สภาพอากาศ ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑล
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสภาพอากาศ สถานการณ์ฝุ่นละออง หรือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 24.3 – 49.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
กรมควบคุมมลพิษ รายงาน สภาพอากาศ สถานการณ์ฝุ่นละออง หรือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 24.3 – 49.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับดี (สีเขียว) ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 คพ. ได้มีการปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มขึ้น
ส่งผลทำให้ระบบการแจ้งเตือน สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง และปฏิบัติตนตามคำแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น Air4Thai
เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเทจะทำให้จะมีฝุ่นละอองสะสม และจากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดย คพ. พบว่าสถานการณ์ที่ฝุ่นละอองอยู่ในระดับสีส้มจะคงอยู่อีก 1-2 วัน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ PM2.5 ทั่วไทย
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ 07.00 น สรุปได้ดังนี้
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานใน
- ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 5.3 - 27.7 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ตรวจวัดได้ 25.7 - 37.2 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 20.5 - 47.9 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 10.4 - 38.2 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 4.6 - 17.8 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 37 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 24.3 - 49.8 มคก./ลบ.ม.
คำแนะนำทางสุขภาพ
- ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง
- ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์