ขยาย ‘คลินิกคุณภาพ’โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง -หืด ทุกพื้นที่ ลดแอดมิทเข้ารพ.
ด้วยปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้ซ้ำเติมผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด ส่งผลให้อัตราป่วย อัตราการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
Keypoint:
- ฝุ่นPM2.5 ตัวกระตุ้นอัตราป่วย อัตราเข้าโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง -โรคหืด และโรคทางเดินหายใจ
- สธ.เตรียมขยาย 'คลินิกคุณภาพ'โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด ครอบคลุมทุกพื้นที่ ลดอัตราการป่วย การแอดมิทเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต
- ประชาชน-ผู้ป่วยต้องเข้าถึงการบริการสุขภาพใกล้บ้าน ตรวจสมรรถภาพปอดทุกปี ลดโอกาสอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 20,000 รายโดยจากปี2563 ถึงปี 2565 พบผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย
ขณะที่พบผู้ป่วยโรคหืดร้อยละ 7 ของประชากร หรือประมาณ 4 ล้านคน เข้าถึงการรักษาแค่ 30% ส่วนอีก 70% ไม่สามารถเข้าถึงได้ อาจเป็นเพราะโรคหืดตอนสงบก็ไม่มีอาการ จึงไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย
วันนี้ (8 ม.ค.2567)กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสาขาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic :EACC) และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด(GSK)
จัดการประชุมเสวนา ‘การบริหารนโยบายสุขภาพโดยเน้นคุณค่า สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด’ ชูโมเดลการดำเนินงานคลินิกคุณภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจสมรรถภาพปอด ลดโอกาสอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ลดการแอดมิท และลดการเสียชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แพทย์ห่วงผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังพุ่ง แนะกลุ่มเสี่ยงตรวจปอดทุกปี
ลดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง-หืด
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานพร้อมบรรยายพิเศษ ‘ความท้าทายนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อตอบสนองประชาชนในด้านระบบทางเดินหายใจ ปี 2567’ ว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขและเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ การเสียชีวิตของคนไทย
สธ.ได้ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขในการดำเนินชีวิต ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ โดยจะผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan)ของสธ.ในสาขาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ เพื่อให้มีการขยายผลการปฎิบัติให้ครอบคลุม ทำง่าย ได้ประสิทธิภาพ ทั่วถึงทั้งประเทศ
“โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนมากกว่า 6 แสนคน ยิ่งขณะนี้สถานการณ์คุณภาพอากาศมีมลพิษเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้"นพ.สุรโชค กล่าว
โดยข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เริ่มพบฝุ่นPM2.5เกินมาตรฐานเฝ้าระวังมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนต.ค.2566 พบ1,730,976 คน เป็นผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งโรคกลุ่มที่พบสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
ดังนั้น สธ. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการด้านการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด เพราะกลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
‘คลินิกคุณภาพ’บริการสุขภาพเน้นคุณค่า
ทั้งนี้ สธ.ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนา ‘คลินิกคุณภาพ’ที่ให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี เกิดคุณค่าสูงสุดในการรักษาพยาบาล โดยขยายบริการไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุกได้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้รับมอบอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) จากเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic หรือ EACC) ซึ่งได้ส่งมอบไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ สำหรับใช้ในการคัดกรองประเมินอาการเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ช่วยลดโอกาสเกิดอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินหรือต้องนอนโรงพยาบาลด้วย
ขยายโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุข
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มุ่งเน้นการขยายเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวก และขยายสิทธิประโยชน์ในการรักษาแล้ว ยังมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการต่อเนื่อง ผ่านการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐาน สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดได้ ซึ่งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและลดความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจต่อไป
นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บรรยายหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนคุณค่าของการพัฒนานโยบายสาธารณสุข สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้านระบบทางเดินหายใจเพื่อความสำเร็จ ที่ยั่งยืน ว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งในเขตสุขภาพต่างๆ ได้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น
ปีที่ผ่านมาได้มีการติดตามลงไปในพื้นที่ทั้ง4 ภูมิภาค โดยได้เก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าหากมีการดำเนินการคลินิกคุณภาพ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ลดการแอดมิท อัตราป่วย อัตราการเสียชีวิตได้
“การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ทีมแพทย์ ทีมสหวิชาชีพจะต้องรักษาแบบบูรณาการ ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมาก เนื่องจากมีปัจจัยก่อเกิดโรคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หรือการสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า มลพิษทางอากาศ ล้วนทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดมากขึ้น” นพ.สุรชัย กล่าว
สำหรับแนวทางในการดำเนินการคลินิกคุณภาพ จะมี 4 ประเด็นหลัก คือ
1.พัฒนาแนวทางการจัดตั้งคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคุณภาพ โดยพยายามให้ลงไปในพื้นที่ทุกเขตสุขภาพ ซึ่งมีการการสร้างเครือข่ายในการดูแลทั้งระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
2.ส่งเสริมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้ปฎิบัติงาน ให้เกิดการบูรณาการดูแลรักษาร่วมกัน
3.ส่งเสริมการดำเนินงานระดับพื้นที่ สร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติงานในระดับพื้นที่
4.กำกับ ติดตามการดำเนินงานการพัฒนาระบบริการ ด้านโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
เปิดคลินิกคุณภาพครอบคลุมทุกพื้นที่
นพ.สุรชัย กล่าวต่อว่าแนวทางการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการดำเนินการคลินิกคุณภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดอัตราป่วย อัตรารอคอย อัตราการแอดมิท และอัตราตาย เป็นบริการที่เข้าถึงง่าย ซึ่งอนาคตจะครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนให้มากขึ้น โดยเป้าหมายหลักของSevice Plan มีดังนี้
- COPD : ลดอาการกำเริบ และลดแอดมิท
- Asthma: ลดอาการกำเริบและลดแอดมิท
รวมถึงช่วยเพิ่มคลินิกคุณภาพมากขึ้น ซึ่งมีพันธกิจร่วมกันในการจัดให้มีการเพิ่มคลินิกคุณภาพครอบคลุมรพ.ทุกระดับตามศักยภาพของแต่ละแห่ง ให้ทุกโรงพยาบาลจัดระบบการบริการ COPD&Asthma ตามแนวทางของ Service Delivery มีการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงาน
โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศเขตสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และมีการนำข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้ในการประเมินผล ติดตาม และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“มีความจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้โรงพยาบาล หน่วยบริการให้เกิดการพัฒนา การประเมินคลินิกคุณภาพอย่างต่อเนื่องครบทุกหน่วยงาน สนับสนุนการทำตามพันธกิจ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคลินิกสุขภาพ และการจ่ายเงินตามคุณภาพผลงานการให้บริการผู้ป่วยนอกของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด ซึ่งภาพรวมของสธ.จะให้ความสำคัญกับเรื่องของ COPD&Asthma อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”นพ.สุรชัย กล่าว
ทำความเข้าใจรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง-โรคหืด
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (EACC) บรรยายหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนความสำเร็จ การจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดสู่การปฎิบัติ (BUILDING THE SUCESS: PRACTICAL QUALITY COPD&ASTHMA SERVICES) ว่าการทำคลินิกสุขภาพ ถือเป็นการลดแอดมิท อัตราการเข้าโรงพยาบาล และทำให้คนไข้ไม่ต้องมาแออัดการรักษาในโรงพยาบาล
แต่ปัญหาการดูแลผู้ป่วย COPD&Asthma คือ แต่ละโรงพยาบาล หน่วยบริการไม่ได้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคปอด มีเพียงการเขียนแนวทางในการรักษาเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืดนั้น เริ่มแรกควรจะทำความเข้าใจกับแพทย์ เพราะส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าหากเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด จะมองว่ามีอาการหลอดลมตีบ และจะให้ยาขยายหลอดลม ทั้งที่ โรคหืด เป็นโรคที่หลอดลมอักเสบไม่ใช่หลอดลมตีบ ต้องให้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งต้องเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจของแพทย์ในเรื่องนี้
“จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนไกด์ไลน์ในการรักษา ดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด ให้แพทย์ทั่วไปสามารถเข้าใจและรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง เพราะการตรวจคัดกรองผู้ป่วย และการรักษาจะมีความเฉพาะทาง เช่น การวัดค่าปอด ต้องทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วไปเข้าใจและมีความรู้ในการวัดค่าของปอด รวมถึงการเป็นโรคหืดจะให้ยาพ่นต้องมีการรักษาอย่างไร เพราะการพ่นในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเรื่องยากมาก และแพทย์ในรพ.ทั่วไป ต้องตรวจคนไข้วันละ 100 กว่าคน การจะดูคนไข้ให้ได้คุณภาพอาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากการรักษาดูแลคนไข้ ต้องมีการประเมินเรื่องโรค อธิบายในการดูแลโรค และการสั่งยา” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
จากการติดตาม พบว่าหลายๆ โรงพยาบาลได้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืดได้เป็นอย่างมีคุณภาพทั้งที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านปอด อย่าง โรงพยาบาลธัญบุรี สามารถรักษาผู้ป่วย ทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลลดน้อยลง และมีคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี
คน-เครื่องมือไม่พอ ขาดความรู้รักษาโรค
รศ.นพ.วัชรา กล่าวต่อไปว่าแต่ละโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จะมีปัญหาในการรักษาแตกต่างกัน บางโรงพยาบาลคนไม่พอ เครื่องมือไม่พอ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ขาดความรู้ในการรักษา และไม่มีแพทย์เฉพาะทางโรคปอด ดังนั้น ต้องทำให้แพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางโรคปอดสามารถดูแลคนไข้ หรือทำคลินิกคุณภาพเกิดขึ้นให้ได้
“การสร้างคลินิกคุณภาพให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ได้นั้น ต้องเริ่มจากไกด์ไลน์ในการดูแลรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืดที่ง่าย มีทีมแพทย์สหวิชาชีพร่วมกันทำ มีข้อมูลออนไลน์ และมีการให้ความรู้ในคนไข้ Asthma มีการประเมินก่อนและหลักการรักษา รวมถึงมีการประชุมประจำปี เพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การรักษา COPD&Asthma มีการเพิ่มบทบาทของโรงพยาบาลในการดำเนินการ ที่ต้องมีแพทย์ในการรักษา มีเภสัชแนะนำการให้ยา สอนการพ่นยา และมีระบบการติดตามการรักษา”รศ.นพ.วัชรา กล่าว
จากการดำเนินงานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเครือข่ายประมาณ 1,000 กว่าคลินิก และมีคนไข้ลงทะเบียนในฐานข้อมูล 4 แสนกว่าราย ซึ่งถ้ามีความร่วมมือระหว่างสธ. สปสช. ในการทำคลินิกคุณภาพจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้มากขึ้น ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน
ชง5’Pบริการดูแลสุขภาพแบบคุณค่า
รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเริ่มแนวคิดการจัดบริการดูแลสุขภาพแบบเน้นคุณค่าสำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดของไทย ว่า การจัดบริการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มการปฎิรูปสาธารณสุขเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับประสิทธิผล และประสิทธิภาพของระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งในมุมของการดำเนินการเป็นการมองหาโอกาสเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของประชาชน การปรับปรุงยกระดับบริการสุขภาพพร้อมกับการบริหารค่าใช้จ่าย โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5,000-5,700 ล้านบาท
“การบริการดูแลสุขภาพแบบคุณค่าสำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด จะเป็นการใช้หลักของ Value-based healthcare ที่มีแนวคิดมาจากการยกระดับผลลัพธ์ที่จะส่งมอบสุขภาพให้แก่ประชาชน และการลดต้นทุนการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนจากจุดตั้งต้น เป็นการให้คนไข้เป็นศูนย์กลางในการจัดการ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น Value-based จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการหลักประกันสุขภาพให้มีความยั่งยืน”รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว
รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่าปีนี้ อยากนำเสนอเรื่องของ 5’P คือ 1. Purposes (การกำหนดจุดมุ่งหมายและผลลัพธ์) แบ่งออกเป็น 3 Tier ได้แก่ Tier 1 คุมอาการของโรคได้ เช่น ลดอาการกำเริบโรคหืด ส่วน Tier 2 ลดระยะเวลาฟื้นตัวเพื่อกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวัน ป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการศึกษา และ Tier 3 ลดการกลับเป็นซ้ำป้องกันภาวะแทรกซ้อนระยะยาว
2.Process (กระบวนการ) ออกแบบให้เห็นกระบวนการทั้งหมดอย่างครบวงจร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนในการดูแลผู้ป่วยเข้าด้วยกัน และจะมีการติดตามอาการผู้ป่วย เพื่อลดสูญเสียคุณค่า
3.Program (การสร้างแบบแผนในการดูแล) โดยออกแบบนวัตกรรมระบบการดูแลคนไข้รายบุคคลที่เป็นไปตามการบริการทางการแพทย์ที่คนไข้เข้ารับการรักษาอย่างครอบคลุมทุกโรค ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถบอกได้ว่าคนไข้ 1 คน จะได้รับการดูแลครบทุกโรคหรือไม่ เนื่องจากคนไข้ได้รับการบริการทางการแพทย์เป็นไปตามโรคที่ตรวจคัดกรองพบเจอ และแพทย์ที่บันทึกข้อมูลเป็นคนละคนกัน
4.Payment กลไกการจ่ายเงินเพื่อการดูแลสขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า ต้องตอบให้ได้ว่าจ่ายเพื่ออะไร ส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี และการจ่ายต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่ควรใช้ ซึ่งแบบจำลองของกลไกการจ่ายแบบมุ่งเน้นคุณค่า สำหรับการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งกลไกการจ่ายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะเป็นการเหมาจ่ายรายหัวสำหรับผู้ป่วยนอก ปรับส่วนที่ใช้สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงออกไป เหมาจ่ายรายหัวแบบรายกลุ่มโรคสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังระดับปฐมภูมิเพิ่มขึ้น และ5.Performance (ผลงาน)
เร่งสร้างระบบข้อมูล อัพคุณภาพการดูแล
นางวรรณา เอียดประพาล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง ‘งบประมาณในการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่าสำหรับการจัดบริการคุณภาพโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด ว่า จากการดำเนินการเรื่องของ COPD&Asthma ปีนี้ยังไม่มีการจัดงบประมาณอย่างชัดเจน แต่ในปี 2568 มีการพิจารณาจะจัดงบประมาณโดยเฉพาะ
ในส่วนของสปสช.ได้มีการดำเนินการตาม 5’P ในบางประเด็น มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากไม่มีข้อมูล และวิธีการจ่ายงบประมาณยังเป็นไปตามรายปี อีกทั้ง เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลปี 2565-2566 คนไข้ที่เข้ารับการรักษาโรค COPD&Asthma จะไม่เคยได้รับการดูแลมาก่อน และมาพบขณะเข้าแอดมิทโรงพยาบาลแล้ว ดังนั้น ขณะนี้สปสช.เร่งแก้ปัญหาเรื่องของระบบข้อมูล และวิธีการเบิกจ่าย เพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการบริการมากขึ้น
รพ.ธัญบุรี ต้นแบบลดผู้ป่วยโรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ด้าน นางศศิภาส์ อริสริยวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานวิจัยและพัฒนา หัวหน้าทีมคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รพ.ธัญบุรี กล่าวว่า คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เดินหน้าภายใต้กรอบของ EACC ตั้งแต่ปี 2554 ดำเนินการจริงจังปี 2555 และต่อยอดมาเรื่อยๆ ซึ่งรพ.ธัญบุรี เป็น รพ.ชุมชน ช่วงแรกมีแค่ 60 เตียง ยังไม่มีแพทย์เฉพาะทางดูแล มีเพียงแพทย์ทั่วไป จึงเน้นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ จนตอนหลังมีอายุรแพทย์ และพยายามสร้างทีมให้ใหญ่ขึ้น
“จุดเด่นของรพ.ธัญบุรี คือ มอบตำแหน่งให้คนไข้เป็นทีมรักษาร่วมกับเรา เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง คนไข้จะต้องดูแลตนเองให้ได้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะให้ยาและการรักษาตามแนวทางสากล ส่วนคนไข้ต้องปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง นั่นคือ รับยาไปต้องใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เช่น การฝึกการหายใจ การบริหารปอด หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น คือสิ่งที่เขาต้องทำเองหมด จึงเป็นหนึ่งในทีมรักษาเรา ทีมเราจึงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ” นางศศิภาส์กล่าว
อีกทั้ง มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้คนมีความรู้เข้าใจมากขึ้น อย่างอุปกรณ์บริหารปอดที่ใช้ง่ายและสนุก พัฒนาจากของเล่นเด็ก ‘ปี่ลิ้นมังกร’ กระตุ้นเรื่องออกกำลังกายบริหารปอด หรือนวัตกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องปอด เรื่องบุหรี่ทำร้ายตนเองอย่างไร สูบบุหรี่เกิดอะไรบ้าง พอเกิดความรู้ความเข้าใจ จะสร้างความรอบรู้สุขภาพให้เขา เมื่อตระหนักและมีความรู้จะดูแลตัวเองอย่างยั่งยืน
อสม.ช่วยติดตาม สอนการดูแลตัวเอง
นางศศิภาส์ กล่าวด้วยว่า อีกส่วนสำคัญ คือ อสม.ที่อยู่ในทีม เพราะคนที่เข้าถึงได้ดีที่สุดคือ อสม. จะรู้ว่าบริบทแต่ละชุมชนเป็นอย่างไร โดยจะช่วยติดตามร่วมกับเรา ซึ่งจะดูตั้งแต่เคสที่ยังไม่เข้าระบบ รวมถึงจะมีอบรมความรู้ปีละครั้งให้ อสม. ทั้งเรื่องประเมิน การใช้ยา การบริหารปอด และมีการดึงสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์แผนไทยที่ช่วยสุมยาดูแลผู้ป่วย มีนักโภชนากร และนักกายภาพบำบัดที่ร่วมดูแล โดยเราดูแลประเมินคนไข้รายคน เพราะแต่ละคนจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน
นางศศิภาส์ กล่าวอีกว่า ในการติดต่อกับคนไข้นั้น จะมีกลุ่ม line ที่คอยพูดคุย ปรึกษา หรือสอบถาม และติดตามอาการของคนไข้ตลอดเวลา รวมทั้งการแจ้งค่าฝุ่น PM2.5 ร่วมด้วย เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้น ทางทีมจะทำตัวเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา ดูปริมาณฝุ่น แล้วแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์ว่า วันนี้ค่าฝุ่นเท่านี้ ให้ดื่มน้ำเยอะๆ สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการ เช่น ไอ แน่น หายใจไม่สะดวก เริ่มอึดอัด ก็จะรู้ว่าสามารถดูแลตนเองได้ พ่นยาบรรเทาอาการ อัตราแอดมิทตอนนี้ จึงน้อยมาก โดยทั้งปี 2566 มีแอดมิทแค่ 3 คน ซึ่งเป็นผลพวงที่ไม่สบายจากโควิด