ร้านขายยาโต แย่งชิง 'เภสัชกร' เร่งเพิ่มกำลังคน แก้ปัญหาขาดแคลน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายของร้านขายยา ในปีนี้ จะอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท เติบโตที่ 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งการรุกขยายสาขาของร้านเชนสโตร์ทำให้รายย่อยแข่งขันลำบาก การแข่งขันเพื่อแย่งชิงเภสัชกร
KEY
POINTS
- จากการใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายของร้านขายยา ในปีนี้ จะอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท เติบโตที่ 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- การที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเชนสโตร์ มีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น อาจทำให้ท้ายที่สุด จำนวนเภสัชกรเพิ่มขึ้นไม่ทันกับจำนวนสาขาร้านขายยา
- แม้ว่าจะมีเภสัชกรจบใหม่ขึ้นทะเบียนราวปีละ 1,700 คน แต่หลายภาคส่วนยังขาดแคลน “สภาเภสัชกรรม” จึงอยู่ระหว่างพิจารณาการแก้ปัญหา เพื่อธำรงเภสัชกรในระบบไว้ เน้นเรื่องความก้าวหน้า และผลิตบุคลากรให้ได้มากขึ้น
จากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย อาจขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.0% ในปี 2567 หนุนให้ธุรกิจร้านขายยายังเติบโต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายของร้านขายยา ในปีนี้ จะอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท เติบโตที่ 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในหลายประเด็น ได้แก่ การรุกขยายสาขาของร้านเชนสโตร์ทำให้รายย่อยแข่งขันลำบาก การแข่งขันเพื่อแย่งชิงเภสัชกร หากดูข้อมูลสะสมจาก “สภาเภสัชกรรม” ในปัจจุบัน พบว่า เภสัชกร ที่ขึ้นทะเบียนไว้มีอยู่ราว 50,700 คน ในจำนวนนี้ มีกลุ่มที่หายจากทะเบียน ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือไม่ได้ประกอบวิชาชีพแล้วราว 5,000 คน และมีบางส่วนที่สำรวจไม่ได้ ทำให้ปัจจุบัน มีเภสัชกรที่ยังปฏิบัติงานอยู่ราว 30,000 - 40,000 คน
ผลิตบุคลากรราว 1,700 คนต่อปี
“รศ. (พิเศษ) ดร.ภก. กิตติ พิทักษ์นิตินันท์” นายกสภาเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า เภสัชกรในกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนรุ่นก่อนยังอยู่ในระบบเนื่องจากเป็นการขึ้นทะเบียนครั้งเดียวโดยไม่มีหมดอายุ แต่หลังจากปี 2558 เภสัชกรรุ่นใหม่จะต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปี ทำให้มีการสำรวจได้ว่าปฏิบัติงานอยู่ร้านขายยาราว 11,000 คน โรงพยาบาลรัฐและเอกชนราว 14,000 คน โรงงานราว 2,000 คน และอาจารย์ราว 1,500 คน รวมถึง ทำงานด้านการขึ้นทะเบียนตำรับยาราว 700 คน ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคราว 1,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กทม. ร่วม 5 องค์กร พัฒนาเทคโนโลยีเภสัชกรรม เพิ่มบทบาทร้านขายยา ลดปัญหา รพ. แน่น
- เจาะ 2 ธุรกิจ Health Care หลังโควิด เมื่อทั่วโลกหันมาโฟกัสสุขภาพมากขึ้น
ในแต่ละปีมีการเปิดรับนักศึกษาใหม่ราว 2,000 คน เภสัชกรจบใหม่ราว 1,700 – 1,900 คนต่อปี และสอบใบประกอบวิชาชีพราว 1,700 คนต่อปี ดูภาพรวมเหมือนจะเพียงพอ แต่ความจริงหลายหน่วยงานยังคงประกาศรับสมัคร ทั้งร้านขายยา โรงพยาบาล และอุตสาหกรรม ทุกภาคส่วนเรียกว่ายังมีความต้องการเภสัชกร
ร้านขายยาโตดึงเภสัชกรทำงาน
ทั้งนี้ “ร้านขายยา” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เติบโตต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางการเข้าถึงทั้งยารักษาโรค เวชภัณฑ์และสินค้าสุขภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการสำหรับการเจ็บป่วยเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ในปี 2566 มีจำนวนร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวม 21,648 ราย ซึ่งจำนวนร้านขายยาในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เรียกว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 62% ของจำนวนร้านขายยาทั้งหมด ขณะที่จำนวนร้านขายยาในจังหวัดที่เหลือทยอยลดลงหรือมีสัดส่วนที่ 38%
สัญญาณดังกล่าวสะท้อนถึงการกระจุกตัวของธุรกิจในจังหวัดหลัก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของร้านขายยาเชนสโตร์ที่มีหลายสาขา (Chain store) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งผู้ผลิตยา โรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการค้าปลีก รวมถึงร้านขายยารายย่อยที่ไม่มีสาขา (Independent store) ที่ยังขยายสาขาในทำเลที่มีศักยภาพ
การรุกขยายสาขาของร้านเชนสโตร์ทำให้รายย่อยแข่งขันลำบาก ทั้งแฟรนไชส์รายใหญ่ ผู้ผลิตยาและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางตรง รวมถึงธุรกิจค้าปลีกที่แตกไลน์ธุรกิจร้านขายยาและสินค้าสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้สะดวก ส่งผลให้ร้านขายยารายย่อยบางส่วนแข่งขันรุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะในเขตเมืองและพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพ สะท้อนได้จากยอดขายของร้านขายยาเชนสโตร์ในปี 2567 คาดว่าจะมีสัดส่วนราว 30% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนมูลค่าราว 28% ขณะที่ สัดส่วนยอดขายของร้านขายยารายย่อยน่าจะมีแนวโน้มลดลง
ขณะที่ การแข่งขันเพื่อแย่งชิงเภสัชกร แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยา แต่ระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการโดยเฉพาะเชนสโตร์ยังคงมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น อาจทำให้ท้ายที่สุด จำนวนเภสัชกรเพิ่มขึ้นไม่ทันกับจำนวนสาขาร้านขายยา ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการเชนสโตร์รายใหญ่เปิดรับสมัครเภสัชกรทั้งฟูลไทม์ พาร์ทไทม์ โดยแข่งกันเสนอทั้งเงินเดือน ค่าประสบการณ์สวัสดิการต่างๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ร่วมเป็นเจ้าของร้านขายยาเพื่อดึงดูดให้เภสัชกรเข้ามาทำงาน
“นายกสภาเภสัชกรรม” กล่าวต่อไปว่า เภสัชกรที่จบใหม่ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานกระจายทุกภาคส่วน แต่ปัจจุบันแนวโน้มไปอยู่ร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากค่าตอบแทนสูงราว 50,000 บาท อีกทั้งยังพบว่า เภสัชกรในภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลใหญ่ๆ ไหลออกมาทำงานร้านขายยาในปีที่ผ่านมา
“นอกจากนี้ การยกระดับมาตรฐานร้านยา ซึ่ง อย. เข้มงวดมากขึ้น ให้ทุกร้านต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตามกฎหมายกำหนด จากเดิมที่ผ่อนผันกันมา ทำให้มีการดึงกำลังคนไปเยอะพอสมควร รวมถึง บางคนที่จบทางด้านเภสัชฯ แต่ประกอบอาชีพอื่นๆ ทำให้ขณะนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งพยายามปรับเพิ่มค่าตอบแทนเภสัชกรราว 45,000 – 50,000 บาท ไม่รวมค่าเวร เรียกว่าหลายที่เริ่มขยับ”
แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนเภสัชกร
ขณะนี้ “สภาเภสัชกรรม” อยู่ระหว่างพิจารณาการแก้ปัญหาขาดแคลนเภสัชกร ได้แก่ 1. เสนอกระทรวงสาธารณสุข ให้พยายามหาแนวทางที่จะธำรงเภสัชกรในระบบไว้ โดยเน้นในเรื่องความก้าวหน้า และค่าตอบแทนที่เหมาะสม และพิจารณาเรื่องการรับเภสัชกรใช้ทุนมากขึ้น รวมถึงพิจารณานำเทคโนโลยีและเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ มาช่วยงานมากขึ้น
2. กำลังหารือกับคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ ปรับระบบการฝึกงานของนักศึกษาเภสัชฯ ปี 6 ให้เป็นลักษณะเป็นเภสัชกรฝึกหัด และให้อยู่ปฏิบัติงานยาวทั้งปีในหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาเรื่องการขาดแคลนเภสัชกร
3. อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าคณะเภสัชศาสตร์ที่มีศักยภาพ ให้ช่วยขยายจำนวนรับนักศึกษาให้มากขึ้นได้อย่างไร โดยยังมีหลักประกันเรื่องคุณภาพบัณฑิต
และ 4. มีการเตรียมเปิดคณะใหม่เพิ่มเติมต่อไป