สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(7) : พันธุกรรม/ไลฟ์สไตล์
ข้อมูลเกี่ยวกับอายุคาดเฉลี่ยของคนไทย ที่ผมค้นพบจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้คือ หากอายุ 60 ปี และเป็น
• ผู้ชาย จะมีอายุคาดเฉลี่ย (มีอายุต่อไปอีก) 22 ปีถึง 82 ปี แต่ช่วงที่สุขภาพยังดีจะประมาณ 17 ปี แปลว่าช่วงปลายของชีวิตที่เหลืออีก 5 ปีจะมีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี
• ผู้หญิง จะมีอายุคาดเฉลี่ย 25 ปี (ถึง 85 ปี) แต่ช่วงที่สุขภาพยังดีจะประมาณ 19 ปี แปลว่าช่วงปลายของชีวิตที่เหลืออีก 6 ปีจะมีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี
ผมไม่อยากให้ตัวเองต้องอยู่ใน “กรอบ” ดังกล่าว ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่าหากจะสูงวัยแบบนอกกรอบดังกล่าวจะต้องทำอย่างไร การจะไปทำประกันสุขภาพ ไม่ใช่การตอบโจทย์อย่างแน่นอน
เพราะข้อมูลของไทยและประเทศอื่นๆ นั้นเหมือนกันหมดคือ อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุคาดเฉลี่ยที่สุขภาพดี (Healthy Life Expectancy หรือ HALE) เพิ่มขึ้นน้อยกว่า
แปลว่า ช่วงที่สุขภาพไม่ดีตอนบั้นปลายของชีวิตจะยาวนานขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะระบบประกันสุขภาพปัจจุบันจะเน้นการรักษาโรค มากกว่าการป้องกันไม่ให้เป็นโรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้อง “ลงทุน” ดูแลตัวเอง ตั้งแต่ตอนที่ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรง เช่น ตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป
สำหรับตัวของผมเองนั้น ก็ต้องขอสารภาพว่าเริ่มหาความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อดูแลตัวเองอย่างจริงจังช้าไปประมาณ 25 ปี หากฉลาดกว่านี้ สุขภาพก็จะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก
แต่จากการอ่านงานวิจัยหลายร้อยเรื่องก็ยังดีใจ ที่พบว่าการเริ่มดูแลสุขภาพของตัวเองนั้นไม่มีคำว่า “สายเกินไป”
งานวิจัยที่น่าสนใจคือ งานวิจัยที่สหรัฐเกี่ยวกับคนที่อายุยืนใกล้และเกิน 100 ปี ที่เรียกว่า New England Centenarian Study ซึ่งเป็นการวิจัยประเภทนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (และยังจะทำต่อไปอีกเรื่อยๆ โดยจะขยายไปศึกษาผู้สูงอายุที่ Sardinia ประเทศอิตาลี)
และมีข้อสรุปเบื้องต้น เกี่ยวกับคนอายุยืน 100 ปี (Centenarians) ดังนี้
1.การมีอายุยืนมากกว่าปกติ (ใกล้ 100 ปีและเกิน 100 ปี) เป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะหลังจากอายุ 90 ปี แปลว่าญาติใกล้ชิดก็จะอายุยืนมากกว่าปกติไปด้วย
2.คนอายุยืน 100 ปีจะเริ่มป่วยช้ามาก และช่วงที่ป่วยในบั้นปลายของชีวิตจะเป็นช่วงสั้นๆ (disability compressed) ทั้งนี้ คนกลุ่มนี้จะมีพันธุกรรมที่ช่วยให้หลีกเลี่ยง หรือลดความเสี่ยงจากการเป็น 4 โรคหลัก คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคสมองเสื่อม
3.ได้ค้นพบในเบื้องต้นว่า การมีลักษณะของพันธุกรรม 281 ชนิดจะช่วยให้อายุยืนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่มีอายุยืนถึง 105 ปีนั้น 85% จะมีลักษณะพันธุกรรมทั้ง 281 ชนิดดังกล่าว
ข้อสรุปปัจจุบัน คือการที่ทำให้มีอายุยืนถึง 80-85 ปีนั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของตัวเอง (lifestyle) เป็นหลัก
แต่การจะมีอายุยืน 90 ปีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุถึง 110 ปี (super centenarians) นั้น จะต้องพึ่งพาพันธุกรรมที่ช่วยปกป้องจากการเป็นโรคต่างๆ ตลอดจนการมียีนที่ช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอ เซลล์ที่มีหางเทโลเมียยาว และการควบคุมระดับไขมัน ตลอดจน การมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง (strong immune system)
ข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้สรุปว่า การมีอายุยืนนั้นขึ้นอยู่กับโชคมากกว่าการดำเนินชีวิต
แต่ผมเชื่อว่ายิ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เราจะยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าเราจะสามารถปรับการดำเนินชีวิตให้ยีน “ที่ดี” ที่มีอยู่ ทำงานมากขึ้นและดีขึ้น ในขณะที่ยีน “ที่ไม่ดี” จะถูกจำกัดให้ทำอันตรายต่อการมีอายุยืนให้น้อยที่สุด
ตัวอย่างนั้นมีอยู่มากมาย เช่น
- การนอนหลับน้อย (4 ชั่วโมง) เพียง 1 คืน ทำให้การทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า natural killer cell นั้นลดลงไป 70% การที่ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลงนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น
- การนอนหลับน้อย (5 ชั่วโมงต่อคืน) จะทำให้น้ำหนักตัวขึ้น 4.5-7 กิโลกรัมต่อปี
- การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง 12 ประเภท
นอกจากนั้นก็ยังมียาที่ผมกล่าวถึงตอนก่อนหน้า ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำหนัก และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจพร้อมกันไป
แต่ผมคิดว่า ประเด็นที่สำคัญคือความรู้เกี่ยวกับยีนและการทำงานของยีน จะทำให้ lifestyle และเทคโนโลยี มีบทบาทมากขึ้นในการทำให้เราสุขภาพดีและอายุยืน
เช่น สหประชาชาติประเมินว่าในปี 2565 มีคนที่อายุ 100 หรือมากกว่าจำนวน 593,000 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 3.7 ล้านคนในปี 2593 ผมขอยกตัวอย่างอีก 2 เรื่อง เช่น
1.เรารู้แล้วว่าการที่ผู้หญิงมียีน BRCA1 และ BRCA2 ที่ทำงานผิดปกติ จะทำให้ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเป็นยีนที่ควบคุมไม่ให้เกิดเนื้องอก (tumor suppressor gene)
ในทำนองเดียวกับยีน TP53 มีหน้าที่ปกป้องจีโนม (guardian of the genome) จึงพบว่าในคนที่เป็นโรคมะเร็งนั้น กว่า 50% ยีน TP53 ทำงานผิดปกติ
2.คนที่มียีน APOE ประเภท e4 ทั้งคู่ (จากบิดาและมารดา) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่มี APOE ประเภท e3 ทั้งคู่ (ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ปกติ) ถึง 14.9 เท่า ตรงกันข้ามคนที่มียีน APOE ประเภท e2 จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าปกติถึง 40%
ความรู้ดังกล่าว (ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต) จะทำให้เราสามารถปรับการดำเนินชีวิตและมีมาตรการอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวได้
เช่นในกรณีของความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น สามารถลดลงได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำและนอนหลับให้เพียงพอตั้งแต่อายุกลางคนเป็นต้น
เรื่องนี้ ผมจะเขียนถึงในรายละเอียดต่อไปครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร