“อินฟอร์มาฯ” ต่อจิ๊กซอว์อุตฯ ยา ดันไทย สู่เป้าหมาย “Medical Hub”
อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ เดินหน้าจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2024” (CPHI South East Asia 2024) งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยาแห่งเอเชีย ต่อจิ๊กซอว์อุตสาหกรรมยา ดันไทย สู่เป้าหมาย “Medical Hub”
KEY
POINTS
- ตลาดยาในประเทศมีมูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น นำเข้า 70% (168,000 ล้านบาท) ผลิตขึ้นใช้ภายในประเทศ 30% (72,000 ล้านบาท)
- โอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยา ถูกผลักดันด้วยอุปสงค์ที่เกิดขึ้น เช่น โควิด-19 สังคมสูงวัย ส่งผลให้ความต้องการการรักษาโรคเพิ่มมากขึ้น
- อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ เดินหน้าจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2024” ผลักดันระบบสุขภาพและการแพทย์เพื่อยกระดับมาตรฐานไปสู่ “ฮับอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์”
การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) นับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีความโดดเด่น ขณะเดียวกัน “อุตสาหกรรมยา” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีส่วนผลักดันให้ไทยไปสู่เป้าหมาย
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ตลาดยาในประเทศมีมูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น นำเข้า 70% (168,000 ล้านบาท) ผลิตขึ้นใช้ภายในประเทศ 30% (72,000 ล้านบาท) ขณะที่ ศูนย์วิจัยทางการตลาด สถาบัน IQVIA มองว่า ตลาดยาจะมีมูลค่าประมาณ 180,000 ล้านบาท และยังเติบโต 11% ต่อปี
ในไตรมาส 3 ปี 2023 มีการขายผ่านช่องทางโรงพยาบาล 56% เติบโต 15% แบ่งเป็น รพ.รัฐ 82% เติบโต 15% รพ.เอกชน 18% เติบโต 17% ขณะที่ร้านขายยาสัดส่วนอยู่ที่ 44% เติบโต 5% เป็นยาสำหรับผู้ป่วยโรคประจำตัว (โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ NCD) 35% ยาทั่วไปที่จำหน่ายในร้านขายยา 46% ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง วิตามิน และ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพรวม 19%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กำไร & ความมั่นคงทางยา ภาระกิจ (อภ.) 'ไทยแลนด์เฟริส'
- ส่องอุตสาหกรรมยา...โอกาส สู่การเป็น Medical hub ของเอเชีย
ล่าสุด อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ เดินหน้าจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2024” (CPHI South East Asia 2024) งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยาแห่งเอเชีย นับเป็นครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อผลักดันระบบสุขภาพและการแพทย์เพื่อยกระดับมาตรฐานไปสู่ “ฮับอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์” สร้างความมั่นคงทางการยาของประเทศไทยในระยะยาว
สังคมเปลี่ยน โอกาสตลาดยา
“รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาเก็ตส์ และผู้จัดการทั่วไป – ฟิลิปปินส์ ในฐานะผู้จัดงาน ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2024 (CPHI South East Asia 2024) เปิดเผยว่า โอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยา ถูกผลักดันด้วยอุปสงค์ที่เกิดขึ้น เช่น โควิด-19 ขณะที่ ภูมิทัศน์ประชากรไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยมีสูงวัย 60 ปีขึ้นไป 28% ของจำนวนประชากร ส่งผลให้ความต้องการการรักษาโรคเพิ่มมากขึ้น
“โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน มองหาการป้องกันก่อนเกิดโรค รวมถึง ภาครัฐผลักดันให้มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เรียกว่า ผลักดันทั้งแม็คโคร ไมโคร ทั้งหมดเป็นโอกาส ขณะเดียวกัน ในมุมของผู้บริโภค ก็มองหานวัตกรรมยาใหม่ๆ และมีทางเลือกในการเข้าถึงยามากขึ้น”
การก้าวสู่ Medical Hub ของประเทศไทยต่อจากนี้ จำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ ในส่วนยาชีวภาพยาชีววัตถุที่คล้ายคลึง (BioSimilar) เทคโนโลยีชีวภาพ และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาไปสู่เมดิคัล ฮับในอนาคต
พร้อมกับให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูง เครื่องมือผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และ จอภาพสำหรับติดตามสัญญาณชีพ เป็นต้น ขณะที่ด้านการผลิตยานั้น ประเทศไทยมีความเป็นผู้นำในการผลิตยาสามัญทั่วไป แต่ยังมีศักยภาพมากพอในการพัฒนาไปสู่การผลิตยาที่มีความซับซ้อนสูง เช่น ยาชีวภาพ
ยกระดับมาตรฐาน สู่สากล
สำหรับการจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2024” (CPHI South East Asia 2024) งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางการยาของประเทศไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนสุขภาพและเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่การเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมาตรฐานการผลิตยาที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และพร้อมแข่งขันในการเป็นผู้ผลิตยาสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งจุดเด่นด้านบริการทางการแพทย์ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องราคา การบริการที่ดี ตลอดจนคุณภาพของบุคลากร ส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยสามารถยกระดับการให้บริการที่ครบวงจร
รุ้งเพชร กล่าวต่อไปว่า นโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เมืองไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ และยาเป็นปัจจัยสำคัญ การดึงนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามาในไทยเพื่อก้าวสู่ Medical Hub ที่ผ่านมา โควิด-19 มีทั้งอุปสรรคและโอกาส ที่ทำให้ไทยมีการวิจัยเร็วขึ้น ติดอันดับต้นๆ ด้านสาธารณสุขที่ดูแลสุขภาพประชาชน ขณะที่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เหล่านี้ล้วนจำเป็นที่จะต้องใช้ยา
“เป้าหมายสำคัญของ CPHI คือ ผลักดันให้เมืองไทยเกิดศักยภาพ พร้อมเป็น Medical Hub โดยการสร้างความมั่นคงทางยา คนไทยเข้าถึงยาได้ อย่างสมเหตุสมผล ไร้กังวล โดยรวบรวมทั้งความรู้ในอุตสาหกรรมยา ไม่ว่าจะเป็น Pharma Ecosystem , Innovation Pharma Packaging , Pharma Future and Beyond อนาคตของยาเป็นอย่างไร ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยา การใช้ดิจิทัล เทเลเมดิซีน การผลิตยา การใช้ AI และโอกาสของยาชีววัตถุในประเทศไทย”
พร้อมด้วย กิจกรรมและสัมมนายกระดับความมั่นคงทางการยา อาทิ บริการจับคู่ธุรกิจที่ตรงเป้าหมาย สัมมนากฎระเบียบและเทรนด์อุตสาหกรรมยา เวิร์กช้อปส่งเสริมความยั่งยืนของอุตสาหกรรม และการแข่งขันประชันทักษะด้านเภสัชศาสตร์ เน้นให้ผู้ผลิตและผู้อยู่ในวงการยาได้เข้ามาพบปะ เนื่องจากไทยนำเข้าสารตั้งต้นเพื่อผลิตยากว่า 90%
“CPHI ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ให้เกิดการสร้างเครือข่าย ยกระดับอุตสาหกรรม เชื่อมผู้ประกอบการ และเป็นเวทีให้ความรู้ รวมถึงผู้ประกอบการ สร้างโอกาสในการส่งออก เมื่อยกระดับทางยา ผู้ผลิตสามารถผลิตยาได้ มีรายได้ คนไทยก็จะสามารถซื้อยาในราคายุติธรรม” รุ้งเพชร กล่าว
เปิดพื้นที่ สร้างความสามารถทางการแข่งขัน
สำหรับงาน CPHI South East Asia 2024 ระดมบริษัทเครื่องมือแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ชั้นนำกว่า 400 บริษัทจาก 50 ประเทศเข้าร่วมโชว์ศักยภาพ ส่องเทรนด์นวัตกรรมจากประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ โปแลนด์ จีน เกาหลี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา บราซิล สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เปิดพื้นที่เจรจาธุรกิจ อัปเดตความรู้ด้านวิชาการกว่า 60 หัวข้อ รวมถึง นวัตกรรมจาก 400 บริษัทฯ
แสดงถึงศักยภาพของผู้ผลิตยาไทยว่ามีความปลอดภัยสูง และ ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน นำไปสู่การมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 8,000 คนจากทั่วโลก โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์