ทำไม ต้องแบน 'บุหรี่ไฟฟ้า' คุมเข้ม สกัด 'นักสูบหน้าใหม่'

ทำไม ต้องแบน 'บุหรี่ไฟฟ้า' คุมเข้ม สกัด 'นักสูบหน้าใหม่'

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชนในปัจจุบัน กลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี เสี่ยงสูงที่เด็ก และเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา

KEY

POINTS

  • ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน กลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบเยาวชนสูบบุหรี่ร้อยละ 3.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 
  • เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ไม่เสพติด แต่มีหลักฐานยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นสารเสพติดรุนแรง มีสารก่อมะเร็ง ส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ทั้งปอด หัวใจ และหลอดเลือด
  • ผู้ที่ต้องสูดดมควันจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่ได้ตั้งใจแม้จะไม่ได้เป็นผู้เสพเองโดยตรง ก็จะได้รับอันตรายจากสารอันตรายในบุหรี่ไฟฟ้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชนในปัจจุบัน กลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี และยังมีการนำไปขายในสถานศึกษา โดยเด็ก และเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง

 

ผลสำรวจของ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เรื่องการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คนในโรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบเยาวชนสูบบุหรี่ร้อยละ 3.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มองว่า จากสถานการณ์นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน รวมถึงครู และผู้ปกครองจะต้องรับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเด็ก และเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

 

“ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็ก และเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

เด็กยังมองว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย

สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก เด็กและเยาวชนไทย สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย 61,688 คน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. - 6 มิ.ย. ปี 2566 ของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% ส่วนใหญ่ถูกเพื่อนชักชวนให้สูบ 92.2%

 

สอดคล้องกับผลสำรวจเด็ก และเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็ก และเยาวชน และสถานพินิจ และคุ้มครองเด็ก และเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ เมื่อเดือนพ.ค. ปี 2566 พบ 95.4% เคยสูบบุหรี่มวน และ 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก 80.7% ในจำนวนนี้พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น76%

 

ทั้งนี้ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ไม่เสพติด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีหลักฐานยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นสารเสพติดรุนแรง มีสารก่อมะเร็ง ส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ทั้งปอด หัวใจและหลอดเลือด ทำลายพัฒนาการของสมองเด็ก และทารกในครรภ์ รวมถึงเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างที่ไม่สูบด้วย

 

พิษบุหรี่ไฟฟ้า

ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจึงอันตราย ? ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้า มีสารเคมีหลายชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพ

น้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย

1. นิโคติน ทำให้เสพติดการสูบ

2. โพรพิลีนไกลคอล ระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ ทำให้ไอ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน

3. กลีเซอรีน เมื่อผสมกับโพรพิลีนไกลคอล ยิ่งทำให้ไอ หลอดลมตีบ หอบเหนื่อย

4. สารประกอบอันตราย เช่น สารหนู โลหะหนัก ฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซีน ซึ่งอาจก่อมะเร็ง

5. สารปรุงแต่งกลิ่น รส และอื่นๆ บางตัวอาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรง อาทิ วิตามินอี อะซีเตท

 

 

  • ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา จึงถูกสูดเข้าไปในปอดได้ลึกกว่า จับเนื้อเยื่อปอด และดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็ว ยากที่ร่างกายจะขับออกมาได้หมด
  • การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด มะเร็ง และส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทั้งต่อทารกในครรภ์ เด็ก และวัยรุ่น
  • หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และทำให้เสียชีวิตได้

 

เสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด มะเร็ง ปอดอักเสบรุนแรง

จากบทความ “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายซ่อนเร้น เร่งปกป้องเยาวชนไทยจากภัยล่าเหยื่อ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามจากฝุ่นควันที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าว่า นอกจากมีนิโคตินที่เป็นสารเสพติดอย่างรุนแรงเลิกยากแล้ว ยังมีสารที่เป็นอันตรายทั้งโลหะหนัก และสารก่อมะเร็งต่างๆ

 

รวมถึงมีสารที่มีขนาดเล็กจิ๋ว PM2.5 อยู่ในควันบุหรี่ไฟฟ้า แต่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงไอน้ำที่ส่งกลิ่นหอม โดยไม่คาดว่ากลิ่นหอมนั้นจะประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ที่จะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของเยาวชน

 

นอกจากนี้ พบว่า ผู้ที่ต้องสูดดมควันจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่ได้ตั้งใจแม้จะไม่ได้เป็นผู้เสพเองโดยตรง ก็จะได้รับอันตรายจากสารอันตรายในบุหรี่ไฟฟ้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

การแพร่ระบาดของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไปทั่วโลก ทั้งที่ถูกสร้างมาไม่ถึง 20 ปีนั้น คาดว่าเกิดจากการ ถูกโฆษณาให้เข้าใจผิด คิดว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการช่วยเลิกบุหรี่ที่มีอันตรายน้อย

 

ปัจจุบันมีรายงานการวิจัยบ่งชี้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้านับพันชิ้นเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อสิบปีก่อน มีทั้งการเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงโรคปอดอักเสบรุนแรง

 

โดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2562 – 2563 พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเสพบุหรี่ไฟฟ้าด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรงกว่า 60 รายในสหรัฐอเมริกา โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยน้อยกว่า 30 ปี ทำให้เกิดการยกระดับการรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นอย่างจริงจัง ผ่านช่องทางที่เข้าใจง่าย ทำให้อัตราการสูบในเยาวชนลดลงได้บ้าง

 

สาเหตุที่ต้องปกป้องกลุ่มเด็ก และเยาวชน เพราะพบว่าสารนิโคติน ในบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ พบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ไม่สูบสองเท่า นอกจากนี้การเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเลิกยากมาก โดยพบว่านิโคตินมีผลการเสพติดเทียบเท่ากับเฮโรอีน

 

และหากยิ่งเริ่มสูบในอายุที่น้อยมากเท่าใด จะยิ่งเพิ่มโอกาสกลายเป็นผู้ที่จะต้องเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิตมากขึ้น โดยพบว่าถ้ามีวัยรุ่นเสพติดนิโคติน โอกาสในการเลิกตลอดทั้งชีวิตจะมีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น

 

WHO แถลงคุมเข้ม

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และลดอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่

1.ประเทศที่มีการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ดำเนินมาตรการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างทันท่วงที

2.ประเทศที่อนุญาตให้มีการค้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้า (การขาย การนำเข้า การจัดจำหน่าย และการผลิต) ควรกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อลดความน่าดึงดูด และอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อประชากร รวมถึงการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแต่งรสชาติทั้งหมด จำกัดความเข้มข้น และคุณภาพของนิโคติน และบังคับใช้มาตรการภาษีอย่างเข้มงวด

 

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelar) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เผยว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนรัฐบาลไทยให้มีกฎหมายเรื่องการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ขอให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องคนรุ่นใหม่จากผลิตภัณฑ์ที่อันตรายเหล่านี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งเสพติด อันตราย ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้สูบ และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก และเยาวชน

 

องค์การอนามัยโลกยังออกคำเตือน ไม่แนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนประเทศที่ดำเนินยุทธศาสตร์การเลิกบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรควบคุมเงื่อนไขในการเข้าถึง เพื่อให้มั่นใจว่ามีข้อบ่งชี้ทางคลินิกที่เหมาะสม และต้องควบคุมเป็นผลิตภัณฑ์โดยได้รับอนุญาตทางการค้าระบุเป็นยาเท่านั้น

 

บูรณาการความร่วมมือ คุมการระบาด

จากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายภายใต้เครื่องมือกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ให้เกิดนโยบาย และการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า

 

รวมทั้ง การสื่อสารสาธารณะสร้างกระแสสังคม ทั้งสองแนวทางจะเป็นการสะท้อนเสียงของสังคมต่อรัฐบาล ให้ยังคงนโยบายห้ามนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

 

นายกฯ สั่ง กวาดล้าง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’

ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากำลังแพร่หลายหนักมากในหมู่เด็ก และเยาวชน ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้า ผู้จำหน่าย อย่างจริงจังและเด็ดขาด และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 

อีกทั้ง ยังขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันออกมาตรการ การป้องกัน เช่น การณรงค์เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า การสร้างความตระหนักรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีการตรวจตราให้เข้มงวด โดยเฉพาะสถานศึกษา รวมถึงการจำหน่าย และใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน

 

กรมศุลกากร สกัดบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนเข้าไทย

กระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ กรมศุลกากร เข้มงวดในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้า–ส่งออก สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่เป็นภัยต่อสังคม อาทิ อาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน ส่วนประกอบของปืน ยาเสพติด บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า และสุราเถื่อน

 

โดย กรมศุลกากร ได้มีการจับบุหรี่ไฟฟ้าได้จำนวนมาก แต่ยังมีช่องว่างในการซุกซ่อนเข้ามาในตู้คอนเทนเนอร์ท่าอากาศยาน ท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องมีการจัดชุดทำงาน และชุดเคลื่อนที่เร็ว โดยการไปสุ่มตรวจสินค้าในแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ คุมเข้มในเรื่องการขนถ่ายพวกบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่เถื่อนกันกลางทะเล ก่อนจะวกกลับเข้าประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับตำรวจน้ำจับกุมกันกลางทะเล เพื่อไม่ให้บุหรี่เถื่อน และบุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาระบาดในประเทศไทย เพราะจะทำให้สูญเสียผลประโยชน์แก่ประเทศแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

 

สสส. มุ่งสร้างเสริม ควบคุม สื่อสาร

ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นขับเคลื่อนการทำงานเพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็ก และเยาวชนอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนกลไกการทำงานของเครือข่ายทุกภาคส่วนในการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ในปี 2567 สสส. มุ่งเน้นการดำเนินงาน ดังนี้

1.สร้างเสริมความรอบรู้ สร้างการรับรู้ และความตระหนักให้เด็ก เยาวชน ครู และผู้ปกครองรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า

2.สนับสนุนมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

3.รณรงค์ สื่อสารในประเด็นอันตราย และผลกระทบทางสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น คลิปวิดีโอ สื่อโฆษณา Infographic หนังสือภาพสำหรับเด็ก เพื่อปกป้องเด็ก และเยาวชนจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

 

การควบคุม 'บุหรี่ไฟฟ้า' ในต่างประเทศ

ข้อมูลจาก รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยถึงกรณีในต่างประเทศว่า ฝ่ายค้านของประเทศอังกฤษเตรียมเสนอนโยบาย “ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” โดยอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะกรณีที่มีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น

 

ขณะที่ เวส สตรีตติ้ง (Wes Streeting) รัฐมนตรีเงากระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ได้ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ แต่แท้จริงแล้วทำให้เกิดการแพร่ระบาดของนิโคตินในเด็กและเยาวชน ดังนั้น การเสนอนโยบายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และให้ใช้ได้เฉพาะมีใบสั่งแพทย์นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก และเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประตูพาเด็ก เยาวชน ไปสู่บุหรี่ และสารเสพติดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงเปิดช่องทางให้ผู้ใหญ่ที่ต้องการเลิกบุหรี่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ ภายใต้การดูแลจากแพทย์

 

“ในปัจจุบันแม้อังกฤษจะมีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กอายุต่ำว่า 18 ปี ก็ยังพบอัตราการสูบบุหรี่ในเด็กมัธยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการสำรวจเมื่อปี 2566 พบเด็กอังกฤษอายุ 11-17 ปีเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 20.5% โดยบุหรี่ไฟฟ้าที่เด็ก และวัยรุ่นใช้ส่วนมาก ได้แก่ พอดแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่ง 95% ของเด็กจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดมีกลิ่น รสชาติ ได้แก่ รสผลไม้ และขนมหวาน ทั้งนี้ เป็นนโยบายเดียวกับประเทศออสเตรเลีย ได้ประกาศ และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เนื่องจากต้องการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน”

 

พบเห็นการจำหน่าย ทำอย่างไร

สำหรับผู้ประกอบการที่ยังลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากประชาชน ผู้ปกครอง สถานศึกษา พบเห็นการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งหน่วยงานรัฐ ทั้งทาง สายด่วน สคบ. 1166 ทางเว็บไซต์ OCPB.go.th เฟซบุ๊ก สืบนครบาล IDMB แอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสายด่วนของภาครัฐทุกช่องทาง

 

อ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , มหาวิทยาลัยมหิดล

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์