รู้จักและเข้าใจ 'กลิ่นคนแก่' ที่ทุกคนต้องเจอเมื่ออายุมากขึ้น

รู้จักและเข้าใจ 'กลิ่นคนแก่' ที่ทุกคนต้องเจอเมื่ออายุมากขึ้น

"กลิ่นคนแก่" คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด? ชวนทำความรู้จักกลิ่นเฉพาะตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น เพื่อเรียนรู้และเข้าใจ "ผู้สูงอายุ" รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับตัวเราเองในวันที่ความชรามาเยือน

ใครที่ไปดูหนังเรื่อง "หลานม่า" มาแล้ว คงจะจำซีนที่สองตัวละคร "มุ่ย" กับ "เอ็ม" คุยกันเรื่อง "กลิ่นคนแก่" กันได้ แม้มุ่ยจะแนะนำว่า ต้องใช้เวลาและความคุ้นชินเท่านั้น กลิ่นถึงจะหายไปจากการรับรู้ แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านี้ ยังมีแง่มุมความอ่อนไหวซ่อนอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจที่อาจบั่นทอนความมั่นใจของ ผู้สูงอายุ หากลูกหลานหรือคนดูแลขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกลิ่นที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้น

"กลิ่นคนแก่" คืออะไร มาจากไหน?

เมื่อพูดถึง "กลิ่นคนแก่" ในมุมทั่วๆ ไป อาจไม่มีคำนิยามตายตัว บางครอบครัวอาจได้กลิ่นที่อธิบายเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่สัมผัสได้ถึงกลิ่นที่ผสมผสานระหว่างกลิ่นข้าวของเครื่องใช้ของผู้สูงอายุ กลิ่นของความรัก ความอบอุ่น และความเป็นมิตร หรือกลิ่นที่เกิดจากการปรุงแต่งเข้าไป เช่น กลิ่นแป้งเย็น กลิ่นยาหม่อง เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ หลายคนเปรียบเทียบกลิ่นคนแก่กับกลิ่นหนังสือเก่า ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นกลิ่นที่ปลอดภัยและมีความสุข

แต่หากมองในมุมวิชาการ กลิ่นคนแก่เกิดจากอะไร สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

  • กลไกธรรมชาติตามช่วงวัย : เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น สารต้านอนุมูลอิสระที่ผิวจะค่อยๆ ลดลง ทำให้เวลาที่ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมา จะมีปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศได้มากขึ้น เกิดเป็นสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า 2-nonenal ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักของกลิ่นคนแก่นั่นเอง โดยสารตัวนี้มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้กลิ่นติดทนบนเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ได้ดี 
  • การเกิดโรคในร่างกาย : มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า "กลิ่นคนแก่" เป็นการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพหรือสภาพโรคตามธรรมชาติในร่างกาย ยิ่งอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันโดยรวมจะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังต่างๆ ก็จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น โดยร่างกายมนุษย์มีกรดไขมันที่เรียกว่า "กรดไขมันอิสระ" ผู้ป่วยเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ หรือโรคบางโรคจะมีกรดไขมันอิสระที่มีความเข้มข้นสูงกว่าคนปกติ เมื่อกรดไขมันอิสระเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันก็จะเกิดสาร 2-nonenal ที่มีความเข้มข้นสูง ทำให้กลิ่นชัดเจนยิ่งขึ้น
  • ปัจจัยอื่นๆ : ผลจากการทำงานของเมตาบอลิซึมที่ค่อยๆ เสื่อมลง ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่ไม่ดีเช่นเดิม บวกกับเหงื่อและความมันที่มักสะสมบนผิวหนัง รวมถึงการอักเสบที่เกิดจากความเสื่อมของลำไส้ ช่องปาก และระบบอื่นๆ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นได้เช่นกัน

"กลิ่นเฉพาะตัว" กับผู้ใหญ่วัย 40+ 

ในวัย 40+ ถือเป็นช่วงวัยที่ค่อยๆ แสดงสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ "กลิ่นเฉพาะตัว" โดยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีรายงานพบว่า ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีสาร 2-nonenal ในปริมาณที่สูงกว่าในเหงื่อและบนผิวหนัง ซึ่งเป็นสารประกอบเดียวกับที่พบในเบียร์บ่ม สามารถอธิบายลักษณะกลิ่นได้ว่า เป็นกลิ่นหญ้าและกลิ่นมันเยิ้ม หากมีการสูบบุหรี่ ไม่ดูแลเรื่องอาหารการกิน หรือสุขอนามัยส่วนตัวก็จะยิ่งส่งผลต่อการผลิตและสะสมของสารประกอบที่มีกลิ่นบนผิวหนัง ทำให้ กลิ่นคนแก่ ชัดเจนและรุนแรงขึ้น จนกลายปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจตามมาได้

กลิ่นแก่..แก้ยังไงดี?

แม้ว่ากลิ่นของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเมื่อคนเราอายุมากขึ้น แต่ก็อาจทำให้ใครหลายคนสูญเสียความมั่นใจ เพราะกลิ่นจะติดไปกับเสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับตัวเองหรือผู้สูงอายุที่บ้านกันดูได้

  • อาบน้ำอุ่นหรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นบ่อยๆ เพื่อให้รูขุมขนขยาย โดยเฉพาะบริเวณหลังหู หลังคอ หน้าอก และหลัง ช่วยชะล้างคราบต่างๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นตามรูขุมขนได้
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีกลิ่นหอม มีสารสกัดจากลูกพลับ หรือส่วนผสมของสารส้ม โดยตามตำราแพทย์แผนจีนโบราณ ถือว่าสารส้มเป็นยาดับกลิ่นที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อตามธรรมชาติ สามารถใช้ขจัดน้ำมันใต้วงแขน เท้า หลัง และหลังใบหูของผู้สูงอายุ ช่วยระงับกลิ่นกายและเหงื่อได้
  • กินอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ จิบบ่อยๆ ระหว่างวัน ช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย ชะล้างสิ่งตกค้าง ทำให้ระบบต่างๆ ทำงานได้ปกติ แถมยังช่วยลดกรดไขมัน และผลกระทบจากความรุนแรงของกลิ่นเฉพาะวัยได้ด้วย
  • ลดเนื้อสัตว์และอาหารที่มีไขมันสูง เพราะไขมันในเนื้อสัตว์จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันขับความมันส่วนเกินออกมามากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • เลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่คือตัวการที่ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานแย่ลง เกิดการสะสมของเสียในร่างกาย และเกิดกลิ่นตามต่อมผิวหนังที่ต้องขับออกมามากกว่าเดิม
  • ออกกำลังกายหรือพยายามเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้ต่อมเหงื่อขยายและขับของเสียออกไป ลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรก
  • ระบายอากาศบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นประจำ เพราะบางครั้งสภาพแวดล้อมในห้องของผู้สูงอายุอาจมีความอับชื้น ส่งผลให้กลิ่นมีความรุนแรงขึ้น
  • ซักเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนเป็นประจำ แม้ว่าสาร 2-nonenal จะไม่สามารถละลายน้ำได้ แต่น้ำร้อนหรือผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ขจัดคราบไขมันอาจช่วยได้

เรื่อง "กลิ่นคนแก่" แม้จะเป็นกลิ่นสัจธรรมที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ลูกหลานต้องทำความเข้าใจ ทั้งการปฏิบัติตัว และการดูแล ผู้สูงอายุ ด้วยทัศนคติเชิงบวก เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่เข้าสู่วัยเลข 4 ไปจนถึงเลข 5 ควรเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ โดยเฉพาะความใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องของสุขอนามัยที่ดี

ข้อมูลอ้างอิง :