ทำไมการ 'ออกกำลังกาย' เท่ากับได้รับยาคลายเครียด เช็กคำตอบจากแพทย์!
"ออกกำลังกาย" เท่ากับได้รับ "ยาคลายเครียด" จิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดมักแนะนำ "วัยทำงาน" ที่เครียดสูง มีภาวะวิตกกังวลให้ไปออกกำลังกาย ทำไมสิ่งนี้ช่วยได้?
KEY
POINTS
- เมื่อการออกกำลังกาย เท่ากับได้รับ "ยาคลายเครียด" เรื่องนี้จริงหรือไม่ อย่างไร?
- ดร.ดาร์เรล เมนาร์ด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ชี้ว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดความเครียดได้จริง!
- การออกกำลังกายช่วยเพิ่มการปล่อยสารเคมีแห่งความสุข เช่น เอ็นดอร์ฟิน โดปามีน เซโรโทนิน ในร่างกาย จึงช่วยให้คนเราอารมณ์ดีขึ้น ลดความเครียด และความวิตกกังวลลงได้
ก่อนหน้านี้เกิดกระแสถกเถียงในโลกออนไลน์ต่างประเทศว่า “ออกกำลังกาย” ช่วยลดความเครียดและภาวะวิตกกังวลได้จริงหรือไม่? โดยต้นเรื่องมาจากวัยทำงานคนหนึ่งออกมาแชร์เรื่องราวของตนเองว่า ชีวิตของเขาค่อนข้างตึงเครียด แต่ก็เป็นคนชอบออกกำลังกาย ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกดีขึ้น
แต่ต่อมาเขามีอาการข้อเท้าแพลง ทำให้ออกกำลังกายไม่ได้เหมือนเดิม ส่งผลให้เขาจัดการความเครียดไม่ได้ และจึงเกิดคำถามว่า การออกกำลังกายที่เขาเคยทำประจำเมื่อก่อน ช่วยลดความเครียดได้จริงหรือเขาแค่คิดไปเอง?
"ออกกำลังกาย" เป็นประจำช่วยลดความเครียดได้จริง!
จากประเด็นดังกล่าว ดร.ดาร์เรล เมนาร์ด ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อ กระดูก และเวชศาสตร์การกีฬา ได้ออกมาตอบคำถามดังกล่าวผ่าน casem-acmse.org (องค์กรที่ให้การดูแลทางการแพทย์แก่นักกีฬาระดับนานาชาติ มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เวชศาสตร์การกีฬา) ว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดความเครียดได้จริง!
พร้อมเสริมด้วยว่า วิถีชีวิตของผู้คนสมัยนี้เต็มไปด้วยความเครียด แต่ก็มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยจัดการความเครียดให้ลดลงได้ หนึ่งในนั้นก็คือ “การออกกำลังกายแบบแอโรบิก” ซึ่งจะช่วยลดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายแทบทุกรูปแบบก็สามารถช่วยปรับปรุงอารมณ์ ลดความวิตกกังวล และช่วยปรับปรุงการเป็นอยู่ที่ดีได้เช่นกัน
แล้วทำไมการออกกำลังกายถึงช่วยลดความเครียด-ภาวะวิตกกังวลได้? เรื่องนี้มีคำอธิบายทางการแพทย์หลายประการ ได้แก่
1. ช่วยปล่อยสารเคมีแห่งความสุขในสมอง
การออกกำลังกายช่วยเพิ่มการปล่อยสารเคมีแห่งความสุขในร่างกาย ซึ่งช่วยให้คนเราอารมณ์ดีขึ้นและลดความวิตกกังวลได้ โดยสารเคมีเหล่านี้มาจากฮอร์โมนหลายตัวไม่ว่าจะเป็น เอ็นดอร์ฟิน โดปามีน เซโรโทนิน และเอนโดแคนนาบินอยด์
2. ช่วยเพิ่มโฟกัส จึงสลัดความกังวลออกไปได้
การมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เช่น ว่ายน้ำ การทำสควอท หรือการปั่นจักรยาน (การออกกำลังกายแบบแอโรบิก) สามารถช่วยให้คุณโฟกัสและจดจ่ออยู่กับมัน จึงช่วยให้สลัดความกังวลออกไปจากจิตใจและสมองได้ในระยะเวลาหนึ่ง
3. ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น อารมณ์ก็ดีขึ้น
การออกกำลังกายสามารถปรับปรุง “คุณภาพการนอนหลับ” ให้ดีขึ้นได้ หลายคนคงรู้ดีว่า “การอดนอน” นำมาซึ่งอาการเนือยนิ่ง หงุดหงิดง่าย และอาจทำให้จัดการความเครียดได้ยากขึ้น ดังนั้นหากนอนหลับดีมีคุณภาพ ก็จะช่วยปรับปรุงอารมณ์และลดความเครียดได้
4. เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ช่วยผ่อนคลายจิตใจได้
การออกกำลังกายเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การทำสมาธิ” ไม่ใช่การทำสามธิแบบนั่งนิ่งๆ แต่เป็นการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน ผลลัพธ์ของการทำสมาธิคือ ช่วยให้เราผ่อนคลายได้อย่างแท้จริง
ข้อควรรู้! ก่อนจะออกกำลังกายเพื่อ "คลายเครียด"
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงอยากกลับมาดูแลตัวเองและเริ่มออกกำลังกายอีกครั้ง แต่ก่อนจะมุ่งออกกำลังกายเพื่อคลายเครียดก็มีข้อควรรู้บางประการที่ ดร.ดาร์เรล เมนาร์ด มีคำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้
- การออกกำลังกายควรเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของการจัดการความเครียดของคุณ (ไม่ใช่ว่าออกกำลังกายอย่างเดียวแล้วจะหาย) แต่ควรจัดการความเครียดด้วยวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น หากเครียดมาก หรือมีภาวะวิตกกังวลอย่างรุนแรงจนกระทบกับชีวิตประจำวัน ควรไปปรึกษาจิตแพทย์หรือทำจิตบำบัดเพิ่มเติม
- คุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนักเหมือนนักกีฬา เพื่อที่จะให้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย แต่สามารถออกกำลังกายง่ายๆ ที่บ้านหรือที่ยิม ก็สามารถช่วยลดความเครียดได้แล้ว
- การเริ่มต้นออกกำลังกายคือจุดที่ยากที่สุด ดังนั้นคุณอาจลองชวนเพื่อนหรือมีคู่หูไปออกกำลังกายด้วยกัน ก็จะทำให้เริ่มต้นได้ง่ายขึ้นและสนุกขึ้น มีผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพบว่า นักพายเรือที่มีประสบการณ์ออกกำลังกายร่วมกัน ร่างกายของพวกเขาจะหลั่ง “สารเอ็นดอร์ฟิน” มากกว่าคนที่พายเรือคนเดียว
- คุณอาจลองฟังเพลงขณะออกกำลังกายไปด้วย เพราะมีการศึกษาพบว่าหากทำสองสิ่งพร้อมกัน จะสามารถช่วยเพิ่มการปล่อยสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยเพิ่มความสุขได้มากขึ้น
- เลือกวิธีออกกำลังกายแบบที่คุณชอบ หากคุณเกลียดการปั่นจักรยานด้วยเครื่อง SpinBike ในยิม แต่ยังฝืนไปทำ แบบนั้นคุณจะพบว่าความเครียดไม่ได้ลดลง ดังนั้นควรเปลี่ยนไปออกกำลังกายกลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติก็จะมีประโยชน์มากกว่า
- ค้นหา 'จุดเหมาะสม' ในการออกกำลังกายของตัวเอง หากทำน้อยเกินไปก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์ แต่หากออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจทำให้ยิ่งตึงเครียด ควรทำเท่าที่ไหวและไม่ฝืนตนเองเกินไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ดร.ดาร์เรล กล่าวโดยสรุปว่า การออกกำลังกายเป็นประจำไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดในชีวิตได้ดีขึ้น แต่ยังให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและความสมบูรณ์แข็งแรงอื่นๆ กับร่างกายอีกมากมาย ทุกคนจึงควรใส่ใจและกระตือรือร้นในการออกกำลังกายเป็นประจำ และโปรดจำไว้ว่า “การออกกำลังกายคือยาชั้นดี”