือแต่เส้นผมที่บริเวณหน้า ใบหู และท้ายทอย ส่วนลักษณะที่พบในเพศหญิงคือ ผมบางบริเวณกลางศีรษะ แล้วลามออกมา ถ้าเป็นมากจะเหลือแต่เส้นผมที่บริเวณด้านหน้า
โดยสาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่มีปัจจัยร่วมกันหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม โดยฮอร์โมนชาย (Testosterone) จะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้เส้นผมบริเวณขมับเหนือหน้าผากและกลางกระหม่อมสั้นลงและหลุดร่วงเร็วขึ้น
นอกจากนี้ในกลุ่มที่ผมร่วงจากพันธุกรรม จะมีเอนไซม์ 5- alpha-reductase type 2 ที่สามารถเปลี่ยนฮอร์โมน Testosterone เป็นฮอร์โมน DHT (dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดปัญหาศีระษะล้าน โดยจะออกฤทธิ์ต่อเส้นผมที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้เส้นผมเข้าสู่ระยะพักตัวเร็วขึ้น ผมจึงหลุดร่วงเร็ว และผมที่ขึ้นใหม่จะเล็กลง จนในที่สุดผมจะบางลงเมื่ออายุมากขึ้น มักพบในคนที่มีประวัติญาติสายตรง บิดา มารดา พี่น้อง มีภาวะผมบาง ศีรษะล้าน
- ภาวะเส้นผมระยะหลุดร่วง (Telogen effluvium)
ซึ่งจะร่วงมากกว่าปกติ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง หลังคลอดบุตร ขาดสารอาหาร การลดน้ำหนักลงไปอย่างรวดเร็ว และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
- ภาวะเส้นผมระยะแบ่งตัว (Anagen effluvium)
ซึ่งจะร่วงมากกว่าปกติ โดยมีสาเหตุต่างๆ เช่น การได้รับสารพิษ เคมีบำบัด และการขาดสารอาหารมาเป็นระยะเวลานาน เช่น โปรตีน ไบโอติน ธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิค วิตามินบี ซี และอี ซึ่งภาวะผมร่วงจากขาดสารอาหาร มักมีลักษณะผิดปกติของเส้นผมด้วย เช่น เส้นผมกรอบ แห้ง แตกปลายหยาบกระด้าง ถ้าเรารับประทานสารอาหาร หรือวิตามินที่เราขาดเข้าไป ก็สามารถทำให้อาการผมร่วงดีขึ้นได้
วิธีการรักษาผมร่วง
- ใช้ยา ส่วนใหญ่การใช้ยาเป็นวิธีการรักษาผมร่วงเริ่มแรก ทั้งยาทาและยาสำหรับรับประทาน ควรมาจากการแนะนำของแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงจากยาที่ต้องระวัง
- ทำทรีตเมนต์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดรากผมใหม่ รวมถึงบำรุงรักษาเส้นผมที่มีให้คงอยู่
- ปรับฮอร์โมน ในกรณีผมร่วงจากภาวะฮอร์โมนบกพร่อง
- ทำเลเซอร์ เพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมสภาพของเส้นผม และช่วยกระตุ้นเส้นผมให้เกิดใหม่
- ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (Platelet-rich Plasma) เพื่อกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์บริเวณรากผม
- การปลูกผม โดยวิธีผ่าตัดเจาะรากผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณไม่ค่อยโดนผลกระทบจากฮอร์โมน แล้วย้ายรากผมมาปลูกลงในบริเวณที่ต้องการ
วิธีแก้ผมร่วง และการดูแลรักษาไม่ให้เกิดผมร่วงหรือผมบางเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการมัดผมแน่นเกินไป พยายามอย่าดึง บิด หรือขยี้ผมแรงๆ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน
- เลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับสภาพหนังศีรษะ โดยแชมพูที่ใช้นั้นต้องไม่ก่อให้เกิดการแพ้ การคัน รังแค หรือผื่นบนหนังศีรษะ
- ผลิตภัณฑ์และเครื่องมือจัดแต่งทรงผมก็เป็นสาเหตุของปัญหาผมร่วงเช่นกัน เช่น เครื่องเป่าลม ที่หนีบผมผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม สารฟอกขาว น้ำยาดัด
- หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หากกำลังเผชิญปัญหาผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล
การมีผมร่วงนั้นเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นทุกๆ วัน ส่วนใหญ่มักเกิดเพียงชั่วคราว สำหรับบางคนอาจรู้สึกเฉยๆ และยอมรับได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดผมร่วงตามธรรมชาติหรือตามวัย ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาก็ได้ ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกไม่ดี ขาดความมั่นใจ และกลายเป็นความเครียดและวิตกกังวล จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดผมร่วงและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด
อ้างอิง : โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลเวชธานี