ส้ม หรือ ชมพู่ หุ่นแบบไหน? เสี่ยงโรคอ้วนมากกว่ากัน

ส้ม หรือ ชมพู่ หุ่นแบบไหน? เสี่ยงโรคอ้วนมากกว่ากัน

สาวๆ ส่วนใหญ่มักจะถามตัวเองว่า  “เรารูปร่าง หุ่นแบบไหน?” เพื่อที่จะได้เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับรูปร่างของตนเอง หรือวางแผนออกกำลังกายที่จะช่วยให้หุ่นสวย หุ่นปัง สมส่วน เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนา

KEY

POINTS

  • คนปกติ ควรมีค่า BMI อยู่ที่ 18.5 – 22.9 kg/m2 หากมากหรือน้อยกว่านี้ จะเกิดภาวะทุพโภชนาการและโรคต่างๆ โดยค่า BMI 23.0 – 24.9 kg/m² เรียกว่า “น้ำหนักเกิน” และค่า BMI > 25 kg/m² เรียกว่า “โรคอ้วน”
  • ใครมีรูปร่างเหมือนส้ม คือ อ้วนที่พุง พุงป่องกลางตัวเหมือนผลส้มที่กว้างออกตรงกลาง ส่วนคนที่มีรูปร่างเหมือนผลชมพู่ คือ อ้วน บริเวณต่ำกว่าพุงก็คือ สะโพก พวกนี้เป็นคนที่มีสะโพกโตกว่าพุง
  • คนอ้วนที่หุ่นเหมือนผลส้ม มีการเกิดโรคหัวใจ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและมะเร็งบางชนิด ขณะที่คนอ้วนหุ่นชมพู่  มีความเสี่ยงต่ำกว่าและอาจจะยังมีผลลดความเสี่ยงบางชนิดโดยเฉพาะในผู้หญิง

สาวๆ ส่วนใหญ่มักจะถามตัวเองว่า  “เรารูปร่าง หุ่นแบบไหน?” เพื่อที่จะได้เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับรูปร่างของตนเอง หรือวางแผนออกกำลังกายที่จะช่วยให้หุ่นสวย หุ่นปัง สมส่วน เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนา

ทว่าด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ทำงาน ที่มักจะรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา แถมเลือกทานอาหารง่ายๆ ไม่ได้มองถึงคุณค่าทางโภชนาการ หรือ การให้รางวัลตนเองด้วยอาหารแสนอร่อย หลากหลายเชื้อชาติ  โดยเฉพาะ “อาหารไทย” ก็อร่อยมากๆ จนหลายๆคนเผลอทานจนไม่ได้ควบคุม หรือดูแลสุขภาพของตนเอง จนนำมาสู่โรคต่างๆ อย่าง โรคอ้วน 

"โรคอ้วน (Obesity)"คือ ภาวะที่มีน้ำหนักตัว หรือสัดส่วนไขมันในร่างกายมากผิดปกติ โดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) เป็นตัวกำหนด

คุณสามารถคำนวณค่า BMI ได้เองจาก น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 79 kg ส่วนสูง 155 cm หรือ 1.55 m

BMI = 79 / (1.55×1.55) = 32.88 kg/m²

ค่าดัชนีมวลกายเท่าไหร่จึงเรียกว่า “โรคอ้วน”

  • คนปกติ ควรมีค่า BMI อยู่ที่ 18.5 – 22.9 kg/m2 หากมากหรือน้อยกว่านี้ จะเกิดภาวะทุพโภชนาการและโรคต่างๆ
  • ค่า BMI 23.0 – 24.9 kg/m² เรียกว่า “น้ำหนักเกิน”
  • ค่า BMI > 25 kg/m² เรียกว่า “โรคอ้วน”

ด้วยวิถีชีวิตยุคสมัยนี้ทำให้คนเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น ตามสถิติขององค์การอนามัยโลกคนไทยเกือบหนึ่งในสามมีน้ำหนักตัวมากจนเป็นโรคอ้วนแล้ว เป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน รองจากมาเลเซีย ส่วนประเทศที่ประชากรเฉลี่ยอ้วนที่สุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา และจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กก่อนเสี่ยง อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’ น้ำหนักเกิน

วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

เช็กรูปร่างก่อนเลือกเสื้อผ้า ออกกำลังกาย

โรคอ้วน หากมองเพียงเรื่องน้ำหนักมาก ขนาดตัวที่ใหญ่ ใส่เสื้อผ้าไม่มั่นใจ ล้วนเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ ความสวยความงาม นับว่ากลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย หากเทียบกับสิ่งที่จะตามมาเมื่อเป็นโรคอ้วน นั่นก็คือ “โรคร่วมจากความอ้วน” ซึ่งเกิดจากไขมันที่สะสมตามอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และยิ่งอ้วนมากยิ่งจะมีโอกาสเสียชีวิตได้เร็วกว่าคนทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี

กรุงเทพธุรกิจ” ชวนทุกคนมาเช็กรูปร่างของตนเองว่าเป็นแบบไหน ซึ่งรูปร่างของคนทั่วไปที่มักพบมีดังนี้

 1.รูปร่างทรงสามเหลี่ยมคว่ำหรือทรงแครอท

ผู้ทีมีรูปร่างแบบนี้จะมีช่วงบนกว้างแล้วสอบลง มีช่วงไหล่ใหญ่เมื่อเทียบกับช่วงสะโพก รูปทรงจึงคล้ายกับแครอท ส่วนมากจะมีช่วงบ่ากว้างกว่าสะโพกอย่างน้อย 2 นิ้ว ลักษณะสำคัญคือ มีการสะสมไขมันมากที่บริเวณด้านบนของลำตัว ไม่ว่าจะเป็นไหล่ แขน อก เป็นต้น

การควบคุมอาหารที่แนะนำสำหรับคนกลุ่มนี้คือ เน้นการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน ร่วมกับวิตามินและเกลือแร่รวม และไฟโตนิวเทรียนท์ที่สมดุล นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่แนะนำคือ เน้นออกกำลังคาร์ดิโอช่วงอกและไหล่ให้มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เช่น decline push up และออกกำลังกล้ามเนื้อช่วงสะโพกและขา เป็นต้น

ส้ม หรือ ชมพู่ หุ่นแบบไหน? เสี่ยงโรคอ้วนมากกว่ากัน

หุ่นแบบไหน?  เสี่ยงโรคอ้วนมากที่สุด

2.รูปร่างทรงลูกแพร์ (ชมพู่)

ผู้ที่มีรูปร่างทรงลูกแพร์จะมีช่วงสะโพกและต้นขาใหญ่ ลักษณะคล้ายลูกแพร์หรือชมพู่ บริเวณต้นขาและสะโพกจะมีไขมันสะสมเป็นจำนวนมาก และกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวมักขาดความกระชับ โดยมากจะเป็นลักษณะของฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิงที่ไม่สมดุล ในชายมีปริมาณของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ลดลง แต่ในหญิงจะมีลักษณะโปรเจสเตอโรนลดลงและมีเอสโตรเจนที่โดดเด่นขึ้นมาก

ผู้ที่มีรูปร่างเช่นนี้ควรระมัดระวังอาหารที่มีไขมันสูง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไขมันจากปลาทะเล เลี่ยงไขมันที่ผ่านการใช้ความร้อนสูงๆ เนื่องจากจะยิ่งทำให้ฮอร์โมนมีความไม่สมดุลมากยิ่งขึ้น ส่วนการออกกำลังกาย ควรเน้นการสร้างความแข็งแรงหรือคาร์ดิโอที่สะโพกและต้นขา ซึ่งเป็นส่วนที่เก็บสะสมไขมันไว้มาก ท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมหรับผู้ที่มีรูปร่างทรงลูกแพร์ ได้แก่ Chair Squat, Side lunge, Hip extension, Bridging และออกกำลังกล้ามเนื้อช่วงอกและหล่ เป็นต้น

3.รูปร่างทรงแอปเปิ้ล (ส้ม)

ผู้ที่มีรูปร่างทรงแอปเปิ้ล (ส้ม)จะมีช่วงกลางลำตัวใหญ่ รอบเอวใหญ่ ส่วนสะโพกกับไหล่จะเล็กกว่า ลักษณะคล้ายผลแอปเปิ้ล ส่วนมากกล้ามเนื้อบริเวณกลางลำตัวจะไม่แข็งแรง และมีไขมันสะสมบริเวณกลางลำตัวมาก ร่างกายของผู้ที่มีรูปร่างทรงแอปเปิ้ลจะมีฮอร์โมนการเผาผลาญและการสะสมไขมันที่ไม่สมดุล ต้องระมัดระวังอาหารประเภทแป้ง เนื่องจากแป้งเป็นสารอาหารที่จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันได้มากในร่างกาย 

การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้ควรเน้นช่วงลำตัว เนื่องจากกล้ามเนื้อช่วงลำตัวไม่ค่อยแข็งแรง จึงทำให้เกิดการสะสมไขมันได้มาก ท่าออกกำลังกายที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของช่วงลำตัวที่แนะนำ ได้แก่ Plank, Crunch, Crunch Twist และเน้นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เป็นต้น

ส้ม หรือ ชมพู่ หุ่นแบบไหน? เสี่ยงโรคอ้วนมากกว่ากัน

4.รูปร่างทรงตรง

จะมีรูปร่างเป็นเส้นตรงตั้งแต่ช่วงหัวไหล่จรดช่วงสะโพก เนื่องจากไม่มีสัดส่วนที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีลักษณะผอม กล้ามเนื้อน้อย อาจมีหน้าท้องหย่อน กล้ามเนื้อหย่อนคล้อย สำหรับผู้ที่มีรูปร่างเช่นนี้ควรได้รับโภชนาการที่สมดุล และเพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้ถี่ขึ้น อาจเป็นวันละ 4 – 5 มื้อก็ได้ และเพิ่มการออกกำลังกายแบบเวท เทรนนิ่ง ให้สมดุลทุกส่วนของร่างกาย และเน้นคาร์ดิโอระดับปานกลาง

ส้ม หรือ ชมพู่ รูปร่างทรงผลไม้ระวังอ้วน

บทความของ “ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ อายุรแพทย์หัวใจ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก” ระบุว่า ไม่ใช่น้องส้ม ไม่ใช่น้องชมพู่ ที่เป็นผลไม้แล้วจะให้เลือก แต่รูปร่างของคนเราเปรียบเทียบได้เหมือนกับรูปทรงของผลไม้ อย่าง ใครมีรูปร่างเหมือนส้ม คือ อ้วนที่พุง พุงป่องกลางตัวเหมือนผลส้มที่กว้างออกตรงกลาง ส่วนคนที่มีรูปร่างเหมือนผลชมพู่ คือ อ้วน บริเวณต่ำกว่าพุงก็คือ สะโพก พวกนี้เป็นคนที่มีสะโพกโตกว่าพุง

ตำราฝรั่งเขาใช้เปรียบเทียบเหมือนลูกแอปเปิลและลูกแพร์ ตนแค่หาผลไม้ไทยๆ มาใช้เปรียบเทียบ คนไทยที่ไม่เคยเห็นลูกแพร์จะได้พอนึกออกว่าหุ่นลูกชมพู่เป็นอย่างไร เพราะคงมีคนไทยน้อยคนที่ไม่เคยกินชมพู่ (ถึงแม้จะมีคนไม่เคยเห็นลูกชมพู่ ส่วนมากก็เคยเห็นจมูกชมพู่ว่ารูปร่างเป็นอย่างไร)

การที่มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน) นั้น ไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ ถ้าไม่นับว่าความอ้วนทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ระดับไขมันผิดปกติ หรือภาวะต่างๆทางสมอง เช่น สมองเสื่อม หรือ มะเร็ง ที่กว่าจะแสดงให้เห็นก็ต้องใช้เวลาแต่อย่างน้อยก็ทำให้ปวดข้อปวดเข่าได้ง่าย แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นน้ำหนักก็คือ ไขมันส่วนที่เกิดนั้นร่างกายสะสมไว้ที่ไหน

ส้ม หรือ ชมพู่ หุ่นแบบไหน? เสี่ยงโรคอ้วนมากกว่ากัน

ระยะหลังเราพบว่า คนอ้วนที่หุ่นเหมือนผลส้ม คือ มีไขมันสะสมที่ท้อง ทั้งในท้องและที่ผนังหน้าท้องนั้นมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและมะเร็งบางชนิด ในขณะที่คนอ้วนหุ่นชมพู่ คือ มีไขมันส่วนเกินสะสมที่สะโพกและต้นขา มีความเสี่ยงต่ำกว่าและอาจจะยังมีผลลดความเสี่ยงบางชนิดโดยเฉพาะในผู้หญิง

เรื่องความอ้วนและรูปร่าง นอกจากเกี่ยวกับสุขภาพแล้วยังเป็นเรื่องความสวยความงามอีกด้วย มาตรฐานความงามเองก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้วแต่วัฒนธรรมสังคมช่วงนั้นๆคนที่ไปพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศอาจจะ เคยสังเกตเห็นรูปผู้หญิง (นางแบบ) ในรูปภาพสมัยก่อนๆ ที่ค่อนข้างท้วม มีพุงหน่อยๆ (ต้องเรียกว่ามาก ถ้าเทียบกับปัจจุบัน) รูปปั้นวีนัส (Venus de Milo) ที่เป็นตัวแทนของเทพีกรีกก็ค่อนข้างท้วมและมีกล้ามเนื้อมากกว่านางแบบในปัจจุบัน แต่โชคดีวีนัสที่ว่าอ้วน (ตามมาตราฐานปัจจุบัน) นั้น ดูแล้วน้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะอยู่บริเวณสะโพกและขามากกว่าที่หน้าท้อง

เนื่องจากปัจจุบันคนเราอายุยืนยาวขึ้น คนสมัยก่อนจะเสียชีวิตเร็วจากโรคติดเชื้อ หรือ อุบัติเหตุ เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบัน การผ่าตัดและยาฆ่าเชื้อดีๆมีมาก รักษาโรคติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อได้ดี คนจึงมีอายุยืนขึ้นแต่มาเป็นโรคเสียเสียชีวิตจากความเสื่อม (ของสังขารที่เป็นธรรมดา) ซึ่งภาวะความเสื่อมต่างๆของร่างกายนี้ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นจากความอ้วนนี่เอง

อ้างอิง: arunhealthgarden ,โรงพยาบาลพญาไท ,nutrilite