เทรนด์สุขภาพ 2024 ดูแลสุขภาพแบบรายบุคคล
Global Wellness Institute(GWI)คาดการณ์ว่า ปี 2568 'เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลก' (Global Wellness Economy) จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท
Keypoint:
- 'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ภาครัฐสนับสนุน สอดคล้องกับการเดินหน้าสู่ Medical Hub ของไทย
- ทำความรู้จัก 5 เมกะเทรนด์ คาดการณ์เชิงกลยุทธ์ด้านอนาคต หลักประกันสุขภาพของไทย
- Health & Wellness ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เน้นการป้องกันควรใช้เป็นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
อีกทั้ง ยังคาดการณ์ด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2563-2568 ธุรกิจสปาจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่อัตรา 17.2 % ส่วนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเติบโตเฉลี่ยที่อัตรา 20.9%
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และ 'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ภาครัฐสนับสนุน สอดคล้องกับการเดินหน้าสู่ Medical Hub ของไทยที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความสำคัญกับการทำ Marketing ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่าง Medical Tourism และHealth &Wellness Tourism ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 80,000 - 120,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โรคร้าวๆ เมื่อรองเท้าคู่โปรด ไม่เหมาะกับรูปเท้า พร้อมวิธีป้องก้น
5 เมกะเทรนด์สุขภาพ
'รายงานการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ด้านอนาคตหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย' ที่ใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนปฏิบัติราชการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ระยะที่ 5 พ.ศ.2566-2570 แบ่งออกได้เป็น 5 เมกะเทรนด์ประกอบไปด้วย
1) Internet of Healthระบบบริการสุขภาพเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีและระบบออนไลน์ ส่งผลต่อแนวทางและกรอบระเบียบการเงินเพื่อสุขภาพ ทั้งระบบสุขภาพแบบเชื่อมต่อออนไลน์ การนำ AR/VR เทคโนโลยีข้อมูล และระบบการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์มาใช้ เพื่อคัดกรองโรค ลดความแออัดในสถานพยาบาล พร้อมกับเสริมศักยภาพด้านแพลตฟอร์มการดูแลรักษาและป้องกันด้านสุขภาพ
ทั้งการคัดกรอง ให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพ รวมถึงการตอบโจทย์การจ่ายเงินผ่านสังคมไร้เงินสด เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใหม่ๆ เข้ามาในระบบนิเวศน์สุขภาพ
2) Human Dynamic for Well-beingการตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรผ่านนโยบายสุขภาพของประเทศ ครอบคลุม ทั้งสุขภาพกายและใจ ทั้งบริการสุขภาพแบบรายบุคคล คือ การบริหารจัดการด้านสุขภาพเพื่อตอบโจทย์การรักษาแบบรายบุคคลที่มีปัจจัยพื้นหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย ทั้งช่วงกลุ่มวัย อัตลักษณ์ทางเพศและความเท่าเทียม เชื้อชาติ ลักษณะการทำงาน เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งสุขภากายและสุขภาพจิต เพื่อไปสู่สุขภาวะที่ดี
ขณะเดียวกัน ความหลากหลายของประชาชนในอนาคต มีบทบาทจากเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาวะสังคมสูงอายุแนวทางการขับเคลื่อนที่เน้นการดุงดูดแรงงานมีทักษะฝีมือ เพื่อช่วยเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ ย้ายมาเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ อาจนำไปสู่การพัฒนารูปแบบประกันสุขภาพเป็นแพคเกจที่เข้าถึงและตอบโจทย์ความหลากหลาย
ตระหนักดูแลป้องกันสุขภาพ บริหารจัดสรรการเงิน
3) An Era of New Risk Frontiers ทิศทางของความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณสุขภาพ ทั้งความเสี่ยงสุขภาพโรคภัยที่เกิดขึ้นจากโรคอุบัติใหม่ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากภาวะสงครามและวิกฤติโลก
พฤติกรรมและวิถีชีวิตแบบใหม่ สะท้อนปัญหาสุขภาพ ที่ต้องใช้แนวทางและเวลาในการดูแลรักษาแตกต่างไป และ การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ วิจัยความเสี่ยงใหม่ๆ ต่อสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การเปิดช่องกลไกด้านการจัดการงบประมาณด้านสุขภาพ
4) People Centric Prosumerการดูแลสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ผ่านการส่งเสริมป้องกัน มีส่วนร่วมและเสริมพลังของประชาชน / ชุมชนในพื้นที่ ทิศทางรูปแบบใหม่ Prosumer ของผู้รับบริการสุขภาพในฐานะผู้รับบริการ (บริโภค) และ ดูแล (ผลิต) สุขภาพของตนเองและสมาชิกในชุมชน
การสร้างความตระหนักรู้เรื่องการดูแลป้องกันสุขภาพ รู้เท่าทันและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ผ่านช่องทางการส่งสารในฐานะผู้สื่อสารในช่องทางทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานสุขภาพ การตื่นรู้ของปราชนในการตรวจสอบบริการภาครัฐ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย
ขณะเดียวกัน บทบาทอนาคตของชุมชนในฐานะผู้ให้บริการ มีส่วนร่วมในการดูแลโรคภัยและสุขภาพ อาทิ กลุ่มการดูแลแบบประคับประคอง หรือกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสุงและสามารถพักรักษาตัวที่บ้าน ตอบโจทย์การรักษาที่ใช้เวลาพักรักษาในตัวสถานพยาบาลน้อยลง
5) Decentralized financing modelทิศทางการบริหารจัดสรรการเงินเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่สะท้อนการกระจายอำนาจและเสริมแรงจูงใจ โดยแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินแบบกระจายอำนาจและเสริมความคิดรูปแบบดูแลรักษาสุขภาพ และเสริมแรงจูงใจ นำไปสู่การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า
อีกทั้ง ประเด็นทิศทางค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เนื่องด้วยสภาวะสังคมสูงวัย และภาระจากลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง การสำรวจแนวทางแหล่งที่มาใหม่ๆ ของงบประมาณผ่านรูปแบบการเงินในอนาคต อาทิ ภาษีจากการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในชุมชน
การระดมทุนรูปแบบใหม่ เช่น พันธบัตรระดับองค์กรหรือเมือง หรือร่วมพันธมิตรในการพัฒนาสนับสนุนสุขภาพและสุขภาวะประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามเป้าประสงค์เพื่อมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
Health&Wellnessเน้น'ป้องกัน'
ขณะที่ จากการสำรวจโดยแมคคินซี แอนด์ คอมพานี (Mckinsey & Company) พบว่าปัจจุบันมี 6 มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ Self-Care จึงเป็นมิติที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม Health & Wellness ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ควรใช้เป็นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ประกอบด้วย
Better Health มีสุขภาพที่ดี เป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดเรื่องการดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง โดยใช้แอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการนัดหมายแพทย์ มีแนวโน้มการสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไปใช้เองที่บ้านมากขึ้น และการเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรอแพทย์
Better Fitness มีสมรรถภาพร่างกายที่ดี คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ทำให้คอร์สออกกำลังกายออนไลน์และแอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค มีการเติบโตเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา
Better Nutrition มีโภชนาการที่ดี ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่ไม่เพียงแค่รสชาติดี แต่ต้องดีต่อสุขภาพด้วย ทำให้การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันด้านโภชนาการ โปรแกรมควบคุมอาหาร และน้ำผลไม้ล้างพิษ ของผู้บริโภค 1 ใน 3 ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง
Better Appearance มีรูปลักษณ์ที่ดี ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจกับการดูแลรูปลักษณ์ และต้องการนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา บริการเสริมความงามในรูปแบบไม่ต้องผ่าตัดอย่างการทำเลเซอร์ได้รับความนิยมอย่างมาก และคาดว่าในปี 2573 จะเกิดบริการด้านความงามที่เพิ่มมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ
Better Sleep มีการนอนหลับที่ดี ผู้บริโภคทั่วโลกต่างมีความต้องการผลิตภัณฑ์ และบริการที่ส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่รองรับการรักษาการนอนหลับ อาทิ แอปพลิเคชันสำหรับติดตามการนอนหลับ เซ็นเซอร์ที่วางไว้ใต้ที่นอนเพื่อบอกการเคลื่อนไหวขณะนอนหลับ หรือคำนวณเวลาขณะนอนหลับ
Better Mindfulness มีสติหรือความสงบทางใจที่ดี จากสถานการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกมีความตึงเครียดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความสงบทางใจ จึงได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเพื่อฝึกการทำสมาธิหรือบริการเพื่อความผ่อนคลาย กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม
โดยในปี 2573 เทคโนโลยีและอุปกรณ์สวมใส่ที่เชื่อมโยงกับความเครียดจะมีความสำคัญมากขึ้น อย่างคลาสโยคะออนไลน์ อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาสงบนิ่ง และทำสมาธิ เป็นต้น
เทรนด์ย้อนวัยมาแรง
ขณะที่ อุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามในไทยปัจจุบัน มีการเติบโตและเป็นที่นิยมอย่างมาก คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 40,000 ล้านบาท โดยการศัลยกรรมที่ครองอันดับ 1 ยังคงเป็นการเสริมจมูก ส่วนศัลยกรรมย้อนวัยเป็นหนึ่งในเทรนด์ของโลกที่กำลังมาแรง ไม่จำกัดเพศ อายุ อาชีพ เนื่องจากเทคนิคและเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้คนเริ่มเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและผลการรักษา
ข้อมูลโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ระบุเทรนด์ศัลยกรรมที่ได้รับความนิยม 5 อันดับ ในประเทศไทย ได้แก่
อันดับ1 การเสริมจมูกทั้งการเสริมใหม่และแก้เปลี่ยนสไตล์
อันดับ2 การทำตาไม่ว่าจะเป็นการทำตาสองชั้น เปิดหัวตา เปิดหางตา
อันดับ 3 ดูดไขมันส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณท้อง ขา และแขน
อันดับ 4 การส่องกล้องยกคิ้วซึ่งมาแรงในปีนี้
อันดับ 5 การทำหน้าอกจากเดิมจะเป็นเพียงการเสริม แต่ระยะหลังเริ่มมีการตัดแต่ง รวมถึงการตัดหนังหน้าท้อง
Genetic Testing Laboratory การแพทย์แม่นยำส่วนบุคคล
'นทพร บุญบุบผา' ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ในอนาคตการท่องเที่ยว แบบ Wellness Tourism จะ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวให้มากขึ้น MP กรุ๊ป จะเป็นตัวเชื่อมเพื่อทำให้ระบบการท่องเที่ยวไทยมีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมีความยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ Wellness Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง และทำให้เกิดการนำชื่อเสียงไปสู่กลุ่มคนประเทศอื่นๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย เพื่อดูแลรักษาตัวเอง และออกแบบให้ตรงกับเขามาเป็นอีกกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวได้
ยกตัวอย่างเช่นการให้บริการ ตรวจ Genetic Testing Laboratory หรือตรวจยีนผ่านพันธุกรรม เป็นการแพทย์แบบเชิงป้องกัน หรือการแพทย์แม่นยำส่วนบุคคล เป็นขั้นสูงมากกว่าการตรวจเลือด เป็นการแพทย์แบบเชิงป้องกัน
วางแผนสุขภาพเชิงป้องกันแบบเฉพาะบุคคลในรูปแบบ Personalized Precision Medicine ที่เรียกว่า สแกนกรรม เช่น การตรวจหายีนมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2 เมื่อตรวจเจอสามารถวินิจฉัยได้ว่า 70-80 % สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่หลัง นำไปสู่การรักษาในอนาคตบริษัทยาสามารถพัฒนายามาซ่อมในระดับยีน และจะทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น
พบกับการสแกนกรรมได้ในงานมหกรรม Health & Wealth Expo 2023 ภายใต้แนวคิด The Journey of life จัดโดย เนชั่น กรุ๊ป ระหว่างวันที่ 9 – 12 พ.ย. 2566 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่ Hall 5 – 6 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีทั้งความรู้เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงอายุอย่างครบวงจร
โซน Happy Healthy ใส่ใจกับคุณภาพชีวิต และความงาม กับโรงพยาบาลชั้นนำ Health Gadget ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะปาฐกถาพิเศษ Road Map to Thailand Medical Hub ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และเป็นประธานเปิดงานในวันแรกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนา 'เทรนด์สุขภาพ 2024' ,สมุนไพร โอกาสเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ตั้งแต่ฐานราก , ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม' รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ อีกมากมาย