เสพข่าวหดหู่มากไป ระวัง Headline Stress Disorder และ PTSD กระทบสุขภาพจิต

เสพข่าวหดหู่มากไป ระวัง Headline Stress Disorder และ PTSD กระทบสุขภาพจิต

แม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เอง แต่หาก "เสพข่าวร้าย" ผ่านสื่อต่างๆ มากเกินไป อาจเกิดภาวะ Headline Stress Disorder และ PTSD ซึ่งส่งผลเสียต่อ "สุขภาพจิต" ได้ 

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ คนไทยต้องประสบกับเหตุการณ์ร้ายๆ หลายเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ทั้งเหตุกราดยิงพารากอน, เหตุไฟไหม้เรือนจำคลองเปรม, น้ำท่วมอุบลฯ และล่าสุดกับสถานการณ์สงครามอิสราเอง-ฮามาส ที่มีคนไทยเสียชีวิต 29 รายแล้ว (ข้อมูล ณ 16 ต.ค.66) หากใครเสพข่าวหดหู่ใจเช่นนี้บ่อยๆ วันละหลายชั่วโมง ก็อาจส่งผลให้ผู้เสพข่าวได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจไม่ต่างจากผู้ที่เผชิญเหตุการณ์เหล่านั้นโดยตรง จนเกิดความเครียดและนำไปสู่ภาวะ "Headline Stress Disorder" และ "PTSD" ตามมาได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตแบบไม่รู้ตัว

 

  • Headline Stress Disorder คืออะไร รุนแรงแค่ไหน?

สำหรับภาวะ "Headline Stress Disorder" ไม่ใช่โรคผิดปกติทางจิตใจ แต่เป็นภาวะเครียดหรือวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่างๆ ที่มากเกินไป โดยเฉพาะการเสพข่าวสารบนโซเชียลมีเดียที่ผู้คนสามารถเสพข่าวได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งกระตุ้นให้บางคนมีพฤติกรรมเสพข่าวสารมากเกินพอดี

เสพข่าวหดหู่มากไป ระวัง Headline Stress Disorder และ PTSD กระทบสุขภาพจิต

ภาวะดังกล่าวถูกบัญญัติขึ้นโดย ดร.สตีเวน สโตสนี นักบำบัดจิตวิทยาคู่รักในรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา โดยเขาได้ใช้คำนี้ครั้งแรกในปี 2559 ขณะเดียวกันก็มีผลการศึกษาของ "สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน" ที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 ระบุว่า 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันมีความเครียดเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ และการบริโภควงจรข่าวอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเครียดสูงจนกระทบสุขภาพจิต 

ขณะที่ ดร.จานา ศรีวานี นักจิตวิทยาคลินิกอีกคนหนึ่ง อธิบายว่า การรับฟังข่าวสารเชิงลบตลอด 24 ชั่วโมงอาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกด้านลบมากมาย เช่น ความวิตกกังวล ความเศร้า และความสิ้นหวัง การจมอยู่กับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมและความบอบช้ำทางจิตใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดผ่านข่าวสาร สามารถส่งเสริมความรู้สึกแย่ให้อยู่เหนือการควบคุมได้

 

  • อาการบ่งชี้ของภาวะ Headline Stress Disorder มีอะไรบ้าง?

 โดยทั่วไปภาวะความเครียดจากพาดหัวข่าว (Headline Stress Disorder) ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นที่ต้องไปพบจิตแพทย์หรือนักบำบัดจิตใจ แต่ก็อาจสร้างความผิดปกติทางอารมณ์ให้แก่ผู้เสพข่าวสารได้ เช่น ความวิตกกังวล ความอดทนต่ำ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย นอนไม่หลับ ขาดพลังงาน ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการทะเลาะวิวาทกับครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน

ทั้งนี้ ดร.แนนซี มอลิเทอร์ นักจิตวิทยาคลินิกในเมืองวิลเม็ตต์ รัฐอิลลินอยส์ และเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ Feinberg แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ก็อธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้ที่มีภาวะเครียดพาดหัวข่าวมักเริ่มมีอาการของความเครียดแสดงออกทางร่างกายด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว กัดฟัน ตื่นตระหนก รวมถึงเกิดความรู้สึกหดหู่หรือเศร้าใจ รู้สึกหนักใจ เป็นต้น

เสพข่าวหดหู่มากไป ระวัง Headline Stress Disorder และ PTSD กระทบสุขภาพจิต

 

  • โรค PTSD เกิดกับผู้ที่เสพข่าวร้ายมากเกินไปได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ที่เสพข่าวเชิงลบมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการ PTSD ได้ด้วย มีข้อมูลจาก "สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์" ระบุว่า PTSD เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ในเหตุวินาศกรรม ภัยพิบัติ การก่อการจลาจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น บางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง แต่เป็นผู้ที่เสพข่าวสารทางช่องทางต่างๆ แล้วรู้สึกตื่นกลัวตามไปด้วย จนเกิดความเครียดจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่มีอาการ PTSD จำเป็นต้องได้รับการรักษา

โดยอาการที่เข้าข่าย PTSD มีลักษณะสำคัญ 4 อย่าง คือ
1. เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงผุดขึ้นมาซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ
2.  กลัวสถานที่ที่เกิดเหตุเหล่านั้น ไม่กล้าออกไปไหนกลัวเจอเหตุการณ์ร้ายแบบนั้น
3. เกิดความรู้สึกแง่ลบ ไม่มีความสุข รู้สึกโกรธ หวาดกลัว รู้สึกผิด ฯลฯ
4. อาการตื่นตัวมากเกินไป คอยจับจ้อง คอยระวังตัว หงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย สะดุ้งและผวาง่ายขึ้น ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ หลับยาก รวมไปถึงภาวะซึมเศร้า

สำหรับการรักษา PTSD นั้น แพทย์จะเน้นการทำจิตบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยยา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงอาจไม่จำเป็นต้องเป็น PTSD ทุกคน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปจะมีผู้ประสบภัยราว 20% ที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ หากมีอาการผิดปกติทางจิตใจแค่ช่วงสั้นๆ แล้วหายไป แบบนี้ไม่ถือว่าป่วย PTSD

เสพข่าวหดหู่มากไป ระวัง Headline Stress Disorder และ PTSD กระทบสุขภาพจิต

 

  • ไม่อยากเป็น Headline Stress Disorder และ PTSD ต้องปรับวิธีการเสพข่าว

มีคำแนะนำจากจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักจิตวิทยาคลินิกในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดหลังจากประสบเหตุรุนแรง หรือในกรณีการเสพข่าวสารเหตุการณ์รุนแรงมากเกินไป ควรปรับปรุงระยะเวลาการเสพข่าว เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Headline Stress Disorder และ PTSD ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารเหตุความรุนแรงที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ 

2. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ตัวเอง หากมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดแรง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณของระดับความเครียดสูง ให้งดการเสพข่าวที่สะเทือนจิตใจไปก่อน

3. การเสพข่าวสารมากเกินไป ส่งผลต่อการนอนหลับ และประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นจึงควรกำหนดเวลาการเสพข่าวต่อหนึ่งวันให้ชัดเจน เช่น วันละ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น

4. อย่าเสพแต่ข่าวหดหู่หรือเหตุการณ์สะเทือนใจ เพียงอย่างเดียว แต่ควรเลือกเสพข่าวดีด้วย เพื่อเพิ่มความรู้สึกเชิงบวกให้สมดุลกัน อีกทั้งไม่ควรเสพข่าวหดหู่ช่วงก่อนนอนและหลังตื่นนอน เพราะจะส่งผลต่อสภาพจิตใจและความกังวล รวมถึงเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานได้

------------------------------------
อ้างอิง: NBCnewsHealthlineกรมการแพทย์