เปิดตัว "AICEDA BoneX" ช่วยผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เปิดตัวนวัตกรรมทางการแพทย์ AICEDA BoneX ช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมงานประชุมวิชาการ 84 ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า เขตสุขภาพที่ 6 จังหวัดจันทบุรี ครั้งที่ 20 THE FUTURE OF WELLNESS : CONNECTED AND COSTOMIZED อนาคตกับสุขภาพดีที่คุณเลือกได้ ณ ห้องประชุมพลอยจันท์ ชั้น 3 อาคารศูนย์ฝึกปฏิบัติการจำลองทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
ภายในงาน มีการบรรยายวิชาการ หัวข้อ “นวัตกรรม AICEDA BoneX เส้นทางการวิจัย พัฒนาต่อยอดสู่การใช้งานในโรงพยาบาล เขตสุขภาพที่ 6” โดย อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการ และเทคโนโลยีสารสนเทศวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ นายแพทย์พลชัย วงษ์ทองสาลี ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และ รองผู้อำนวยการด้านสุขภาพดิจิทัล โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชวนรพ.ภาครัฐทั่วประเทศร่วมประกวดสาธารณสุขดีเด่น “รางวัลศรีสวางควัฒน”
"AICEDA BoneX" วินิจฉัยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์
นับเป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์แพลตฟอรม์ AICEDA (ไอเชียด้า) แพลตฟอร์มสนับสนุนการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ สู่การสร้าง“แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” หรือ AICEDA BoneX ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมโดยได้นำร่องในการนำนวัตกรรมระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ มาใช้ในแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระปกเกล้า เขตสุขภาพที่ 6 จังหวัดจันทบุรี
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยรอยโรคกระดูกหักบนภาพเอกซเรย์ให้รวดเร็วและแม่นยํามากยิ่งขึ้น ซึ่งหากแพทย์สงสัยว่าคนไข้มีภาวะกระดูกสะโพกหักหรือไม่ เราสามารถใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ได้ทันที ช่วยให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวดเร็วและแม่นยํา ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ AICEDA BoneX สามารถรองรับภาพเอ็กซ์เรย์จากเครื่องหลายยี่ห้อและขนาดต่างๆ ได้ โดยมีการปรับปรุงคุณภาพภาพเอกซ์เรย์ให้มีความคมชัด ลดสิ่งรบกวน และปรับค่าสีของภาพ พร้อมกับการตรวจจับพื้นที่สนใจและแยกพื้นที่ซ้าย-ขวาอัตโนมัติ โมเดลนี้ได้รับการพัฒนาจากข้อมูลและการวินิจฉัยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า เขตสุขภาพที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาโมเดลภาพกระดูกสะโพกหักจากอดีตกว่า 850 เคส และทดสอบความแม่นยํากับ 340 เคส ซึ่งได้ผลความแม่นยําสูงถึง 98.53%
นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบทางคลินิกอีก 1,000 เคส โดยได้ค่า Sensitivity 0.976 และ Specificity 0.996 แพลตฟอร์มนี้ยังได้รับการออกแบบให้มีการควบคุมคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถนําข้อมูลที่ผิดพลาดกลับไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงความแม่นยํา ของโมเดลอย่างต่อเนื่องได้ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โทร. 02 576 6600 (ในวันและเวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8:00 – 16:00 น.)