“แพ้อาหาร” โรคฮิตคนทุกวัย เรื่องเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม
ปัจจุบัน “ภาวะแพ้อาหาร” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีความชุกประมาณ 3-6% ซึ่งภาวะแพ้อาหารในผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผื่นคันเพียงเล็กน้อยแต่บางรายอาจจะเกิดอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
KEY
POINTS
- พบคนไทยมีภาวะแพ้อาหารเพิ่มมากขึ้น โดยอาหารส่วนใหญ่ที่เด็กไทยแพ้ จะเป็นไข่ นม แป้งสาลี ถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง
- ส่วนผู้ใหญ่จะพบว่าแพ้สัตว์น้ำเปลือกแข็ง อย่าง กุ้ง ปู หอย หมึก และกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง
- ปัจจุบัน มีการรักษาภาวะแพ้อาหารด้วยการรับประทาน คือ Oral immunotherapy หรือ OIT ซึ่งเป็นการปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ออาหารที่แพ้ ทำให้เกิดอาการแพ้น้อยลงหรืออาจจะทำให้ผู้ป่วยหายแพ้อาหารได้เร็วขึ้น
“มนุษย์กับการกิน” อาจพูดได้ว่าแยกกันแทบไม่ออก บางคนกินตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ ยิ่งขณะนี้ความหลากหลายด้านอาหารทำให้ผู้คนสามารถเลือกรับประทานอาหารได้จากหลากหลายเชื้อชาติ และยังมีอาหารแปลกๆ อีกมากมาย โดยที่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่รู้ว่าอาหารแต่ละประเภทที่รับประทานเข้าไปนั้นอาจก่อให้เกิด “ภาวะแพ้อาหาร”
ภาวะแพ้อาหาร คือภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองต่อโปรตีนในอาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่แพ้ จนเกิดอาการต่างๆ เช่น ผื่นลมพิษ อาเจียนแน่นหน้าอก หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก ในอดีต ภาวะแพ้อาหารไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ตนเองแพ้และใช้ยาบรรเทาหรือยาช่วยชีวิตเมื่อเกิดอาการแพ้รุนแรง แต่ในปัจจุบันมีวิธีที่อาจช่วยรักษาภาวะแพ้อาหารแบบเฉียบพลันที่เรียกว่า oral immunotherapy หรือ OIT (การรักษาการแพ้อาหารแนวใหม่ เหมาะสำหรับคนที่แพ้อาหารจนมีความเสี่ยงต่อชีวิตหรือทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างลำบาก) ที่อาจจะเป็นทางออกสำหรับผู้ที่มีภาวะแพ้อาหารดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้
คนไทยแพ้อาหารมากขึ้น
นพ.ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ แพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเจ้าพระยา อธิบายว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยแพ้อาหารมากขึ้น โดยอาหารส่วนใหญ่ที่เด็กไทยแพ้ จะเป็นไข่ นม แป้งสาลี ถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง ส่วนผู้ใหญ่จะพบว่าแพ้สัตว์น้ำเปลือกแข็ง อย่าง กุ้ง ปู หอย หมึก หรือกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง ซึ่งหลายคนอาจจะแพ้อาหารเพียงเล็กน้อย แต่จะมีอีกหลายคนแพ้อาหารรุนแรง เช่น อาการตาบวม ปากบวมหายใจไม่ออก และอาการเป็นลม ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง และอาจมีอันตรายถึงชีวิต
สำหรับปฏิกิริยาการแพ้อาหารชนิดเฉียบพลัน คือ อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นหลังรับประทานทันที ไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม ผื่นอักเสบแดงกำเริบ หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องและเป็นลมหมดสติได้ ส่วนชนิดไม่เฉียบพลัน ผู้ป่วยจะค่อยๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือเป็นวันหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรัง ถ่ายผิดปกติ เป็นต้น
ตรวจวินิจฉัยและขั้นตอนการรักษา
นพ.ปิยวุฒิ กล่าวด้วยว่า การตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะแพ้อาหารเฉียบพลันสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การสะกิดผิวหนังด้วยสารสกัดโปรตีนอาหาร (skin prick test)
- การสะกิดผิวหนังด้วยอาหารจริง (prick to prick test)
- การตรวจเลือด (Specific IgE)
- การทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (oral food challenge)
รู้จักการรักษาภาวะแพ้อาหารด้วย oral immunotherapy หรือ OIT
Oral immunotherapy หรือ OIT เป็นการรักษาการแพ้อาหารแนวใหม่ เหมาะสำหรับคนที่มีอาการแพ้อาหารมาก ค่าแพ้สูงๆ มีความเสี่ยงต่อชีวิต หรือทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบาก แนวทางการรักษาคือการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ตัวเองแพ้เข้าไปในจำนวนน้อยมากๆ แบบนั้นต่อเนื่องทุกวัน โดยมีข้อปฏิบัติที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เริ่มมีความเคยชินกับอาหารชนิดนั้น แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณที่ให้อย่างช้าๆ บางรายอาจต้องกินควบคู่กับยาแก้แพ้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้รุนแรงระหว่างรักษา
“หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการรับประทานวิธี OIT ไปแล้วนั้น จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่ออาหารชนิดนั้นๆ และเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ เข้าไป หรือว่าบังเอิญรับประทาน จะมีอาการแพ้น้อยลง นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญคือการรักษาแบบ OIT อาจจะทำให้ผู้ป่วยหายแพ้อาหารได้เร็วขึ้น” นพ.ปิยวุฒิ กล่าว
นพ.ปิยวุฒิ กล่าวอีกว่า การรักษาการแพ้อาหารด้วยวิธี OIT มีข้อดี คือ
1.ทำให้ผู้ป่วยที่แพ้อาหารชนิดนั้นแล้วบังเอิญไปรับประทานอาหารชนิดนั้นแล้ว อาจจะเกิดอาการน้อย หรือไม่เกิดอาการเลย
2.ผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายจากอาการแพ้อาหารได้ด้วยตนเอง หากได้รับการรักษาด้วยวิธี OIT แล้ว อาจจะหายแพ้ได้เร็วขึ้น หรือเพิ่มโอกาสในการหายจากการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ
3.การรักษาด้วยวิธี OIT จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วยและครอบครัวด้วย
กลุ่มที่สามารถรักษาแพ้อาหารด้วยวิธี OIT ได้แก่
- ผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ได้ยาก
- ผู้ป่วยที่เกิดปฎิกริยาแพ้อาหารแพ้บ่อยๆ
- ผู้ป่วยที่ยังไม่หายขาดจากภาวะแพ้อาหารเมื่ออายุมากขึ้น และผู้ป่วยที่มีผลตรวจการแพ้อาหารมีระดับสูง
“ขั้นตอนการรักษาภาวะแพ้อาหารเฉียบพลันด้วยวิธี OIT นั้น จะเริ่มจากการทดสอบผู้ป่วยด้วยการรับประทานอาหารที่แพ้ เพื่อประเมินปริมาณอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการรับประทานทุกวัน หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้ในปริมาณที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง และนัดหมายมาทดสอบเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นทีละน้อย ทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อปรับภูมิคุ้มกันจนผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารในปริมาณสูงสุดตามเป้าหมายได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลผู้มีประสบการณ์ทุกขั้นตอน” นพ.ปิยวุฒิ กล่าว
แนะผู้ป่วยและครอบครัว สังเกตอาการหลังรับประทานอาหาร
นพ.ปิยวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยทั่วไปแล้ว การรักษาภาวะแพ้อาหารในอดีต ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และแพทย์จะนัดมาตรวจประเมินเป็นระยะ แต่ในปัจจุบัน มีการรักษาภาวะแพ้อาหารด้วยการรับประทาน Oral immunotherapy (OIT) เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงจากปฎิกิริยาแพ้อาหาร ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยหายแพ้อาหารได้เร็วขึ้น โดยการปรับภูมิคุ้มกันโดยตรง
ผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะมีภาวะแพ้อาหาร ต้องสังเกตอาการเบื้องต้น หากมีอาการผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้าอาการสัมพันธ์กับการกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเสี่ยงแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ และกรณีที่ยังมีภาวะแพ้อาหารและยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้โดยเด็ดขาดไม่ควรไปทดลองเอง เพราะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรแนะนำให้อ่านฉลากอาหารเสมอ และถ้ามีประวัติแพ้รุนแรง ควรพกยาฉีด adrenaline ติดตัว และฝึกซ้อมการฉีดอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดอาการ สามารถปรึกษาได้ที่ นพ.ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ แพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเจ้าพระยา
อ้างอิง: โรงพยาบาลเจ้าพระยา ,โปรแกรมทดสอบการแพ้ Skin Test-โรงพยาบาลเจ้าพระยา , สมาคมโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา (Americal Academy of Allergy Asthma and Immunology) ,
สมาคมโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันแห่งยุโรป (European Academy of Allergy and Clinical Immunology)