"มะเร็งสตรี" รู้ก่อน รักษาไว มีโอกาสหาย ป้องกันได้ คุณภาพชีวิตดี
จากสถิติล่าสุดที่เปิดเผยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันมะเร็งโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยจัดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข
KEY
POINTS
- โรคมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบบ่อยมักเป็นตำแหน่งอวัยวะที่อยู่ลึกเข้าไปในร่างกายที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก การค้นหาหรือคัดกรองมะเร็งในกลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องตรวจหารอยโรค
- “มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งรังไข่” เป็นโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์สตรี ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิง
- เทคโนโลยีการรักษามะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มีการรักษาแบบอนุรักษ์ (Conservative surgery) โดยเฉพาะโรคมะเร็งระยะต้นๆ ที่ทำการผ่าตัดเฉพาะอวัยวะที่ผิดปกติและรับเคมีบำบัดเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยสามารถยังเก็บรักษาอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนได้ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- สตรีทุกคนควรได้รับการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอกรณีไม่มีอาการผิดปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น ปวดท้องน้อย เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ท้องโตผิดปกติหรือคลำก้อนได้ในท้อง ให้รีบเข้ารับคำปรึกษาและตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวชทันที
จากสถิติล่าสุดที่เปิดเผยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันมะเร็งโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยจัดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 คน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80,000 คนต่อปี
โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งปากมดลูก
หากกล่าวถึงโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์สตรีแล้วนั้น โรคที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกจากสถิติล่าสุดของ IARC ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 พบสถิติผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ของไทยปีละ 9,158 ราย และอัตราการเสียชีวิต 4,705 รายต่อปี หรือเท่ากับในแต่ละวันจะมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึง 13 คน โดยโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีหลายโรคกว่าจะตรวจพบหรือรอให้มีอาการนั้น บางรายอาจมีการกระจายของโรคไปแล้ว โอกาสการรักษาให้หายขาดจึงทำได้ยาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“แพ้อาหาร” โรคฮิตคนทุกวัย เรื่องเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม
‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้
มะเร็งในระบบสืบพันธุ์สตรีที่ควรรู้
พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี สูตินรีแพทย์ และมะเร็งนรีเวชวิทยา กล่าวว่าเนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์สตรีมีทั้งส่วนที่มองเห็นได้จากภายนอกร่างกายและส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกราน หากคำนึงถึงสถิติโรคมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบบ่อย มักเป็นตำแหน่งอวัยวะที่อยู่ลึกเข้าไปในร่างกายที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก โดยเฉพาะปากมดลูกจะอยู่ลึกเข้าไปด้านในสุดของช่องคลอด ส่วนมะเร็งรังไข่และมดลูก อยู่ในอุ้งเชิงกรานไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกร่างกาย
ดังนั้น การค้นหาหรือคัดกรองมะเร็งในกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นต้องตรวจหารอยโรคด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจพิเศษเพิ่มเติมก่อนที่รอยโรคจะก่ออาการ จะทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งระยะต้นของระบบสืบพันธุ์สตรีได้
สาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกนี้เกิดจากการติดเชื้อ HPV(Human Papilloma virus) สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเชื้อไวรัสเอชพีวี มีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยมีประมาณ 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรค ประกอบด้วย HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 56, 68
ในผู้หญิงบางคนอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ ได้
ปัจจัยเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อก่อมะเร็งปากมดลูก มีดังนี้
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีคู่นอนหลายคน
- ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเรื้อรัง
- สูบบุหรี่
- ทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
- ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง
ขณะที่ การสังเกตอาการน่าสงสัย
- มีเลือดออกผิดปกติ
- เลือดออกหลังวัยทอง
- มีอาการเบื่ออาหาร
- ตกขาวมีกลิ่น สี ที่ผิดปกติ
- อ่อนเพลียง่าย
- น้ำหนักลด
รู้จัก “มะเร็งรังไข่” สาเหตุสตรีเสียชีวิต
ขณะที่ “มะเร็งรังไข่” ซึ่งเป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก สถิติจากข้อมูล Cancer In Thailand Vol.X ปี 2016–2018 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า คนไทยป่วยเป็นมะเร็งรังไข่รายใหม่ ปีละประมาณ 2,900 ราย
โดยทั่วไปผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติ หรือมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ท้องอืด อึดอัดแน่นท้อง ทานอาหารได้น้อยลง เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ทั้งหมดจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากและตรวจพบว่าอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ทําให้ผลการรักษาไม่ดี มีโอกาสเป็นโรคซ้ำหลังการรักษาสูง และมีอัตราการรอดชีพต่ำ ดังนั้น มะเร็งรังไข่จึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีด้วยกัน
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ (Ovary) หรือท่อนำไข่ (Fallopian Tube) ทำให้รังไข่มีขนาดโตขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สตรีมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้สูงขึ้น ได้แก่
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- มีบุตรยาก
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยต่ำ
- มีภาวะขาดวิตามินเอ
- มีการทาแป้งฝุ่นบริเวณอวัยวะเพศ
- สตรีที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 20-40%
สตรีที่มีการกลายพันธุ์ของยีนส์ BRCA จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม ซึ่งหากตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนส์ดังกล่าว จะสามารถใช้วางแผนในการดูแลเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในสตรีที่ยังไม่เป็นโรค, การเลือกใช้ยามุ่งเป้า, รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวางแผนป้องกันการเกิดโรคในญาติสายตรง
รักษาไว ก่อนมะเร็งจะลุกลาม
การรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี หากตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง (preinvasive disease) สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที ก่อนการกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลาม แต่หากกรณีกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามแล้ว การรักษาหลักในปัจจุบันมักเป็นการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การใช้ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งนั้นๆ
มีโอกาสหาย
มะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี กรณีเป็นระยะก่อนมะเร็ง ได้แก่ รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งของมะเร็งปากมดลูก การรักษาในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาด และไม่กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้ นอกจากนี้ มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะต้น ผลการรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า และ/หรือ รังสีรักษา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากมีโอกาสหายขาดจากโรคได้
ป้องกันได้
“มะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีสามารถป้องกันได้”
- มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เอชพีวี (HPV vaccine), การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อเอชพีวี และ/หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา สามารถตรวจรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งและรักษา ป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งได้
- มะเร็งรังไข่ สามารถป้องกันได้โดยเฉพาะกรณีผู้ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็ง เช่น BRCA mutation เป็นต้น ก็ทำการตรวจคัดกรอง หรือผ่าตัดชนิด risk reduction surgery เพื่อลดโอกาสการกลายเป็นมะเร็งได้ รวมถึงการตรวจภายในประจำปี อัลตราซาวนด์หาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
เทคโนโลยี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตดี
เทคโนโลยีการรักษามะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีในปัจจุบัน มีการรักษาแบบอนุรักษ์ (Conservative surgery) โดยเฉพาะโรคมะเร็งระยะต้นๆ ที่ทำการผ่าตัดเฉพาะอวัยวะที่ผิดปกติและรับเคมีบำบัดเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยสามารถยังเก็บรักษาอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนได้ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ บางรายสามารถมีบุตรหลังการรักษามะเร็งหายได้ และเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง ไปจนถึงการผ่าตัดผ่านหุ่นยนต์ (Robotic surgery) ที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชได้หลายชนิด ทำให้ผู้ป่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด แผลขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดลดลง ระยะเวลาพักฟื้นสั้น สามารถกลับไปทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็ง วัคซีนป้องกันมะเร็ง การรักษาอย่างครบวงจร การรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ๆ การผ่าตัดผ่านกล้อง ยาเคมี ยาพุ่งเป้าเพื่อรักษามะเร็งตัวใหม่ๆ ทำให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ห่างไกลมะเร็งได้ และความเป็นผู้หญิงกลับคืนมาได้ในผู้ป่วยมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
อย่างไรก็ตาม สตรีทุกคนควรได้รับการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอกรณีไม่มีอาการผิดปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น ปวดท้องน้อย เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ท้องโตผิดปกติหรือคลำก้อนได้ในท้อง ให้รีบเข้ารับคำปรึกษาและตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวชจะดีที่สุด
อ้างอิง : ศูนย์สูตินรีเวช หน่วยมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลเจ้าพระยา ,กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข , กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข