จ่ายต้องคุ้ม 'คุณภาพ - การรักษา' เทรนด์คนไข้ยุคดิจิทัล
เทรนด์คนไข้ยุคดิจิทัล ให้ความสำคัญในเรื่องของ Value for Money คุ้มค่า ทั้งการรักษาพยาบาล การบริการ คุณภาพ เน้นการป้องกันสุขภาพก่อนป่วย เครือ รพ.พญาไท-เปาโล ชูเทคโนโลยีทางการแพทย์ ยกระดับการวินิจฉัย รักษา พัฒนาแพทย์ บุคลากร สู่ยุคดิจิทัล
Key Point :
- หลังโควิด-19 ธุรกิจ รพ.เอกชน มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ภายใต้ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ การแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ
- เทรนด์ของลูกค้าในยุคใหม่ที่ต้องการความคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่ารักษา เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจ รพ.เอกชน พัฒนาบริการและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับการรักษามากยิ่งขึ้น
- เครือ รพ.พญาไท-เปาโล เดินหน้า นำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ ยกระดับการวินิจฉัย รักษา รวมถึงพัฒนาแพทย์ บุคลากร รับยุคดิจิทัล
ปัจจุบัน สถานพยาบาลทั่วประเทศมีจำนวน 1,385 แห่ง แบ่งเป็น รัฐ 1,047 แห่ง คิดเป็น 79.77 % และ เอกชน 338 แห่ง คิดเป็น 20.23 % ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการแข่งขันสูง จากทั้งผู้เล่นรายใหม่ในประเทศที่ขยายธุรกิจสู่บริการทางการแพทย์มากขึ้น และการแข่งขันกับ Medical Hub ในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์
หากดูข้อมูล โรงพยาบาลเอกชน ที่จดทะเบียนใน SET จำนวน 22 ราย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2567 รายได้คนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่มนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราว 8.0-10.0% (YoY) เติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2565-2566 ที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นการปรับฐานสู่สถานการณ์ก่อนโควิด-19
แม้ว่าจะเจอกับการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค แต่ไทยก็มีการยกระดับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งมีข้อได้เปรียบด้านค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนที่ยังยืนตัวสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ความสามารถการทำกำไรของผู้ประกอบการแต่ละรายในระดับที่แตกต่างกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'พญาไท-เปาโล' ส่งเสริม 'นวัตกร' สร้างคน ฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร
- BDMS เปิดบิ๊กโปรเจค "เวลเนส" 2.3 หมื่นล้าน รับสังคมผู้สูงอายุ
- รพ.วิมุต เปลี่ยนโรงพยาบาลสู่ดิจิทัล ดึงเทคโนโลยี ตอบโจทย์การรักษา
เทรนด์สุขภาพเปลี่ยน
การแข่งขันทั้งในประเทศและในภูมิภาค รวมทั้งเทรนด์ของลูกค้าในยุคใหม่ที่ต้องการความคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่ารักษา เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน พัฒนาบริการ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับการรักษามากยิ่งขึ้น
นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการแพทย์ เครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการเผชิญกับเหตุการณ์หลังโควิด-19 ทำให้เห็นเทรนด์ของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป คนไข้ให้ความสำคัญในเรื่องของ Value for Money มากขึ้น การเข้ามารับบริการ เขาต้องการการดูแลที่คุ้มค่า ทั้งในเรื่องของการรักษาพยาบาล การบริการ คุณภาพ
“อีกทั้ง ความต้องการในเรื่องของความรวดเร็ว ปลอดภัย ความสะอาด การที่เข้ามาแล้วไม่ต้องรอแพทย์นาน ไม่อยากอยู่ใน รพ. นาน หรือไม่อยากเข้ามาใน รพ. แต่ติดต่อผ่านเทเลเมดิซีน นัดหมายทางดิจิทัล ดังนั้น ระบบดิจิทัล ช่วงหลังโควิด-19 เป็นสิ่งที่คนไข้ให้ความสำคัญมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน เทรนด์ของการดูแลสุขภาพ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากคนไข้ต้องการการดูแลที่คุ้มค่า เพราะเรื่องของการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ปัจจุบัน พบว่า คนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกัน การตรวจสุขภาพ ตรวจฮอร์โมน ให้วิตามิน ชะลอวัย โดยเฉพาะหลังโควิด-19 เพราะการป้องกัน ดีกว่าการรักษา ไม่ว่าจะกลุ่มคนในวัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุเองก็ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
พัฒนาแพทย์ พัฒนาเทคโนโลยี
เครือ รพ.พญาไท-เปาโล ซึ่งมี รพ. ทั้งหมดกว่า 11 แห่ง ดูแลลูกค้าทั้งกลุ่มพรีเมียม ทั่วไป และประกันสังคม โดยเป็นคนไข้ไทยกว่า 80-90 % ขณะที่คนไข้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาเซียน เช่น กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ รวมถึง ตะวันออกกลาง และภูฏาน โดยคนไข้ต่างชาตินิยมเดินทางมารักษาโรคที่มีความซับซ้อน เช่น หัวใจ สมอง กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ มีบุตรยาก ผ่าตัดแปลงเพศ และฝากครรภ์
นพ.อนันตศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เครือ รพ.พญาไท-เปาโล ให้ความสำคัญกับเรื่องของการดูแลผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะ รพ. หลัก อย่าง รพ.พญาไท 1 รพ.พญาไท 2 รพ.พญาไท 3 รพ.เปาโล พหลโยธิน และ รพ.พญาไทศรีราชา ซึ่งเป็น รพ.ใหญ่ และเป็น Hub ในการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.ในเครือทั้ง 11 แห่ง
ที่ผ่านมา มีการนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ไม่ว่าจะด้านหัวใจ กระดูก หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่า รักษาผู้มีบุตรยาก สมอง และยังพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง มีการทำหลักสูตรพัฒนาแพทย์ ด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมรับกับยุคดิจิทัล
“ทุก รพ. มีโปรแกรมเทรนนิ่ง ทั้งภาคบังคับในการอัปเดตความรู้และฝึกฝนตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรตามความสนใจของแพทย์ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาแพทย์ด้านดิจิทัล เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นการอบรมหลักสูตร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการดูแลผู้ป่วยอย่างเดียว แต่เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่แพทย์จำเป็นต้องรู้ เพื่อเตรียมแพทย์ให้พร้อมรับกับยุคดิจิทัลในอนาคต”
รวมทั้ง ให้แพทย์มีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำ ในการนำดิจิทัลมาใช้ ปรับในเรื่องของเวชระเบียนให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช้กระดาษอีกต่อไป และเรื่องของการทำเทเลเมดิซีน และนำแอปพลิเคชั่นต่างๆ มาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ใช้ AI ในการช่วยวินิจฉัยโรค เช่น การอ่านผลเอกซเรย์ หรือ อ่านผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการใช้ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ ไม่ใช่ทำงานแทนแพทย์ เป็นตัวช่วยให้อ่านผลได้ละเอียดมากขึ้น
นอกจากแพทย์แล้ว บุคลากรด้านอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล ทีมกายภาพบำบัด เภสัชกร ทุกอย่างจะเข้าไปสู่ระบบดิจิทัล เนื่องจากการบันทึกโดยกระดาษอาจมีโอกาสผิดพลาด ดังนั้น การนำเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EMR (Electronic Medical Record) เข้ามาช่วย จะทำให้การดูเวชระเบียนถูกต้องแม่นยำ ดูแลคนไข้ปลอดภัยมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่างๆ
เทคโนโลยียกระดับบริการ
ทั้งนี้ รพ.พญาไท-เปาโล ยังมีแผนต่อเนื่องที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ปัจจุบัน มีการผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ และจะขยายไปยังการผ่าตัดประเภทอื่นๆ อีกในอนาคต รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพ และปลอดภัย
“เครือพญาไท-เปาโล ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ปลอดภัย ต้องมีความคุ้มค่า รวมถึง คุณค่าที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เหมาะสมกับลูกค้าทุกกลุ่มของเรา ฉะนั้น การพัฒนาด้านการแพทย์ เทคโนโลยี ระบบดิจิทัลที่เข้ามา ล้วนทำให้เกิดการดูแลรักษาที่ดีมากขึ้น คุ้มค่ากับที่ลูกค้าจ่าย ทำให้เกิดความปลอดภัยสูง”
ท้ายนี้ นพ.อนันตศักดิ์ กล่าวว่า ในระยะยาวเราพยายามให้คุณค่ากับการดูแลผู้ป่วยให้คุ้มค่า ทั้งเรื่องคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยง ให้คนไข้มีความปลอดภัยสูง ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญในการดูแลคนไข้อย่างเหมาะสม และเป็นมาตรฐานแบบเดียวกับในต่างประเทศเพื่อการได้ผลที่ดี สร้าง Value และความพึงพอใจ ขณะเดียวกัน การดูแลให้คุ้มค่าไม่ใช่แค่ทางการแพทย์และสุขภาพระยะยาวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการบริการ เข้ามาได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ตั้งแต่เข้ามารักษา จนถึงกลับบ้าน และติดตามหลังการรักษา
“นอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่องของ Personalized การดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล การมอบคุณค่าที่ดี การเข้าถึงบริการที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ด้วยช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะผ่านแอปพลิเคชั่น ปรึกษาแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีน เป็นสิ่งที่เรากำลังพัฒนา และสุดท้าย การเตรียมทีมให้พร้อมในการดูแลลูกค้าทุกช่องทาง เป็นเป้าหมายระยะยาว ที่เราพยายามปรับปรุงให้เกิด Value สูงที่สุดให้กับลูกค้า” นพ.อนันตศักดิ์ กล่าว