รู้จัก "ไทรอยด์" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

รู้จัก "ไทรอยด์" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

“วันไทรอยด์โลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคมของทุกปี โดยอุบัติการณ์โรคไทรอยด์ในปัจจุบัน สาเหตุของทั้งไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 : 1

KEY

POINTS

  • “ไทรอยด์” (Thyroid Gland) สวิตซ์ร่างกาย ช่วยให้ทำงานอย่างเป็นระบบ เจริญเติบโตตามวัยควบคุมการเผาผลาญ อุณหภูมิในร่างกาย และส่งเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ 
  • ผมร่วงผิดปกติ ง่วงนอนบ่อย แต่นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย น้ำหนักเพิ่ม-ลดลงเร็ว หนาวหรือขี้ร้อนมากขึ้น ตาโปน ขับถ่ายไม่เป็นปกติ ประจำเดือนมาผิดปกติ และผิวแห้ง มีอาการเหล่านี้รีบหาหมอด่วน
  • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและการรักษาตนเองที่บ้าน โดยเริ่มจากการออกกําลังกายเป็นประจํา และฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เพราะความเครียดทำให้อาการแย่ลงได้

“วันไทรอยด์โลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคมของทุกปี โดยอุบัติการณ์โรคไทรอยด์ในปัจจุบัน พื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีน มักพบว่ามีคนไข้เกิดต่อมไทรอยด์โตมากกว่าปกติหรือที่เรารู้จักกันว่า โรคคอหอยพอก ส่วนในพื้นที่ที่มีการบริโภคไอโอดีนเพียงพอจะพบอาการโรคไทรอยด์ในกลุ่ม Autoimmune Disease ซึ่งเป็นสาเหตุของทั้งไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 : 1

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคไทรอยด์จำนวนมากในประเทศไทย และหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคไทรอยด์ ซึ่งหากรู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว ย่อมช่วยให้รับมือได้ทันท่วงทีและดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างถูกต้องในระยะยาว

“โรคไทรอยด์” เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังป่วยเป็นโรคไทรอยด์ โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวว่าเป็นอยู่ เนื่องจากยังไม่รู้จักโรคไทรอยด์ดีพอ จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

"ต่อมไทรอยด์" ต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งมีรูปร่างคล้ายผีเสื้ออยู่ที่คอใต้ลูกกระเดือก มีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นส่งไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง และต่อมไฮโปทาลามัส โดยร่างกายจะมีระบบควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างดี เพื่อรักษาระดับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา ควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด อารมณ์และความรู้สึก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ทันโรค พร้อมรักษา “ไทรอยด์” ก่อนเสี่ยง “มะเร็งต่อมไทรอยด์”

ไทรอยด์เป็นพิษ อย่าคิดว่าไกลตัว แพทย์ชี้ใครๆ ก็เป็นได้

รู้จักชนิดของ “โรคไทรอยด์”

รศ.พญ.ฉัตรประอร งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคไทรอยด์ คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ซึ่งอาการทางร่างกายของโรคแตกต่างกันไป นั่นเป็นเพราะโรคไทรอยด์มีหลายชนิด โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

1.ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ

ไทรอยด์ชนิดนี้สามารถพบเจอได้ทุกช่วงวัย คนไข้จะมีอาการ มือสั่น ใจสั่น ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด เหงื่อออกง่าย นอนไม่หลับ กินจุแต่น้ำหนักลด เหมือนมีการเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา น้ำหนักตัวอาจลดลง 5-10 กิโลกรัมภายในระยะเวลา 1 เดือน แม้จะไม่ได้ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยประมาณ 10% ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มเนื่องจากกินอาหารในปริมาณที่มากกว่าพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญไป 

2.ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำ

ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำ มักจะมีอาการตรงกันข้ามกับไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกิน คือ ไม่ค่อยเผาผลาญ น้ำหนักขึ้นง่าย อ้วนขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉื่อยชา ขี้หนาว ท้องผูก ง่วงบ่อย นอนเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนอ้วนจะต้องเป็นไทรอยด์เสมอไป

เบื้องต้นสามารถสังเกตตัวเองได้จากพฤติกรรมในอดีตกับปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีความเสี่ยงควรไปตรวจเช็กเพื่อความแน่ใจ 

3.ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

กรณีที่พบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ คนไข้มักกังวลว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ซึ่งคำตอบคือไม่จำเป็นเสมอไป โดยการจะทราบผลว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ต้องทำการเจาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพื่อนำเซลล์ไปตรวจ โดยพบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง นอกนั้นก็เป็นเพียงก้อนธรรมดาที่ไม่ได้อันตรายอะไร ซึ่งหากก้อนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ควรตามดูอาการอย่างสม่ำเสมอ

รู้จัก \"ไทรอยด์\" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไทรอยด์

รศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกินกับไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำนั้นไม่ได้มีสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่ในทางการแพทย์เชื่อว่ากรรมพันธุ์อาจมีส่วน โดยคนไข้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีครอบครัวที่เป็นโรคไทรอยด์เหมือนกัน สมมุติว่าคุณพ่อเราเป็นโรคไทรอยด์ เราก็อาจจะมีสิทธิ์เป็นไทรอยด์มากกว่าคนอื่น ขณะที่การรับประทานไอโอดีนในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้มีความเสี่ยงได้เช่นกัน

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ คือภาวะที่ต่อมไทรอยค์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติเมื่อร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนมากเกินความต้องการจะเกิดภาวะเป็นพิษต่อร่างกายนอกจากนี้ยังมีอีกภาวะที่เกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์ได้คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ทั้ง 2 ภาวะมีอาการ ดังนี้

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

  • ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
  • มือสั่น
  • หงุดหงิดง่าย
  • ผมร่วง
  • ใจสัน หัวใจเต้นเร็ว
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย ลักษณะอุจจาระค่อนข้างเหลว
  • น้ำหนักลดลง แม้รับประทานอาหารเท่าเดิม
  • อาจพบกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะต้นแขนและต้นขา

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์

  • ขี้หนาว
  • ผิวแห้ง
  • อ้วนขึ้นง่าย
  • ผมร่วง
  • เสียงแหบ
  • ท้องผูก
  • รู้สึกง่วงนอนบ่อย อ่อนเพลีย
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • อาจเป็นตะคริวบ่อยๆ

หากมีอาการที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาต่อไป

รู้จัก \"ไทรอยด์\" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

โรคไทรอยด์ เกิดจากอะไรได้บ้าง?

หากคุณสังเกตตัวเองแล้วพบว่าอ้วนขึ้น หรือผอมลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ ทั้งที่ไม่ได้รับประทานอาหารมากเกินไปและไม่ได้ควบคุมอาหาร คุณอาจกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงจากอาการไทรอยด์ผิดปกติ ! ซึ่งไทรอยด์เกิดจากอะไร แบ่งออกเป็นกี่รูปแบบ ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร 

ไทรอยด์” (Thyroid Gland) ให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นระบบ ดังนี้

  • ช่วยให้ร่างกายและอวัยวะเจริญเติบโตตามวัย
  • ควบคุมการเผาผลาญและอุณหภูมิในร่างกาย
  • ส่งเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบสมองและประสาท ภาวะทางอารมณ์ กล้ามเนื้อต่างๆ หัวใจ กระดูก เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าหากไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจทำให้ระบบในร่างกายรวนหรือพังได้

โรคไทรอยด์โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดได้จาก 2 สาเหตุ และสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  •  ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษ คือโรคไทรอยด์ที่เกิดจากการที่ระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายก็คือ น้ำหนักลดลงผิดปกติ ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อย มีประจำเดือนน้อยลง ความจำไม่ดี กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ผมร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ท้องเสีย ผิวเป็นด่างขาว มือสั่น แขนขาไม่มีแรง ตาโปน ต่อมไทรอยด์โต เป็นปื้นหนาที่ขา
  • ไฮโปไทรอยด์ คือโรคไทรอยด์ที่เกิดจากระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่น้อยเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายช้ากว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขี้หนาว ง่วงนอน อ่อนเพลีย ผมร่วง ผิวแห้ง ซึมเศร้า เป็นตะคริวง่าย หัวใจเต้นช้า ท้องผูก รอบตาบวม หน้าบวม ตัวบวม ต่อมไทรอยด์โต 

10 สัญญาณเตือน อาการไทรอยด์ผิดปกติ

1. อ่อนเพลีย

มักจะมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ในผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจ จึงทำให้รู้สึกใจสั่นง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง

2. ผมร่วงผิดปกติ

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมเส้นบางและเล็กลง หลังจากนั้นจะร่วงง่าย

3. นอนไม่ค่อยหลับ

เพราะต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกินไป ฮอร์โมนที่มีมากจะกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง รบกวนการนอน จึงทำให้มีอาการนอนไม่หลับได้

4. รู้สึกง่วงตลอดเวลา

หากต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ ฮอร์โมนที่ลดน้อยลงจะส่งผลให้มีอาการไม่สดชื่น ง่วงตลอดเวลา คิดช้า และไม่มีสมาธิ

5. น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงแบบผิดปกติ

อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอาการเฉพาะของโรคไทรอยด์ที่สังเกตได้ไม่ยาก เพราะหากต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือมีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ ไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนออกมามากและกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึม ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนภาวะไฮโปไทรอยด์ ไทรอยด์จะทำงานต่ำ จึงทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายเนื่องจากการเผาผลาญต่ำลง

รู้จัก \"ไทรอยด์\" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

6. รู้สึกหนาวตลอดเวลา หรือขี้ร้อนมากขึ้น

ภาวะไฮโปไทรอยด์ หรือต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมาไม่มากพอ จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายก็ลดน้อยลง จึงทำให้ใครหลายๆ คนกลายเป็นคนขี้หนาวได้ง่ายมากขึ้น แต่ในทางกลับกันภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะรู้สึกว่าตัวเองขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ

7. ตาโปน

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษอาจมีอาการระคายเคืองตา น้ำตาไหลง่าย และอาจดูคล้ายว่าตาโปน แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะหนังตาปิดตาขาวได้น้อยกว่าปกติ โดยเป็นผลจากการมีฮอร์โมนส่วนเกินไปสะสมที่กล้ามเนื้อหลังลูกตา ทำให้กล้ามเนื้อหลังลูกตาและไขมันในเบ้าตาบวม จนดันให้ลูกตาโปน หรือยื่นออกมาด้านหน้าของเบ้าตา

8. ขับถ่ายไม่เป็นปกติ

ไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลให้ลำไส้ทำงานหนักมากขึ้นและเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้ขับถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ในขณะที่ภาวะไทรอยด์ต่ำจะส่งผลตรงข้ามกันคือทำให้มีอาการท้องผูก

9. ประจำเดือนมาผิดปกติ

ในผู้หญิงที่มีภาวะไทรอยด์สูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติ จะทำให้ประจำเดือนขาดหรือมามากผิดปกติได้ แต่เมื่อรักษาให้ฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับคงที่แล้ว ประจำเดือนก็จะเริ่มกลับมาปกติอีกครั้ง

10. ผิวแห้ง

ในผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือภาวะไฮโปไทรอยด์ จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลง ซึ่งนอกจากทำให้อ้วนง่ายขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้น หรือเหงื่อออกน้อยลง

ภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป (ไฮเปอร์ไทรอยด์)

ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) เมื่อเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป จนผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่ร่างกายเกินความจำเป็น ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นจนเกิดอาการผิดปกติ

ต่อมไทรอยด์อยู่บริเวณกลางลำคอ ระหว่างกล่องเสียงและกระดูกหน้าอก มีหน้าที่ผลิต triiodothyronine (T3) และ thyroxine (T4) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญพลังงาน อุณหภูมิของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และการผลิตโปรตีน

ที่ฐานของสมองของคนเราจะมีต่อมใต้สมองซึ่งควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยจะผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) สั่งให้ต่อมไทรอยด์ผลิต T3 & T4 หากร่างกายมีฮอร์โมน T3 & T4 น้อยเกินไปต่อมใต้สมองจะผลิต TSH ออกมามากขึ้นและในทางกลับกันก็จะผลิต TSH น้อยลงเมื่อมีฮอร์โมน T3 & T4 มากผิดปกติ

ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป จนผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่ร่างกายเกินความจำเป็น ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นจนเกิดอาการผิดปกติ

ไฮเปอร์ไทรอยด์มีอาการอย่างไร?

  • รู้สึกวิตกกังวลและหงุดหงิด
  • นอนไม่หลับ
  • ต้นแขนและต้นขาอ่อนแรง
  • มือสั่น
  • เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน
  • หัวใจเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดอย่างฉับพลันแม้ว่าจะรับประทานอาหารตามปกติหรือมากกว่าเดิม
  • ขับถ่ายบ่อย

ผู้หญิงบางรายอาจมีปัญหาประจําเดือนมาไม่ปกติหรือประจําเดือนขาดอย่างฉับพลัน ในขณะที่ผู้ชายอาจมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือหน้าอกโตหรือกดเจ็บ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปหลังได้รับการรักษา

อาการต่าง ๆ เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ น้ำหนักลดลง ซึมเศร้า เหนื่อยล้าอ่อนเพลียขณะทํากิจกรรมประจําวันสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุโดยไม่ทราบว่าเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป ดังนั้นหากมีอาการควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

รู้จัก \"ไทรอยด์\" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

ไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดจากสาเหตุอะไร?

เมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจะทําให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยโรคที่มักส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติ ได้แก่

  • โรคเกรฟส์ (Graves' Disease)เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองและเป็นสาเหตุของภาวะไทรอยด์ทํางานมากเกินไปที่พบได้บ่อยที่สุด โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างสารกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินกว่าที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • เนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษ (Toxic adenoma)คอพอกเป็นพิษชนิดหลายปุ่ม (Toxic multinodular goiter) หรือ โรคพลัมเมอร์ (Plummer's disease) เกิดขึ้นเมื่อ Thyroid Adenoma ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เกินความจําเป็น ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ต่อมไทรอยด์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน(Subacute thyroiditis) ต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลันชนิดเป็นการอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัส (Subacute granulomatous thyroiditis หรือ de Quervain's thyroiditis) เป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นและรู้สึกเจ็บ หลังจากที่หายดี ผู้ป่วยอาจมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์เป็นเวลาหลายเดือน และพบหลักฐานว่าโรคโควิด 19 มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน
  • ภาวะไทรอยด์อักเสบหลังคลอด ทําให้ต่อมไทรอยด์อักเสบชั่วคราว 2-3 เดือนหลังคลอดบุตร โดยอาจกลายเป็นโรคต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอยู่นานหลายเดือน ตามด้วยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โดยอาจมีอาการเป็นตะคริวอ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปของคนที่มีภาวะพร่องไทรอยด์สามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอยด์ได้สูงผิดปกติได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

  • มีคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคไทรอยด์หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเกรฟส์
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดมีแอนติบอดีจับกับสารช่วยการดูดซึมวิตามิน บี 12 ที่สร้างจากกระเพาะอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 และภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตปฐมภูมิ
  • เพิ่งคลอดบุตร

ภาวะแทรกซ้อน

โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคกระดูกพรุน สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูงจะลดการดูดซึมแคลเซียมทําให้กระดูกอ่อนแอและเปราะ

โรคไทรอยด์ขึ้นตา เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อตา มักมีผลต่อผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไปที่สูบบุหรี่ ปัญหาการมองเห็นที่เกิดจากโรคไทรอยด์ขึ้นตา ได้แก่

  • ลูกตาโปน
  • ปวดตา
  • รู้สึกเหมือนมีแรงดันในเบ้าตา
  • รู้สึกเหมือนมีเศษกรวดทรายในตา
  • เปลือกตาบวม
  • ตาแดง
  • เห็นภาพซ้อน
  • ตาไวต่อแสง
  • สูญเสียการมองเห็น
  • อาการทางผิวหนังจากโรคเกรฟส์ อาจทําให้สีผิวเปลี่ยนไป หน้าแข้งและเท้าบวม อย่างไรก็ตามมักพบได้น้อยมากและเกิดกับผู้ป่วยโรคเกรฟส์เท่านั้น

ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤต (Thyrotoxic crisis หรือ thyroid storm) พบได้น้อยมาก แต่อาจทำให้เกิดอาการที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น

  • มีไข้
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ขาดน้ำ
  • ท้องร่วง
  • ความสับสน
  • เพ้อ

การตรวจวินิจฉัยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

  • การตรวจเลือดสามารถวัดฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) หากระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงแต่ระดับฮอร์โมน TSH ต่ำ แพทย์อาจให้เข้ารับการถ่ายภาพการจับไอโอดีนในส่วนต่างๆ ของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Scan) หรือการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ เพื่อหาว่าสาเหตุของอาการเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคเกรฟส์หรือคอพอกแบบเป็นพิษ

วิธีการรักษาโรคไทรอยด์

รูปแบบการรักษาที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้ารับการรักษา ประเภทและความรุนแรงของอาการ โดยผู้เข้ารับการรักษาสามารถพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาแต่ละประเภท

การใช้ยา

  •  ยาต้านไทรอยด์ ได้แก่ methimazole และ propylthiouracil ช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ในหญิงตั้งครรภ์ แพทย์อาจแนะนําให้รับประทาน methimazole แทน propylthiouracil โดยควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยาก่อนเริ่มใช้ยาทุกครั้ง
  •  ยา Beta blocker เช่น atenolol หรือ propranolol ช่วยควบคุมอาการที่เกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป อันได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ ความวิตกกังวล อาการสั่น และอาการขี้ร้อน

การรักษาด้วยการกลืนแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน 131

ผู้ป่วยอาจกลืนแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ในรูปแบบแคปซูลหรือของเหลวครั้งเดียว  ซึ่งแร่จะใช้เวลา 6-18 สัปดาห์ในการทำให้เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ถูกทําลายอย่างถาวรเพื่อลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์  โดยปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไทรอยด์ก่อนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีอาการรุนแรง หรือเป็นโรคหัวใจ หลังการรักษาด้วยการกลืนแร่ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์เสริมไปตลอดชีวิต

ความเสี่ยงจากการรักษาด้วยการกลืนแร่ ได้แก่

  • การกลับมาเป็นซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีคอพอกขนาดใหญ่
  • ปัญหาโรคทางตาแย่ลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการผ่าตัด
  • ความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายสารกัมมันตรังสีไอโอดีนไปยังผู้อื่น หลังการรักษาควรเว้นระยะห่างจากเด็กเล็กและสตรีมีครรภ์เป็นเวลา 5-7 วัน

การผ่าตัด

เป็นการรักษาที่ได้ผลถาวร แต่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • กล่องเสียงและต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ช่วยรักษาสมดุลของระดับแคลเซียมในร่างกายอาจได้รับความเสียหายระหว่างการผ่าตัด
  •  ภาวะพร่องไทรอยด์ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับแทบทุกคนที่ผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออก

แพทย์จะแนะนําให้ทำการผ่าตัด ในกรณีที่

  • ผู้ป่วยหายใจลำบากเพราะคอพอกขนาดใหญ่ปิดกั้นทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยมีก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง
  • ผู้ป่วยเป็นโรคเกรฟส์ขึ้นตา
  • ผู้ป่วยต้องการวิธีการรักษาที่ได้ผลแน่นอนก่อนตั้งครรภ์
  • ยาต้านไทรอยด์ไม่ทําให้อาการดีขึ้นและผู้ป่วยไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการกลืนสารกัมมันตรังสีไอโอดีน

ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและการรักษาตนเองที่บ้าน

เมื่อมีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ การได้รับการรักษาที่เหมาะสมนั้นถือเป็นสิ่งจําเป็น เมื่ออยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ ได้โดย

  • ออกกําลังกายเป็นประจําเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หัวใจ และปอดให้แข็งแรง ช่วยให้รู้สึกกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ
  • ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายเพราะความเครียดจะทําให้อาการแย่ลง โดยเฉพาะภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไปที่มีสาเหตุมาจากโรคเกรฟส์

ตั้งครรภ์และภาวะต่อมไทรอยด์ทํางานมากเกินไป

หากผู้ป่วยมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปและต้องการวางแผนที่จะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปที่ไม่สามารถควบคุมได้ในมารดาอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ การเฝ้าระวังและการปรับยาสามารถช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้

หากไม่ต้องการรับประทานยาต้านไทรอยด์ ผู้ป่วยอาจพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัดหรือการกลืนแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน อย่างไรก็ดีหลังการรักษาด้วยการกลืนแร่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรออย่างน้อย 6 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ การรักษาด้วยการกลืนแร่นั้นไม่เหมาะกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

สัปดาห์วันไทรอยด์โลก (World Thyroid Day)25-29 พ.ค.นี้

โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ผู้นำด้านการรักษาโรคเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมานานกว่า 39 ปี เดินหน้าจัดกิจกรรม สัปดาห์วันไทรอยด์โลก (World Thyroid Day) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคร้ายที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไทรอยด์ ทั้งในด้านการเฝ้าระวังด้วยการตรวจคัดกรอง แนวทางการรักษา และการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

โดยจัดแสดงบูธกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคไทรอยด์ นวัตกรรมการผ่าตัดไทรอยด์ และนวัตกรรมด้านอาหารโดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพ อีกทั้งยังให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น อาทิ การวัดความดัน ตรวจความเสี่ยงเบาหวาน และประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ชั้น 10 อาคาร B โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต–เทพธารินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุต–เทพธารินทร์ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคนในสังคม ให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อการป้องกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรค สามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ทั้งครอบครัวมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามช่วงวัย

“ปัจจุบัน พบผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคไทรอยด์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดความรู้ จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งที่จริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน ดังนั้น โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ จึงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ให้การดูแลรักษา แต่เราให้ความสำคัญกับการป้องกัน โดยเน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้าใจความสำคัญของการตรวจคัดกรองและการเฝ้าระวัง เพื่อให้ทุกคนสามารถดูแลตนเองและลดความเสี่ยงของการเกิดโรค"

รู้จัก \"ไทรอยด์\" สวิตซ์สำคัญของร่างกาย

โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ขอเรียนเชิญผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรม สัปดาห์วันไทรอยด์โลก (World Thyroid Day) ตั้งแต่วันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ชั้น 10 อาคาร B โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ภายในงานพบกับกิจกรรมต่าง ๆ  อาทิ ร่วมสนุกกับกิจกรรมตอบคำถามลุ้นรับรางวัล บริการตรวจสุขภาพพื้นฐาน อาทิ การวัดความดัน ตรวจความเสี่ยงเบาหวาน และบริการตรวจประเมินความเสี่ยงหัวใจ ซึ่งทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่าย

พร้อมพบกับสาระความรู้ด้านนวัตกรรมการผ่าตัดไทรอยด์ นวัตกรรมด้านอาหารโดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพ และสิทธิพิเศษสำหรับผู้ร่วมงาน 5 ท่านแรกของทุกวัน (เข้าร่วมงานก่อนมีสิทธิ์ก่อน) เพียงลงทะเบียนภายในงาน สามารถรับสิทธิ์ตรวจไทรอยด์โดยแพทย์เฉพาะทาง ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://bit.ly/4bzxsWV

อ้างอิง: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยโรงพยาบาลวิมุติ ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค