50 อัพไม่เจ็บ ไม่ป่วย เป็นไปได้ไหม : หมอประเวชแนะวิธีบริหารชีวิต
ไม่ได้ตั้งคำถามเล่นๆ หากใช้ชีวิตผ่านมาครึ่งทาง ก้าวต่อไป ถ้าจะไม่ป่วย ไม่เจ็บ เป็นไปได้ไหม เจ้าของเพจหมอประเวช บอกว่า เป็นไปได้ แต่ต้องรู้จักบริหารชีวิต
เมื่อมีโอกาสฟังคุณหมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ เจ้าของเพจหมอประเวช รวมทั้งยูทูบและพอดแคสต์ ปลดล็อกกับหมอประเวช ซึ่งมีแฟนคลับไม่ใช่น้อย
คุณหมอมาเล่าถึงมุมมองการใช้ชีวิตดีๆ ที่เลือกได้ และต้องบอกก่อนว่าไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง มีเป้าหมายในการปรับพฤติกรรม อยู่ที่ว่าจะเลือกตายแพง หรือตายดี
หนึ่งในเรื่องราวดีๆ ในงาน มนุษย์ต่างวัย talk 2023 เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อมูลน่าสนใจที่คุณหมอนำมาเล่าให้ฟังหลายเรื่อง
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ถ้าจะไม่ป่วย ไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน ทำชีวิตที่เหลือให้มีคุณภาพ มีพลังดีๆ เป็นไปได้ไหม
คุณหมอตั้งคำถามและตอบว่า เป็นไปได้..มีรายงานองค์การอนามัยโลกว่า คนทั่วไปจะมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยเป็นเวลา 20 % ของช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือประมาณ 16 ปี
คุณภาพชีวิตดีๆ เป็นเรื่องที่คุณหมอเน้นย้ำ เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม ยีน การบริหารชีวิตให้มีความสุข และที่สำคัญคือ ต้องตั้งเป้าหมาย ต้องรู้ว่า ชีวิตต้องการอะไร
พฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้คนเราเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คุณหมอสรุปว่า
- สูบบุหรี่,นิสัยการกิน,ระดับการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ,การดื่มแอลกอฮอล์ ,การสัมผัสเชื้อ,การรับสารพิษ อาทิ เชื้อราในบ้าน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ,อาวุธปืน,พฤติกรรมทางเพศ,อุบัติเหตุรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ และใช้สารเสพติด
คุณหมอประเวศเน้น 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ นั่นก็คือ การสูบบุหรี่ นิสัยการกิน และระดับการเคลื่อนไหวร่างกาย และโยงให้เห็นว่า พฤติกรรมของเราส่งผลต่อการเจ็บป่วยมากกว่ายีน หากหันมาปรับพฤติกรรมสนใจออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายก็จะแข็งแรงมียีนป้องกันมะเร็ง ฯลฯ ถ้ารู้วิธีในการดูแลสุขภาพเราจะเลือกสิ่งดีๆ ให้ชีวิตได้
“ทุกคนอยากตายดี ร่างกายแข็งแรง แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่า จะมีอายุยืนยาวเพื่ออะไร หากคุณมีพฤติกรรมที่ทำให้น้ำหนักตัวเกิน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย การเจ็บป่วยก็จะยาวนาน และก่อนตาย...ก็จะตายแพง”
อีกความท้าทาย ก็คือ ต้องบริหารชีวิต สร้างพลังดีๆ ซึ่งไม่ใช่ความสำเร็จในแบบที่สังคมทั่วไปนิยาม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญในเรื่องพฤติกรรมการกิน คุณหมอบอกว่า ในชีวิตประจำวันเราควรฝึกลดน้ำตาลในการกิน ไม่แนะนำให้กินของหวานก่อนอาหาร และหลังกินอาหาร 10 นาทีแรกให้เคลื่อนไหวร่างกาย
อีกมุมที่น่าสนใจคือ มีการยกตัวอย่างกระบวนการอักเสบ ซึ่งนำไปสู่การป่วยอาทิ โรคเหงือกและอนามัยในช่องปาก ,เบาหวานหรือภาวะน้ำตาลสูง,นอนไม่หลับ อดนอน, ออกกำลังกายมากเกินไป ฯลฯ
ในส่วนอาหารที่กระตุ้นการอักเสบ มีทั้งน้ำตาล ไขมันทรานส์ น้ำตาลเทียม รวมถึงระดับโอเมก้า 3 ต่ำ ถ้ากินปลาเยอะๆ ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม
คุณหมอบอกว่า ต้องถามตัวเองก่อนว่า เส้นทางชีวิตที่ต้องการคืออะไร แล้วระบบพฤติกรรมและวิถีชีวิต สอดคล้องกันหรือไม่ ที่สำคัญคือ การรู้จักตัวเองและมีจุดหมาย
“ต้องตั้งเป้าหมายชีวิต สามารถอยู่กับตัวเองในปัจจุบันได้ ถ้าจะจัดการพื้นที่อารมณ์ ต้องวางความคิด ความคาดหวัง เพื่อให้เกิดการรับรู้ บางคนภายนอกดูทุกอย่างลงตัว แต่จิตใจว้าวุ่น เคยสังเกตไหม"