คนยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ “อาหารสุขภาพ” โตรับเทรนด์

คนยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ  “อาหารสุขภาพ” โตรับเทรนด์

คนไทยวัยทำงานยุคหลังโควิด ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ระวังเรื่องการกินมากขึ้น และออกกำลังกายเพิ่มขึ้นด้วย การสำรวจพบว่าคนไทย 1 ใน 4 กำลังควบคุมอาหาร 65% ให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 41% ใส่ใจในเรื่องฉลากโภชนาการบนสินค้า เมื่อจะซื้อสินค้าหรือบริการ

KEY

POINTS

  • การสำรวจ เทรนด์พฤติกรรมการกินของคนไทย ปี 2567 พบว่า คนไทยวัยทำงานยุคหลังโควิด ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ระวังเรื่องการกินมากขึ้น และออกกำลังกายเพิ่มขึ้นด้วย
  • กว่า 1 ใน 4 กำลังควบคุมอาหาร 65% ให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 41% ใส่ใจในเรื่องฉลากโภชนาการบนสินค้า เมื่อจะซื้อสินค้าหรือบริการ
  • ขณะเดียวกัน สังคมสูงวัย ส่งผลให้มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 อาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6%

หลังยุคโควิด-19 เทรนด์สุขภาพมาแรงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจการออกกำลังกาย ทานอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึง การป้องกันก่อนเกิดโรค Euromonitor ได้ทำการสำรวจ 7 “เทรนด์พฤติกรรมการกินของคนไทย” ปี 2567 พบว่า คนไทยวัยทำงานยุคหลังโควิด ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ระวังเรื่องการกินมากขึ้น และออกกำลังกายเพิ่มขึ้นด้วย

 

โดยคนไทย 1 ใน 4 กำลังควบคุมอาหาร 65% ให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 41% ใส่ใจในเรื่องฉลากโภชนาการบนสินค้า เมื่อจะซื้อสินค้าหรือบริการ 65% รู้สึกว่าสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกด้วยทางเลือกและพฤติกรรมของพวกเขาได้ 66% นิยมออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งที่บ้าน ออนไลน์ หรือฟิตเนส และ 58% บริโภคอาหารเสริมหรือวิตามินเพื่อสุขภาพเป็นประจำ

 

ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 อาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6% จากปีที่ผ่านมา สะท้อนการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของฐานประชากรผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ราว 4.5% จากปีที่ผ่านมา

 

กระแส สุขภาพมาแรง

บริษัท จิมสกรุ๊ป จำกัด ในฐานะบริษัทผลิตเครื่องปรุงรสอาหาร เคมีอาหาร นำเข้าส่งออก ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และ OEM ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs, HACC ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพที่วางขายในตลาดอย่าง Instant Soup ภายใต้แบรนด์ Lady Anna ที่มียอดขายในไทย แซง Global Brand อย่าง “Campbell” ในกลุ่มซุปเมื่อปีที่ผ่านมา

 

คนยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ  “อาหารสุขภาพ” โตรับเทรนด์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

“วีรภัทร์ ลิไพบูลย์” ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท จิมสกรุ๊ป จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทฯ ก่อตั้งในปี 2522 จากการผลิตสินค้า House brand รับจ้างผลิต OEM และขยับมาสู่การผลิตแบรนด์ของตนเอง ขายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ แคนาดา ตะวันออกกลาง ยุโรป ฟินแลนด์ เยอรมัน รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ปากีสถาน อินเดีย มัลดีฟส์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน เป็นต้น

 

ปัจจุบัน กระแสรักสุขภาพกำลังมา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการออกกำลังกาย ขณะที่อาหารยังไม่ชัดเจน เนื่องจากอาหารสุขภาพในประเทศไทยยังราคาสูงกว่าอาหารปกติหลายเท่า ดังนั้น จึงมองว่าทำอย่างไรจะเกิดสังคมสุขภาพที่แท้จริง อีกทั้ง กลุ่มที่รักสุขภาพจริงๆ จะทำอาหารทานเองและยังเป็นกลุ่มน้อย เพราะไลฟ์สไตล์คนส่วนใหญ่ต้องตื่นมาทำงาน เราจึงพยายามจับตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น

 

Lady Anna เริ่มต้นมากกว่า 10 ปี จากการขายต่างประเทศฝั่งยุโรป แคนาดา เอเชีย ได้รับการตอบรับที่ดีเนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนไทย และเริ่มจำหน่ายในไทย เพราะมองว่าหากเราดูแลสุขภาพได้ดี จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกัน หากเราไม่สามารถทำอาหารสุขภาพที่อร่อยได้ สังคมสุขภาพเราจะไม่เกิดขึ้นจริง

 

“แบรนด์ Lady Anna เป็น Instant soup ได้แก่ ซุปเห็ด ซุปข้าวโพด ซุปผักโขม ซุปคาโบนาร่า ถูกพัฒนาเอาใจคนรักสุขภาพ วางขายทุกซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาเก็ต โจทย์ในตอนนั้น คือ อาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน โดยพัฒนาอาหารสุขภาพที่รสชาติดี และ Healthy ที่สุด ควบคุมแคลอรีให้เหมาะสม ไม่สูงมาก รวมถึง ลดปริมาณเกลือ เช่น ในซุปผักโขม ลดปริมาณเกลือลง 7 เท่า เหลือราว 180-190 มิลลิกรัม ไม่ใส่ผงชูรส วัตถุกันเสีย ไม่มีคอเลสเตอรอล และเติมพรีไบโอติกส์ ราคาเข้าถึงได้ เพื่อให้สังคมสุขภาพเกิดขึ้นได้จริง”

 

คนยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ  “อาหารสุขภาพ” โตรับเทรนด์

 

อีกทั้ง ที่ผ่านมายังร่วมกับ มูลนิธิ พอ.สว. ในการมอบซุปให้กับหน่วยทันตกรรมสำหรับคนที่ผ่าฟันคุด ทานไม่สะดวก รวมถึง เป็นอาหารทางเลือก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน ใช้เป็นอาหารอ่อนอีกด้วย

 

ต่อยอด เจลลี่ สำหรับสูงวัย

นอกจากซุปแล้ว ยังมีการพัฒนาเจลลี่ โดยวิจัยภายในบริษัท และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง NIA ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มรักสุขภาพ ที่ต้องการทานของหวาน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ Jelly ผู้สูงอายุ ในรูปแบบเจลาติน หากตั้งในอุณหภูมิปกติจะกลายเป็นน้ำ แต่หากตั้งในตู้เย็นจะเป็นวุ้น

 

“เราคำนึงถึงความปลอดภัยในการทาน ป้องกันเด็กและผู้สูงอายุสำลัก เนื่องจากเจลาตินตัวนี้หากติดคอ จะสามารถละลายได้เพียงนับ 1-3 รวมถึงเป็นทางเลือก สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัญหาเรื่องการกลืน และบุคคลทั่วไปก็สามารถทานได้ ลดโอกาสการติดคอ สำลัก และในอนาคต บริษัทฯ มีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมสำหรับ Lady Anna ซึ่งเป็นกลุ่ม Healthy Instant Food ต่อไป อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น”

 

คนยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ  “อาหารสุขภาพ” โตรับเทรนด์

 

หลังโควิด คนหันมาใส่ใจสุขภาพ

วีรภัทร์ กล่าวต่อไปว่า สินค้าทุกตัวของบริษัทฯ เป็นฮาลาลทั้งหมด โรงงานได้มาตรฐาน Global Standard สามารถส่งออกได้ทุกประเทศ เพราะลูกค้าที่สำคัญ คือ ตะวันออกกลาง เราจึงต้องทำเพื่อให้ไม่มีข้อจำกัดในการส่งออก รวมถึง ทำมาตรฐานการผลิตทุกประเทศที่ส่งออก

 

ท้ายนี้ มองว่า ตลาดสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตและคนยอมรับรสชาติได้มากขึ้น จากเมื่อก่อนไม่อร่อยไม่กิน แต่ตอนนี้รู้ว่าไม่อร่อยแต่ก็ทานเพื่อสุขภาพ คนเข้าใจจุดนี้มากขึ้น ประกอบกับโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 ทำให้คนใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทานของที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ตลาดอาหารปกติยังขายได้อยู่ แต่เสริมทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น อีกทั้ง ปัจจุบันการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย พบปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ และอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น หวังว่าในอนาคตจะเกิดสังคมสุขภาพดีที่แท้จริงขึ้นในประเทศ

 

ตลาดอาหาร เครื่องดื่มสูงวัย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แบ่งตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเหมาะต่อการเจาะตลาดในระยะแรก เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเต็มใจจ่ายและต้องการอาหารที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารออร์แกนิก อาหารที่ปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยกับโรค (ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต่ำ) โดยเน้นชูคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย

 

2) อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แม้จะมีสัดส่วนในตลาดเพียง 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคนในปี 2564 คาดเพิ่มเป็นเท่าตัวที่ 8.3 แสนคน ภายในปี 2580 กลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา ซึ่งโอกาสอาจอยู่ที่การร่วมมือกับสถานพยาบาล ในการผลิตหรือหาช่องทางจำหน่ายร่วมกันโดยกลุ่มอาหาร

 

ในอนาคต ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ยังเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการเพิ่มขึ้นประชากรผู้สูงอายุไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุนและรุกตลาดมากขึ้น จนทำให้มีสินค้าหลากหลาย และทำราคาให้เข้าถึงได้ง่าย ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุในต่างจังหวัด รวมถึงโอกาสในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก อาทิ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น