7 เคล็ดลับ ดูแล 'ผิว' ไม่ลอก ไม่แห้ง ไม่ขุย ช่วงหน้าหนาว
ในช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นลง หลายคนอาจมีปัญหา ผิวแห้ง ลอก เป็นขุย รวมถึง ปากแตก ปากแห้ง ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ รพ.นวเวช แนะ 7 วิธีการดูแลสุขภาพผิว และกลุ่มที่ควรระวัง ดูแลเป็นพิเศษ
เมื่ออุณหภูมิเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทำให้อากาศเริ่มเย็น การเตรียมตัวเพื่อ ดูแลผิวในช่วงอากาศเย็น นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของ ผิวแห้ง ผิวแตก ผิวลอกเป็นขุย พร้อม วิธีการดูแลสุขภาพผิว ในช่วงอากาศเย็น เพื่อจะได้นำไปสังเกตสุขภาพผิวตนเองได้อย่างถูกต้อง
ดูแลสุขภาพผิว ตามประเภทผิว
การดูแลสุขภาพผิว ควรแบ่งตามประเภทของผิว ได้แก่
- ผิวแห้ง (Dry skin)
- ผิวมัน (Oily Skin)
- ผิวผสม (Combination Skin)
- ผิวแพ้ง่าย (Sensitive Skin)
ซึ่งแต่ละประเภทผิว พบปัญหาที่แตกต่างกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิด 10 วิธีป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ทำลายผิวหนัง
- ‘สะเก็ดเงิน’ รักษา-ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อโรคไม่หายขาด
- เรื่องผิว กับ 'คุณแม่มือใหม่' ตั้งครรภ์ต้องระวังอะไร ทำเลเซอร์ได้หรือไม่
สาเหตุและปัจจัยภายใน ที่ทำให้ ผิวแห้ง ผิวแตก ผิดลอกเป็นขุย
1. พันธุกรรม : เป็นจากโรคบางชนิดที่เกิด ปัญหาผิวแห้ง ผิวแตกง่าย ตามพันธุกรรม เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด และสะเก็ดเงิน (Psoriasis) มักพบหลังช่วงวัยรุ่น
2. ฮอร์โมน : การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฮอร์โมนและสภาพร่างกาย เช่น ระยะตั้งครรภ์, ภาวะหมดประจำเดือน
3. อายุ : อายุที่มากขึ้น ร่างกายจะผลิตไขมันในผิวลดลง ทำให้ชั้นปกป้องผิวอ่อนแอลงมาก สูญเสียน้ำออกจากผิวได้ง่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ
4. ประเภทอาหาร : พฤติกรรมการเลือกรับประทานแค่บางชนิด หรือกลุ่มที่แพ้อาหารบางชนิดแล้วไม่สามารถรับประทานได้นั้น ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารสำคัญในการช่วยบำรุงผิว โดยเฉพาะ โปรตีน วิตามิน และ ธาตุสังกะสี ซึ่งทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้อีกกว่าปกติ
5. ชั้นผิวอ่อนแอ : น้ำในผิวที่ลดลง จนผิวขาดความชุ่มชื้น ส่งผลให้ผิวลอกเป็นขุยได้ง่าย
สาเหตุและปัจจัยภายนอก ที่ทำให้ ผิวแห้ง ผิวแตก ผิดลอกเป็นขุย
1. การทำความสะอาดผิวบ่อยเกินไป : เพิ่มโอกาสการชำระล้างไขมันที่จำเป็นใต้ชั้นผิวออกไปมากเกินไป ทำให้ผิวอ่อนแอ สูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายขึ้น
2. การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว : เช่น ไม่เพียงพอต่อการขจัดไขมันชั้นผิว หรือความมัน และสิ่งอุดตันในผิวมัน ไม่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของชั้นผิว ไม่แก้ปัญหาการสูญเสียน้ำใต้ชั้นผิวของผิวแห้ง ทำให้ผิวไม่ได้รับการฟื้นฟูเต็มที่
3. สภาพอากาศ : การเปลี่ยนแปลงของอากาศ, การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล – ผิวแห้งมักเกิดมากในช่วงหน้าหนาว หรือแสงแดดในฤดูร้อน นอกจากจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยแล้ว ยังทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย และทำให้ผิวแห้งมากขึ้นอีกด้วย
4. การใช้ยารักษาโรค : การรักษาโรคบางชนิด เช่น การฉายรังสี การล้างไต ยาหรือสารเคมี ที่ใช้ในการรักษา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวสูญเสียน้ำได้มากกว่าปกติ รวมถึงการแตกแห้งเป็นริ้ว ๆ การแห้งหรือแสบแดงง่ายกว่าปกติด้วย
สาเหตุของ ปากแตก ปากแห้ง มีปัจจัยที่มากกว่า ผิวแห้ง ผิวแตก
1. การเลียริมฝีปาก บางคนเลียริมฝีปากตนเองจนเป็นนิสัย หรือเผลอเลียเวลาปากแห้ง ซึ่งยิ่งทำให้ปากแห้งมากกว่าเดิม เพราะน้ำลายจะดึงเอาความชุ่มชื้นออกไปจากริมฝีปากและทำให้ปากแห้งมากขึ้น
2. การดื่มน้ำน้อย จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ร่างกายไม่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย นอกจากอาการปากแห้งซึ่งสังเกตุได้ง่ายที่สุดแล้ว ยังมีอาการตาแห้ง ตาโหล ชีพจรเบาเร็ว อ่อนเพลีย หน้ามืด ปัสสาวะออกน้อย เป็นลมตามมาได้ด้วย
3. ภาวะขาดสารอาหาร มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับภาวะร่างกายขาดน้ำ คือ ปากแห้ง แต่การขาดสารอาหารเช่น
- วิตามิน ทำให้เกิดอาการตาแห้ง มองไม่ชัดตอนกลางคืน แผลที่มุมริมฝีปาก แผลร้อนใน มีกลิ่นปาก ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ ไปจนก่อให้เกิดอาการ กระดูกเปราะ ฟันผุ ได้เช่นกัน
- เกลือแร่ ทำให้ ผิวแห้งมากกว่าปกติเกิดขุยลอก เกิดแผล แผลหายช้า เป็นแผลเป็นได้ง่าย เล็บลอกเปราะบาง ผมร่วงง่าย ผมบาง ไปจนถึงก้นลอก ได้เช่นกัน
4. การใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด ซึ่งอาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อริมฝีปาก เช่น ลิปบาล์ม ลิปสติก ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือครีมกันแดด
5. โรคเรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้อากาศ หรือภาวะเรื้อรังทางผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคพุ่มพวงหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาจส่งผลให้เฉพาะปากแห้ง แตก หรือระคายเคืองได้
7 เคล็ดลับดูแลสุขภาพผิว ในช่วงหน้าหนาว
1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยนต่อผิว ทั้งผิวหน้าและผิวกาย มีค่า pH ที่สมดุลต่อผิว
2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิว และให้ความชุ่มชื้นต่อผิวให้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่กับเครื่องปรับอากาศนานๆใช้ให้เป็นประจำ เสมือนเป็นการเสริมเกราะป้องกันจากแสงอาทิตย์ ลม หรือสภาพอากาศที่เย็นและแห้งได้ดี
3. ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นจากภายในร่างกาย
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผลไม้และผัก ที่จะช่วยบำรุง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
5. เลือกเพิ่มอาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์ ให้สามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของร่างกาย
6. สำหรับผู้ที่มีปัญหา เรื่องการแพ้อาหารบางชนิด สามารถเสริมอาหารกลุ่มทดแทนชนิดอื่นๆ เพื่อให้สามารถทดแทนในส่วนที่ขาดหายไปอย่างเหมาะสมได้
7. ใช้เครื่องฟอกอากาศ ที่นอกจากจะช่วยฟอกอากาศระบบ HEPA filter แล้ว ยังมีระบบปรับสมดุลความชื้น เพื่อปรับสภาพอากาศที่แห้งและเย็นให้มีความชื้นเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อห้าม การดูแลสุขภาพผิว
1. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเพราะอาจทำให้ผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศแห้งมากอยู่แล้ว
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสโดยไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ ทั้งอุปกรณ์ และกลุ่มทาผิว
3. ไม่ควรเลีย เม้ม หรือกัดริมฝีปาก เพราะยิ่งทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นและริมฝีปากแห้งมากขึ้น
ยิ่งไม่ควรดึงหรือแกะ หากปากแห้ง ผิวแตกและลอกเป็นขุยอยู่แล้ว เพราะจะยิ่งทำให้ปากลอกและผิวแห้งแตกมากยิ่งขึ้น
4. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีสารระคายเคืองหรือน้ำหอม (ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ควรทดลองกับบริเวณท้องผิวที่ข้อมือ แขน หรือผิวที่ไม่แพ้ง่ายดูก่อน)
ใครบ้างที่ต้องระวัง หรือดูแลเป็นพิเศษ
ไม่ว่าใครและเมื่อไหร่ ทุกคนย่อมมีปัญหาของผิวพรรณ ทั้งผิวหน้า ผิวกาย หรือผิวบริเวณต่าง ๆ มารบกวนได้เสมอ ๆ แต่…
- ในทารกแรกเกิด
- เด็กเล็กที่มีผิวแพ้ง่าย ไวต่อสิ่งกระตุ้น
- ผู้มีปัญหาสุขภาพผิวอยู่แล้ว
- ผู้มีความเสี่ยงต้องสัมผัสแสงแดด หรือ อากาศหนาวแห้งเป็นประจำ
- ผู้มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง
- รวมถึง คนสูงอายุ…อาจพบปัญหาได้บ่อย ได้รุนแรงกว่า ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และดูแลเป็นพิเศษ