มนุษย์ค้างคาวทำงานดึกต้องระวัง! 'Shift Work'ทำงานเป็นกะ อันตรายต่อสุขภาพ
'วัยทำงาน' ทั้งในหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเอกชน จะใช้เวลา 7- 8 ชั่วโมง โดยเริ่มเข้างาน 9.00 -18.00 น. แต่ในธุรกิจบางประเภทจำเป็นต้องมีพนักงานคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ร้านสะดวกซื้อ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการทำงานแบบ Shift Work หรือ การทำงานเป็นกะ
Keypoint:
- Shift Work หรือการทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะกะดึกอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะนาฬิกาชีวิตปรับเปลี่ยนไปจากเดิมทั้งการกิน การนอน
- ความเสี่ยงด้านสุขภาพ โรคที่ตามมาของวัยทำงานเป็นกะ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมรรถภาพสมองเสื่อมลงกล้ามเนื้อตาล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ความเครียด อ่อนเพลียเรื้อรัง นอนไม่หลับ โรคอ้วน
- การดูแลสุขภาพของตนเองเมื่อต้องทำงานเป็นกะ เริ่มจากการนอนหลับพักผ่อน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการเปลี่ยนกะ
ทุกวันนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่จะต้องทำงานในเวลากลางคืน หรือบางคนก็ต้องทำงานเป็นกะ มีการสลับเวลาอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานร้านสะดวกซื้อ เจ้าหน้าที่เซิร์ฟเวอร์ พนักงานโรงงาน รวมไปถึงแพทย์และพยาบาลด้วย
การทำงานเป็นกะในช่วงกลางคืน จะทำให้เวลานอน พฤติกรรมการกิน ของผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพตามมาได้ ปัญหาสุขภาพของวัยทำงานเป็นกะ หรือทำงานในช่วงเวลากลางคืนมีอะไรที่น่าเป็นห่วงบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'โรคกระดูกพรุน' ไม่ได้เกิดเฉพาะสูงวัย คนวัยทำงานก็เป็นได้
'กินผักรักสุขภาพ' เสี่ยง 'ลำไส้แปรปรวน' โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน
Shift Work การทำงานเป็นกะ สวนทางกับนาฬิกาชีวิต
Shift Work หรือการทำงานเป็นกะ หมายถึง การแบ่งช่วงเวลา และสลับเวลาในการดูแลงานหรือรับผิดชอบกิจกรรมขององค์กรหรือธุรกิจต่าง ๆ โดยการแบ่งคนเป็นมาประจำตำแหน่งงานในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ลื่นไหล ไม่มีสะดุด
การทำงานเป็นกะ จะมีการจัดชั่วโมงทำงานแตกต่างจากเวลาทำงานปกติ โดยช่วงเวลาทำงานหรือการเข้ากะ จะเริ่มตั้งแต่ เวลา 8.00 – 5.00 น. โดยในแต่ละองค์กรอาจมีการจัดโครงสร้างกะงานได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กร เช่น ในบางองค์กรอาจใช้การเปลี่ยนแปลง 12 ชั่วโมง แบ่งเป็นสองครั้ง หรือ เปลี่ยนแปลง 8 ชั่วโมง แบ่งเป็นสามครั้งต่อวัน เป็นต้น
สำหรับระบบงานกะอาจแตกต่างกันในทิศทาง และความเร็วของการหมุนกะ ซึ่งเป็นระบบกะที่หมุนเวียนตารางเวลาของพนักงานตั้งแต่กะเช้าไปจนถึงกะเย็น ต่อเนื่องไปถึงกะกลางคืน จะมีการหมุนไปข้างหน้า ในขณะที่กะที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา เช่น กลางคืนถึงเย็นถึงเช้า จะมีการหมุนเวียนย้อนกลับ โดยความเร็วของการหมุนระบบกะ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ
- ระบบกะแบบถาวรเช่น กะกลางคืนถาวร
- ระบบกะที่หมุนช้า ๆเช่น หมุนทุกสัปดาห์
- ระบบกะที่หมุนเวียนอย่างรวดเร็วเช่น พนักงานทำงานกะเช้าในวันจันทร์กะเย็น ในวันอังคารและวันพุธ
ปัจจุบันธุรกิจที่มีการแบ่งกะทำงานมีมากมาย ได้แก่ สนามบิน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฟิตเนส โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ โรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ ที่มีส่วนในการสร้างสังคมที่ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง
ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อทำงานเป็นกะ
ถึง Shift Work หรือการทำงานเป็นกะ จะมีข้อดีที่ช่วยให้ผู้ทำงานสามารถเลือกเวลาทำงานได้ และไม่ต้องใช้เวลานานมากเกินไปในการทำงาน แต่การทำงานเป็นกะก็มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในกะกลางคืน ซึ่งเป็นการทำงานที่ไม่ตรงกับนาฬิกาชีวิตและร่างกายที่เป็นธรรมชาติ เพราะโดยปกติช่วงเวลากลางวันจะต้องตื่นเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน
พญ.จิตแข เทพชาตรี สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่าสำหรับผลเสียด้านสุขภาพของผู้ที่ทำงานเป็นกะ หรือทำงานในช่วงเวลากลางคืน มีดังนี้
- ร่างกายขาดวิตามิน D
วิตามิน D ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของคนเรามักจะมีอยู่ในแสงแดด ซึ่งวิตามิน D จะมีส่วนช่วยในเรื่องของกระดูก และเรื่องของภูมิคุ้มกัน ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง และก็ยังมีผลต่อระบบเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย คนทำงานกะกลางคืนมีโอกาสที่จะขาดวิตามิน D ได้สูง เนื่องจากไม่ได้โดนแดดเลย และเมื่อขาดวิตามิน D ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไป จึงทำให้คนที่ทำงานกะกลางคืนทั้งหลายมีโอกาสจะเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาได้ง่ายกกว่าคนทำงานเวลากลางวันทั่วไป
ข้อแนะนำในการแก้ปัญหาสำหรับคนทำงานกลางกะกลางคืน : หลายๆ คนรู้ว่าตนเองอาจจะขาดวิตามิน D เพราะปกติไม่ค่อยได้โดนแดดสักเท่าไหร่ ก็จึงเลือกที่จะซื้อวิตามินมารับประทานเอง แต่ตรงนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีและทางออกที่ถูกต้องเสมอไป เพราะวิตามินเสริมต่างๆ ถ้ารับประทานไม่ถูกต้องก็อาจจะเกิดการสะสมในร่างกายจนกลายเป็นสารพิษได้เหมือนกัน หรือการรับประทานวิตามินที่ละลายในไขมัน ถ้ากินผิดอาจเกิดการสะสมเป็นพิษได้
ดังนั้น จึงแนะนำว่าควรมาขอคำปรึกษาจากหมอ ให้หมอช่วยดูในเรื่องอาหารเสริมหรือวิตามินตรงนี้ให้จะดีกว่าจะได้รับประทานได้อย่างถูกต้อง
- มีปัญหาเรื่องการนอน
โดยทั่วไปแล้วในเรื่องของการนอนในคนปกติทั่วไป ร่างกายของเราจะเหมือนมีนาฬิกาที่ทำงานอยู่ด้านในเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย เมื่อเรานอนในตอนกลางคืน พอถึงตอนเช้าเริ่มมีแสง นาฬิกาในร่างกายเราจะปลุกให้เราตื่นขึ้นเพื่อให้เราได้รับแสงแดดอันเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานต่างๆ ในร่างกาย
การตื่นมารับแสงในตอนเช้านั้นก็จะช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวและมีการปรับตัวให้พร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ไปทั้งวันแล้ว พอถึงตอนเย็นพระอาทิตย์ตก ฮอร์โมน Melatonin ก็จะหลั่ง ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งออกมาตอนกลางคืนเพื่อทำให้เราง่วงนอนและหลับได้สนิท
เมื่อหลังสนิทแล้วร่างกายจะเริ่มหลั่ง Growth ฮอร์โมน เพื่อซ่อมแซมและปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งกลไกนี้จะเป็นปกติทั่วไปเหมือนๆ กันทุกคน แต่สำหรับคนที่ทำงานในกะกลางคืน กลไกการทำงานในร่างกายส่วนนี้จะผิดเพี้ยนไปจากคนที่ทำงานกลางวัน เพราะคนที่ทำงานกะกลางคืนจะต้องนอนในตอนเช้าหรือตอนกลางวัน ซึ่งฮอร์โมน Melatonin จะมีความไวต่อแสง ถ้าร่างกายถูกแสงแม้เพียงเล็กน้อย ฮอร์โมน Melatonin จะไม่ทำงานหรือทำงานน้อยลง ซึ่งทำให้การหลับนอนของคนที่ทำงานกะกลางคืนไม่สมบูรณ์ อาจจะหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับไม่สนิท
ข้อแนะนำในการแก้ปัญหาสำหรับคนทำงานกลางกะกลางคืน : ต้องสร้างบรรยากาศและปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับพักผ่อนให้มากที่สุด พยายามทำให้ห้องที่เรานอนมืดให้มากที่สุด
คุณควรหาอุปกรณ์หรือเครื่องมือมาช่วยให้การนอนของคุณเป็นการนอนที่สบายที่สุด อย่างเช่น อาจจะปิดไฟ ปิดม่าน หรือใช้ที่ปิดตา ใช้หมอนนุ่มๆ หมอนรองคอ ที่อุดหู หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียดลงให้ได้มากที่สุด
การทำเช่นนี้เป็นการหลอกร่างกายว่าตอนนี้เป็นช่วงค่ำแล้วเป็นช่วงเวลานอนและเวลาพักผ่อนแล้ว ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสามารถหลั่งฮอร์โมน Melatonin ออกมาและทำให้เราหลับสนิทมากขึ้น ซึ่งถ้าคุณทำได้แบบนี้ร่างกายก็จะปรับสมดุลได้เร็ว
- โรคภัยรุมเร้า ร่างกายเสื่อมเร็ว
การนอนผิดเวลา หรือการไม่ได้หลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนทั้ง Melatonin และ Growth ฮอร์โมนทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้การซ่อมแซมร่างกายดำเนินไปได้อย่างไม่เต็มที่ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย มีภูมิคุ้มกันลดลง โรคภัยต่างๆ ก็เข้ามากร่ำกรายได้ง่าย ร่างกายไม่มีการซ่อมแซมตัวเองจึงชำรุดทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว คือร่างกายจะเสื่อมเร็วกว่าคนปกติทั่วไปนั่นเอง
ข้อแนะนำในการแก้ปัญหาสำหรับคนทำงานกลางกะกลางคืน : สิ่งสำคัญก็คือต้องสร้างบรรยากาศและปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับพักผ่อนให้มากที่สุด เมื่อตื่นขึ้นมา ก็อาจจะมีการออกไปทำกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อให้ร่างกายได้มีการเจอแสงบ้าง ร่างกายจะได้ปรับสมดุล และก็ควรจะมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมอย่างการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ด้วย
"คนที่ทำงานกะกลางคืนควรหาเวลาหรือโอกาสเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพบ้าง จะได้รู้ว่าสภาพร่างกายของตนเองเป็นอย่างไร ทรุดโทรมลงไปบ้างไหม หากมีปัญหาหมอจะได้ให้คำปรึกษาแนะแนวทางที่ถูกต้องได้ อย่าคิดว่าการซื้ออาหารเสริมมารับประทานเองจะแก้ไขปัญหาได้เสมอไป"
ดูแลสุขภาพอย่างไร? เมื่อทำงานเป็นกะ
การทำงานเป็นกะ จะมีผลต่อการกินอาหารไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา โดยเฉพาะคนที่ทำงานกะดึก ย่อมมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ทำให้ส่งผลต่อการทำงานโดยตรง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว
โดยผลกระทบในระยะสั้น จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ง่วงในเวลางาน ส่งผลทำให้สมรรถภาพในการทำงานลดลง และเสี่ยงต่อการทำงานผิดคลาด หรือเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานได้ในระยะยาว
มีงานวิจัยที่เผยแพร่ออกมา พบว่า คนที่ทำงานเป็นกะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างมากกว่าคนอื่น เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมรรถภาพของสมองเสื่อมลง มีอาการกล้ามเนื้อตาล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีความเครียด อ่อนเพลียเรื้อรัง นอนไม่หลับ โรคอ้วน
พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสำหรับการปฎิบัติตัว ดูแลตนเองของคนทำงานเป็นกะ (Shift Work) สามารถปฎิบัติได้ดังนี้
1.การนอนหลับพักผ่อน
ช่วงที่ไม่ได้อยู่กะควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้ครบ 8 ชั่วโมง หากพักผ่อนไม่เพียงพอสมรรถภาพการทำงานของสมองจะลดลง ที่สำคัญควรจัดที่นอนให้เหมาะสม เพราะการนอนตอนกลางวัน จะมีสิ่งรบกวนค่อนข้างมาก อาจปิดผ้าม่านและหน้าต่างเพื่อส่งผลให้การนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่
2.การรับประทานอาหาร
หากต้องอยู่กะดึก ไม่ควรรับประทานอาหารที่หนักเกินไป หรือรับประทานอาหารควรกินแค่ไม่ให้รู้สึกหิวเท่านั้น แล้วไปกินมื้อเช้าหนัก ๆ เพื่อการนอนหลับให้เต็มอิ่ม จากนั้นเมื่อนอนครบ 8 ชั่วโมงแล้วตื่นมาในช่วงบ่าย ก็ให้กินมื้อกลางวัน และมื้อเย็นตามปกติก่อนเข้างาน ที่สำคัญคือควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
3.การออกกำลังกาย
สำหรับคนที่ทำงานกะดึก ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าในช่วงเวลางาน ส่วนคนที่ทำงานกะเช้าและกะบ่าย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4.การเปลี่ยนกะ
ควรเปลี่ยนไปข้างหน้าเสมอ อย่าเปลี่ยนย้อนหลังหรือกลับไปกลับมา เพราะจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า รู้สึกอดนอนมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากกะเช้าไปเป็นกะบ่าย เปลี่ยนจากกะบ่ายไปเป็นกะดึก อย่าเปลี่ยนจากกะดึกไปเป็นกะบ่าย เป็นต้น และไม่ควรเปลี่ยนกะทุกสัปดาห์ เพราะปกติแล้วเมื่อปรับเวลานอนต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มชินกับเวลานอนนั้น หากต้องเปลี่ยนควรเปลี่ยนทุก 2-3 สัปดาห์ หรือไม่ก็ให้เปลี่ยนทุก 2-3 วัน
การแบ่งเวลา คนทำงานเป็นกะมักมีช่วงเวลาชีวิตที่ไม่ตรงกับผู้อื่น ทำให้ไม่มีเวลาในการพบปะเพื่อนฝูง หรือไม่มีเวลาให้ครอบครัว ดังนั้นควรแบ่งเวลาหรือวางแผนในเรื่องของเวลาให้ดีทั้งนี้เพื่อรักษาสุขภาพจิตใจของตนเอง
อย่างไรก็ตาม คนทำงานเป็นกะควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดีและมีแบบแผน จากวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากนาฬิกาชีวิตของร่างกายที่เป็นธรรมชาติ ทั้งในด้านการกิน การนอน รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของตนเอง
การทำงานเป็นกะส่งผลกับแต่ละคนต่างกัน บางคนปรับตัวได้ดี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ส่วนบุคคล ความรับผิดชอบ สมรรถภาพทางกาย และขีดความสามารถในการเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของงาน
ทำงานเป็นกะแต่อยากสุขภาพดีควรทำอย่างไร
1.ขณะปฏิบัติงานในกะ ในที่ทำงานควรมีแสงสว่างที่เพียงพอเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัว รับประทานอาหารให้เพียงพอในระหว่างวัน ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจำนวนมากเมื่อใกล้เวลานอน พักตามเวลาพักปกติในระหว่างการทำงาน
2.การนอนหลับ หากมีปัญหาเรื่องการนอนหลับในระหว่างวัน ควรทำอะไรที่สงบๆ ก่อนที่จะไปนอน ไม่ออกกำลังกายแบบหักโหม ก่อนที่จะเข้านอน รักษาห้องนอนให้เย็นสบายเพื่อช่วยในการนอนหลับ ใช้ผ้าม่านทึบ หรือ มู่ลี่ เพื่อทำให้ ห้องนอนมืด ปิดเสียงโทรศัพท์
3.รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อ้างอิง : RAMA Channel ,โรงพยาบาลสมิติเวช , jobsdb