อุตสาหกรรมยาเติบโตสูง คนไทยป่วยเบาหวาน 5.2 ล้านคน
โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา เผยอุตสาหกรรมยาเติบโตสูง พบคนไทยเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 5.2 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยโรคอ้วนทั่วโลกเกือบ 40% ตั้งเป้าช่วยคนไทยเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม และบริการทางการแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Keypoint:
- คนไทยเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 5.2 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปกำลังป่วย ในจำนวนนี้กว่า 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และยังมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน
- ข้อจำกัดสุขภาพประเทศไทย เป็นเรื่องช่องว่างการเข้าถึงยา และการบริการทางการแพทย์ ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท อีกทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแลใกล้ชิดขาดความตระหนักรู้ ความเข้าใจในการใช้ยา การดูแลตัวเอง
- โนโว นอร์ดิสค์ เชื่อว่านวัตกรรม การเข้าถึงบริการสุขภาพ และความรวดเร็ว เป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
มูลค่าตลาดยาและเวชภัณฑ์ทั่วโลก มีประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี ขณะที่มูลค่าตลาดยาและเวชภัณฑ์ของประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโต ประกอบด้วย ผู้สูงอายุที่จำนวนเพิ่มขึ้น โรคเรื้อรังและโรคอุบัติใหม่ต่างๆ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
‘ประเทศไทย’ เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขช่วยดูแลผู้ป่วยครอบคลุมทุกโรค มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีข้อจำกัดในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างการเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงยาระหว่างคนเมืองกับคนชนบท การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ขาดการศึกษาเรื่องของยาและนวัตกรรมทางการแพทย์ และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ป่วย หรือคนใกล้ชิดในการดูแล รักษาโรค เป็นต้น
ขณะที่ภาวะผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า คนไทยเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 5.2 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปกำลังป่วย ในจำนวนนี้กว่า 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และยังมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน รายงานชี้ปี 2060 ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคอ้วนจะเติบโตขึ้นเป็น 4.9% ของ GDP ในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ตั้งเป้าดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน-โรคอ้วน
‘บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด’ บริษัทชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมยาระดับโลกที่มีส่วนแบ่งการตลาดระดับท็อปของโลก ปัจจุบันมีแผนการลงทุนมากกว่า 390 พันล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิตทั่วโลก และในปี 2566 มีผลประกอบการอยู่ที่ 1,207 พันล้านบาทเติบโตสุงถึง36% และมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 533 พันล้านบาท เติบโต 44% เมื่อเทียบกับปี 2565
‘นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์’ รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าโนโว นอร์ดิสค์ มีเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และกลุ่ม NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และกลุ่ม NCDs จำนวนมากขึ้น
“สถานการณ์ Health care ในประเทศไทยต้องได้รับการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน เพราะไม่ใช่มีเพียงโรคโควิด-19 หรือรับมือกับโรคอุบัติใหม่เท่านั้น แต่ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ว่าจะในเมือง หรือชนบทต้องเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ การเข้าถึงยา ซึ่งโนโว นอร์ดิสค์ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศไทย ถือเป็นตลาดที่สำคัญ ” นายเอ็นริโก้ กล่าว
นอกจากนั้น การเพิ่มขึ้นของวิถีชีวิตแบบเนือยนิ่ง โรคอ้วน และอายุที่มากขึ้น นำมาซึ่งการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน คาดการณ์ว่าความชุก ของโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 ล้านคนภายในปี พ.ศ.2583 ซึ่งโรคเบาหวานที่ถูกดูแลรักษาได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผล เสียต่อร่างกาย เช่น โรคไต และการถูกตัดเท้าหรือขา
ความท้าทายสุขภาพไทยคล้ายคลึงโลกตะวันตก
ความท้าทายด้านสุขภาพในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับโลกตะวันตก อย่าง อัตราการเป็นโรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่ใกล้เคียงกับสเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นโจทย์ระดับโลกที่ต้องการวิธีแก้ไขเฉพาะพื้นที่ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นมีระบบการบริการสุขภาพที่ดี มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีประกันสังคม มีหลายระบบในการดูแลด้านสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องของการเข้าถึงยา เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท คนชนบทมีโอกาสน้อยกว่าคนเมือง
นายเอ็นริโก้ กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดด้านสุขภาพของประเทศไทย นอกจากเรื่องช่องว่างการเข้าถึงยา การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ระหว่างคนเมืองกับคนชนบทแล้ว ยังมีเรื่องของการศึกษา และการตระหนักรู้ ความเข้าใจของผู้ป่วย และผู้ดูแลใกล้ชิด อาทิ ผู้ป่วยเบาหวาน ทราบหรือไม่ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร ฉีดอินซูลีนอย่างไรให้เหมาะสม เป็นต้น
อัตราโรคอ้วนทั่วโลกพุ่งสูงเกือบ 40%
จากรายงาน BMJ Global Health (ปี 2021) ระบุว่าในปี 2060 หากประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคอ้วนคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 4.9% ของ GDP ในประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยตรงจากการรักษาสุขภาพ และค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น การสูญเสียผลผลิต (lost productivity) จากการใช้แรงงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือการขาดงานจากผู้ที่ต้องรักษาโรคอ้วน และหากลดความชุกของโรคอ้วนลง 5% จากระดับที่คาดการณ์ไว้หรือคงไว้ที่ระดับปี 2019 จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ย 5.2% และ 13.2% ต่อปี ระหว่างปี 2020-2060 ตามลำดับ
อย่าง อัตราการเป็นโรคอ้วนทั่วโลกพุ่งสูงเกือบ 40% ซึ่งประเทศไทยเองก็มีตัวเลขใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและอ้วนยังมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มสูงถึง 10% ทั่วโลก และสถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน โชคดีที่ไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง
การมีภาวะอ้วนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจ ขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบความสำเร็จในบางด้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อป้องกันวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สร้างเครือข่ายร่วมพัฒนายาใหม่ ดูแลผู้ป่วย
การรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วน จำเป็นต้องพัฒนายาใหม่ๆ นำองค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนายาโรคเบาหวานและโรคอ้วน มาประยุกต์ใช้ และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โรงพยาบาลต่างๆ และโรงเรียนแพทย์ เพราะไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้เพียงลำพัง ความร่วมมือ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากภาวะอ้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก
“นวัตกรรม การเข้าถึงบริการสุขภาพ และความรวดเร็ว เป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทีมงานของเราไม่หยุดแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีล้ำสมัย มาใช้สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือพัฒนา รูปแบบการให้บริการ ที่เหมาะสม”
ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสุขภาพผู้ป่วยผ่านการคิดค้นเวชภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับบุคลากร การขยายองค์กรควบคู่กับการพัฒนายาใหม่ จะช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นตลาดสำคัญในแผนขยายธุรกิจเฟสถัดไปของ โนโว นอร์ดิสค์
เดินหน้าโครงการยกระดับเข้าถึงบริการสุขภาพ
โนโว นอร์ดิสค์ มีการจัดทำโครงการ Affordability Project ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาโรคเบาหวานในพื้นที่ชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและรักษาโรคเบาหวานแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขของไทย
นอกจากนั้นยังมี โครงการ 'ยกระดับความสามารถในการเข้าถึงบริการสุขภาพ' ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โครงการนี้มุ่งเน้นทำให้บริการดูแลสุขภาพมีราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในประเทศไทย
“โครงการเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เรื่องราคาเท่านั้น ยังมุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและความรวดเร็วด้วย เราต้องการนำเสนอวิธีการรักษาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เราไม่สามารถรอ 30 ปีให้วิธีการรักษาใหม่มาแทนที่วิธีการรักษาแบบเก่าได้ เราจำเป็นต้องเร่งกระบวนการพัฒนานวัตกรรมและทำให้วิธีการรักษาใหม่ๆ เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น”
การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัญหานี้ ใหญ่เกินกว่าที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะแก้ไขได้เพียงลำพัง นั่นคือเหตุผลที่เรากำลัง ร่วมมือกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน
“เราเชื่อว่าทุกคนสมควรได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนหรือเผชิญกับความท้าทายใด ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดการฉีดอินซูลินให้จำนวนครั้งน้อยลง ซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดอินซูลินอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้นจากเดิมที่ต้องฉีดทุกวัน แต่เร็วๆ นี้จะมีนวัตกรรมใหม่ออกมา เพื่อช่วยคนไข้เบาหวาน และโรคอ้วนได้รับยาที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม”
เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม ลดก๊าซเรือนกระจก
โนโว นอร์ดิสค์ ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2045 บริษัทยังให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ เช่น การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การปกป้องสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาชุมชน
ความยั่งยืน เป็นคำที่มักพูดถึงกันในแวดวงธุรกิจ แต่สำหรับผม "คน" คือหัวใจสำคัญของความยั่งยืนจริงๆ มันไม่ใช่แค่ผลกำไร แต่รวมถึงผลกระทบด้านสังคมและชุมชน (triple bottom line)
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีความมั่นคงทางการเงิน แต่เรายังคำนึงถึงความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในฐานะองค์กรที่มุ่งช่วยเหลือผู้คน เรามีภาระหน้าที่ที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน เป้าหมายของเราคือการรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้นและขยายการช่วยเหลือไปยังผู้ที่ต้องการ