เคล็ด(ไม่)ลับ ‘ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง’ เทคโนโลยีตัวช่วยของการรักษา
‘โรคมะเร็ง’ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ
Keypoint:
- 'โรคมะเร็ง' สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่ในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า
- ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง อย่าง เทคโนโลยีจีโนมช่วยให้การรักษาผู้ป่วยดีขึ้น และสามารถเฝ้าระวังได้ถึงระดับยีนหรือสารพันธุกรรม โดยการตรวจจากเลือด และชิ้นเนื้อ
- การป้องกัน ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็ง ต้องปฎิบัติ 5 ทำ 5 ไม่ทำให้ได้ เพราะมะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
ในปี 2566 กรมการแพทย์ได้เผยสถิติว่ามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 140,000 คน/ปี หรือ 400 คน/วัน ที่สำคัญยังพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากพฤติกรรมการกินมากถึง 30-40% ทำให้คนส่วนใหญ่มีความกังวลจากโรคมะเร็งที่เริ่มใกล้ตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ครองแชมป์อันดับ 1 ของไทยมาหลายปี ซึ่งก็มีหลายสาเหตุที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือกินอาหารซ้ำ ๆ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด ความอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ
โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่
อันดับ 1 มะเร็งตับและท่อน้ำดี
อันดับ 2 มะเร็งปอด
อันดับ 3 มะเร็งเต้านม
อันดับ 4 มะเร็งลำไส้และทวารหนัก
อันดับ 5 มะเร็งปากมดลูก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %
เช็กสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดงานประชุมวิชาการร่วมประจำปี 2566 ‘BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023’ภายใต้แนวคิด ‘A Road to Lifelong Well-Being’ (เส้นทางสู่การมีสุขภาพดีอย่างยืนยาว) ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-3 พ.ย.2566
วันนี้ (31 ต.ค.2566 )ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวในหัวข้อ Comprehensive Cancer Care For Well-Being หรือการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ว่า มะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ คือ เซลล์จะแบ่งตัวและมีการเจริญเติบโตที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อนานเข้าก็ก่อเกิดเป็นเนื้อร้าย จนขยายลุกลามไปยังร่างกายส่วนอื่นๆ ผ่านทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือด แต่ก็ไม่ใช่เนื้องอกทุกชนิดที่เกิดขึ้นจะกลายร่างเป็นมะเร็งเสมอไป
“สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 5-10% ส่วนอีก 90-95% นั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ตั้งแต่อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารโดยการรมควันหรือการหมักดอง รังสีเอกซเรย์ รังสียูวีจากแสงแดด เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียบางชนิด การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ รวมถึงเกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การกินอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม รวมถึงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น”
7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงมะเร็ง
ด้วย ‘โรคมะเร็ง’ เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ เพราะจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุก ๆ ปี แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีผู้รอดชีวิตจากการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากตั้งใจควบคุมการรักษาโรคมะเร็งที่เหมาะสมและเลือกวิธีที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ป่วย พร้อมส่งกำลังใจให้กับทุกคนว่า มะเร็งมีโอกาสในการรักษาให้หายได้
7 สัญญาณอันตรายเหล่านี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ ได้แก่
1.ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไป
2.แผลที่รักษาไม่ยอมหาย
3.ร่างกายมีก้อนตุ่ม
4.กลืนกินอาหารลำบาก
5.มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่างๆ
6.มีการเปลี่ยนแปลงของไฝและหูด
7.ไอหรือเสียงแหบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษาที่ตรงจุดอย่างทันท่วงที
ป้องกันโรคมะเร็ง 5 ทำ 5 ไม่ทำห่างไกลมะเร็ง
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ ได้แนะนำหลักการป้องกันโรคมะเร็ง ‘5 ทำ 5 ไม่ห่างไกลมะเร็ง’
โดย ‘5 ทำ’ ประกอบด้วย
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
3. กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อ
4. กินอาหารให้หลากหลาย
5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ส่วน ‘5 ไม่’ ก็ประกอบด้วย
1. ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่
2. ไม่มั่วเซ็กซ์
3. ไม่ดื่มสุรา
4. ไม่ตากแดดจ้า
5. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ
เทคโนโลยีตรวจมะเร็งเต้านม
พญ.ศรัณยา งามรัศมีวงศ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ตอนนี้เรามีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากขึ้น และมีการรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งโรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่สามารถมาตรวจคัดกรองได้ด้วยแมมโมแกรม และหากมีเนื้อเต้านมที่แน่นทึบควรตรวจคู่กับอัลตราซาวนด์ ตรวจเป็นประจำทุกปี เริ่มที่อายุ 40 ปี
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ ควรตรวจด้วยแมมโมแกรมทุกปี ตั้งแต่อายุ 30 ปี รวมถึงผู้ที่มีเนื้อเต้านมที่แน่นทึบควรตรวจคู่กับอัลตราซาวนด์เริ่มตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เต้านมทุกปี ตั้งแต่อายุ 25 ปี หากไม่สามารถทำได้ให้พิจารณาตรวจแมมโมแกรมพร้อมฉีดสีเข้าเส้นเลือดหรืออัลตราซาวนด์เต้านมทดแทน
การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมแตกต่างกันตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญ
รู้จักเทคโนโลยีจีโนม ถอดพันธุกรรมช่วยผู้ป่วยมะเร็ง
นพ.มานพ พิทักษ์ภากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าขณะนี้ในด้านของเทคโนโลยีจีโนมมีความก้าวหน้าสูง และสามารถบูรณาการเข้ากับการวินิจฉัย การวิจัย และบริการทางคลินิก ช่วยค้นหาผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้น ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต่อให้เทคโนโลยีดีและแม่นยำอย่างไร ก็ต้องฝากความหวังไว้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย
"โรคมะเร็งมีโอกาสเกิดซ้ำและสามารถพบได้ภายหลังโรคสงบลงแล้ว โดยมีหลายสาเหตุ ทั้งโรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำจุดเดิม หรือเกิดมะเร็งขึ้นใหม่ในตำแหน่งอื่น โดยมีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ที่ริเริ่มขึ้นโดยศิริราช ทำให้สามารถเฝ้าระวังได้ถึงระดับยีนหรือสารพันธุกรรม โดยการตรวจจากเลือด และชิ้นเนื้อ"
ทั้งนี้ การตรวจจากเลือดในระดับยีนเป็นวิธีการที่แม่นยำกว่าการตรวจหาโปรตีนสารบ่งชี้มะเร็งต่างๆ เช่น CEA (Carcinoembryonic Antigen) ตามที่มีในรายการตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไป ซึ่งมีข้อจำกัดที่ความจำเพาะ และความไวต่ำ เหมาะสำหรับการติดตามหลังการรักษามากกว่าการตรวจในครั้งแรก ซึ่งกว่าจะทราบถึงการผิดปกติ ก็มักเป็นในระยะลุกลามแล้ว โดยอาจเริ่มมีการกระจายสู่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการทำให้อาการของโรคมะเร็งสงบลงเป็นไปได้ยากมากขึ้น
รวมทั้ง ยังมีวิธีการตรวจยีนมะเร็งที่ถ่ายทอดได้ภายในครอบครัวจากเลือด ซึ่งการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนจากชิ้นเนื้อมะเร็ง (Comprehensive Genomic Profile) ซึ่งสามารถตรวจพร้อมกันได้ถึง 300 ยีนในคราวเดียว เพื่อนำไปสู่การเลือกยา หรือวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้า รักษาได้ทันที
แม้ 'มะเร็ง' บางชนิด จะไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของการกลายพันธุ์ของยีนส์ในพันธุกรรม ซึ่งความแตกต่างระหว่างมะเร็งทั่วๆ ไปจะเกิดเอง และป่วย แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ถ่ายทอดในครอบครัว ต่างกันตรงการกลายพันธุ์ได้รับถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะฉะนั้น คนที่เป็นมะเร็งที่มีการถ่ายทอดในครอบครัว จะเป็นเร็ว และเจอในคนไข้อายุน้อย
“องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีจีโนมิกส์และชีววิทยาของโรคมะเร็งยังมีอีกหลายมิติที่รอการเข้าถึง ซึ่งปัจจุบันคาดว่าเรายังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งไม่ถึงร้อยละ 10 จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยวิธีการใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างตรงจุด โดยอาศัยข้อมูลจีโนมเพื่อให้ได้ผลของการพยากรณ์ที่แม่นยำ และการรักษาที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดโอกาสแห่งชีวิตใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งมีมากขึ้นตามไปด้วย”