ยิ่งเครียดยิ่งแพ้ 'ความเครียดส่งผลต่อโรคภูมิแพ้'
แม้ไม่รุนแรง แต่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต ‘โรคภูมิแพ้’ เป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังถึงจะไม่รุนแรง แต่ค่อนข้างมีผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง ที่สำคัญ สร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วยอย่างมาก
Keypoint:
- โรคภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ จึงไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ส่วนการรักษาให้หายขาดได้นั้น ต้องดูที่กลไกของการเกิดโรคภูมิแพ้
- คนที่จะมีอาการของโรคภูมิแพ้ได้นั้น จะมีปัจจัยทางพันธุกรรม และการได้รับสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงภาวะความเครียดที่มากขึ้น ก็เป็นตัวกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้รุนแรงมากขึ้น
- การป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และควรจะไปทดสอบภูมิแพ้ว่าแพ้อะไรบ้าง อีกทั้งควรหากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียด
'เดี๋ยวน้ำมูกไหล เดี๋ยวคัดจมูก เดี๋ยวจาม เดี๋ยวไอ' อาการเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา จนทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เกิดอาการหงุดหงิด รำคาญได้ 'โรคภูมิแพ้' เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้แก่ทุกคน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ แล้วยิ่งมาเจอกับภาวะความเครียด อาการภูมิแพ้ ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ปัจจุบันมีผู้ป่วยภูมิแพ้จำนวนมาก โดยข้อมูลจากสภาเภสัชกรรมเกี่ยวกับสถิติความชุกของโรคภูมิแพ้ พบว่าประชากรไทยกว่า 16 ล้านคน มีอาการของโรคภูมิแพ้ โดยที่ 70% ของผู้ป่วยทั้งหมด (ราว11.3 ล้านคน) เป็นภูมิแพ้ประเภท Persistent AR (Ref 2)
ส่วนโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจในประเทศไทย พบว่า โรคภูมิแพ้ของทางเดินหายใจส่วนบนคือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของประชากรเท่ากับ 20 ล้านคน และโรคภูมิแพ้ของทางเดินหายใจส่วนล่างคือ โรคหืดภูมิแพ้อีกประมาณ 4 ล้านคน ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงเป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดูแลรักษา 'โรคภูมิแพ้' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก
โรคภูมิแพ้มีกี่ระบบ และทดสอบภูมิแพ้อย่างไร?
พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากอย่างน้อยๆ 3-4 เท่า
สาเหตุที่สำคัญส่วนใหญ่มาจาก สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อากาศแปรปรวน ฝุ่นควัน การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง และในเรื่องของพันธุกรรม อีกอย่างหนึ่งคือวิวัฒนาการการแพทย์ดีขึ้น คนมาพบแพทย์ได้ง่ายจึงทำให้เราตรวจพบโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น โรคภูมิแพ้นั้นรักษาไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้
สาเหตุที่ทำให้มีอาการแพ้ คืออะไร สาเหตุใหญ่ๆ มี 2 ปะการคือ
- กรรมพันธุ์ พบว่า ถ้าคุณพ่อ และคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 50-70%
- สภาพแวดล้อม ถ้าอาศัยอยู่ในที่มีสารก่อภูมิสูง มีโอกาสเป็นได้มากกว่า ทั้งนี้สารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
- สาเหตุเสริมอื่นๆ ได้แก่ ความเครียด ระคายเคือง โดยเฉพาะควันบุหรี่ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การได้รับโปรตีนแปลกปลอมในช่วงอายุที่ไม่เหมาะสม
ภูมิแพ้หลักๆ แบ่งออกเป็น 5 ระบบ
- ภูมิแพ้ตา (Eye Allergy) มีอาการคันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาตลอดเวลา
- โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ (Asthma) ได้แก่ โรคหืด
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic Skin Disease) ได้แก่ ลมพิษ
- โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) ได้แก่ อาการคัดจาม น้ำมูกไหล
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (Anaphylaxis) คือ เป็นหลายๆ ระบบรวมกัน หรืออาการแพ้ยา
ปัจจุบันเราสามารถทดสอบภูมิแพ้ได้โดยการ ทดสอบทางผิวหนัง การทดสอบจากผลเลือด
- การทดสอบทางผิวหนังนั้นแพทย์จะใช้เข็มสะกิดเล็กๆ และนำสารที่คนส่วนใหญ่แพ้มาทดสอบตรงบริเวณนั้นดู และดูเทียบกับสารที่เป็นน้ำเกลือ ก็จะทราบได้ว่าเราแพ้อะไรบ้าง
- ส่วนการเจาะเลือดก็นำไปตรวจว่าสัมพันธ์กับโรคอะไรบ้างได้เหมือนกัน
อาการโรคภูมิแพ้ในแต่ละระบบ
นพ.อุทัย ประภามณฑล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม ศีรษะ ลำคอ หลอดลม และกล่องเสียง ศูนย์หู คอ จมูก รพ.พญาไท 3 อธิบายเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ว่า 'ภาวะภูมิแพ้' หรือ 'จมูกอักเสบเรื้อรัง' เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการที่เยื่อบุจมูกมีความไวผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้น หรือสารก่อภูมิแพ้ อาทิ ควัน ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เป็นต้น ทำให้เมื่อได้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นดังกล่าว จะทำให้เกิดอาการ คัน ไอ จาม หรือ น้ำมูกไหล ได้
- ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก เมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก สารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูก แล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก เกิดอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ คันจมูก ถ้าเป็นโรคหืด เมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลม ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น โดยหายใจมีเสียงเหมือนนกหวีด ดังวี๊ดขึ้น อาจใช้เวลาก่อนเกิดอาการเป็นนาที หรือเป็นชั่วโมงก็ได้
- ถ้าเป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ก็จะมีอาการคันที่ผิวหนัง หรือมีผื่นแบบลมพิษ
- ถ้าแพ้อาหารก็จะมีอาการปากบวม หรือมีลมพิษขึ้น
ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวการณ์ตอบสนองไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ใช้สารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ หรือฝน ความชื้น ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ได้ และสามารถเกิดอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
หากสังเกตตัวเองดีๆ ผู้ป่วยภูมิแพ้จะมีอาการเมื่อสัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ฯลฯ ลักษณะอาการหลักๆ ดังนี้
- คันจมูก จามหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อพยายามขับสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ให้ออกมา
- น้ำมูกใสๆ ไหลตลอดเวลา คล้ายอาการของคนเป็นหวัดคัดจมูก ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาเป็นเวลาค่อนข้างนานบางครั้งอาจเป็นชั่วโมง และสามารถหายได้เอง
- บางรายจะมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกัน เช่น คันตา คันคอ คันหู หรือคันที่เพดานปากด้วย หรือไม่ก็ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ หรือหูอื้อ
นอกจากอาการหลักๆ แล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการจมูกอักเสบ จะพบว่า เยื่อบุจมูกจะบวมมาก หรือบางครั้งจมูกของผู้ป่วยก็จะบวมไปด้วย มีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาเป็นจำนวนมาก เยื่อบุจมูกอาจมีริดสีดวงจมูกร่วมด้วยได้ และผนังด้านในคอจะเป็นตุ่มนูนแดงกระจายไปทั่ว ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองจากน้ำมูกที่ไหลลงคอหรือจากการหายใจทางปาก
ทั้งนี้ หากรู้ตัวว่าอาการรุนแรงขึ้น ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ 'ความเครียด' เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหลายอย่างรวมถึงภูมิแพ้ด้วย เมื่อผู้ป่วยเกิดความเครียดมากอาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น
พฤติกรรมความเครียดนำไปสู่การเกิดโรคภูมิแพ้
ด้วยยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน การแสวงหาความสำเร็จ และความสะดวกสบายให้กับชีวิต ทำให้หลายๆ คนมีวิถีการดำเนินชีวิตในแบบที่ผิดๆ และสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ เช่น
- ดื่มสุรา และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ อยู่เป็นประจำ
- สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
- ทำงานดึกดื่น หรือโต้รุ่ง จนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด หรือเต็มไปด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ในชุมชนแออัด ไซต์งานก่อสร้าง โดยสารรถเมล์หรือพาหนะที่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนจนเสี่ยงติดเชื้อโรค
- ไม่ดูแลความสะอาดของร่างกายให้ดีพอรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว
- ไม่มีเวลาทำความสะอาดที่พักอาศัย สถานที่ศึกษา สถานที่ทำงาน
- วิตกกังวลกับงานมากเกินไป ไม่ยอมปล่อยวางความเครียด
- ไม่แบ่งเวลาคลายเครียด หรือเวลาพักผ่อนให้กับตนเองบ้าง
- ปลีกตัว ไม่เข้าสังคม และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจนอาจเกิดภาวะซึมเศร้า
- ไม่ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาหารฟาสต์ฟู๊ด หรือรับประทานอาหารเมนูเดิมซ้ำๆ
- ติดรสหวาน ชอบรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ
'ความเครียด' ต้นเหตุหลายโรค รวมถึงโรคภูมิแพ้
ความเครียดส่งผลทำให้เกิดหลายโรค รวมถึงโรคภูมิแพ้ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิต ล้วนส่งผลกระทบให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน โรคไข้หวัด โรคมะเร็งตับ โรคซึมเศร้า
อีกทั้ง ภายในร่างกายของเรา มีสารและฮอร์โมนบางอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกันกับความเครียด และนำไปสู่การเกิดโรคภูมิแพ้ได้
นั่นคือ เมื่อคนเราเกิดอาการเครียดขึ้น ร่างกายจะหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น โดยสารดังกล่าวจะมีปริมาณมากขึ้นอยู่ในกระแสเลือดของเราและทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้หากคุณมีความเครียดสะสมมากกว่าหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดหลักของร่างกายเพิ่มมากขึ้น ผ่านทางระบบประสาทอัตโนมัติและแกนของระบบสมองไฮโปธาลามิก-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต
ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะส่งผลกระทบต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดT-helper2 ซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานไม่สมบูรณ์
หลังจากนั้น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียที่เข้ามาในร่างกายก็จะไม่ได้ถูกกำจัดออกอย่างที่ควรจะเป็น และเริ่มแพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่นๆ ในร่างกาย จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย รวมถึงทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้
อาการแทรกซ้อนเมื่อเป็นภูมิแพ้
ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่แพ้ ถ้าเป็นภูมิแพ้ทางจมูก ก็จะมีอาการปากแห้งเวลาตื่นนอน เนื่องจากเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืน ทำให้นอนอ้าปากหายใจ ง่วงเหงาหาวนอนเวลาเรียน สมาธิสั้น ทำให้ความคิดความจำสั้น
ถ้าเป็นหืด ก็จะทำให้สมรรถภาพการทำงานลดลง เพราะจะเหนื่อยง่าย ถ้าเป็นรุนแรง และมีอาการในที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือไม่มียาขยายหลอดลมติดตัวก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
"สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือการรักษาที่ไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการได้"
การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
1.การซักประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติโรค หรืออาการภูมิแพ้ทางครอบครัว
2.การสังเกตสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมของการทำงาน สภาพแวดล้อมภายในบ้าน
3.การตรวจภายในโพรงจมูก
4.การตรวจสมรรถภาพปอดโดยการเป่าลม เพื่อดูปริมาตรของอากาศ การตรวจวินิจฉัยด้วย ยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้ด้วย
5.การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
6. การตรวจเลือด
รักษาอย่างไร ก่อนอาการรุนแรง
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์แล้ว ต้องอธิบายอาการโดยละเอียด และดูแลร่างกายให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการรักษาโรคจมูกอักเสบ โดยมีแนวทางในการรักษา ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
ถือเป็นการรักษาที่ถูกต้องและส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างมาก เพราะเมื่อทราบต้นเหตุและหลีกเลี่ยงแล้ว จะทำให้โพรงจมูกอักเสบลดลง แต่ในความเป็นจริงนั้นทำได้ยาก จึงต้องรักษาด้วยการกินยาควบคู่กัน
- การใช้ยาเพื่อรักษา
โรคจมูกอักเสบมีการรักษาด้วยยาเหลายชนิด เช่น ยาต้านฮีสตะมีน ที่ใช้ก่อนมีอาการ และใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ไม่มาก หรือยาหลอดเลือดที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว และเนื้อเยื่อในจมูกลดอาการบวม ทำให้อาการคัดจมูกน้อยลง
โดยแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกเป็น 3 ระดับง่าย ๆ ดังนี้
1.การใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้แพ้ แอนตี้ฮีสตามีน ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ในอดีต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะได้รับการรักษาแค่ระดับนี้ จึงทำให้รู้สึกว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่รักษายาก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ดังนั้น คนที่มีอาการภูมิแพ้ต่อเนื่องควรได้รับการรักษาในระดับที่ 2
2.การใช้ยาต้านการอักเสบ มักจะอยู่ในรูปของยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสูดเข้าทางปาก
3.การใช้วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ต่อไปเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการ แต่ก่อนจะเลือกการรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องตรวจให้ทราบก่อนว่ามีการแพ้สารอะไร ซึ่งทราบได้จากการทำทดสอบทางผิวหนัง และการเจาะเลือด ถ้าผู้ป่วยตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน ในระยะต่อมาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาประเภทอื่นอีกเลย
- การฉีดวัคซีน
เป็นการฉีดสารที่คาดว่าผู้ป่วยจะแพ้ที่บริเวณผิวหนังหรือใต้ผิวหนัง ทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้โรคจมูกอักเสบลดลง
- การผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น เช่น การใช้คลื่นวิทยุจี้เยื่อบุจมูก เพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูกดีขึ้น หรือการผ่าตัดนำเอาเส้นประสาทที่มาหล่อเลี้ยงเยื่อบุจมูกออกไป จะช่วยลดอาการน้ำมูกไหลได้
เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองเป็นภูมิแพ้ นอกจากต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอไปพร้อมๆ กับออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว หากสังเกตพบว่าอาการแย่ลง ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตัดปัญหาที่ต้นเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงต่อไป
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้
1.การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
จากผลการวิจัย ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย มีการแบ่งชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ออกเป็น 2 ประเภท
- ชนิดแรกเป็นสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน
ได้แก่ ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน และแมลงสาบ เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยเป็น 3 อันดับแรก ซึ่งเราจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ประเภทนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ในตอนนอน จะทำให้เรามีอาการเกือบทุกวัน
- ชนิดที่สอง เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่นอกบ้าน
เช่น ละอองเกสรพืช วัชพืชต่าง ๆ เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ประเภทนี้จะทำให้เกิดอาการชั่วคราวเฉพาะเวลาที่ออกนอกบ้าน นอกจากสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวแล้ว ยังมีตัวกระตุ้นทางกายภาพอีกที่ทำให้เกิดการอักเสบของโพรงจมูกหรือหลอดลม เช่น ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การที่มีอาการทุกครั้งก่อนหรือหลังฝนตก ส่วนประเภทสุดท้าย เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำหอม สีทาบ้าน ควันไฟ กลิ่นสารเคมี กลิ่นธู
"การป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น คนที่แพ้ไรฝุ่น ควรจะซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยความร้อน ร่วมกับการซักด้วยผงซักฟอก ถ้ามีเครื่องซักผ้าชนิดตั้งความร้อนได้ ก็ให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 60 องศา 30 นาที บนเตียงนอนไม่ควรมีตุ๊กตาผ้า ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในบ้าน ควรเก็บขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของแมลงสาบ ไม่ควรสูบบุหรี่ภายในบ้าน"
2.การดูแลสุขภาพส่วนตัวและการออกกำลังกาย
ภาวะเครียดและการอดนอน จะทำให้อาการของภูมิแพ้แย่ลง ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น การออกกำลังกายจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้น แต่ต้องเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เป็นแบบแอโรบิค เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ไม่ออกกำลังกายในช่วงที่อาการของโรคหืดกำเริบ อากาศช่วงที่ออกกำลังกายไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ใช้เวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสม
เมื่อทราบว่าแพ้สารอะไรจะเป็นประโยชน์ในการรักษาดูแลผู้ป่วย เนื่องจากการหลีกเลียงสิ่งที่แพ้เป็นหัวใจของการรักษา และเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด ยังเป็นข้อมูลในการทำวัคซีน ให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ในกรณีที่มีปัญหาไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้ สามารถตรวจทางเลือดได้ แต่เสียเวลา และค่าใช้จ่ายมากกว่า
อย่างไรก็ตาม นอกจากการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้แล้ว อาจจำเป็นต้องได้รับยา เพื่อควบคุมอาการ และการทำวัคซีนภูมิแพ้ในรายที่จำเป็น การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้อาการแพ้ลดลง
อ้างอิง : รามา แชนแนล ,โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลสินแพทย์ ,โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา