จากหญ้า(ดอกขาว)ข้างทาง สู่“ยาเม็ดอมอดบุหรี่”

จากหญ้า(ดอกขาว)ข้างทาง สู่“ยาเม็ดอมอดบุหรี่”

แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ( 2565-2570) กำหนดว่าต้องลดคนสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 14 % ภายในปี 2570 รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Global NCDs Target)

KEY

POINTS

  • แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองประมาณ 6,000 ราย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป พบว่า 23.7% มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน 
  • โรงพยาบาลจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ  ดูแลประชากรรวมกว่า 2.3 แสนคน ซึ่งมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรผลิตยาจำนวน 39 รายการครอบคลุม 12 กลุ่มโรค
  • หญ้าดอกขาว(หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่งแฮะดิน) มีสารสำคัญที่ทำให้ลิ้นชาหรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง

แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ( 2565-2570) กำหนดว่าต้องลดคนสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 14 % ภายในปี 2570 รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Global NCDs Target) ที่กำหนดให้มีผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 15 % ภายในปี 2568 เพราะในแต่ละปีมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ควันบุหรี่ (มือสอง)มีสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 50 ชนิดทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกกว่า 1.2 ล้านคนต่อปี และในแต่ละปีมีเด็กกว่า 65,000 ราย ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลขององค์การสหประชาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ในปี 2564 ระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองประมาณ 6,000 ราย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป พบว่า 23.7% มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน โดยจำนวนนี้มีการสูบในตัวบ้านทุกวันสูงถึง 67.53% ซึ่งสารพิษจากควันบุหรี่สามารถตกค้างอยู่ภายในบ้านนานถึง 6 เดือน ทำให้เกิดการสัมผัสสารพิษซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำไม“ยาดมโป๊ยเซียน”ถึงครองใจผู้ใข้ได้ถึง 88 ปี

"มะระขี้นก" ผักริมรั้ว มูลค่าสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท

บุหรี่มีโทษต่อทั้งคนสูบ และคนแวดล้อม

หากหญิงตั้งครรภ์และทารก ได้รับควันบุหรี่มือ 2 จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร โดยอาจมีอาการครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด มีความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักตัวและความยาวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท ในเด็กเล็ก อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวมสูงกว่าเด็กทั่วไป มีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลางในระยะยาว

เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หากสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างการตระหนักรู้ถึงความอันตรายของการสูบบุหรี่ และบุหรีมือสอง ให้กลุ่มประชาชน พร้อมกับเปิดโอกาสและหาวิธีช่วยเหลือสำหรับคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ 

จากหญ้า(ดอกขาว)ข้างทาง สู่“ยาเม็ดอมอดบุหรี่”

ยาเม็ดอมอดบุหรี่หญ้าดอกขาว

โรงพยาบาลจัตุรัส จ.ชัยภูมิ ได้พัฒนา “ยาเม็ดอมอดบุหรี่"จากหญ้าดอกขาว ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จและมีสมรรถภาพปอดดีขึ้น เนื่องจาก“หญ้าดอกขาว” มี“สารไนเตรท”มีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรสบริเวณลิ้นรู้สึกชาหรือลิ้นฝาด ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลจัตุรัส ทำเป็นยาผงชงกับน้ำร้อนรับประทาน แต่ไม่ได้รับความนิยม หลังจากพัฒนาเป็น“ยาเม็ดอมอดบุหรี่หญ้าดอกขาว”ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นพกพาสะดวกง่ายต่อการรับประทาน     

“เภสัชกร รณิดา เดชะ" เภสัชกรปฏิบัติการ หัวหน้างานผลิตยาสมุนไพร”รพ.จัตุรัส อธิบายคุณสมบัติ“หญ้าดอกขาว”ว่าเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีขึ้นกระจายทั่วไปตามที่รกร้างข้างทาง พบเห็นได้ทั่วทุกภาคของไทย ในสมัยโบราณใช้ต้นต้มน้ำกินแก้ไข้ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด รักษาอาการไอเรื้อรัง หรือนำใบมาตำให้ละเอียดพอกแผล เพื่อช่วยสมานแผล 

นักวิจัยพบสารออกฤทธิ์และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ โดยสารสำคัญที่ทำให้ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ได้นั้น คือ มีสารไนเตรท ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรสบริเวณลิ้นรู้สึกชาหรือลิ้นฝาด ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่

ก่อนหน้านี้ ทำเป็นยาผงชงกับน้ำร้อนรับประทานแต่ไม่สะดวกในการพกพาไปในที่ต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ส่วนใหญ่จะสูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับความนิยม จึงได้พัฒนาเป็น “ยาอมอดบุหรี่” สามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จและมีสมรรถภาพปอดดีขึ้น

โดยผู้สูบบุหรี่วันละ 1 ซองเมื่อใช้ยาอมอดบุหรี่ประมาณ 1-2 สัปดาห์จะสามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ได้ 50 %และเมื่อใช้ไปเรื่อยๆจะช่วยให้ลดปริมาณการสูบหรี่ลงได้มากขึ้น จนสามารถเลิกสูบหรี่ได้ติดต่อกัน 6  เดือน และเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด  อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ใช้ ยาอมอดบุหรี่ ยังมีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือ อาการปากแห้ง คอแห้ง แต่อยู่วิสัยที่ยังรับได้

จากหญ้า(ดอกขาว)ข้างทาง สู่“ยาเม็ดอมอดบุหรี่”

สมุนไพร 12 กลุ่มโรค

"พญ.นิธิมาวดี คำวงศ์"  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจัตุรัส กล่าวว่าสำหรับ"ยาอมอดบุหรี่”หญ้าดอกขาวได้บรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติเมื่อปี 2566 โดยขณะนี้มีการกระจายไปใช้ในโรงพยาบาลของจังหวัดชัยภูมิทุกแห่ง รวมถึงจังหวัดอื่นๆ และมีแผนที่จะให้บริการอดบุหรี่เคลื่อนที่ในวัด โรงเรียน และชุมชน ต่อไป และปีที่ผ่านมาได้รับการบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านยาสมุนไพรสามารถสร้างได้กว่า 4 แสนบาทต่อปี

สำหรับโรงพยาบาลจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ดูแลประชากรทั้งอำเภอจัตุรัส เทพสถิต บำเหน็จณรงค์ ซับใหญ่ และเนินสง่า รวมกว่า 2.3 แสนคน ซึ่งมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรผลิตยาจำนวน 39 รายการครอบคลุม 12 กลุ่มโรค ได้แก่

1.กลุ่มอาการระบบไหลเวียนโลหิต

2.กลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร

3.กลุ่มอาการทางสูติ-นรีเวชวิทยา

4.กลุ่มอาการไข้

5.กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ

6.ยาบำรุงโลหิต

7.กลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก

8.ยาบำรุงธาตุ ปรับธาตุ

9.กลุ่มอาการระบบทางเดินปัสสาวะ

10.ยาถอนพิษเบื่อเมา

11.ยาลดความอยากบุหรี่

12.ยารักษากลุ่มโรคที่เกี่ยวกับกษัย

โดยใช้วัตถุดิบสมุนไพรจากเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “โนนทองส่องตะวัน” ตำบลบ้านกอก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ไพล ขมิ้นชัน นำมาสกัดและพัฒนาเป็นยาสมุนไพรใช้ภายนอกเช่น น้ำมันไพล ยาไพล ลูกประคบ มีมูลค่าการผลิตประมาณ 1,000,000 บาทต่อปี และได้ขยายเครือข่ายเกษตรกรไปยังสมุนไพรรายการอื่นๆ อาทิ เถาวัลย์เปรียง ตะไคร้ ใบเตย ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย โดยที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตยา WHO GMP เพื่อผลิตยาสมุนไพรสำหรับกระจายและใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ

จากหญ้า(ดอกขาว)ข้างทาง สู่“ยาเม็ดอมอดบุหรี่”

เพิ่มโปรดักส์-มูลค่าการผลิต 2ล้านต่อปี

ในอนาคตโรงงานผลิตยาสมุนไพร รพ.จตุรัส จะมีการขยายผลิตภัณฑ์ประเภทครีมเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรได้มากขึ้น โดยขยายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงจากเดิมที่มีเพียงภายในจังหวัดชัยภูมิและเพิ่มขยายการผลิตไปยังสมุนไพรรายการอื่นๆอาทิ เถาวัลย์เปรียง ตะไคร้ ใบเตย ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการผลิตเป็น 2 ล้านบาทต่อปีได้

3 สมุนไพรลดความอยากบุหรี่

1.กานพลูมีรสเผ็ดร้อน ใช้ดอกกานพลู 2 - 3 ดอก อมไว้ในปากประมาณ 5 – 10 นาที สารสำคัญในดอกกานพลูจะทำให้เกิดอาการชาในปากเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้อาการอยากสูบบุหรี่ลดลง อีกทั้ง น้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลูยังช่วยทางเดินหายใจหอมสดชื่นและช่วยลดกลิ่นปากได้อีกด้วย

2.หญ้าดอกขาว(หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่งแฮะดิน) มีสารสำคัญที่ทำให้ลิ้นชาหรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตำหรับยาอมอดบุหรี่หญ้าดอกขาว รูปแบบยาลูกกลอน และรูปแบบชาชง วิธีใช้ นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5 - 10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาวมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง อาจส่งผลให้โรคประจำตัว กำเริบได้ และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือ อาการปากแห้ง คอแห้ง

3.มะนาวเป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง และมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป วิธีใช้ง่ายๆ เพียงหั่นมะนาว ทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ รับประทานทุกครั้งเมื่อมีความอยากบุหรี่

นอกจากนี้การแพทย์แผนจีนก็มีวิธีการฝังเข็มเพื่อลดความอยากบุหรี่ จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มช่วยทำให้ผู้ติดบุหรี่มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลงหรือถึงขั้นเลิกสูบได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีผลทำให้เพิ่มการหลั่งสาร serotonin ในสมองส่วน hypothalamus ซึ่งเป็น สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การย่อยอาหาร และควบคุมการนอนหลับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 

จากหญ้า(ดอกขาว)ข้างทาง สู่“ยาเม็ดอมอดบุหรี่”