กังวลใจจนนอนไม่หลับ | วรากรณ์ สามโกเศศ

กังวลใจจนนอนไม่หลับ | วรากรณ์ สามโกเศศ

มั่นใจว่าทุกคนเคยรู้สึกกังวลจนนอนไม่หลับ  กังวลว่าจะมีโรคระบาดร้ายแรงอีกหรือไม่ วัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดไปแล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกายในอนาคตหรือไม่อย่างไร     เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร   จะตกงานไหม    สภาวะอากาศแปรปรวนจะมีผลต่อชีวิตอย่างไร    

KEY

POINTS

  • ส่วนใหญ่สิ่งเรารู้สึกกังวลใจนั้นมักไม่เกิดขึ้นจริง  การกังวลจนนอนไม่หลับล้วนเป็นผลจากความคิดคำนึงด้านลบของเราเองทั้งสิ้น
  • วิเคราะห์ 3 สาเหตุของความกังวล ได้แก่ ต้องการควบคุม สงสัยในความสามารถ จินตนาการเลวร้ายสุด ๆ 
  • 6 แนวทางที่จะช่วยจัดการความกังวล
  • key point สรุปจากกองบรรณาธิการ

 

ลูกจะสอบเข้าได้ไหม    คนรักจะเทหรือปาดคอเราไหม   พรุ่งนี้หมอนัดดูผลเลือดและผลตรวจร่างกายจะเป็นอะไรไหม    ฯลฯ  สารพัดเรื่องที่เราสามารถกังวลได้   ถ้ารู้สาเหตุและหนทางแก้ไขบ้างก็คงดีไม่น้อย

ความกังวล (anxiety) หมายถึงความรู้สึกกังวลใจและไม่สบายอันเนื่องมาจากการจินตนาการเหตุการณ์หรือสิ่งที่คาดว่าเป็นลบจะเกิดขึ้น  อันแตกต่างจากความกลัว (fear) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มาจากเรื่องจริงที่กำลังคุกคาม    

ประเด็นสำคัญก็คือเรากังวลใจกับสิ่งที่เราฟุ้งซ่านจินตนาการขึ้นเอง ว่าจะเกิดขึ้นในด้านที่เป็นลบอย่างเกินเหตุ ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขก็ต้องเริ่มจากจุดนี้

ส่วนใหญ่สิ่งเรารู้สึกกังวลใจนั้นมักไม่เกิดขึ้นจริง  การกังวลจนนอนไม่หลับล้วนเป็นผลจากความคิดคำนึงด้านลบของเราเองทั้งสิ้น    ยิ่งเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มากเท่าใดก็ยิ่งมีโอกาสมีภาพในใจที่ไปไกลได้อย่างน่าอัศจรรย์    

มนุษย์มีความรู้สึกกังวลใจในลักษณะและความเข้มข้นที่แตกต่างกัน    บ้างเพียงนอนไม่หลับกระสับกระส่าย     บ้างหัวใจเต้นแรง    รู้สึกแน่นหน้าอก    เหงื่อออก   มีอารมณ์ฉุนเฉียว   ฯลฯ     คนที่มีความรู้สึกกังวลอย่างรุนแรงและอย่างเรื้อรังจนนอนไม่หลับและขาดความสุขอาจนำไปสู่ความป่วยไข้ในอนาคตได้

 

อะไรเป็นสาเหตุของความกังวล?     

ข้อหนึ่ง ต้องการควบคุม     นี่คือสาเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยสุด    ถ้าเราเป็นคนที่ต้องการให้สิ่งต่าง ๆ  เป็นไปอย่างที่เราได้วางแผนไว้แล้วเป็นอย่างดี  

เช่น  ต้องการให้ผู้คนมีพฤติกรรมในบางเรื่องอย่างที่เราต้องการและจินตนาการว่าถ้ามันไม่เป็นไปเช่นนั้นแล้วก็จะตีตราตนเองว่าล้มเหลวอย่างน่าอับอาย  

การคาดคะเนว่าสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาจะเกิดขึ้นเช่นนี้แหละ ที่ทำให้เกิดความกังวลขึ้นในใจ

ข้อสอง   สงสัยในความสามารถ   ถึงแม้จะเป็นคนที่มีความสามารถในเรื่องต่าง ๆ แต่ถ้าบางครั้งเกิดความรู้สึกสงสัยในความสามารถของตนในการจัดการกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วก็ทำให้เกิดความกังวลใจขึ้นได้เช่นกัน    

ข้อสาม   จินตนาการเลวร้ายสุด ๆ    ผู้ที่ชอบจินตนาการความพังพินาศขนาดใหญ่ของชีวิต   ของงานหรือของธุรกิจในลักษณะเลวร้ายสุด ๆ อยู่เสมอแล้วจะทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในลักษณะบิดเบือนโดยมักตกอยู่ในห้วงกังวลใจอยู่เสมอเพราะคนเหล่านี้ไม่ไว้ใจสิ่งที่มองเห็น และมักจินตนาการไปทางร้ายสุดโต่งเสมอ

ข้อสาม   มีความทรงจำด้านลบจากอดีต    ทุกครั้งที่เรามีประสบการณ์ของสถานการณ์ที่เครียดสุด ๆ   ร่างกายจะรู้สึกถึงความเครียดนั้นและบางครั้งจดจำความรู้สึกเหล่านั้นไว้ถึงแม้จะล่วงเลยมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม    

ปรากฏการณ์เช่นนี้จะช่วยทำให้ระบบประสาทมีการตื่นตัวและรู้สึกว่าอยู่ในภาวะอันตรายอยู่เสมอจนทำให้สมองมองหาสิ่งที่เป็นอันตรายจากสิ่งที่ประสบอยู่ตลอดเวลา    

คนเหล่านี้จะกังวลเพราะความรู้สึกด้านลบที่เคยประสบมาถูกฝังลึกอยู่ในใจจนทำให้เกิดจินตนาการชนิดเลวร้ายที่ไม่รู้จบ

จัดการกับความกังวลอย่างไร?     

ข้อแรก  เรียนรู้ที่จะปลดปล่อย  ยอมรับว่ามีหลายสิ่งมากในชีวิตที่เราไม่อาจควบคุมมันได้    เมื่อเราทำดีที่สุดแล้วก็ต้องยอมปล่อยให้มันเป็นไป   ถึงกังวลก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้    มีแต่เสียสุขภาพ    

 ข้อสอง    ยอมรับการมีข้อผิดพลาด    มนุษย์สมบูรณ์แบบ (perfectionist)  กังวลมากกว่าคนปกติเพราะอะไรก็ตามที่ต่ำกว่า “สมบูรณ์แบบ” ไม่สามารถอภัยให้ได้    การตระหนักว่าเวลา  แรงงาน  และความคิดที่ทุ่มเทให้กับ “ความสมบูรณ์แบบ” นั้น ไม่คุ้มกับผลที่มันเกิดขึ้นที่มักไม่ “สมบูรณ์แบบ” เสมอ   การยอมรับความเป็นจริงของโลกเช่นนี้จะช่วยลดความกังวลลงได้

ข้อสาม   ไว้ใจตัวเอง   ต้องไว้ใจความสามารถของตนเองเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น     การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อาจช่วยให้ผ่อนคลายความกังวล และโน้มน้าวให้ไว้ใจความสามารถของตนเองมากขึ้น     

ข้อสี่  ปิดสวิตช์ความคิด   เรียนรู้ที่จะปิดสวิตซ์ความคิดในบางเรื่องโดยการหันเหไปกระทำหรือคิดเรื่องอื่น     เรื่องนี้พูดง่ายกว่าทำ   แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้    การนั่งสมาธิเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผล         

ข้อห้า   มองหาความช่วยเหลือ   สร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความพยายามในการเอาชนะความกังวล     เช่นการอ่านหนังสือ    การมีเพื่อน    การออกกำลังกาย      การฝึกใจ     ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือที่ดี

(ผู้เขียนเคยใช้การเขียนข้อกังวลใจทั้งหมดที่มีลงบนกระดาษ แล้วขยำกระดาษแผ่นนั้นลงถังขยะหรือเผาอย่างสะใจทันที มันเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างชะงัด)    

ถ้านอนไม่หลับและหาความสุขไม่ได้เลย เพราะความกังวลต้องพบแพทย์และนักจิตวิทยา

ข้อหก  ตีความหมาย   เมื่อบางสิ่งที่เป็นลบเกิดขึ้นโดยไม่เป็นไปดังที่วางแผนหรือตั้งใจไว้ก็จะขาดความสุข นักจิตวิทยาแนะนำให้ใช้วิธีที่เรียกว่า Positive Learning กล่าวคือตีความสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลบไปในเเนวทางบวกเสมอ  

การหาความหมายด้านบวกเช่นนี้จะนำไปสู่ความคิดที่เป็นบวกในอนาคตและมีความกังวลน้อยลง   เช่น  พบว่าเป็นโรคหัวใจก็มองว่าดีเหมือนกันเพราะเป็นสิ่งเตือนให้ต้องดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง    

“อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”    “ความกังวลเสมือนกับการนั่งเก้าอี้โยก  มันทำให้มีอะไรทำแต่ไม่ได้ทำให้ไปไหนเลย”    “โชคดีนะที่โดนเพียงแค่นี้”    ฯลฯ

ความกังวลใจมีสาเหตุมาจากใจที่ฟุ้งซ่านในด้านลบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งโดยแท้จริงแล้วมักไม่เป็นจริง    ถ้าปล่อยให้ใจเตลิดไปไกลโดยไม่หาหลักหรือวิธีคิดยึดเหนี่ยวแล้วก็จะไม่สบายตัว  รู้สึกไม่สบายใจ   นอนไม่หลับ   ขาดความสุขโดยรวม    และหากปล่อยไว้ก็อาจนำสู่โรคอื่น ๆ ได้  

 อย่างไรก็ดี ความกังวลอยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานและจะไม่มีวันหมดไป     แต่ถ้าปล่อยไว้ให้มันเป็นปัญหาเรื้อรังก็จะไม่เป็นมงคลอย่างแน่นอน

ผู้เขียนต้องรีบจัดการกับข้อเขียนนี้โดยเร็วเพราะอาจส่งไม่ทันกำหนดเวลา  / เขียนแล้วไม่มีคนอ่าน  / ข้อเขียนนี้อาจไปจี้ใจบางคนจนเอาปืนมายิงก็เป็นได้ /

เจ้าของข้อมูลสำหรับข้อเขียนนี้คือ Sheila Tan จาก Inquirer Lifestyle  อาจไม่พอใจที่เอามาอธิบายผิด ๆจนถูกฟ้องร้องได้  / ถึงเเม้ส่งไปในเมลถึงบรรณาธิการแล้วแต่อาจไม่ถึงจนเข้าใจผิดนึกว่าไม่ส่งข้อเขียนของอาทิตย์นี้   ฯลฯ    ช่วยด้วยครับ.