ทำความเข้าใจ 'โรคอีสุกอีใส' กับ 'งูสวัด' แตกต่างกันอย่างไร
ทำความเข้าใจ โรคอีสุกอีใส และ โรคงูสวัด ต่างกันอย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ พร้อมสังเกตอาการ การวินิจฉัย รักษา และวัคซีน นอกจากนี้ ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้
KEY
POINTS
- ทำความเข้าใจ ความต่างระหว่าง โรคอีสุกอีใส และ โรคงูสวัด พร้อมสังเกตอาการ การวินิจฉัย รักษา และวัคซีน นอกจากนี้ ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้
- โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อได้ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- โรคงูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยโรคงูสวัดจะแสดงอาการออกมาเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ
หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า โรคอีสุกอีใส กับ งูสวัด มีความเหมือน หรือต่างกันอย่างไร ความจริงแล้ว ทั้งสองโรคมีความแตกต่างกัน โดย อีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็ก อีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคนี้หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ที่มีการสัมผัสหรือหายใจร่วมกัน
ขณะที่ โรคงูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยโรคงูสวัดจะแสดงอาการออกมาเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ
รู้จัก อีสุกอีใส
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อได้ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน
ในปัจจุบันมีวัคซีนอีสุกอีใสที่ช่วยป้องกันเด็กจากการเป็นอีสุกอีใส ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกล่าวว่าการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสเป็นประจำและตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันโรคอีสุกอีใส โรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'หูอื้อ' ไม่ได้ยิน มีเสียงวิ้ง ภาวะผิดปกติที่ไม่ควรละเลย
- 'ยาแก้แพ้' กินแล้วทำไมง่วงซึม เลือกใช้อย่างไรให้ถูกวิธี
- ‘คางทูม’ ไวรัสจากคนสู่คน พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงติดเชื้อ
ลักษณะอาการโรคอีสุกอีใส
อาการของโรคอีสุกอีใส จะเริ่มจากผื่นคันและจะมีอาการอยู่ประมาณ 10-21 วันหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส หลังจากนั้นจะเกิดผื่นพุพองที่จะแสดงอาการอยู่ประมาณ 5-10 วัน อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเกิดผื่น ได้แก่
- ไข้
- เบื่ออาหาร
- ปวดศรีษะ
- รู้สึกอ่อนล้าและไม่สบายตัว
อาการโรคอีสุกอีใสสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 – มีตุ่มสีชมพูหรือแดง เริ่มก่อตัวบนผิวหนังและเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายวัน
ระยะที่ 2 – ตุ่มน้ำจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งวันและเริ่มมีการแตก
ระยะที่ 3 – เกิดสะเก็ดแผลที่จะครอบตุ่มน้ำที่เกิดการแตก สะเก็ดเหล่านี้จะใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะดีขึ้น
หลังจากผู้ป่วยผ่านอาการโรคอีสุกอีใสทั้ง 3 ระยะแล้ว ผู้ป่วยจะพบว่าเกิดตุ่มแดงบนผิวหนังเป็นระยะเวลาหลายวัน และในที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการของผื่นชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ และในที่สุดก็จะกลายเป็นสะเก็ดแผล ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าสู่ระยะแพร่เชื้อเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนเกิดผื่น โดยผู้ป่วยจะยังอยู่ในระยะเวลาแพร่เชื้อจนกว่าจะเกิดสะเก็ดแผลครอบตุ่มน้ำ หลังจากนั้น จึงจะพ้นระยะของการแพร่เชื้อ
โรคอีสุกอีใสจะไม่แสดงอาการที่รุนแรงในเด็กที่มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม ในเคสที่มีความรุนแรง ผื่นจะเกิดการลุกลามไปทั่วทั้งร่างกายและจะเกิดรอยโรคขึ้นในช่องคอ รวมถึงที่เยื่อบุผิวบริเวณท่อปัสสาวะ ทวารหนัก และช่องคลอด
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุของเชื้อโรคอีสุกอีใสเกิดจากไวรัสที่แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น ๆ ผ่านการสัมผัสกับผื่นโดยตรง นอกจากนั้นหากผู้ป่วยไอ หรือจามอาจจะทำการกระจายละอองเชื้ออีสุกอีใสไปในอากาศและทำการแพร่เชื้อแก่คนอื่นที่หายใจละอองที่มีเชื้อเข้าไปในร่างกาย
ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสี่ยงสูงจากการติดเชื้ออีสุกอีใสหากไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใส หรือไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสมาก่อน วัคซีนอีสุกอีใสมีความสำคัญมากโดยเฉพาะกับคนที่ทำงานในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือในโรงเรียน
สำหรับคนที่เคยมีประวัติติดเชื้ออีสุกอีใส หรือมีประวัติเคยได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสนั้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันอีสุกอีใส ส่วนในกรณีผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว แต่ยังตรวจพบโรคอีสุกอีใสอีกจะพบว่าอาการของโรคจะไม่มีความรุนแรง พบตุ่มน้ำในปริมาณที่น้อยลงและพบไข้ที่ต่ำลง อย่างไรก็ตามการที่จะเกิดโรคอีสุกอีใสเป็นครั้งที่สองในชีวิตนั้นสามารถพบได้น้อยครั้ง
กลุ่มเสี่ยงโรคอีสุกอีใส
- เด็กแรกเกิดและทารกที่มารดาไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส
- วัยรุ่นและผู้ใหญ่
- สตรีมีครรภ์ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างเช่นคนที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือมีโรคอื่นๆ อย่างเช่นโรคมะเร็งหรือติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ตัวยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรคหืด
การวินิจฉัย และวิธีรักษาโรคอีสุกอีใส
แพทย์สามารถวินิฉัยโรคอีสุกอีใสด้วยการตรวจร่างกายผู้ป่วยหาผื่นที่มีลักษณะคล้ายผื่นอีสุกอีใส รวมถึงทำการตรวจชนิดอื่น ๆ ดังนี้
- การตรวจเลือด
- การเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหารอยโรค
การรักษาโรคอีสุกอีใสเมื่อมีภาวะแทรกซ้อน
แพทย์จะหาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย แพทย์อาจจะทำการสั่งยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการติดเชื้อบนผิวหนังรวมถึงอาการปอดติดเชื้อ ยาต้านไวรัสจะช่วยในการรักษาโรคไข้สมองอักเสบ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
วัคซีนอีสุกอีใสเหมาะกับใครบ้าง
- เด็กเล็ก
ช่วงวัยที่ควรได้รับวัคซีนมากที่สุดคือในวัยเด็ก โดยวัคซีนอีสุกอีใสสามารถฉีดร่วมกันกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ อย่างเช่นวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน โรคหัดหรือโรคคางทูม อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนรวมอาจมีผลข้างเคียงอย่างเช่น อาการไข้และชัก ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 23 เดือน
- เด็กโตที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
เด็กโตที่มีอายุระหว่าง 7 ถึง 12 ปี ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใสจำนวนสองเข็ม โดยแต่ละเข็มควรห่างกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับเด็กโตที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็ม โดยแต่ละเข็มควรห่างกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
- ผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการได้รับเชื้ออีสุกอีใส อย่างเช่นบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มที่ทำงานในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทหาร หรือคนที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่อยู่กับเด็กเล็กและสตรีที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ก็ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสด้วยเช่นกัน
- ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส
ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยหรือมีอาการโรคอีสุกอีใส กลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดสองเข็ม และแต่ละเข็มควรเว้นระยะห่าง 4-8 สัปดาห์ ปรึกษาแพทย์หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าเคยมีประวัติติดเชื้ออีสุกอีใสหรือเคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ แพทย์จะทำการส่งตรวจเลือดเพื่อดูระบบภุมิคุ้มกันของผู้ป่วย
วัคซีนอีสุกอีใส ไม่เหมาะกับใครบ้าง
- สตรีที่ตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างเช่นผู้ป่วยเอชไอวี
- ผู้ที่ต้องทำการรักษาด้วยยากดภูมิคุ่มกัน
- ผู้ที่แพ้เจลาตินหรือยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
โรคงูสวัด แตกต่างจากโรคอีสุกอีใส อย่างไร?
โรคงูสวัดแตกต่างจากโรคอีสุกอีใส โดยลักษณะของผื่น หรือตุ่มจะขึ้นพาด เป็นแนวยาว ไม่กระจายตัวไปทั่วร่างกายเหมือนผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส โดยผื่นจะขึ้นเฉพาะตามแนวของเส้นประสาทที่ไวรัส วาริเซลลา ซ่อนตัวอยู่ โดยจะเริ่มจากการเกิดผื่นแดงก่อน แล้วจึงเกิดเป็นตุ่มนูน ใส บวม แล้วจึงจะแตก และตกสะเก็ดไปในที่สุด โดยบริเวณที่มักเกิดโรคงูสวัด ได้แก่
- บริเวณรอบเอว
- หรือแนวชายโครง
- บริเวณหลัง
- บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
- และดวงตา
อาการของโรคงูสวัด เป็นอย่างไร?
อาการของโรคงูสวัดจะรุนแรงกว่าอาการของโรคอีสุกอีใส และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ได้หากไม่รีบรักษา
- มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ประมาณ 1-3 วัน ก่อนที่จะมีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณที่ปวด
- ผื่นสีแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว โดยผื่นมักเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาท ไม่กระจายตัวทั่วไป เหมือนตุ่มในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส
- ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนัง แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า
- ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน
- หลังผื่นหายยังอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม
อาการของโรคงูสวัดอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย
- ปวดศีรษะ
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- ตาสู้แสงไม่ได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด
อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia: PHN) โดยพบมากในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะยังคงมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผื่นของโรคงูสวัดโรคงูสวัดจะหายแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดอาจต่อเนื่องยาวนานร่วมเดือน หรือตลอดชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือที่จอประสาทตาอักเสบ (Zoster Ophthalmicus, Corneal ulcer) โรคงูสวัดอาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่ตา หรืองูสวัดขึ้นตา ซึ่งเกิดจากผื่นของโรคงูสวัดขึ้นบริเวณดวงตา เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือจอประสาทตาอักเสบที่ส่งผลทำให้เกิดตาอักเสบ ตาพร่ามัว และกระทบต่อการมองเห็น ในผู้ป่วยบางรายอาจพบโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก จึงควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological problems) โรคงูสวัด อาจทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและสมอง ใบหน้าเป็นอัมพาต หรือทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือการทรงตัว
ผิวหนังติดเชื้อ (Bacterial infection) โรคงูสวัด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาความสะอาดให้ดี
โรคงูสวัด เป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรคงูสวัด สามารถติดต่อสู่ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนผ่านการสัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่มีเชื้อไวรัส varicella zoster รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่สัมผัสกับเชื้อโรคงูสวัดแบบแพร่กระจายผ่านทางการหายใจ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยโรคงูสวัดออกจากผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคโดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
โรคงูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย จริงหรือไม่?
งูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย เป็นความเชื่อที่ไม่จริง ในผู้ป่วยบางราย ผื่นของโรคงูสวัดสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ด้าน ทั้งซ้าย และขวา จนทำให้ดูเหมือนว่างูสวัดพันรอบตัว แต่โดยมากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคงูสวัด จะเสียชีวิตจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด การติดเชื้อโรคงูสวัดจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเสียชีวิตไปในที่สุด โดยอาการดังกล่าวพบมากในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
การรักษาโรคงูสวัด
การรักษาโรคงูสวัดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผื่นของโรคงูสวัดแสดงอาการ โดยหากปรากฎผื่นของโรคงูสวัดน้อยกว่า 3 วัน แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส (Antivirus) เช่น Acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ เพื่อช่วยลดการอักเสบ อาการเจ็บปวด และช่วยให้ผื่นคันยุบตัวและหายเร็วขึ้น รวมถึงช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคและลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด เช่น อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN) แต่หากผู้ป่วยมีผื่นของโรคงูสวัดเกินกว่า 3 วัน แพทย์จะพิจารณยารักษาโรคชนิดอื่น ๆ ร่วมกับยาต้านไวรัส ได้แก่
- ยาพาราเซตามอล หรือปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการคัน และบรรเทาอาการเจ็บปวดและป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพร ยาพ่น หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาที่แพทย์สั่งทาบริเวณผื่นคัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แผลหายช้า หรือกลายเป็นแผลเป็นไปในที่สุด
- ไม่ควรเกาบริเวณผื่นคัน หากเล็บยาว ให้ตัดเล็บมือ เล็บเท้า ให้สะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ
- หากมีแผลเปิด ให้ปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หมั่นล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
โรคงูสวัด ป้องกันได้หรือไม่ ?
โรคงูสวัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค ทั้งยังช่วยลดความรุนแรง ลดความปวด และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไปก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้ในอนาคต ในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อโรคงูสวัดได้เช่นกัน โดยวัคซีนโรคงูสวัด มีดังต่อไปนี้
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือโรคสุกใส (Chickenpox vaccine) สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 - 18 เดือนขึ้นไป
- วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสำหรับผู้ใหญ่ (Zoster vaccine/Shingles vaccine) มี 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีน Zostavax ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) 1 เข็ม โดยเป็นวัคซีนที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 50 - 59 ปีได้ถึง 69.8%
- วัคซีน Shingrix ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไกลโคโปรตีน (glycoprotein subunit vaccine) ที่เป็นชิ้นส่วนของไวรัส 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 2-6 เดือน โดยเป็นวัคซีนที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปได้ถึง 90 - 97%
โรคงูสวัด ไวรัสที่ป้องกันได้ โดยรับการฉีดวัคซีน
ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลังเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคงูสวัด ทำให้เกิดผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ที่ทำให้รู้สึกเจ็บแสบ ไม่สบายตัว และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้หายจากโรคโดยเร็ว
โรคงูสวัด สามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนป้องกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและคงไว้ซึ่งภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย
ทั้งนี้ บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด สามารถเข้ารับคำปรึกษา และฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจากแพทย์ผู้ชำนาญการได้จากสถานประกอบการหรือโรงพยาบาลที่มีวัคซีนไว้คอยบริการ
ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ผู้ใหญ่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากโรคหรือการรักษา ควรฉีดวัคซีนชนิด recombinant zoster vaccine จำนวน 2 เข็ม เนื่องจากอายุที่มากขึ้นและภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดด้วย
โดยสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลก่อนการรับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนนี้มีข้อจำกัดในบุคคลบางกลุ่ม เช่น
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง (ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิด Live-attenuated zoster vaccine)
- ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน
- ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดอยู่ในปัจจุบัน
- หญิงตั้งครรภ์
อาการข้างเคียงอะไรบ้างที่อาจพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คือ อาการปวด แดง หรือบวมในบริเวณที่ฉีดวัคซีน ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตัวสั่น มีไข้ ปวดท้อง และคลื่นไส้
ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคงูสวัดมาก่อน ควรรอนานเท่าไหร่จึงจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้?
ในกรณีที่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน สามารถให้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้ โดยให้เว้นระยะห่างหลังจากเป็นโรคงูสวัดอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัคซีนชนิด recombinant zoster vaccine สามารถให้ได้ครบทั้ง 2 เข็มตามคำแนะนำ
หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิด live-attenuated zoster vaccine มาก่อน ควรรอนานเท่าไหร่จึงจะสามารถฉีดวัคซีนชนิด recombinant zoster vaccine ได้?
ในกรณีที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิด zoster vaccine live มาก่อน สามารถฉีด recombinant zoster vaccine ได้ โดยฉีด recombinant zoster vaccine 2 เข็ม และเว้นห่างจาก zoster vaccine live อย่างน้อย 2 เดือน
อ้างอิง : รพ.เมดพาร์ค , รพ.บำรุงราษฎร์