จ้องจอนาน ระวัง 'ตาเหล่' อันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
อาการตาเหล่ ในเด็ก สามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิด หรือเกิดหลังจาก 6 เดือนขึ้นไป หากพ่อแม่สังเกตลูกน้อยได้ไว จะสามารถรักษาทัน อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัย คือ การจ้องจอนานๆ ในยุคปัจจุบัน ซึ่งหากไม่ปรับพฤติกรรมจะทำให้เด็กตาเหล่ได้
Key Point :
- พ่อแม่ที่มีความเข้าใจผิดว่า อาการตาเหล่ ตาเข ของลูกน้อย เป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง หรือเข้าใจว่าเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ จึงปล่อยไว้ไม่รีบรักษา
- โรคนี้นอกจากจะส่งผลต่อบุคลิกภาพ การมองเห็น และความมั่นใจแล้ว ยังนำไปสู่โรคสายตาขี้เกียจได้อีกด้วย
- นอกจากนี้ การที่เด็กจ้องจอนานๆ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตาเหล่ ดังนั้น พ่อแม่ ควรสังเกตความผิดปกติเพื่อจะได้รักษา แก้ไข ได้ทันท่วงที
สายตาของเด็กอยู่ในช่วงการพัฒนา หากเกิด ตาเหล่ ตาเข จะทำให้เด็ก ใช้งานตาข้างนั้น น้อยกว่าตาอีกข้างจนเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ เพราะตาไม่ได้ใช้งาน และทำให้การพัฒนาด้อยกว่าตาอีกข้างหนึ่ง หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้ตาบอดได้ การรักษาแต่เนิ่นๆ จะส่งผลดีต่อเด็กมากที่สุด
ตาเหล่ ตาเข ในเด็ก เกิดจากอะไร
ผศ.พญ.วฎาการ วุฒิศิริ สาขาวิชากล้ามเนื้อตาและโรคตาในเด็ก ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายใน รายการลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel ว่า ตาเหล่ ตาเขในเด็กมีจากหลายสาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่เป็นตั้งแต่เกิด ก่อน 6 เดือนแรกของชีวิต
- ส่วนใหญ่พบโดยไม่ทราบสาเหตุ มักจะเป็นเด็กปกติดี คลอดครบกำหนด
กลุ่มที่เป็นภายหลัง 6 เดือนแรก – 1 ปี เกิดได้หลายสาเหตุ
- การกลอกตาปกติ มุมตาเหล่ เท่ากันทุกทิศทาง เช่น ตาเหล่เข้าใน ตาเหล่ออกนอก
- เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 , 4 และ 6 ไม่ทำงาน
- โรคหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ เนื้องอก
- ตาเหล่ที่พบในโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง MG
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาวะตากระตุก ลางร้าย ? หรือสัญญาณเตือนสุขภาพ
เช็ก 6 อาการ 'บ้านหมุน' เวียนศีรษะ แบบไหนไม่ควรมองข้าม
รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’
ประเภทตาเหล่
ตาเหล่เทียม
- ไม่มีภาวะตาเหล่
- มีลักษณะใบหน้าที่ดูเหมือนตาเหล่เข้าในหรือตาเหล่ออกนอก
ตาเหล่แฝง
- อาการตาเหล่จะแสดงออกเมื่อมีการปิดตาสลับ เนื่องจากขัดขวางความสามารถในการรวมภาพ
ตาเหล่แท้
- ตาเหล่ที่แสดงออกชัดเจน
- แสงสะท้อนไม่อยู่ตรงกลางตาดำ
- ปิดตาสลับมีการขยับของตาอย่างชัดเจน
การสังเกตลูกน้อย
วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ ถ่ายรูปเปิดแฟลช และสังเกตแสงไฟ ว่าอยู่ตรงกลางตาดำหรือไม่ ทั้งนี้ เวลาจะประเมินว่ามีตาเหล่หรือไม่ ให้ประเมินหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว เพราะจุดรับภาพจะเริ่มมองภาพได้ชัดราว 3 เดือน แต่กล้ามเนื้อตาจะมีความพยายามในการรวมภาพทำให้ตาค่อนข้างตรงได้ และพิจารณาเรื่องตาเหล่ หลัง 6 เดือนไปแล้ว ดังนั้น ก่อน 6 เดือน ต่อให้มีเหล่เข้า หรือเหล่ออก บางทีเรายังไม่พิจารณาเป็นโรคตาเหล่
ผศ.พญ.วฎาการ อธิบายต่อไปว่า สมัยก่อน ผู้ปกครองยังไม่มีความรู้ มักพาลูกมาตรวจหลังจากโตแล้ว เป็นโรคตาขี้เกียจไปแล้ว แต่ตาเหล่เข้าใน เราพบในเด็กก่อน 6 เดือนค่อนข้างเยอะ และเมื่อสมองไม่สามารถทำให้ตาตรงและกระตุ้นทั้ง 2 ตาพร้อมกันก่อน 6 เดือนแรก ทำให้ความสามารถในการดูภาพ 3 มิติเสียไป
"เพราะฉะนั้น หากเราสามารถผ่าตัดทำให้เด็กตาตรงได้ภายใน 2 ขวบปีแรก อย่างน้อยยังสามารถรวมภาพได้ แต่หากผ่าตอนโต 10 ปีขึ้นไปแล้ว จะได้แค่ความสวยงาม เพราะฉะนั้น เมื่อตาเหล่ เราพยายามจะทำให้ตรงก่อน 2 ขวบ"
ตาขี้เกียจ ส่งผลต่อสมอง
ทั้งนี้ การรักษาโรคตาขี้เกียจ ปัญหาอยู่ที่ตา แต่ความเสียหายอยู่ที่เซลล์สมองข้างนั้นจะตายลง การรักษาให้เซลล์สมองกลับมาได้ ต้องทำภายใน 10 ปีแรก เพราะไม่เช่นนั้นหากไม่สามารถกระตุ้นได้ภายใน 10 ปีแรก เซลล์ที่ฝ่อแล้วจะฝ่อเลย
การมองเห็นก็จะน้อยมากเทียบเท่ากับตาบอดได้ จะมองเห็นได้น้อยมากๆ หากเป็นตาขี้เกียจเยอะ ดังนั้น หากตาขี้เกียจรักษาได้ทันเวลา ตาบอดเหล่านี้จะป้องกันได้ การรักษา คือ ปิดตาแล้วให้เด็กใช้ตาข้างที่ขี้เกียจ
"ระยะเวลาของการปิดตา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเหล่ของตา แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเห็น หากสามารถอ่านได้ค่อนข้างดี แต่ยังไม่ 100% ชั่วโมงการปิดก็จะต่ำลงมา 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่ความรุนแรงของตาขี้เกียจว่าเป็นมากหรือเป็นน้อย ถึงแม้ว่าปิดแล้วเด็กจะเห็นไม่ชัด แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยมีใครวิ่งแล้วล้ม เพราะลานตาของเขาดี เพียงแค่ไม่เห็นละเอียด"
อย่างไรก็ตาม เมื่อปิดตาข้างหนึ่งแล้ว เด็กหลับไปเลยจะไม่นับ เพราะหากปิดตาแล้วต้องทำกิจกรรม ดังนั้น ต้องมีคนอยู่กับเขา ให้เขาทำกิจกรรม และคอยระมัดระวังดูว่าเขาจะล้มหรือไม่ แต่เด็กมีการปรับตัวได้ค่อนข้างดี
จ้องจอนาน ระวังตาเหล่
ผศ.พญ.วฎาการ อธิบายต่อไปว่า ตาเหล่เข้าในที่เกิดขึ้นทีหลัง เมื่อก่อนเจอน้อยมาก แต่ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ มีไอแพด แท็บเล็ต พบ ตาเหล่เข้าใน ที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีจริง ดังนั้น เด็กที่จ้องจอนานๆ และเป็นคนที่กล้ามเนื้อความสามารถที่ทำให้ตาตรงไม่ดีพอ จะทำให้มีตาเหล่ภายหลัง และจบลงด้วยการผ่าตัด สามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ปี ไปจนถึง 30-40 ปี หรือหลังจากผ่าตัดแล้ว กิจกรรมการใช้สายตายังหนักหน่วงเหมือนเดิม ตาสามารถเหล่ได้ใหม่และต้องผ่าตัดเพิ่ม
การรักษา ตาเหล่
ไม่ผ่าตัด
- ใส่แว่นตา เพื่อแก้ไขค่าสายตา
- รักษาภาวะตาขี้เกียจด้วยการปิดตา
- บริหารกล้ามเนื้อตา (กรณีตาเหล่ออก)
ผ่าตัด
- เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
"ตาเหล่หลักๆ ที่เจอในเด็ก คือ เหล่เข้าใน และเหล่ออกนอก โดย ตาเหล่เข้าใน จะเป็นเองไม่ทราบสาเหตุ วัดค่าสายตามาจะพบค่าสายตาปกติ ใส่แว่นแล้วไม่ช่วย ส่วนใหญ่จะต้องผ่าตัด และ ในแบบที่เจอในช่วง 2-3 ขวบ วัดแล้วมีสายตายาว 500-600 แต่เด็กมีความสามารถในการเพ่งมาก ส่งผลให้ตาเหล่เข้าใน หากใส่แว่นให้เขาหยุดเพ่ง ตาจะคลายออกมาและตรงได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัด หากเด็กยอมใส่ไปราว 6 เดือน ตาจะตรงขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องใส่แว่น"
กลุ่มตาเหล่ออก มักจะเจอในเด็กโต 6-7 ปี ซึ่งไม่ค่อยกังวลใจ เพราะ 3 มิติพัฒนามาเต็มที่ ตาเหล่ออกผ่าเมื่อไรก็ได้ไม่รีบ แต่เด็กในช่วง 6-7 ขวบ จะเริ่มมีเรื่องของสายตาสั้น ดังนั้น ตาเหล่ออก มักจะพบร่วมกับเด็กที่มีสายตาสั้น บางคนสั้นเล็กน้อย เมื่อใส่แว่น ตาเหล่ออกก็จะตรงโดยไม่ต้องผ่า
บริหารดวงตา รักษาได้หรือไม่
ผศ.พญ.วฎาการ กล่าวว่า หากเป็นตาเหล่ออก การบริหารดวงตาสามารถรักษาได้ แต่หากเหล่เข้าใน บริหารเองที่บ้านไม่ได้ เพราะความสามารถในการดึงตาออกมาตรงๆ น้อยกว่าการดึงตาเข้าใน
เช่น เด็กที่เหม่อๆ แล้วตาลอยออก เราฝึกกล้ามเนื้อตาได้ โดยให้เด็กมองปลายปากกา แล้วทำตาเหล่เข้าใน เมื่อกล้ามเนื้อตาแข็งแรงขึ้น จะไม่เห็นตาเหล่ออก แต่การฝึกเหล่านี้จะซื้อเวลาได้ชั่วคราว หากเหล่ออกมากๆ ต้องผ่าตัด
ที่ผ่านมา มีการผ่าตัดตั้งแต่เด็ก 3-4 ปี และอายุมากที่สุด คือ 80 ปี ตาเหล่ออก สามารถผ่าตอนไหนก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากผ่าแล้ว เด็กมีพฤติกรรมแบบเดิม ก็มีโอกาสกลับมาเหล่ได้อีก
ปรับพฤติกรรม เริ่มจากพ่อแม่
หากเริ่มตรวจแล้วพบว่า มาจากการเพ่งจอเยอะ จะแนะนำว่าอย่าจ้องจอนาน หากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้ใช้ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง แล้วพัก ในกรณีเด็กเล็ก การดูมือถือหากดูก่อน 2 ขวบ เด็กจะสมาธิสั้น พัฒนาการจะช้า เด็กจะไม่พูด เป็นออทิสติกเทียม และหากใช้นานๆ จะส่งผลให้สายตาสั้นได้เร็ว และตาเหล่เข้าในได้ง่าย
“สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่ต้องไม่เล่น เพราะหากเราบอกให้เด็กไม่ทำ แต่เรายังทำอยู่ เด็กก็จะทำเพราะเขาเลียนแบบเรา นอกจากนี้ เด็กไม่ได้ชอบอยู่กับไอแพด เด็กชอบอยู่กับคน ยกเว้นไม่มีคนอยู่กับเขา เขาถึงต้องมาเล่นไอแพด” ผศ.พญ.วฎาการ กล่างทิ้งท้าย