21 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรค RSV เช็กอาการ ความรุนแรง อัตราการเสียชีวิต

21 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรค RSV เช็กอาการ ความรุนแรง อัตราการเสียชีวิต

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นโรค RSV เผย 21 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ RSV (Respiratory Syncytial Virus) อาการ ความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตต่อปี

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นโรค RSV เผย 21 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ RSV (Respiratory Syncytial Virus)

1.RSV เป็นไวรัสไม่ใช่โรคใหม่ รู้จักกันมานานร่วม 70 ปีแล้ว

2.เป็นไวรัสที่พบบ่อยมากทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ

3.พบได้ทุกอายุ แต่อาการจะมากในเด็กเล็ก (โดยเฉพาะน้อยกว่า 2 ขวบ) และผู้สูงอายุ

4.การติดเชื้อเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆพบระบาดในสถานเลี้ยงเด็ก เด็กที่อยู่รวมกันในโรงเรียน

5.ฤดูการที่พบในประเทศไทย เดือนมิถุนายน - ธันวาคม (ฝนถึงปลายฝนต้นหนาว)

6.RSV มี 2 สายพันธ์ คือ RSV-A และ RSV-B

7.เป็นแล้วเป็นได้อีก หรืออาจเป็นได้ทุกปีในเด็กบางคนกว่าจะโตถึง 5 ปี เป็นถึง 4 ครั้ง

8.เป็น RSV-A ปีนี้ ปีหน้าก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันได้ ภูมิที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้

9.โรคส่วนใหญ่ไม่รุนแรง หายได้เอง มีบางคนที่อาจทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ   (Bronchiolitis) โดยเฉพาะเด็กเล็ก ทำให้มีอาการหอบ

10.การติดเชื้อนี้พบได้บ่อย อาการจะรุนแรงในเด็กเล็กโดยเฉพาะใน 6 เดือนแรกของชีวิต

11.สมัยก่อนเราไม่คอยได้พูดถึง เพราะไม่สามารถวินิจฉัยได้ ปัจจุบันการตรวจหา RSV ทำได้ง่ายเหมือนการใช้ ATK ตรวจโควิด-19 ทำให้มีการวินิจฉัยและพูดถึงกันมาก และการตรวจทางชีวโมเลกุลรวมทั้งจีโนมไวรัสทำได้ง่ายขึ้น

12.ภูมิต้านทานจะส่งผ่านจากมารดา และจะหมดไปภายใน 6 เดือน

13.อายุที่พบบ่อยจึงตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แต่ถ้าเป็นในเด็กเล็กกว่านี้ก็จะรุนแรงได้ โดยเฉพาะทารกแรกเกิด

14.โรคนี้ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในประเทศไทยเสียชีวิตจาก RSV พบว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักเกิดในประเทศยากจนที่มีการสาธารณสุขยังไม่ดี จึงเชื่อว่าทั่วโลกเสียชีวิตจาก RSV ปีละประมาณ 2 หมื่นราย

15.การดูแลรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ทั่วไปจะหายกลับเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ ในรายหอบให้ยาขยายหลอดลม พ่นยา

16.ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสรักษาจำเพาะ

17.การป้องกันทำได้เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป

18.ยาที่ใช้ป้องกันจะมี monoclonal antibodies ที่ใช้ในกลุ่มเสี่ยงสูง ในช่วงการระบาดของโรค เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีการระบาดเกิดขึ้น

19.วัคซีนยังไม่มีในประเทศไทย ทางตะวันตกมีวัคซีนและให้ในผู้สูงอายุ และมีการศึกษาอยู่ในสตรีตั้งครรภ์ หวังป้องกันทารกแรกเกิดขึงไม่มีวัคซีนใช้ในเด็ก

20.ไม่มีหลักฐานการใช้ montelukast ใน RSV แล้วลดอาการหรือนอนในโรงพยาบาล และป้องกันการเกิดหอบหืด

21.การติดเชื้อ RSV ก็ไม่เกี่ยวกันกับว่าหลังเป็น RSV แล้ว RSV จะทำให้เกิดโรคหอบหืดเรื้อรัง (ประชากรผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดเชื่อว่าเคยติดเชื้อ RSV มาแล้วทั้งนั้น จำนวนกี่ครั้งเท่านั้น)

ทั้งนี้ โรค RSV เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง การระบาดของเชื้อนี้มักพบในฤดูฝนและฤดูหนาวในประเทศไทย