ไอมานานไม่หายสักที!! หรือ 'อาการไอ' ไม่ได้เป็นเพียงไข้หวัด
เคยหรือไม่? ไอบ่อยจนรำคาญ ไอทุกเช้าเวลาตื่น หรือพอจะเข้านอนแล้วไอ กินยาแล้วยังไม่หาย บางครั้งไอนานหลายสัปดาห์ หลายคนที่มีอาการแบบนี้อาจคิดว่าเป็นแค่การไอปกติทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว อาการไอที่เป็นอยู่นาน อาจเป็นอาการ 'ไอเรื้อรัง' ซึ่งเป็นสัญญาณของการเกิดโรคมากมาย
Keypoint:
- อาการไอ เป็นกลไกการป้องกันระบบหายใจไม่ให้ได้รับอันตราย ปกติหายใจเอาอากาศเข้าออกผ่านปอดวันละมาก ๆ (ประมาณ 8,000 – 12,000 ลิตรต่อวันขึ้นกับปริมาณการทำงานและการออกกำลัง)
- ขณะที่ในอากาศมีมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจปะปนอยู่มากมาย การไอเป็นหนึ่งในการกำจัดสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าไอเรื้อรัง ไอมากเกิน 8 สัปดาห์ นั่นอาจเป็นอาการไอเรื้อรัง และนำมาซึ่งโรคต่างๆ
- เมื่อมีอาการไอ อย่านิ่งนอนใจ และมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอาการไอไม่ใช่เป็นเพียงไข้หวัดเท่านั้น แต่ยังเป็นโรคร้าย อาทิ วัณโรค มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ได้
เมื่อเกิด ‘อาการไอ’ ถือเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจอย่างหนึ่ง และกลไกการป้องกันร่างกายโดยการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ
โดยอาการไอเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ หรือมีสารระคายเคืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ได้แก่ ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส โพรงหลังจมูก คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ยังพบตัวรับสัญญาณการไอบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจและกระเพาะอาหารด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'อาการไอ'แบบไหน ? ควรพบแพทย์
นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรมโรคปอด โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่าอาการไอ เป็นการตอบสนองของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค เสมหะ หรือฝุ่นควัน ร่างกายก็จะพยายามกำจัดทิ้งด้วยการไอออกมา ซึ่งส่วนมากการไอต่อเนื่องมักเป็นไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ก็จะหาย
หากบางกรณีที่ไม่ใช่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่กำจัดได้ด้วยการไอ เช่น อาจมีบางอยากไปกดทับที่บริเวณของเนื้อปอดหรือหลอดลมทำให้เกิดอาการไอ เช่น ก้อนเนื้อหรือมะเร็งปอด ทำให้ร่างกายนั้นพยายามจะขับออกมา แต่ไม่สามารถขับได้ จึงเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่ไม่หายไป
ไอเรื้อรัง คือ การไอที่มีระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ภาวะไอเรื้อรังมีสาเหตุที่หลากหลาย อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือภาวะที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ หอบหืด บางกรณีภาวะไอเรื้อรังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เช่น กรดไหลย้อน ภาวะหัวใจวาย
ดังนั้นการหาสาเหตุของไอเรื้อรังอาจไม่ได้คำตอบในการพบแพทย์ครั้งแรก การวางแผนการวินิจฉัยและติดตามการรักษาจึงต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ หากมีอาการไอดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์
- ไอติดต่อกันมากกว่า 8 สัปดาห์
- อาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
- อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก
- ไอมีเลือดปนเสมหะ
- ไอจากการที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ เมื่อมีอาการไอควรรีบมาพบแพทย์
ไอเรื้อรังอย่าปล่อยไว้..อาจเป็นโรค
- วัณโรคปอด
แม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
- มะเร็งปอด
เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย
- ถุงลมโป่งพอง
มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง
- โรคหืด
มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย
- โรคภูมิแพ้อากาศ
มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น
- กรดไหลย้อน
มีอาการไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอกหรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
- ไซนัสอักเสบ
มักจะมีอาการเป็นหวัดหรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วแย่ลงภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ
- ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น
พบตามหลังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือเมื่ออาการหวัดหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ โดยไอมากกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็นๆ ถูกลม เป็นต้น
ทำความรู้จัก 'ระบบการหายใจของร่างกาย'
ระบบหายใจของมนุษย์มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ นำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายเพื่อให้มีชีวิตและขับถ่ายของเสียคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง (น้ำตาล ฯลฯ) เพื่อใช้เป็นพลังงานออกไป ถ้าปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และมีภาวะกรดเกินจากการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
โดยทั่วไปแบ่งระบบทางเดินหายใจออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract) คือ ส่วนตั้งแต่กล่องเสียง (Larynx) ขึ้นไป ประกอบด้วย จมูก ลำคอ กล่องเสียง
- ทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower Respiratory Tract) คือ ส่วนที่อยู่ใต้กล่องเสียง (Larynx) ลงมา ประกอบด้วยหลอดลมตั้งแต่หลอดลมใหญ่ (Trachea) ลงไปจนถึงถุงลม
ระยะเวลาในการไอที่เสี่ยงต่อโรค
การไออาจแบ่งตามระยะเวลาที่เป็น ได้แก่
- ไอไม่ถึง 1 สัปดาห์เรียกว่า การไออย่างปัจจุบัน
- ไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์เรียกว่า ไอเรื้อรัง
- ไอแห้ง ๆ คือ ไม่มีเสมหะ ไอมีเสมหะออกมา และไอเป็นเลือด ซึ่งต้องดูว่าเป็นเลือดอย่างเดียวไม่มีเสมหะปน หรือมีเสมหะปนอยู่ด้วย
สาเหตุการไอ และอาการไอเรื้อรังแตกต่างอย่างไร?
สาเหตุการไอมีอยู่มากมาย เพราะโรคของระบบทางเดินหายใจและปอดแทบทุกโรคทำให้เกิดอาการไอได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็อาจเกิดจากโรคของระบบอื่น เช่น โรคจมูก โรคกระเพาะ โรคหัวใจ ยาหลายอย่างทำให้เกิดการไอได้
การไออย่างปัจจุบันที่พบบ่อยมักเป็นจากการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมอักเสบ และส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ในเด็กมักเป็นจากการอักเสบในลำคอ หรือต่อมทอลซิลอักเสบ ในคนสูงอายุโดยเฉพาะมีโรคทางสมองอาจเป็นหลอดลมอักเสบ เนื่องจากการสำลักอาหารหรือน้ำลาย
ส่วนการไอเรื้อรัง
ถ้าไม่นับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ซึ่งมักจะมีอาการไอเรื้อรัง เนื่องจากมีหลอดลมอักเสบเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการไอที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการไอเรื้อรังหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีการใช้เสียงมากในระยะเริ่มแรกของโรค ทำให้มีอาการหลอดลมอักเสบตามมา
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า หลังการติดเชื้อไวรัสอาจทำให้หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) แล้วจะมีการไอเกิดขึ้น ซึ่งอาจกินเวลายาวนานถึง 3 – 4 สัปดาห์ได้โดยเฉพาะถ้าพักผ่อนไม่พอหรือใช้เสียงมากอยู่
ลักษณะการไอ บอกอะไรเราลักษณะของเสียงไอ
สามารถแบ่งจำแนกตามรูปแบบต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น
- ไอมีเสมหะ
พบในภาวะติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง อันเป็นผลจากการที่ร่างกายมีการขับสารเมือก หรือสารคัดหลั่งออกมาในระบบหายใจ จนทำให้เกิดอาการไอร่วมกับมีเสมหะ
- ไอแห้ง
เกิดจากการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนกระตุ้นให้เกิดการไอ โดยไม่มีเสมหะปน สาเหตุที่พบได้ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ ยาลดความดันโลหิตกลุ่มของ ACEi inhibitor และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไข้ COVID-19
- ไอเสียงก้อง
พบในเด็ก เกิดจากการบวมของระบบทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณกล่องเสียง และหลอดลม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่าโรคครูฟ คนไข้อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงแห้ง หายใจมีเสียง ไข้ ร่วมกับอาการไอเสียงก้อง
- อาการไอที่พบเวลากลางคืน
เป็นผลจากการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจที่ถูกกระตุ้นในช่วงกลางคืน อาจสัมพันธ์กับท่าทาง เช่น เสมหะไหลลงคอขณะนอน ที่พบได้ในโรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ อีกทั้งอากาศเย็น หรือ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของหลอดลม ส่งผลให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้โรคหืด
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้มาพบแพทย์ กรณีที่อาการไอเป็นลักษณะไอเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น ไอเสมหะปนเลือด เสียงแหบ ไข้ น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก สำลัก ทั้งนี้เพื่อการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสม
แนวทางการรักษา 'อาการไอ' และ 'ไอเรื้อรัง'
- รักษาอาการไอ
อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการรักษา จำเป็นที่จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการไอ และให้การรักษาตามสาเหตุนั้น ๆการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง ก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาอาการไอได้มาก โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่นสารก่อการระคายเคือง ฝุ่น สารเคมี ควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศเย็นจะกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการหดตัว ควรทำให้ร่างกายอบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ กรณีที่สูบบุหรี่ ควรงดการสูบบุหรี่
- การรักษาไอเรื้อรัง
นอกจากจะรักษาตามสาเหตุของโรคแล้ว ยังต้องรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ซึ่งนอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยโรคแล้ว บางรายอาจต้องส่งตรวจยืนยันตามความเหมาะสม อาทิ ตรวจดูโพรงจมูก ลำคอ เอกซเรย์โพรงไซนัส เพื่อดูกลุ่มอาการไซนัส ส่งตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติของปอด ตรวจเสมหะ ตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อดูโอกาสของหอบหืด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก กรณีที่ตรวจพบความผิดปรกติจาก X-ray ปอด อาจต้องทำการส่องกล้องทางเดินหายใจ (Fiber Optic bronchoscopy) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
- ส่องกล้องหลอดลมตรวจหาความผิดปกติอย่างแม่นยำ
ปัจจุบันการส่องกล้องตรวจหลอดลมได้มีการพัฒนาทั้งวิธีการและเครื่องมือ เพื่อช่วยให้แพทย์ได้ข้อวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมากขึ้น การส่องกล้องตรวจหลอดลมนั้นเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อย
- ข้อบ่งชี้ของการส่องกล้องหลอดลม
หมอขอแบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม ในชีวิตจริงเพื่อให้เข้าใจง่าย
กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่เอกซเรย์ปอดพบความผิดปกติ เช่น เอกซเรย์ปอดพบความผิดปกติในรูปแบบ
- จุด (nodule)
- ก้อน (mass) ตอนเดียวหรือหลายก้อน
- ฝ้า (ground grass opacity )
- ปื้น ( consolidation)
"ขอย้ำว่ากรณีที่ไม่มีอาการ แพทย์จะต้องอาศัยการซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ประวัติสูบบุหรี่ ประวัติครอบครัว ประวัติอาชีพ ประวัติการสัมผัสผู้ป่วยโรคปอด และตรวจร่างกาย เพื่อคาดคะเนความน่าจะเป็นของโรค และวางแผนการวินิจฉัย และติดตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรับการส่องกล้องทุกราย แต่จะประเมินเป็นรายๆ ตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้"
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มีอาการหรือมีประวัติของโรคปอดและทางเดินหายใจอยู่เดิม แต่ไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจเบื้องต้นได้ หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น กลุ่มอาการดังต่อไปนี้
- ไอเรื้อรัง เอกซเรย์ปอดพบภาวะหลอดลมตีบแคบ
- ไอเรื้อรัง
- ไอเป็นเลือด
- ไอมีเสียงดัง( stridor or wheeze)
- ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ เป็นซ้ำๆ
- ปอดติดเชื้อ เป็นมากขึ้นแบบที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ
- ปอดอักเสบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือทานยากดภูมิเป็นประจำ
- ประเมินระยะของโรคมะเร็งปอด
- ประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่ปอด
- มีก้อนที่ปอดที่สงสัย มะเร็งปอด วัณโรคปอด หรือการอักเสบของปอด เป็นต้น
- สงสัยภาวะก้อนในหลอดลม ภาวะหลอดลมตีบแคบ หรือภาวะกระดูกอ่อนหลอดลมบกพร่อง
ขั้นตอนการส่องกล้องและดูแลผู้ป่วยขณะส่องกล้อง
ขณะทำการส่องกล้องตรวจหลอดลม ผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาบริเวณจมูกและลำคอซึ่งจะทำให้รู้สึกชาและกลืนลำบาก และระหว่างการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต ชีพจรและระดับออกซิเจนในเลือดตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย การส่องกล้องนั้นส่วนใหญ่จะทำในท่านอนราบ ใส่สายให้ออกซิเจนทางจมูก มีผ้าคลุมตัวและปิดตาเพื่อป้องกันการเปื้อน ในบางกรณีอาจจะมีการให้ยานอนหลับทางเส้นเลือดดำก่อนการส่องกล้อง
แพทย์จะใส่กล้องสำหรับการตรวจเข้าทางจมูกข้างหนึ่งหรือทางปาก ผ่านลำคอและกล่องเสียงเข้าไปยังหลอดลม ซึ่งในขณะส่องกล้องผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดบ้าง และจะมีการพ่นยาชาผ่านทางกล้องเข้าไปในหลอดลมเป็นระยะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการไอหรือสำลักได้เล็กน้อย
โดยผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติ จากนั้นจะได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ระหว่างตรวจผู้ป่วยจะได้รับการให้ออกซิเจนตลอดเวลาเพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
คนไข้บางรายอาจมีเลือดออกหลังทำการตัดชิ้นเนื้อ ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด ภาวะออกซิเจนในเลือดตํ่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของการส่องกล้องหลอดลมมักไม่รุนแรงและหายไปได้เอง เช่น เจ็บคอ ไอปนเลือด
ภายหลังการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสังเกตอาการหากไม่มีความผิดปกติผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และจะนัดมาฟังผลการตรวจตามขั้นตอนต่อไป
เตรียมตัวอย่างไร? ก่อนเข้ารับ 'การส่องกล้อง'
- งดน้ำและอาหารทุกชนิดหลังเที่ยงคืนก่อนวันส่องกล้อง หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ทําความสะอาดปากและฟันให้เรียบร้อย
- แจ้งประวัติการทานยากับแพทย์ เนื่องจากยาบางตัวต้องหยุดทานก่อนเข้ารับการส่องกล้อง
- วันส่องกล้องต้องพาญาติมาด้วย 1 ท่าน
ในอดีต การพิสูจน์สาเหตุของก้อนในปอด บ่อยครั้งจะต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนี้อออกมา ซี่งจะสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ในการผ่าตัดคร้ังเดียว อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเป็นหัตถการใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ ผู้ป่วยต้องพักฟื้นนาน ซึ่งเป็นการเสียเนื้อปอดที่อาจหายได้ไปโดยเปล่าประโยชน์
ดังนั้น การทราบถึงสาเหตุของก้อนในปอดได้โดยใช้การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจด้วยกล้อง ทําให้ผู้ป่วยมีการเจ็บปวดหรือลําบากน้อยที่สุด และฟื้นตัวเร็วที่สุด จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
ปัจจุบันการส่องกล้องตรวจหลอดลมชนิดนี้ ได้มีการพัฒนาทั้งวิธีการและเครื่องมือ เพื่อช่วยให้หัตถการได้ข้อวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมากขึ้น
นอกจากอาการเหนื่อยง่ายและเจ็บหน้าอกแล้ว อาการไอเป็นอาการแสดงอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ผู้ป่วยกำลังเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ อาการไอเป็นอาการของโรคที่พบบ่อยที่สุด เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อโรค เช่น วัณโรคให้ออกไปจากร่างกาย ในขณะที่การไอลดปริมาณเชื้อโรคในร่างกายของคนผู้ป่วย แต่ก็เป็นการแพร่เชื้อต่อไปให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน
โรคบางโรค…รู้ได้ด้วยการสังเกตจากอาการไอ
- หวัด จะมีอาการไอร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ และมีไข้
- ปอดบวม ไอ หอบ มีไข้ และมีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจเข้า
- หอบหืด ไอ หอบ และมีเสียงหวีดในทรวงอก เป็นๆหายๆ มักเป็นตอนเช้ามืด หรือตอนดึก
- วัณโรคปอด มีอาการไอร่วมกับมีไข้ในตอนบ่าย และมีเหงื่อออกมากในตอนเย็น ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอมีเสมหะแทบทุกวัน ต่อเนื่องกันมากกว่า 3 เดือน และมีอาการเช่นนี้อย่างน้อย 2 ปี ติดต่อกัน ในผู้ที่สูบบุหรี่มานาน
- มะเร็งปอด ไอมานาน เสมหะไม่ค่อยมาก อาจมีเลือดปนเสมหะ มักจะไม่มีไข้
- หลอดลมโป่งพอง ไอ เสมหะข้นเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดปน และเป็นมานานนับปี
- โรคกรดไหลย้อน ไอเวลานอน รู้สึกมีน้ำเปรี้ยวในคอ อาจมีความรู้สึกแสบหน้าอกด้วย
- โรคหัวใจล้มเหลว ไอและหอบเมื่อนอนราบ เมื่อลุกขึ้นนั่งจะดีขึ้น
อาการไอรักษาให้หายได้…หากรู้สาเหตุ
ถ้าผู้ป่วยไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือล่าง และมีอาการไอไม่มากนัก อาจให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ยาบรรเทาอาการไอไปก่อนได้ ในกรณีที่ไอมีเสมหะ…แบบเหนียวข้นมาก การให้ยาละลายเสมหะจะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้นและบรรเทาอาการไอได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางใหม่ต่อไป
หากมีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว แพทย์อาจให้ยาต้านจุลชีพร่วมด้วย
ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไอเรื้อรังสามารถค้นหาสาเหตุได้ และผลการรักษาขึ้นกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งความรุนแรงของโรคในขณะนั้น
อ้างอิง:โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลนวเวช ,โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
แนวทางการรักษา
เนื่