มีลูก!!ลดเสี่ยง 'มะเร็งเต้านม'จริงหรือ? เช็กวิธีลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็ง
จากข้อมูลสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ‘มะเร็งเต้านม’ ถือเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด และเป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้หญิง ทั้งที่ ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม สามารถรักษาให้หายได้
Keypoint:
- การเป็นสาวโสด มีลูกหรือไม่มีลูก เกี่ยวอะไร? กับการเป็น 'มะเร็งเต้านม' แล้วหากมีลูกจะลดความเสี่ยงในการเป็น 'มะเร็งเต้านม' ได้จริงหรือ ?
- หลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด 'มะเร็งเต้านม' ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ อย่าง อายุ กรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาเร็วหรือประจำเดือนหมด หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนนานเกินกว่า 5 ปี
- วิธีการป้องกัน 'มะเร็งเต้านม' ที่ดีที่สุด คือ การตรวจคัดกรอง ไม่ว่าจะมีลูก หรือไม่มีลูก ไม่พบก้อนเนื้อต้องหมั่นตรวจคัดกรองทุกปี รวมถึงปรับพฤติกรรม รักการดื่ม การสูบขนาดไหน?ก็ต้องหยุด
กระแสดราม่าเกิดขึ้นทันที เมื่อ 'นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยข้อมูลด้านวิชาการ พบว่าผู้หญิงที่มีลูก 3 คนขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมน้อยกว่าคนที่ไม่มีลูก และรณรงค์ให้มีลูก เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม และเพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างประชากรของประเทศ
ขณะที่วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานช้าลง เรียนสูงขึ้น มีค่านิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตรและจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองเป็นภาระ อีกทั้ง มาตรการที่จูงใจให้คนต้องการมีบุตรมีน้อยและมาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถจูงใจให้คนอย่างมีบุตรได้
รวมถึง สภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้คนชะลอการมีบุตร และ คนที่อยากมีบุตรประสบปัญหา ภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยากได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มีลูก ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้หรือ ?
ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ1 ของผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 30 คนต่อผู้หญิงแสนคน แต่หากเทียบกับต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จะพบสูงกว่าอยู่ที่ 150-200 คนต่อผู้หญิงแสนประชากร แต่ต้องไม่ประมาท เพราะโรคนี้พบสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อ 15 ปีก่อนพบเพียง 15 คนต่อผู้หญิงแสนประชากร
ส่วนปัจจัยของการเกิดโรคมีหลายอย่างทั้งการดำเนินชีวิต พฤติกรรม อายุ และพันธุกรรม และปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ประจำเดือนหมดช้า หมดเร็วก็มีความเสี่ยง
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ชายก็พบมะเร็งเต้านมได้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก โดยประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม จึงมีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง ทั้งในระยะแรกและหลังจากการตรวจวินิจฉัย การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง
หลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าอายุมากแล้วคงไม่เป็นมะเร็งเต้านมแต่จริงๆไม่ใช่ อายุเยอะยิ่งพบได้ โดยอายุที่พบมากในต่างประเทศจะพบเฉลี่ยอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ในไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือในแถบเอเชียจะพบในอายุเฉลี่ย 45-50 ปี
พญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ ศัลยแพทย์สาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า ผู้หญิงแต่งงานแล้วมีบุตรและให้นมบุตร จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้น การตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและการค้นพบปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้
"ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้นม หากอายุ 40-45 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจแมมโมแกรม นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงที่ทานฮอร์โมนมากกว่า 5 ปี ก็จะมีความเสี่ยงได้ แต่ก็ถือว่าน้อย โดยพบมากกว่าคนปกติ 1.1-2 เท่าตัว ส่วนการพบมะเร็งเต้านมมากขึ้น เพราะผู้หญิงใส่ใจตัวเองมีการคัดกรองมากขึ้น"
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ ทำให้เป็น 'มะเร็งเต้านม'
- อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างหนึ่งมีความเสี่ยง 3-4 เท่าในการเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง
- มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
- การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA ย่อมาจาก BReast CAncer gene) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และการมีประวัติมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย
- การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ โดยพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีในปริมาณสูง
บางครั้งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมอาจไม่มีอาการของมะเร็งเต้านม หรือบางครั้งอาการผิดปกติที่เป็นอาจไม่ใช่โรคมะเร็งก็ได้ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- มีก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผล
- เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม
การตรวจประเมินเบื้องต้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
- การคลำเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (mammogram) แนะนำให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
- การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติและต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น
ตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้น
การตรวจประเมินเบื้องต้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
- การคลำเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (mammogram) แนะนำให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
- การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติและต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
พญ.ชุตินันท์ วัชรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษาของเต้านม แผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลนวเวช ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นสาระความรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจเต้านม ที่จะสามารถทำให้รู้ได้ว่าคุณมีโอกาสหรือความเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
- ตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน และตรวจในช่วงเดียวกันของทุกเดือน เนื่องจากเวลาดังกล่าวเต้านมมีอาการคัดตึงน้อยลง โอกาสผิดพลาดจึงลดลงตามไปด้วย
- ยืนหน้ากระจก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเต้านมทั้ง 2 ข้าง ทั้ง ขนาด รูปร่าง หัวนม ลักษณะผิวหนัง
- ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูด้านข้าง
- ใช้มือเท้าเอวและโน้มตัวลงด้านหน้า
- ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีน้ำ เลือด หรือหนองไหลออกมาหรือไม่
- เริ่มคลำเต้านมในท่ายืน โดยใช้มือซ้ายตรวจเต้านมขวา ใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังให้ทั่วเต้านมไปจนถึงรักแร้ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจะทำเมื่อมีการตรวจพบก้อนผิดปกติ (ทั้งจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเอกซเรย์) หรือพบการมีแคลเซียมเป็นจุดที่ผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่และมีการแพร่กระจายไปที่ใดแล้วหรือไม่ ซึ่งวิธีที่วินิจฉัยได้แม่นยำคือวิธีการนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจ แต่หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์จะพิจารณาการตรวจด้วยวิธีอื่น
ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ประกอบ เช่น อายุ การใช้ยาในปัจจุบัน ประเภทของมะเร็ง ระดับความรุนแรงของอาการ และผลการตรวจสอบก่อนหน้านี้ เป็นต้น โดยวิธีการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมสามารถทำได้ดังนี้
- การตรวจทางรังสีวิทยา
- การใช้เครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมเพื่อการวินิจฉัย (diagnostic mammography)
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงถ่ายภาพเต้านม (ultrasound)
- การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าถ่ายภาพเต้านม (magnetic resonance imaging: MRI)
- การเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (biopsy)
- การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
- การตรวจเลือด
- การตรวจเพิ่มเติม
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก
- การตรวจการลุกลามของมะเร็งไปยังกระดูก (bone scan)
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan: CT scan) เพื่อสร้างภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เพื่อเพิ่มความละเอียดในการตรวจหาการลุกลามของมะเร็ง
การรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านมอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น
- ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
- ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
- อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
- ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
- ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน
ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2 (human epidermal growth factor receptor 2)
ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านม
- การผ่าตัด
- รังสีรักษา
- เคมีบำบัด
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
- การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)
ก้อนบริเวณเต้านม..อาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป
นพ.โกมล ปรีชาสนองกิจ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม ศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่าเมื่อตรวจพบก้อนบริเวณเต้านม หลายคนมักจะกังวลว่าเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งจริงๆ แล้ว การตรวจพบก้อน ต้องมาดูว่าก้อนที่ว่านี้เป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ ถ้าเป็นถุงน้ำแสดงว่าไม่ใช่มะเร็ง หรือที่เราเรียกกันว่า 'ซีสต์' โดยปกติซีสต์จะขยายใหญ่ขึ้นตามฮอร์โมน ซึ่งช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้น..จึงเป็นไปได้ว่าถุงน้ำจะมีขนาดโตขึ้นด้วย
ในส่วนของคุณแม่ตั้งครรภ์พบว่ามีก้อนหรือเจ็บบริเวณเต้านมแล้วสงสัยว่าเป็นมะเร็ง การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมจะ 'ไม่สามารถทำได้' เนื่องจากว่ามีรังสี เพราะฉะนั้น ก่อนทำแมมโมแกรม ถ้าคนไข้มีการขาดประจำเดือนติดต่อกันหลายเดือน แพทย์ต้องทำการตรวจเช็คก่อนว่าท้องหรือไม่ ถ้าท้องจะไม่สามารถทำได้…ต้องใช้การอัลตร้าซาวนด์เท่านั้น
แมมโมแกรมเป็นการตรวจเพื่อเช็คดูหินปูน แต่จะมองไม่เห็นก้อนหรือถุงน้ำ ต่างกับการอัลตร้าซาวนด์ที่สามารถมองเห็นก้อนหรือถุงน้ำได้ และด้วยความหนาแน่นของเต้านมที่ค่อนข้างมาก การตรวจแมมโมแกรมในประเทศไทย…จึงมักพ่วงการอัลตร้าซาวนด์มาด้วยเสมอ! ซึ่งในการอัลตร้าซาวนด์นั้น ไม่มีผลอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และคุณภาพน้ำนมในขณะให้นมบุตร
คุณแม่ตั้งครรภ์ตรวจพบมะเร็งเต้านม
ถ้าตรวจพบระยะแรกๆ ในบางรายอาจจบการรักษาแค่ผ่าตัด..ซึ่งไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือต้องฉายแสง อาจต้องเลื่อนการรักษา เพื่อรอให้อวัยวะของทารกในครรภ์สร้างเสร็จก่อน..หรือผ่านไตรมาสที่สามไปแล้ว เพราะค่อนข้างปลอดภัยกว่า แต่โดยส่วนมาก..เมื่อผ่าตัดแล้วมักจะรอให้คลอดก่อนค่อยทำการรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด 'แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมแล้วต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์'
มะเร็งเต้านม เป็น systemic disease คือไม่ได้อยู่แค่เฉพาะเต้านม แต่กระจายอยู่ในร่างกาย ในเลือด การผ่าตัดจึงเป็นเหมือนแค่การกวาดบ้านที่เก็บแค่เศษใหญ่ๆ ออกไป แต่การให้เคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมนจะเป็นเหมือนการถูบ้าน เพื่อเช็ดฝุ่นที่เล็กละเอียดให้ออกไปจนหมด
การทิ้งระยะห่างของการรักษา…จึงมีความเสี่ยง! แต่เพราะยาเคมีบำบัดเองก็มีผลต่อการสร้างอวัยวะของเด็กทารกเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องพูดคุยถึงความเสี่ยงนี้กับผู้ป่วยก่อน!
คุณแม่ให้นมบุตรล่ะ..ต้องหยุดให้นมบุตร
เพราะมีการกระจายของมะเร็งในเซลล์ร่างกายหรือในเลือด เราจึงไม่แนะนำให้คุณแม่ให้นมบุตรต่อ และการให้นมบุตรยังทำให้เซลล์เกิดการขยาย การควบคุมเซลล์มะเร็งจึงเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่เราจึงแนะนำให้ “หยุด” การให้นมบุตร
เพราะมะเร็งเต้านมยิ่งพบเร็ว..ยิ่งเพิ่มเปอร์เซ็นต์ทางการรักษา การตรวจเต้านมก่อนการตั้งครรภ์ หรือตรวจในช่วงการตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรกเพื่อดูความผิดปกติ จึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้ดีกว่า
6 พฤติกรรมที่อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้
การรับประทานถั่วเหลืองมากขึ้น หรือเพิ่มอาหารเสริม เช่น วิตามินอี วิตามินซี หรือซีลีเนียม จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ แต่ปัจจุบันสถาบันวิจัยมะเร็งอเมริกัน (American Institute for Cancer Research) พบว่ามีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ
แน่นอนว่าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น พันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น (ความเสี่ยงขณะอายุ 40 ปี อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 48 และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 26 เมื่ออายุ 60 ปี) แต่เราสามารถลดพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง 'มะเร็งเต้านม'ได้ ดังนี้
1.ควบคุมน้ำหนัก
การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม การศึกษาของสมาคมมะเร็งอเมริกัน พบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10–15 กก.ในช่วงวัยผู้ใหญ่ (หลังอายุ 18 ปี) มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหลังวัยหมดประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักขึ้นไม่เกิน 10 กก. ถึง 40% ยกเว้นผู้ที่ใช้ฮอร์โมนบำบัดในวัยหมดประจำเดือน นักวิจัยยังพบว่าการลดน้ำหนักประมาณ 10 กก. หรือมากกว่าหลังจากหมดประจำเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
2.ออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง
การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกาย โดยสามารถลดความเสี่ยงลงได้ 20–30% ด้วยการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิค และโยคะ สัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง การออกกำลังกายยังช่วยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งเต้านม
การออกกำลังกายเป็นประจำ มีผลต่อการหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อเต้านม รวมถึงมีผลต่อระดับอินซูลินและ Insulin –like growth factor (IGF) ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
3.หลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือสูดดมควัน
ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เพียงไม่กี่แก้วต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเกิดมะเร็งเต้านม รวมถึงแอลกอฮอล์ยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็ง และยับยั้งความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง
ขณะที่ การสูบบุหรี่..หรือสูดดมควัน จากรายงานวิจัยของ ดร.คาเรนมาร์โกลิส และคณะ จากมูลนิธิภาคีวิจัยสุขภาพ รัฐมินิโซตา สหรัฐอเมริกา พบว่า..ผู้หญิงที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนหรือไม่เคยสูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสอง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 20
โดยมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่าสารเคมีในควันบุหรี่มือสองกว่า 20 ชนิด ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งเท่ากับว่า..ทั้งการสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่มือสอง ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ต้องเลี่ยงก่อนเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต
4.เพิ่มวิตามินดี
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากการรับประทานอาหารหรือได้รับจากแสงแดด มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลดลง 50% ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิตามินดี 800–1,000 IU* ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามหากได้รับแสงแดดที่มากพอ อาจเพิ่มวิตามินดีเสริม 400 IU ก็เป็นได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม
5.ความเสี่ยงในการใช้ยาคุมกำเนิด
การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนตลอดชีวิตเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและการรักษาด้วยฮอร์โมนวัยหมดประจำเดือน
มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และจะลดความเสี่ยงลงหลังจากหยุดการรับประทานยา การวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ใน Mayo Clinic Proceedings พบว่าผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ใช้ยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นก่อนอายุ 50 ปี โดยเฉพาะหากเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดก่อนมีลูกคนแรก
แม้ยาคุมกำเนิดและการรักษาด้วยฮอร์โมนจะเพิ่มความเสี่ยงมะร็งเต้านม แต่ก็มีประโยชน์มากมาย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา
6.ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
เต้านมประกอบด้วยไขมันและเนื้อเยื่อเต้านม ผู้หญิงบางคนมีไขมันมากกว่าเนื้อเยื่อเต้านม ขณะที่บางคนก็มีเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่าไขมัน ผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงมีแนวโน้มเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมถูกกำหนดโดยปัจจัยต่างๆ เช่น ฮอร์โมน อายุ และเชื้อชาติ
กรณีที่เต้านมมีเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่า 50% จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 'เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นสูง' ซึ่งผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ระบุว่าประสิทธิภาพการทำแมมโมเกรมที่ใช้ตรวจคัดกรองผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงจะลดลง 36 -38% เพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมจะบดบังก้อนเนื้อไว้
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงจะมีโอกาสเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 4-6 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นต่ำ
ลักษณะเหล่านี้พบได้บ่อยในหน้าอกของผู้หญิงที่อายุน้อย แต่ก็พบได้ในผู้หญิงที่มีอายุมากโดยเฉพาะการรักษาด้วยฮอร์โมนร่วม (เอสโตรเจนและโปรเจสติน) ความหนาแน่นของเต้านมส่วนหนึ่งเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เช่นกัน
ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ สม่ำเสมอ
75% ของการเป็นมะเร็งเต้านมนั้นเกิดในผู้หญิงที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน
"การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ อย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการตรวจเต้านม ไม่ได้เป็นเพียงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเท่านั้น หากมีเนื้องอกหรือถุงน้ำที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่มะเร็ง ก็สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที"
การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกนั้นจะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยเพิ่มไปอีก 5 ปีได้ถึง 98% ในทางตรงกันข้าม หากตรวจพบได้ช้า หรือปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1-2 ปี
เลิกใช้ข้ออ้าง ในการไม่ตรวจคัดกรองมะเร็ง
ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งเต้านมมักไม่ปรากฏอาการเจ็บปวดใดๆ ให้เห็นหรือเตือนให้ทราบล่วงหน้า เมื่อตรวจพบอาการอาจจะรุนแรงจนทำให้การรักษานั้นทำได้ยากและมีความซับซ้อนมากขึ้น และยังมีคนจำนวนหนึ่งที่มักมีข้ออ้างให้กับตัวเองในการหลีกเลี่ยงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอยู่ตลอด
1. ไม่มีประวัติ เท่ากับ ไม่มีความเสี่ยง
ข้อนี้ก็เป็นข้ออ้างที่คนมักจะนึกถึงอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว 70% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่บอกได้ชัดเจน อีกทั้ง 75% ของการเป็นมะเร็งเต้านมนั้นเกิดในผู้หญิงที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือแม้กระทั่งในผู้ชาย ก็ยังสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยที่ไม่ต้องมีประวัติครอบครัวเช่นกันหากผู้ชายเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีอายุมาก ตับแข็ง หรือผู้ชายที่มีลักษณะเต้านมเหมือนผู้หญิง
2. หน้าอกมีขนาดเล็ก ไม่เป็นมะเร็งเต้านมหรอก
ขนาดของหน้าอกนั้นไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม และการที่มีขนาดหน้าอกเล็กก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยในการเป็นมะเร็งเต้านม ขณะเดียวกัน การที่มีขนาดหน้าอกใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ในความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับว่า หน้าอกประกอบไปด้วยส่วนประกอบใดเป็นส่วนหลัก
หน้าอกของคนเราประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือ ส่วนของเนื้อเยื่อต่อมน้ำนม ซึ่งสามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ และส่วนที่สอง คือ เนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งจะไม่เกิดเป็นมะเร็ง ผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็กมักจะมีส่วนของเนื้อเยื่อไขมันน้อย แต่ส่วนเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมนั้นยังมีปริมาณปกติ จึงมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยทั่วๆ ไป
ส่วนผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่นั้นต้องพิจารณาก่อนว่าใหญ่จากสาเหตุอะไร หากหน้าอกใหญ่เพราะมีเนื้อเยื่อไขมันมาก แต่ยังมีเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมเท่าเดิม โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันนั้นไม่สามารถเกิดเป็นมะเร็งได้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
แต่ในกรณีที่หน้าอกใหญ่เพราะอัดแน่นไปด้วยเนื้อเยื่อต่อมน้ำนม หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Dense Breast Tissue โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็จะเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์เฉลี่ย โดยหากมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมมากกว่า 75% จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 4-6 เท่า ทั้งนี้ การทำแมมโมแกรมจะสามารถตอบคำถามได้ว่าเรามีภาวะ Dense Breast Tissue ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่
3. กลัวเจ็บ เลยไม่อยากตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
คนยังมีภาพจำของการตรวจแมมโมแกรมแบบเดิมๆ อยู่ ในเรื่องที่ว่าการตรวจด้วยแมมโมแกรมนั้น ทำให้ผู้ถูกตรวจรู้สึกเจ็บเป็นอย่างมากจากการบีบและกดทับของเครื่องแมมโมแกรม แต่ในปัจจุบัน นวัตกรรมเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมรุ่นใหม่ๆ ช่วยลดการกดทับเต้านมที่รุนแรงได้ จึงไม่ทำให้ผู้ถูกตรวจรู้สึกเจ็บเต้านมมากเหมือนในอดีต อีกทั้งบริเวณเต้านมนั้นไม่มีต่อมน้ำเหลืองที่จะได้รับผลกระทบทางลบจากการกดทับของเครื่องแมมโมแกรม จึงสามารถบอกได้ว่า การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมนั้นคุ้มค่า และมีข้อดีมากกว่าข้อเสียอย่างเห็นได้ชัด
4. กังวลเรื่องรังสีจากการตรวจเต้านม จะทำให้เป็นมะเร็ง
หลายคนค่อนข้างมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ด้วยว่ารังสีจากการทำแมมโมแกรมนั้นจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม แท้จริงแล้วปริมาณรังสีจากการทำแมมโมแกรมนั้นน้อยมาก เทียบเท่ากับการเอกซเรย์ปอดประมาณ 3-4 ครั้ง อีกทั้งต้องทำแมมโมแกรมถึง 100 ครั้ง ร่างกายจึงจะได้รับปริมาณรังสีอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น จึงสามารถบอกได้ว่า การทำแมมโมแกรมไม่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด
5. กลัวตัวเองจะเป็นทุกข์ หากตรวจพบความผิดปกติในเต้านม
ความกังวลและความกลัวเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องบอกก่อนว่า กว่า 80% ของก้อนเนื้อที่พบในเต้านมของผู้หญิง มักเป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่เป็นอันตราย เช่น เป็นซีสต์ หรือเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง
ความจริงที่น่าสนใจ คือ หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมได้เร็วตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม โอกาสรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมีการศึกษาพบว่า การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกนั้นจะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยเพิ่มไปอีก 5 ปีได้ถึง 98%
ในทางตรงกันข้าม หากตรวจพบได้ช้า ตัวโรคนั้นก็ไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันที แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1-2 ปี แต่จะเป็น 1-2 ปีที่ทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตแย่ที่สุดก่อนจะเสียชีวิต ดังนั้น การตรวจคัดกรองให้พบโดยเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร่งด่วน แล้วกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมมากกว่า
6. คลำไม่เจอก้อนอะไร ไม่จำเป็นต้องตรวจมะเร็งเต้านมก็ได้
อันที่จริงแล้วเราไม่ควรรีรอให้มีอาการต่างๆ แสดงออกมาแล้วจึงไปตรวจเต้านม เพราะความเป็นจริงคือ มะเร็งเต้านมในระยะแรกนั้นมักจะไม่แสดงอาการใดๆ คลำไม่พบก้อน แต่ถ้าหากว่าคลำแล้วพบก้อน และตรวจแล้วพบว่าเป็นมะเร็งจริง แสดงว่าเป็นมะเร็งที่กินระยะเวลามาประมาณ 2-3 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น อย่าชะล่าใจว่าการไม่มีก้อนที่หน้าอกนั้นคงไม่เป็นไร แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเป็นประจำเมื่อถึงเกณฑ์จะดีที่สุด เพราะหากตรวจพบได้เร็ว โอกาสหายขาดย่อมมีสูง
เลือกเสื้อชั้นใน สวมใส่บราช่วยอย่างไรให้ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
พญ.ชุลีกร ลาวงศ์เกิด อนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่าบรา หรือ เสื้อชั้นใน คือสิ่งที่สวมใส่โดยไม่เผยให้ใครเห็น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน ที่ช่วยปกปิดบางส่วนของร่างกาย เสริมให้เสื้อตัวนอกที่สวมใส่ดูสวยมากขึ้น ช่วยให้หน้าอกดูสมส่วน และกระชับแน่นเมื่อต้องออกกำลังกาย
นอกจากความสวยงาม ใส่สบาย ไม่ระคายเคืองผิว และการเลือกซื้อบราที่มีขนาดพอดีกับหน้าอกของตัวเอง สาวๆ หลายคนอาจมีปัญหากวนใจเรื่องความเชื่อมากมายเกี่ยวกับการสวมหรือไม่สวม 'บรา' ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
- ใส่บราทุกวัน หน้าอกจะไม่หย่อนคล้อย
Jean-Denis Rouillon ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาหน้าอกของผู้หญิงหลายร้อยคนในช่วง 15 ปี และพบว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ที่ไม่สวมเสื้อชั้นในจะมีหัวนมที่สูงขึ้นและมีตำแหน่งที่ดีกว่าผู้ที่สวมใส่ทุกวัน นอกจากนี้ยังกล่าวว่าบราไม่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงเลย เพราะไม่สามารถป้องกันหน้าอกจากความหย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วง แต่กลับยิ่งทำให้หน้าอกอ่อนแอและไม่กระชับอีกด้วย
ดร. แดน มิลลิส จากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งอเมริกา (American Society for Aesthetic Plastic Surgery) อธิบายไว้ว่า หน้าอกของผู้หญิงจะหย่อนคล้อยไปตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น จุดประสงค์ของการใส่บราก็คือ เพื่อช่วยเสริมให้หน้าอกของผู้หญิงมีรูปทรงที่ดีตามที่ต้องการ แต่ไม่สามารถป้องกันการหย่อนคล้อยของหน้าอกได้
- ใส่บรานอน ต้นเหตุมะเร็งเต้านมและความหย่อนยาน จริงหรือ?
ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาของสหรัฐอเมริกา อธิบายถึงความเชื่อเรื่องการสวมบราในขณะเข้านอนทุกคืนจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านมว่า เสื้อชั้นในทุกประเภทไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง สิ่งเดียวที่เสื้อชั้นในและมะเร็งมีเหมือนกันคือมันเชื่อมโยงกับหน้าอก แต่เนื่องจากผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินมักต้องสวมบราอยู่ตลอดเวลา และผู้ที่มีน้ำหนักเกินมีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น ดังนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่าการใส่เสื้อชั้นในสามารถนำไปสู่มะเร็งเต้านมได้
- ใส่เสื้อในแน่นเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ความเชื่อที่ว่าโครงชุดชั้นในที่เสริมเหล็ก จะไปกดทับต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านมจนเกิดการสะสมของพิษและก่อให้เกิดมะเร็ง นั้นไม่เป็นความจริง ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะใส่บราผิดไซส์ เพราะคิดว่าหากบรารัดแน่น จะช่วยประคองทรวงอกให้กระชับเป็นทรงสวย แต่จริงๆ แล้ว สิ่งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย ทั้งปวดคอ ปวดหลัง เสียบุคลิกภาพ หายใจติดขัด ผิวหนังระคายเคือง
- ไม่ใส่เสื้อชั้นในตอนนอน ทำให้หน้าอกหย่อนยานจริงหรือ?
เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องความหย่อนยานก่อนวัยหาก 'โนบรา' ขณะนอนหลับ โดยมีการยืนยันว่ามาริลีนมอนโรสวมเสื้อชั้นในเข้านอน เพื่อป้องกันไม่ให้หย่อนคล้อย และแฮลลี เบร์รี แชร์ในโพสต์อินสตาแกรมว่าเธอใส่เสื้อชั้นในเข้านอนตั้งแต่อายุ 16 จากความลับเพื่อหยุดความหย่อนคล้อยของดาราสาว
นิตยสาร Cosmopolitan UK ได้สัมภาษณ์ Dr. Seth Rankin ผู้ก่อตั้ง London Doctors Clinic ซึ่งกล่าวว่า "ความหย่อนคล้อยเกิดจากแรงโน้มถ่วงดึงหน้าอกของคุณลง เมื่อคุณนอนราบผลของแรงโน้มถ่วงจะดันเนื้อเยื่อเต้านมกลับไปที่หน้าอกของคุณแทนที่จะลงไปที่นิ้วเท้า การหย่อนคล้อยของเต้านมจะเกิดขึ้นไม่ว่าผู้หญิงจะอายุเท่าไร เพราะเนื้อเยื่อที่ยึดหน้าอกจะสูญเสียความยืดหยุ่นไปตามกาลเวลา และมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้หน้าอกหย่อนคล้อย ได้แก่ การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร พันธุกรรม การสูบบุหรี่ การลดหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างมาก
- ถ้า โนบรา จะนอนหลับสนิทขึ้น
Sammy Margo นักกายภาพบำบัดและโฆษกของ Chartered Society of Physiotherapy กล่าวว่า ผู้ที่เสื้อชั้นในรัดแน่นเกินไปจะสร้างแรงกดทับเส้นประสาทกล้ามเนื้อและหลอดเลือดบริเวณหลังไหล่ส่วนบนและซี่โครง รวมถึงทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อหลังและหน้าอกน้อยลง อันเป็นสาเหตุของอาการปวด การสวมบราเป็นประจำในขณะนอนหลับ
โดยเฉพาะในฤดูร้อนอาจทำให้เหงื่อออกมากเกินไป โดยเฉพาะบราแฟนซีที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์สามารถกระตุ้นให้เหงื่อออกมากเป็นพิเศษ จนทำให้รู้สึกนอนหลับได้ยาก ถึงแม้ยังไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า การใส่บรานอนมีผลต่อการนอนหลับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนอนแบบ “โนบรา” นั้น มีความสบายมากกว่า สำหรับผู้หญิงบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการถอดบราขณะเข้านอน อาจเลือกสวมชุดชั้นในแบบที่ใส่สบาย บางเบา และระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- ผิวบริเวณหน้าอกและหลังจะนุ่มนวลเมื่อเลิกใส่บราทุกวัน
ผู้ที่มีหน้าอกใหญ่มักพบปัญหา เหงื่อออกใต้อก เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ส่งผลให้เกิดผื่นแดง คัน และอาจมีกลิ่น ผู้ที่เลิกใส่เสื้อชั้นในส่วนใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้
นอกจากนี้การสวมเสื้อชั้นในเป็นประจำอาจทำให้เกิดเม็ดสีหรือเกิดระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่แถบยางยืดหรือลวดของชุดชั้นในสัมผัสกับผิวที่อ่อนนุ่ม ส่งผลให้ผิวหนังเป็นรอยและเจ็บ อีกทั้งยังอาจเปลี่ยนสีหรือเกิดรอยและผิวหนังกระด้าง
ผู้หญิงบางคนเกิดความระคายเคืองจนต้องพบแพทย์เพื่อรับยากำจัดเชื้อรา แต่หากไม่หายภายใน 2-4 สัปดาห์ อาจต้องลองเปลื้องผ้าให้เปลือยเปล่าในบริเวณดังกล่าว จะสังเกตได้ว่าผิวสวยใสขึ้น
- ถ้าปวดหลัง ให้ลองปลดบรา
เสื้อชั้นในบางตัวอาจสวย บางตัวช่วยทำให้รูปร่างดีขึ้น แต่เสื้อชั้นในทั้งหมดมีจุดประสงค์เดียว คือเพื่อรองรับน้ำหนักหน้าอก
Jessica Pfister รองประธานของแบรนด์ชุดชั้นใน Le Mystere กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Well + Good ว่า ผู้หญิงหน้าอกใหญ่ มักพบอาการปวดหลัง แต่อย่าเพิ่งปลดบราออกทันที เพราะอาการปวดหลังเริ่มต้นอาจเป็นเพียงชั่วคราว
Dr. Lucky Sekhon สูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อด้านการเจริญพันธุ์ กล่าวถึงปัญหาปวดหลังว่า หญิงที่มีหน้าอกใหญ่อาจรู้สึกอึดอัดมากกว่าคนที่มีหน้าอกเล็ก เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกกำลังกายบริเวณหน้าอก จะช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับและสามารถรองรับเนื้อเยื่อเต้านมได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องสวมบราเลยด้วยซ้ำ
- ควรสวมสปอร์ตบราทุกครั้ง เวลาออกกำลังกาย
ไม่ว่าความเชื่อเรื่องควรสวมหรือไม่สวมบราจะเป็นอย่างไร แต่ทุกครั้งที่ออกกำลังกายควรสวมสปอร์ตบรา โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น
การออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อเต้านม สามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเนื้อเยื่อเต้านมได้หากไม่ได้สวมใส่บราที่เหมาะสมตามรูปร่าง และไม่ควรใส่บราเก่า หลวม ที่ไม่สามารถโอบอุ้มเต้าทั้งสองได้กระชับแน่นกับร่างกาย เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมที่เคลื่อนไหวกระแทกไปตามจังหวะการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง กระโดด หรือเต้น อาจสร้างความทุกข์ทรมานจากรอยแยกหัวนมที่เกิดจากการเสียดสีที่เจ็บปวด ซึ่งเรียกว่า 'jogger's nipple'
วิธีเลือกสปอร์ตบรา
การเลือกสปอร์ตบราที่เหมาะสม ควรมีความยืดหยุ่น รู้สึกสบาย โดยต้องแน่ใจว่าสายเสื้อชั้นในไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป สปอร์ตบราที่ดีควรผลิตจากผ้าฝ้ายหรือผ้าสแปนเด็กซ์ไลคร่า เนื่องจากผ้าฝ้ายมีความนุ่มและจัดการความชื้นได้ดี ส่วนไลคร่าจะสามารถคงรูปทรง ยืดหยุ่น และมีการรองรับที่ดี
"กุญแจสำคัญของการใส่บราให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ ความเหมาะสมในการใช้งาน และการเลือกขนาดที่เหมาะกับหน้าอกของตัวเอง เพราะหลายคนอาจจะคิดว่า การใส่บราที่รัดแน่นหรือมีขนาดเล็กกว่าหน้าอกของตัวเอง จะช่วยประคองหน้าอกให้กระชับและเป็นทรงสวย แต่นอกจากหน้าอกจะไม่สวยขึ้นแล้ว ยังอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ผิวหนังระคายเคือง หรือบางคนก็อาจถึงขั้นหายใจไม่ออกเลยทีเดียว"
ดังนั้น เวลาเลือกซื้อบรา ก็ต้องลองให้แน่ใจก่อนว่าใส่แล้วพอดีกับขนาดหน้าอกของเรา ไม่ทำให้เราอึดอัดจนอยากจะถอดทิ้งทันทีที่กลับถึงบ้าน รวมถึงดูวัสดุด้วยว่า ทำมาจากผ้าชนิดไหน ใส่แล้วจะระคายเคืองผิวหรือไม่ ไม่ใช่ดูแต่ลวดลายหรือสีสันเท่านั้น เพราะบราบางตัวอาจจะดูสวย แต่อาจใส่แล้วไม่สบาย ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย
อ้างอิง : โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ,โรงพยาบาลพญาไท 2 ,โรงพยาบาลเปาโล