อย่าปล่อยไว้! 'รอยช้ำ รอยจ้ำแดง'ตามร่างกาย สัญญาณเตือนโรคร้าย

อย่าปล่อยไว้! 'รอยช้ำ รอยจ้ำแดง'ตามร่างกาย สัญญาณเตือนโรคร้าย

ตื่นเช้ามาอยู่ดีๆ ก็มีรอยช้ำตามร่างกาย ทั้งที่ไม่ได้ไปซุ่มซ่าม ชนอะไร? หรือไปสะดุดล้ม เกิดอุบัติเหตุ ละเมอที่ไหน? แต่ทำไมถึงมีรอยได้ 'รอยฟกซ้ำเขียว หรือรอยช้ำจ้ำแดง'อย่ามองข้ามและปล่อยไว้นาน เพราะนี่อาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายได้

Keypoint:

  • รอยช้ำตามร่างกาย เป็นอาการที่หากผิวหนังบริเวณส่วนต่างๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ถือเป็นรอยช้ำที่คุณจำเป็นต้องสังเกตอาการข้างเคียงให้ดี เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณบอกโรคร้าย
  • รอยช้ำที่เกิดขึ้นตามร่างกาย ปกติแล้วมักจางหายไปเองภายใน 3-7 วัน แต่หากเป็นอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์ และมีอาการผิดปกติร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์
  • ควรรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และอย่าลืม!! ดื่มน้ำสะอาดให้ได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ ป้องกันรอยช้ำได้

รอยช้ำเขียวและฟกช้ำ’ เป็นอาการบาดเจ็บที่เนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดแดงที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง จนเลือดมาคั่งอยู่ใต้ชั้นผิวหนังชั้นนอก ทำให้เห็นเป็นรอยคล้ำดำเขียว

โดยรอยช้ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แค่เผลอเอาตัวไปกระแทกหรือเดินชนอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หรือบางคน เกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยแตก (Capillary) แล้วเลือดไหลออกมา แทรกไประหว่างเนื้อเยื่อผิวหนัง พอผ่านไปซัก 1 - 2 ชั่วโมง จะค่อยๆสลายเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวคล้ำ หรือน้ำตาล จนถูกกำจัดหายไปหมดใน 1 - 2 สัปดาห์

ทว่าสำหรับบางคนที่เกิดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุนั่นหมายความว่า คุณมีแนวโน้มเกิดรอยช้ำง่ายกว่าคนอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วัยทำงานระวัง! 'โรคภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด' ภัยเงียบเสี่ยงอันตราย

เคล็ด(ไม่)ลับ ‘ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง’ เทคโนโลยีตัวช่วยของการรักษา

เป็นโรคมะเร็งทาน 'เนื้อสัตว์'ไม่ได้จริงหรือ?

 

รอยช้ำเกิดจากอะไร? ได้บ้าง

นพ.อิศรา อนงค์จรรยา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า รอยช้ำเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุและโรค สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • อุบัติเหตุหรือกระแทกสิ่งของ

หากรอยช้ำเป็นรอยเขียวและเป็นรอยช้ำเพียง 1-2 จุด เฉพาะที่บนร่างกาย กดลงไปแล้วมักจะเจ็บเบา ๆ อาจเป็นรอยฟกช้ำธรรมดาที่เราเดินไปชนสิ่งของหรือเดินไปกระแทกกับของแข็งโดยไม่รู้ตัว

  • อายุที่มากขึ้น

ผิวหนังจะบางลง ไขมันและคอลลาเจนที่ช่วยปกป้องเส้นเลือดก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้เส้นเลือดเปราะบางและแตกง่าย จึงเกิดเป็นรอยคล้ำเมื่อเลือดออกที่ผิวหนัง

  • ขาดวิตามิน

โดยเฉพาะวิตามินซีและเค วิตามินซีอาจจะขาดจากทานผลไม้ไม่พอ และวิตามินเคอาจเกิดจากได้รับยาฆ่าเชื้อติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เลือดออกได้ง่าย จุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดเกิดได้ทั่วร่างกาย หากปล่อยไว้นานอาจรุนแรงขึ้นจนมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญได้

  • ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้เส้นเลือดฝอยเปราะบางและแตกง่าย จนเกิดรอยช้ำตามร่างกายได้บ่อยครั้ง

  • เกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ 

รอยช้ำมักจะเห็นได้ตามผิวหนังตื้น ๆ อาจเจอได้ชัดตามข้อพับ เกล็ดเลือดต่ำเกิดได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่ยาที่รับประทานไปจนถึงมะเร็ง หรือไขกระดูกฝ่อ ซึ่งต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม

  • ขาดโปรตีนแฟคเตอร์8

หากเป็นตั้งแต่กำเนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมเรียกว่าโรคฮีโมฟิเลีย แต่อาจถูกกระตุ้นจากโรคอื่น ๆ ได้ด้วย ทำให้การแข็งตัวของเลือดลดลงจนเกิดภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก และเกิดรอยฟกช้ำจ้ำใหญ่ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะมีเลือดออกค่อนข้างรุนแรง ตามการขาดโปรตีนแฟคเตอร์

 

เช็กโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น

  • โรคไขกระดูกบกพร่อง

เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำเพราะร่างกายสร้างได้ไม่ปกติ ทำให้มีรอยจ้ำหรือรอยช้ำเลือดตามร่างกาย เลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกในช่องปาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอาจกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย

เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในไขกระดูกซึ่งเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือด โดยเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเติบโตมากผิดปกติและไม่สามารถกลายเป็นเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่น ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อง่าย อ่อนเพลีย เลือดออกง่ายผิดปกติ และเกิดจ้ำเลือดตามร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกวิธีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่าย

  • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มักแป็นบริเวณขาและเกิดรอยจ้ำเขียว รู้สึกปวดร่วมกับมีอาการบวม แต่ถ้าลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่ปอดอาจทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก ไอ ไอปนเลือด เวียนศีรษะ หายใจถี่และหมดสติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตรอยช้ำที่ไม่เป็นอันตรายส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นและค่อย ๆ จางหายไปเองใน 3 – 7 วัน และมักจะเป็นเฉพาะที่

แต่หากเป็นนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือรอยช้ำมีสีเข้มขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น ควรสังเกตร่างกายตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำหรืออาการอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที

  • เลือดออกใต้ผิวหนัง

ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากการที่เลือดออกบริเวณใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นเพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบห้ามเลือดในร่างกาย โดยรอยช้ำที่เกิดจากภาวะนี้จะมีลักษณะเป็นรอยจ้ำ กดแล้วไม่หาย รอยช้ำมีรูปร่างก้อนแข็งเป็นไต คลำได้ และอาจมีอาการไขข้อบวม ปวดศีรษะร่วมด้วย ซึ่งหากพบว่าอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบพบแพทย์เป็นการด่วน

  • ปัจจัยทางกรรมพันธุ์

หากสมาชิกในครอบครัวคุณมีแนวโน้มเกิดรอยช้ำง่าย คุณก็มีโอกาสเกิดรอยช้ำได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นผู้หญิง เพราะหลอดเลือดเปราะแตกง่ายกว่า โดยเฉพาะในบริเวณต้นแขน ต้นขา หรือก้น

พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผล 'รอยช้ำ'

  • จากแสงแดด

หากคุณได้รับมากเกินไป โดยเฉพาะรังสียูวีบี (UVB) ที่ทำให้ผิวไหม้แดด และสูญเสียความยืดหยุ่น ทั้งยังทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ชั้นผิวหนังของคุณอ่อนแอลง ซึ่งรอยช้ำที่เกิดจากแสงแดดจะแตกต่างจากการกระแทก เพราะเมื่อกดลงไปจะไม่นิ่มบุ๋ม และใช้เวลาในการรักษานานกว่า

  • ออกกำลังกายหนักเกินไป

บางครั้งการออกกำลังกายแบบเข้มข้นหรือหนักหน่วง ทำให้กล้ามเนื้อของคุณทำงานหนักและตึงเกินไป จนเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงฉีกขาดและเกิดเป็นรอยช้ำได้ในที่สุด

  • ดื่มหนัก

การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปแล้วเกิดรอยช้ำง่าย เป็นสัญญาณที่ตับคุณกำลังมีปัญหา เช่นโรคตับแข็ง เพราะตับมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด เมื่อตับทำงานผิดปกติ ไม่สร้างโปรตีนตามที่ควร คุณจึงมีเลือดออกหรือมีรอยช้ำง่ายกว่าปกติ ถือเป็นอาการเจ็บป่วยร้ายแรงควรรีบปรึกษาแพทย์

รอยช้ำแบบไหน อันตราย ต้องระวัง!

รอยช้ำ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับแรงกระแทกตั้งแต่เบา ปานกลาง จนถึงขั้นรุนแรงทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังแตก และมีการรั่วของเลือดออกมาบริเวณรอบๆ ทำให้ผิวบริเวณที่ถูกกระแทกเปลี่ยนสีไป ซึ่งในช่วงแรกๆ จะเป็นสีม่วง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือเขียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด โดยการเปลี่ยนสีนั้นจะสัมพันธ์กับการหายของรอยช้ำ ซึ่งจะใช้เวลาในการหาย 7-10 วัน

หากมากกว่า 10 วัน หรือราว 2 สัปดาห์แล้วรอยฟกช้ำ ยังไม่มีท่าทีว่าจะหาย แล้วเริ่มเกิดอาการมีไข้ เจ็บบริเวณรอยช้ำเพิ่มมากขึ้น รอยช้ำขยายวงกว้างมากขึ้น หรือมีรอยช้ำเกิดขึ้นบนร่างกาย แม้ว่าจะไม่ได้มีการกระแทกบริเวณดังกล่าว รอยช้ำเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ซ่อนอยู่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และทำการรักษาอย่างตรงจุด

ทริกในการดูแลรอยช้ำไม่ทราบสาเหตุ

  • ประคบน้ำแข็งในช่วง 48 ชั่วโมงแรก

รอยช้ำจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับแรงกระแทกจนทำให้หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เลือดไหลไปใกล้ผิวหนัง ดังนั้น เมื่อพบว่ามีรอยช้ำให้รีบทำการประคบเย็นทันที ความเย็นจะช่วยรักษารอยช้ำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังแข็งตัว ซึ่งวิธีการ ประคบเย็นที่ถูกต้อง จะต้องเอาน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกแล้วห่อผ้า ก่อนนำมาประคบ ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบที่ผิวหนังโดยตรง และต้องการประคบอย่างน้อย 20 นาที ให้ประคบต่อเนื่องแบบนี้ 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีรอยช้ำเขียว

  •  ประคบร้อนหลังจากเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณที่ช้ำมากขึ้น ทำให้รอยช้ำหายเร็วขึ้น วิธีการคือ นำผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น แล้วนำมาประคบที่รอยช้ำครั้งละ 10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
  •  พักรอยช้ำไว้บนที่สูง พักรอยช้ำไว้ให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรก วิธีนี้สำคัญมาก หากคุณมีรอยช้ำ พยายามพัก อย่าใช้แรงร่างกายส่วนที่มีรอยช้ำให้มากนัก
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันร่างกายการกินอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุจะช่วยป้องกันการเกิดรอยช้ำและช่วยให้ระยะเวลาการฟื้นหายเร็วขึ้น ซึ่งอาหารกลุ่มนี้ได้แก่ ไข่ นม ผลไม้วิตามินซีสูง และผักสีเขียวเข้ม
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน เช่น ฟุตบอล
  • หากต้องกินยา เช่น ยาเจือจางเลือด ตามคำสั่งของแพทย์ ควรติดตามผลและปรับยาให้เหมาะสมอยู่เสมอ

นอกจากวิธีจากภายนอกแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเองจากภายในได้เร็วยิ่งขึ้น โดยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคในปริมาณมาก เช่น ผักคะน้า บล็อคโคลี ถั่วเหลือง ผักกาดหอม สตรอเบอร์รี่ ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น

เลือกรับประทานผลไม้อย่างสับปะรดที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของธาตุสังกะสี (Zinc) เช่น ผักโขม เมล็ดฟักทอง และพืชตระกูลถั่ว เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาซ่อมแซมให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกติให้เร็วขึ้น

หลายคนอาจจะมองว่า 'รอยช้ำ' ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลจนต้องปรึกษาแพทย์ แต่ในความเป็นจริงนั้น การมีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ถือเป็นสัญญาณเตือนของร่างกาย หากคุณมีรอยช้ำที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บและไม่จางหายภายใน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างตรงจุด

อ้างอิง:โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเวชธานี และโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4